จากประชาชาติธุรกิจ
สัมมนา 40 ปีประชาชาติธุรกิจ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา วิทยากรที่น่าสนใจอย่างมาก คุณเรืองโรจน์ พูนผล หรือ กระทิง ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมไอที dtac Accelerate ได้บรรยายให้ความรู้เรื่องของ "โลกอนาคต" ว่าเป็นโลกที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก เป็นยุคของ "AI" Artificial Intelligence จะเป็นยุคแห่งการทำลายล้างของเก่าเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าจะแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมาอย่างเทียบไม่ติด
สิบปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก แม้แต่ขณะนี้สิ่งที่คิดว่าจะเกิดในสิบปีข้างหน้า มันเริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้ว เรียกว่า อนาคตขยับเข้ามาใกล้กว่าที่เราคิด เช่น รถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง คำถามของคุณกระทิงก็คือว่า "คุณเตรียมพร้อมจะรับสิ่งเหล่านี้หรือยัง ?"
ธุรกิจในโลกอนาคต ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะจะนำ "เทคโนโลยี" เข้ามาใช้อย่างเต็มอัตรา ที่เราเห็นอยู่ในเวลานี้คือบรรดา Startup ทั้งหลายที่ทยอยเกิดขึ้นจนเต็มแน่นไปหมดในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจธนาคาร กำลังถูกโจมตีด้วย FinTech ที่มาจากคำว่า Financial Technology คือ เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำธุรกรรมทางการเงิน ให้ฉีกออกไปจากการทำธุรกรรมแบบเก่าๆไม่ว่าการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือ ถือ,การโอนเงิน,การกู้ยืมเงินและการระดมทุน ไปจนถึงการประกันภัย
สรุปความหมายเข้าใจง่าย ๆ คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ตลาดการเงินหรือบริการใด ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีราคาถูกลง
ในโลกยุคเก่า การทำธุรกรรมทางการเงินหรือบริการด้านการเงิน ไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นช่องว่างให้เกิด FinTech ขึ้น ซึ่งถือว่า "ร้อนแรงมาก" ในปีนี้ FinTech เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้วยเงื่อนไขที่ดีขึ้น และแข่งขันได้กับผู้ให้บริการรายเดิม จึงไม่ต้องแปลกใจที่ธนาคารทั้งหลายต่างปรับตัวขนานใหญ่ที่จะรับมือกับฟินเทค
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยมีมุมมองเกี่ยวกับฟินเทคในแบบที่แตกต่างว่าเป็น "พันธมิตร" มิใช่เป็น "คู่แข่ง" โดยระบุว่าหลายฝ่ายมองการเข้ามาของ FinTech ว่าจะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Disintermediation of Banks" นั่นคือ บทบาทธนาคารพาณิชย์ในฐานะตัวกลางทางการเงิน จะด้อยลง เพราะถูกแทนที่ด้วย FinTech ซึ่งจะแบ่งเค้กธุรกรรมทางการเงินออกไป ทั้งนี้เป็นผลจากปัจจัยผลักดัน 3 ประการ คือ 1.พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่สนองตอบต่อเทคโนโลยีได้ดีขึ้น กล้าทดลองสิ่งใหม่ และมีทางเลือกมากขึ้น 2.บทบาทของฐานข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น (Big Data) 3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
เรืองโรจน์ พูนผล
บทบาทของ FinTech ปัจจุบันทั้งในไทยและต่างประเทศ กระจายไปในผลิตภัณฑ์และบริการหลักของสถาบันการเงิน แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจของ FinTech หลายรายอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง
ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของฟินเทค เป็นลูกค้ารายย่อย แม้จะมีปริมาณธุรกรรมต่อรายในระดับที่ไม่สูงนัก แต่ก็เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ส่วนลูกค้าธุรกิจ การเจาะตลาดของ FinTech น่าจะใช้เวลามากกว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินสำหรับลูกค้าธุรกิจ มีความซับซ้อนและลักษณะเฉพาะมากกว่า อีกทั้งธุรกรรมมีวงเงินสูง จึงทำให้หลายกรณีต้องขออนุญาตจากทางการ เป็นต้น
FinTech แม้จะมีโอกาสเติบโตในตลาดการเงินไทย แต่ต้องยอมรับว่าการเติบโตจากช่วงบ่มเพาะ (Incubation) จนก้าวผ่านช่วงของการขยายขนาด (Acceleration) ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าในวงกว้างมากขึ้นนั้นยังเผชิญอุปสรรคหลายประการ ซึ่งนำไปสู่ทางออกในการหาพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งนี้แม้ว่า FinTech จะมีข้อได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ แต่การที่ FinTech จะก้าวข้ามมาแข่งขันในสนามที่ใหญ่ขึ้น มีจำนวนฐานลูกค้ากว้างขึ้น คงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต่าง ๆ
อาทิ ข้อจำกัดด้านศักยภาพของธุรกิจในการดึงดูดแหล่งเงินทุน โดยแม้ปัจจุบันจะมีหน่วยงานรัฐและเอกชนสนใจหยิบยื่นความช่วยเหลือทางการเงิน ให้กับธุรกิจ Startup และ FinTech จำนวนมาก แต่สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ชื่อยังไม่ติดตลาด หรือโครงการ/นวัตกรรมที่นำเสนอยังไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้มีเงินทุน ว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากพอในทางปฏิบัติก็อาจทำให้ไม่สามารถได้รับ เงินทุนในจำนวนที่คาดหวังเพื่อต่อยอดธุรกิจได้
ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบโดยหากการดำเนินงานของFinTechบางประเภท อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน หรือกระทบกับผลประโยชน์ผู้บริโภค รวมไปถึงข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูลและธุรกรรมต่าง ๆ แล้ว ก็อาจจะอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรอิสระต่าง ๆ ทำให้ FinTech มีต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น
ข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค เนื่องด้วยผู้ประกอบการ FinTech ส่วนใหญ่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของไทย อาทิ ในพื้นที่นอกเขตเมืองหรืออายุค่อนข้างสูงยังเปิดรับเทคโนโลยีและการใช้งาน Function/Application สมัยใหม่ ไม่มากนัก และ/หรือมีความกังวลต่อประเด็นด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี จึงทำให้ไม่กล้าทำธุรกรรมการเงินมูลค่าสูงผ่านโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายฐานผู้ใช้งานของ FinTech ในอนาคต
ดังนั้นทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่าฟินเทคต้องหา "พันธมิตร" เพื่อความอยู่รอด ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่ายังมี FinTech บางรายที่มีความพร้อมในเกือบทุก ๆ ด้านทั้งฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ การสะสมข้อมูลลูกค้าในลักษณะ Big Data และความเชี่ยวชาญทางไอที จึงทำให้มีศักยภาพที่จะเข้ามาแข่งกับ "ผู้เล่นเดิม" ในตลาดได้ อาทิ FinTech ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท e-Commerce ขนาดใหญ่ หรือ FinTech ที่มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หนุนหลัง เป็นต้น
ฝั่งสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ คงเลือก FinTech จาก "คู่แข่ง" เป็น "พันธมิตร" เพื่ออาศัยจุดแข็งในการเสริมทัพเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ทั้งในและต่างประเทศตระหนักว่า หากยังไม่มีการปรับตัวในการรับมือกับ FinTech คงทำให้ธนาคารพาณิชย์อาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไม่มากก็น้อยให้กับผู้ประกอบการเหล่านั้น
ในต่างประเทศความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์และFinTechเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ซึ่งคาดว่าความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวจะทยอยปรากฏชัดเจนขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการขยายฐานลูกค้า โดยให้ FinTech รับบทบาทในการดูแลลูกค้า เนื่องจากมีความคล่องตัวและสามารถปรับการให้บริการที่มีความเฉพาะตัวกับลูกค้ามากขึ้นและต้นทุนลดลง การร่วมลงทุนในลักษณะ Joint Venture โดยลงทุนใน FinTech ที่มีศักยภาพเติบโต หรือดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคาร ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหลายรายเริ่มจากการสนับสนุนเงินทุนและความช่วยเหลือต่าง ๆ ในระยะแรก ก่อนถอนการลงทุน เมื่อ FinTech นั้นประสบความสำเร็จ เพื่อลงทุนใน FinTech ใหม่ ๆ หรือการเป็น "ผู้บ่มเพาะ"(Incubator) ให้กับธุรกิจ FinTech โดยธนาคารทำหน้าที่จัด Workspaceรวมถึงการเป็นพี่เลี้ยง ให้การสนับสนุนองค์ความรู้เชิงธุรกิจ พันธมิตรอีกรูปแบบ คือการควบรวมกิจการ เพื่อต่อยอดบริการทางการเงินของธนาคาร
การร่วมมือระหว่าง ธนาคารพาณิชย์ และ FinTech อาจช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธนาคารขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีข้อจำกัดการขยายช่องทางการขายและให้บริการ อาทิ สาขา เอทีเอ็ม หรือเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) จากการต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง ขณะเดียวกันความร่วมมือดังกล่าวยังช่วยตอบโจทย์ให้บริการทางการเงินมีความ หลากหลายและมีความสะดวกแก่ลูกค้าบริการลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากขึ้นซึ่งท้าย ที่สุดแล้วน่าจะช่วยสนับสนุนให้การแข่งขันมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นในอนาคต
สำหรับ ธนาคารพาณิชย์นั้นยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่ง ขันอย่างต่อเนื่องซึ่งธนาคารพาณิชย์ชั้นนำรวมถึงธนาคารพาณิชย์และทางการไทย ต่างกำลังจับจ้องไปที่การพัฒนาเทคโนโลยี Blockchainโดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นกลไกในการจัดการข้อมูล การบันทึกข้อมูล การแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัล ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกลไก หรือกระบวนการทำธุรกรรมทางการเงินในระยะข้างหน้า เพื่อตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย การลดต้นทุน และความรวดเร็วในการทำธุรกรรมที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายธนาคารโดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐ และยุโรป กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ในการชำระเงินระหว่างกันในอนาคต ขณะที่ธนาคารหลายแห่งก็ได้ให้การสนับสนุน FinTech ที่มีการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปประยุกต์ใช้ในการให้บริการทางการเงินด้วยเช่นกัน
โดยข้อสรุปของศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยเห็นว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการเข้ามาของ FinTech จะมีผลในการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของสถาบันการเงินไทย เนื่องจากการพัฒนายังอยู่ในระยะเริ่มแรก อีกทั้งเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารพาณิชย์ระหว่างนี้คงมอง FinTech เป็นพันธมิตร มากกว่าคู่แข่ง เนื่องจากสามารถนำจุดเด่นของนวัตกรรมที่ FinTech สร้างขึ้น มาใช้เติมเต็มบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์ผ่านบริการที่เร็วขึ้น ถูกลง และสะดวกมากขึ้น
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน