จากประชาชาติธุรกิจ
หลังจากที่คณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้ใช้แนวทางบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ ลง ได้แก่ แหล่งก๊าซเอราวัณ กับแหล่งบงกช ด้วยการเปิดประมูลเป็น Priority แรก หากไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่สามารถหาผู้ชนะได้ จึงค่อยดำเนินการแนวทางที่สองก็คือ หันมาเปิดการเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม ซึ่งก็คือ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
วิวาทะใน "ความคิดเห็น" ที่ขัดแย้งกันก็เกิดขึ้นทันที ฝ่ายกระทรวงพลังงานบอกว่า วิธีการเปิดประมูลที่ กพช.มีมติให้ใช้เป็นลำดับแรกนั้นจัดเป็นวิธีการที่โปร่งใส และรัฐบาลสามารถตอบคำถามข้อสงสัยต่าง ๆ ให้กับสาธารณชนได้รับทราบ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็คือ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. เดิมทีก็ชูธงคัดค้านวิธีการเปิดการเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม และเรียกร้องให้มีการเปิดประมูล แต่มี "พ่วง" เงื่อนไขต้องเปิดประมูลด้วยวิธีจ้างผลิตเพิ่มเติมเข้ามาด้วย
โดยมีข้อสังเกตว่า "วิธีการจ้างผลิต" ถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ เพื่อเป็น "ทางเลือก" ในการพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่ค้างมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และแน่นอนว่าวิธีการนี้ได้ถูกผลักดันโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เพิ่มเติมจากระบบแบ่งปันผลผลิตเช่นกัน
ประเด็นปัญหาก็คือ ทำไมจะต้องใช้วิธีการจ้างผลิต ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่า ปริมาณก๊าซในแหล่งเอราวัณ กับแหล่งบงกช ประมาณวันละ 2,214 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน รวมกันคิดเป็นร้อยละ 76 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย หรือเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย จนอาจจะประมาณการได้ว่า ปริมาณก๊าซที่เหลืออยู่จากการได้รับสัมปทานก็น่าจะเหลือมากกว่าแหล่งสัมปทานอื่น ๆ
ขณะที่ระบบการให้สัมปทานแบบจ้างผลิตนั้น จัดเป็นวิธีการใหม่ที่ยังไม่เคยนำมาใช้ในประเทศไทยมาก่อน แน่นอนว่ามันได้ถูกบรรจุเข้าไปใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่แล้ว แต่ปัญหาก็คือ จะ "กดดัน" ให้รัฐบาลเลือกวิธีการนี้มาใช้ในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้อย่างไร ในเมื่อแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพมากที่สุดในปัจจุบันก็คือ แหล่งเอราวัณ กับแหล่งบงกช
จึงเป็นคำอธิบายที่ดีว่า ทำไมกลุ่ม คปพ.ถึงต้องพยายามทุกวิถีทางให้กระทรวงพลังงานต้องนำวิธีการเปิดประมูลค่า จ้างต่ำที่สุดในระบบจ้างผลิตมาใช้กับแหล่งสัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุลงใน ปี2565 กับ 2566 ซึ่งก็คือ แหล่งเอราวัณ กับแหล่งบงกช นั่นเอง
หรืออาจกล่าวได้ว่า แหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลงทั้ง 2 แหล่ง เป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับพิสูจน์วิธีคิดของ คปพ. ถึงความเป็นไปได้ในการใช้ระบบจ้างผลิตนั่นเอง
ทว่าไม่ว่ารัฐบาลจะนำวิธีการใดมาใช้บริหารจัดการกับแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลงจากทั้ง2 แหล่ง วิธีการนั้น ๆ จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ภายใต้ปัจจัยหลัก ๆ ที่ผู้ตัดสินใจควรที่จะต้องคำนึงถึงอย่างน้อย 5 ประเด็นด้วยกันคือ
1) ความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่ง ที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การผลิตไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ทำไมจะต้องมารับความเสี่ยงจากการบริหารจัดการที่กำลังจะเกิดขึ้น 2) ความน่าสนใจในตัวแหล่งเอราวัณ-บงกชที่มีการคาดการณ์กันว่า จะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้ต่อไปอีกประมาณ 10 ปี หากมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเท่านั้น 3) ความยากในการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีลักษณะเป็นกระเปาะเล็ก ๆ กระจายไปทั่ว 4) เงินลงทุนที่จะต้องนำมาใช้ในการขุดเจาะพัฒนาแหล่งเมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่ และ 5) ข้อมูลธรณีวิทยาในการสำรวจสภาพการณ์ปริมาณปิโตรเลียมในแหล่งทั้ง 2 ตลอดอายุสัมปทานที่ผ่านมา
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องสำคัญที่ ผู้มีอำนาจจะต้องตัดสินใจเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งในการบริหารจัดการแหล่ง ก๊าซที่กำลังจะหมดอายุลง ภายใต้หลักการที่ว่า ผู้ชนะจะต้องมีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ มีความมั่นคงทางการเงิน และเป็นผู้ให้ผลประโยชน์กับรัฐมากที่สุด
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน