สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอาแล้ว! ผู้บริหารบริษัทเอกชน ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ ตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล เหตุขัด ม.4 รธน.ชั่วคราวปี 57

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

เอาแล้ว! “ผู้บริหารบริษัทเอกชน” ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ ตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล  เหตุขัด ม.4 รธน.ชั่วคราวปี 57

       “ผู้บริหารบริษัทเอกชน” ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบตามกฎหมายฮั้วประมูล เผยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ตามมาตรา 9 “พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ปี 2542” ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ขัดมาตรา 4 รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ชัดเจน
       
       วันนี้ (6 มิ.ย.) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสํานักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐ ธรรมนูญ ดังนี้
       
       “ด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยที่ ๓/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่การกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ นิติบุคคลใดให้ถือว่าหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารหรือผู้มีอํานาจในการดําเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลในเรื่องนั้น เป็นตัวการร่วมในการกระทําความผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทําความผิดนั้น” เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๔
       
       จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน
       
       ประกาศ ณ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙
       พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์
       เลขาธิการสํานักงานศาลรัฐธรรมนูญ”
       
       มีรายงานว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ตราขึ้น สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า เรื่องนี้ศาลฎีกาได้ส่งคำร้องของจำเลย เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ว่า มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ฮั้ว ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 หรือไม่
       
       คำร้องนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วของศาลอาญาซึ่งมีฐานะเป็นผู้บริหารของนิติบุคคล ได้โต้แย้งว่า พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 9 ที่ศาลอาญาจะใช้บังคับแก่คดี เป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสันนิษฐานความผิดของจำเลยที่เป็น ผู้แทนนิติบุคคล เป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้ จำเลย ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลนั้นมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา อันขัดต่อหลักนิติธรรมและขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 และมาตรา 5 และศาลอาญาได้ส่งคำโต้แย้งของจำเลยที่ 2 เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแล้วส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา วินิจฉัยตามมาตรา 45 ประกอบมาตรา 5 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
       
       กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 9 นั้น เป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้ จำเลยซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลและต้องรับโทษทางอาญาด้วย อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมและจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 ซึ่งเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งก หฎมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 5 อีกต่อไป
       
       สำหรับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
       
       อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปี 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในทำนองนี้ออกมาแล้ว โดยมีมติเสียงข้างมากว่า พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 54 ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 39 วรรคสอง โดย มาตรา 54 พ.ร.บ.ขายตรงฯ ระบุว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขณะที่มาตรา 39 วรรคสอง รัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
       
       โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งมี 9 ราย ได้วินิจฉัยมีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายเสียงข้างมาก 5 เสียง เห็นว่า มาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ขายตรงฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ให้สันนิษฐานว่าให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษอาญาร่วมกับนิติบุคคลขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อย 4 เสียง เห็นว่ามาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ขายตรงฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       
       สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่ามีความผูกพันกับทุกองค์กรซึ่งผูกพันกับกฎหมายหลายฉบับที่มีบทบัญญัติ คล้ายคลึงกับมาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ขายตรงฯ เช่น มาตรา 139 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 หรือมาตรา 135 แห่ง พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ดังนั้น กฎหมายฉบับใดที่มีบทบัญญัติคล้ายคลึงดังกล่าวก็อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ทั้ง สิ้น
       
       สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในการจัดหาสินค้าและบริการไม่ว่าด้วยวิธีการจัดซื้อหรือการจัดจ้าง หรือวิธีอื่นใดของหน่วยงานของรัฐทุกแห่งนั้นเป็นการดำเนินการโดยใช้เงินงบ ประมาณเงินกู้เงินช่วยเหลือ หรือรายได้ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นเงินของแผ่นดิน รวมทั้งการที่รัฐให้สิทธิในการดำเนินกิจการบางอย่างโดยการให้สัมปทานอนุญาต หรือกรณีอื่นใดในลักษณะเดียวกันก็เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะอัน เป็นกิจการของรัฐ ฉะนั้น การจัดหาสินค้าและบริการรวมทั้งการให้สิทธิดังกล่าวจึงต้องกระทำ อย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม และมีการแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อให้เกิดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ แต่เนื่องจากการดำเนินการ ที่ผ่านมามีการกระทำในลักษณะการสมยอมในการเสนอราคาและมีพฤติการณ์ต่างๆ อันทำให้มิได้มีการแข่งขันกันเสนอประโยชน์สูงสุดให้แก่หน่วยงานของรัฐอย่าง แท้จริงและเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
       
       นอกจากนั้น ในบางกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีส่วนร่วมหรือ มีส่วนสนับสนุนในการทำความผิด หรือละเว้นไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อันมีผลทำให้ปัญหาในเรื่องนี้ทวีความ รุนแรงยิ่งขึ้น จึงสมควรกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด เพื่อเป็นการปราบปรามการกระทำในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งกำหนดลักษณะความผิดและกลไกในการดำเนินการเอาผิดต่อผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การปราบปรามดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เอาแล้ว ผู้บริหารบริษัทเอกชน ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล เหตุขัด ม.4 รธน.ชั่วคราวปี 57

view