จากประชาชาติธุรกิจ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีไม่ใช่แค่สถานพยาบาล รักษาผู้ป่วยแต่เพียงอย่างเดียว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดียังทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขและสร้างเสริมสุขภาพ คนไทย เป็นผู้นำให้เกิดการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงผ่านงานวิจัย ข้อเสนอแนะและการผลักดันกฎหมายด้านสุขภาพเพื่อประโยชน์ของคนไทยมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์บัณฑิตกว่า 500 คนต่อปี ด้านงานวิจัยในแต่ละปี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีจะมีผลงานวิจัยออกมาไม่ต่ำกว่า 200 ชิ้น ซึ่งถูกนำมาพัฒนาต่อเป็นนวัตกรรมด้านการแพทย์ หรือองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขถ่ายทอดให้กับประชาชน อาทิ แบบประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ถูกนำมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น Thai CV risk score ให้ประชาชนใช้งานได้อย่างสะดวกสบายผ่าน Google Play และ Apple Store
งานวิจัยสำคัญของประเทศหลายเรื่องเช่นโครงการพัฒนาศักยภาพประชากรไทย การศึกษาปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปีโดยคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นข้อมูลที่สำคัญผลักดันไปสู่การดำเนินงานระดับนโยบายของประเทศ หลายเรื่องด้วยกัน และสามารถต่อยอดไปถึงการผลักดันกฎหมายหรือพระราชบัญญัติทางสุขภาพของคนไทย เช่น มาตรการเพิ่มภาษีบุหรี่ และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่จะมีเนื้อหาสาระระบุถึงการห้ามแบ่งจำหน่ายบุหรี่เป็นมวนและห้ามขายบุหรี่ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อเป็นการป้องกันให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้น้อยลง โดยการปรับซองบุหรี่ให้เป็นแบบเรียบ ไม่แต่งสีสันหรือโลโก้ ใช้ตัวอักษรพิมพ์ยี่ห้อธรรมดา หวังลดอัตรานักสูบหน้าใหม่ลง
อีกหนึ่งงานวิจัยที่โรงพยาบาลรามาธิบดีห่วงใย คือ สุขภาพคนไทยกับเรื่องการบริโภคน้ำตาลซึ่งทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และภาวะเบาหวาน ตามมาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และอัมพฤกษ์-อัมพาต ซึ่งร่วมกับเครือข่ายโรคไม่ติดต่อของกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันในเรื่องของภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ทางคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับกระทรวง ได้สำรวจสุขภาพโดยสุ่มตัวอย่างประชากรกว่า 40,000 คน พบว่ามีความชุกของภาวะเบาหวานเพิ่มขึ้นจาก 7 เป็น 8% หรือประมาณ 1 ล้านคนในเวลา 5 ปี และยังมีภาวะน้ำหนักเกินกับโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก สาเหตุมาจากการบริโภคน้ำตาลเป็นหลัก หากนับกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปและอยู่ในภาวะกึ่งเบาหวาน จะพบมากถึง 24.5% ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ติดท็อป 5 ในแถบเอเชีย
งานวิจัยข้อเสนอแนะ และการผลักดันของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นการทำงานที่ลึกลงไปถึงสาเหตุแห่งการเกิดโรค เพื่อป้องกันและแก้ไขได้ทันท่วงที เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทั้งประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของ "ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา" คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดงานวิจัยที่จะนำไปสู่การ พัฒนาระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืนได้ในอนาคตเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรไทย
ผลงานปิดทองหลังพระที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ลงมือทำจนเกิดผลสัมฤทธิ์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรักษา การผลิตบุคลากรด้านการแพทย์ การพัฒนางานวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมไปถึงการหางบประมาณในการขยายบริการทางการแพทย์สร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่รองรับผู้ป่วยเป็นภารกิจที่ต้องทำแต่จะมีสักกี่คนที่รู้
แม้ในบางกรณีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านสุขภาพบางอย่างอาจจะไปขัดผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติหรือบุคคลบางกลุ่ม แต่ศ.นพ.ปิยะมิตรบอกว่า "นั่นถือเป็นเรื่องที่พวกเราต้องพยายามปรับแก้ เพราะการให้ข้อมูลทางการแพทย์ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ"
