สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินเฟ้อจ่อปรับสูงขึ้น หลังราคาน้ำมัน-อาหารขยับ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

เงินเฟ้อจ่อปรับสูงขึ้น หลังราคาน้ำมัน-อาหารขยับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จะทยอยปรับขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้รวมทั้งราคาอาหารที่เร่งตัวเกินว่าที่คาด ได้ส่งผลให้กรอบประมาณการเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลต่อมุมมองทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปีให้ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน จากผลการประชุมที่สมาชิกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมัน ทำให้อุปทานน้ำมันโลกจากประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกจะยังคงระดับใกล้เคียงที่ 32 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปก อย่างแคนาดาที่เผชิญปัญหาไฟป่าและไนจีเรียที่มีปัญหาการโจมตีท่อส่งน้ำมัน รวมถึงแท่นขุดเจาะ Shale Oil ของสหรัฐที่ปิดตัวลง ทำให้อุปทานน้ำมันลดลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี หากประเทศกลุ่มนอกโอเปกกลับมาฟื้นกำลังการผลิตน้ำมันได้ ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงครึ่งหลังปีนี้ จะทยอยปรับขึ้นจากปัจจุบันที่ 44 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 41.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ประมาณการเดิมอยู่ที่ 37.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล - เม.ย. 2559)

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เร่งขึ้นกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับภาวะภัยแล้งที่กระทบราคาอาหารสูงกว่าที่ประเมินไว้ จนอัตราเงินเฟ้อขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกันในเดือน เม.ย.และ พ.ค. โดยราคาอาหารที่สูงขึ้นคาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว และผลกระทบจะทยอยหมดไปไตรมาส 3 ขณะที่การปรับสมมติฐานราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังที่สูงกว่าที่คาดไว้เดิม ประกอบกับฐานราคาพลังงานในประเทศที่ต่ำในปีที่ผ่านมาจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้กรอบประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2559 สูงขึ้นไปอยู่ที่ 0.6 (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 0.3 ถึง 0.9)

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะการใช้จ่ายครัวเรือนและการส่งออกที่ยังอ่อนแอ และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำก่อนหน้า สร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายเพิ่มเติมจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 1.50% แต่จากทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะลดแรงกดดันดังกล่าวลง แต่ยังต้องติดตามการเติบโตเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป

ด้านสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่บทความ “เงินเฟ้อต่ำ เพราะราคาน้ำมันลดลงเท่านั้นจริงหรือ?” โดยระบุว่าราคาข้าวของในตลาดที่หลายคนรู้สึกว่าแพงขึ้นเรื่อยๆ ขัดกับข้อเท็จจริงที่เงินเฟ้อของไทยติดลบต่อเนื่องนานถึง 15 เดือน หรือราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ปรับลดลงเรื่อยๆ นั้น หากพิจารณารายสินค้าจะเห็นปัจจัยหลักที่ฉุดให้เงินเฟ้อไทยติดลบ คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ร่วงลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดพลังงานและสินค้าประเภทอื่นที่มีต้นทุนจากน้ำมันปรับลดลงตาม แต่สินค้าบางประเภท เช่น อาหารสด ราคายังปรับเพิ่มอยู่

แต่เงินเฟ้อไทยที่ต่ำไม่ได้มาจากราคาน้ำมันที่ต่ำเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลพวงจากการที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยเชื่อมโยงกันมากขึ้นผ่านกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2543 ทำให้นับแต่นั้นเงินเฟ้อไทยเริ่มเคลื่อนไหวไปกับปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น และอ่อนไหวต่อปัจจัยภายในประเทศน้อยลง สอดคล้องกับการที่ไทยเปิดตัวทางการค้าสูงขึ้นกว่าเดิม โดยสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อผลผลิตมวลรวมของไทยเพิ่มขึ้นจาก 70% ในช่วงปี 2536-2542 เป็น 104% หลังปี 2543 ทำให้การแข่งขันด้านราคาสินค้าหลังตลาดเปิดเสรีมีความสำคัญต่อเงินเฟ้อไทยมาก

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ ไทยคงต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อต่ำไปอีกนาน แม้ว่าราคาน้ำมันโลกจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตก็ตาม


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินเฟ้อ จ่อปรับสูงขึ้น หลังราคาน้ำมัน อาหารขยับ

view