"หนึ่งในหน้าที่ของแพทย์คือเราต้องดูแลสุขภาพของประชาชนโดยการสร้างเสริมสุขภาพไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น โดยองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยต้องถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาในประเทศ ทำหน้าที่เป็นประทีปส่องทางด้านสุขภาพ ปัจจุบันมีเรื่องแชร์ด้านสุขภาพในโซเชียลมีเดียเยอะไปหมด จริงบ้างเท็จบ้าง หน้าที่ของรามาธิบดีคือตอบคำถามเหล่านี้ เมื่อประชาชนสงสัย ตอนนี้ทางคณะตั้งทีมหาข้อมูลขึ้นมาเลย ว่ามีอะไรเกิดขึ้นมีแชร์อะไรกันบ้างในสังคมโซเชียล เพื่อนำมาตอบในรามาชาแนล (True Vision ช่องหมายเลข 42) Youtube (http://www.youtube.com/user/RamachannelTV) และเว็บไซต์ของทางคณะ โดยแนะวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องแจ้งประชาชน อะไรที่ตอบไม่ได้จะกลายเป็นโจทย์สำหรับทีมวิจัยในทันที เรียกว่าจริงจังลงทุนและศึกษาให้เป็นเรื่องเป็นราวจนกว่าจะได้คำตอบ"
บาง งานวิจัยเป็นข้อมูลที่ต่อยอดไปถึงการร่างกฎหมายหรือพระราชบัญญัติทางสุขภาพ ของคนไทย"ตอนนี้เราร่วมกับเครือข่ายโรคไม่ติดต่อของกระทรวงได้เสนอ ครม.ไปว่าควรเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงเกิน 6% เพื่อเป็นการบังคับให้ผู้ผลิตลดน้ำตาลในเครื่องดื่มลง หากเป็นไปได้ควรจะเหลือเพียง 5% เสียด้วยซ้ำ มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่ได้ประโยชน์จำกัดอยู่แค่เรื่องเบาหวาน แต่รวมถึงโรคอ้วนด้วย จากการสำรวจทุกครั้งจะพบว่าประชากรมีความอ้วนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงไทย สาเหตุหลักก็มาจากการบริโภคแป้งและน้ำตาล ที่พูดกันว่า อ้วนเพราะกินข้าวเยอะ ไม่น่าจะจริง เพราะข้อมูลกลับเป็นว่าคนไทยบริโภคข้าวลดลง จาก 180 กิโลกรัม/คน/ปี ลดเหลือ 90 กิโลกรัม/คน/ปีในระยะ 20 ปีให้หลัง แต่เราบริโภคแป้งในรูปแบบอื่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาลเพิ่มขึ้น มากถึงเกือบ 2 เท่าตัว ถ้าเราไม่ขยับแก้ไขในเชิงนโยบาย เราจะพบกับปัญหามากมายในอนาคตตามแก้กันไม่ไหวแน่ถ้าไม่ป้องกันไว้ก่อน"
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยิ่งยวดในฐานะที่รามาธิบดีเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำในประเทศโดยศ.นพ. ปิยะมิตร อธิบายว่าค่านิยมหลักของบุคลากรในคณะและผู้ที่จะจบมาเป็นบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จากรามาธิบดี มีค่านิยมหลักอยู่ 6 ข้อ อันประกอบด้วยมุ่งเรียนรู้ / คู่คุณธรรม / ใฝ่คุณภาพ / ร่วมสานภารกิจ / คิดนอกกรอบ / รับผิดชอบสังคม”
การขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ นี้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากมือที่มองไม่เห็นที่ร่วมกันบริจาคผ่านมูลนิธิรามาธิบดี ความสำเร็จเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นรวมไปถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น จำต้องมีกำลังทรัพย์หลักที่ทางมูลนิธิเป็นผู้จัดหางบประมาณมาสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน
"หลายคนคงไม่รู้ว่า งบประมาณที่เราได้รับจากรัฐบาลคิดเป็นเพียง 20% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด รายได้ส่วนหนึ่งมาจากผู้เข้ารับการรักษาที่คลินิกพิเศษและจากผู้ป่วยในห้องพิเศษ อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยสามัญจำนวนมากที่เข้ามาใช้บริการปกติในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคม ซึ่งโรงพยาบาลขาดทุนต่อเนื่องมาร่วม 10 ปี ประมาณปีละ 300 ล้านบาท ยังไม่รวมถึงงบประมาณที่ต้องจัดซื้อเครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัย อย่างเครื่องรักษามะเร็ง (Edge Radiosurgery System) ที่เพิ่งจะติดตั้งเสร็จราคา 200 ล้านบาท ถ้าคิดถึงเรื่องความคุ้มค่ากำไร คงไม่คุ้มทุน โรงพยาบาลเอกชนเขาก็ไม่นำเข้ามา เพราะจำนวนคนไข้ที่จะรักษาไม่คุ้มราคาอุปกรณ์ แต่ที่รามาธิบดี เพราะมีมูลนิธิคอยสนับสนุน ทำให้เรื่องการรักษาช่วยชีวิตคนเกิดขึ้นได้ เราอยู่ได้เพราะคนมีจิตศรัทธามาบริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"
เพื่อเป็นการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้มีโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงรับอาสาดำเนินการก่อสร้าง "สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์" ขึ้นในพื้นที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันแล้วเสร็จไปประมาณ 75% กำหนดเปิดให้บริการในปลายปี พ.ศ. 2560
"ตอนนี้มูลนิธิรามาธิบดีฯ พยายามระดมทุนเพื่อช่วยสร้างสถาบันแห่งนี้ขึ้น เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 400 เตียง มีศูนย์การเรียนรู้สำหรับนักศึกษาแพทย์และพยาบาล และอาคารวิจัย บนเนื้อที่กว่าสามร้อยไร่ ซึ่งทั้งโครงการต้องใช้เงินมากถึงหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท โดยมีเงินงบประมาณภาครัฐและกองสลากฯสนับสนุนอยู่จำนวนหนึ่ง ทางคณะต้องหามาเพิ่มอีกประมาณหกพันล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมาเราหาเงินมาบริจาคได้จำนวนหนึ่งแล้ว แต่ยังคงขาดอยู่อีกราวสามพันล้านบาท"
หากหาเงินที่ขาดได้อีก 3 พันล้านบาทจะช่วยสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ความหวังแห่งใหม่ของคนไทย ที่จะรองรับผู้ป่วยภาคตะวันออกได้อีกเป็นจำนวนมาก หากผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคคนละนิดจากหลาย ๆ มือร่วมกันก็จะทวีคูณจนประสบความสำเร็จ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสุขภาพที่ดีด้วยการบริจาคผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ โทร.0-2201-1111 หรือ www.ramafoundation.or.th
คนละไม้คนละมือร่วมกันช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้ดีได้ด้วยน้ำใจของทุกคน
รามาฯเปิดคลินิกผู้สูงวัย
ดังที่ทราบกันดีว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีมีคณะแพทยศาสตร์ที่ทำงานวิจัยค้นคว้าและพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อคนไทยตลอดมา ในยุคที่สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ก่อตั้ง "คลินิกผู้สูงอายุแบบครบวงจรในเชิงรุกแห่งแรกในประเทศไทย"
คลินิกผู้สูงอายุแบบครบวงจรในเชิงรุกแห่งแรกในประเทศไทย มีการทำงานร่วมกันเป็นทีมสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Clinic) เพื่อสร้างระบบการดูแลผู้ป่วยได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน ดูแลเรื่องโรคต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ รวมไปถึงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น
กว่า 20 ปีที่ รพ.รามาธิบดีได้ก่อตั้งคลินิกผู้สูงอายุแบบครบวงจรพบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะมีโรคทั้งทางกายและจิตใจ ได้แก่ 1.โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน 2.โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด 3.โรคข้อต่อเสื่อมและโรคกระดูกพรุน 4.โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสมองและระบบประสาท เช่น ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน 5.โรคที่เกี่ยวกับปัญหาทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เป็นต้น
ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสูงวัยจึงจำเป็นที่จะต้องมีองค์ความรู้ในการดูแลรักษาผู้สูงวัยอย่างถูกต้อง ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดียังได้มีการจัดตั้งคลินิกประเมินผู้สูงอายุแบบครบวงจร ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรทีมสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อช่วยดูแลรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ รวมทั้งให้คำปรึกษาอีกด้วย
นอกจากนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้รับการโอนย้าย "โครงการศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย" จากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาเป็นโครงการต้นแบบที่ให้การดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงวัย เพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ขณะนี้อยู่ในช่วงศึกษา ค้นคว้า และวิจัยหาข้อมูลเตรียมความพร้อมของพื้นที่ซึ่งตั้งที่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จัดเป็นอีกหนึ่งโครงการที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งใจจะให้เป็นต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน
สถานที่แห่งนี้จะเป็นต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้ายที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติและบุคลากรทางการแพทย์ เป็นชุมชนผู้สูงวัยต้นแบบที่มีการดูแลรักษา เพื่อทำให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยได้มีที่พักพิงมีเพื่อนฝูง เป็นชุมชนผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ
สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เรื่องคลินิกผู้สูงวัยสามารถไปร่วมกิจกรรม "ปันสุขผู้สูงวัย งานเฮลท์แคร์ 2016" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 มิถุนายนนี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยรามาฯได้เปิด "คลินิกผู้สูงอายุนอกสถานที่ รพ.รามาธิบดี" จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพที่ดีในวัยสูงอายุ เช่น การสอนออกกำลังกาย การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงการตรวจมวลกระดูก ตรวจเช็กกำลังของกล้ามเนื้อ เช็กโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อ มีการคัดกรองสุขภาพสมอง เพื่อเช็กภาวะสมองเสื่อม โดยมีทีมบุคลากรสาธารณสุขที่เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ พยาบาล และจิตวิทยามาให้คำแนะนำ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน