จากประชาชาติธุรกิจ
ธนาคารพาณิชย์ที่ในอดีตได้ ชื่อว่าเป็น "เสือนอนกิน" แม้ว่าการแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้ต้องวิ่งรุกไล่กับเกมธุรกิจอย่างหนัก แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยต่ำเรี่ยดิน ปล่อยสินเชื่อไม่ออก
แต่เราก็ยังพบว่าแบงก์พาณิชย์ทั้งหลายยังมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการกินส่วนต่างดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
ดูจากตัวเลขผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมีปัญหา แต่แบงก์พาณิชย์ส่วนใหญ่ก็ยังมีรายได้เพิ่มขึ้น แม้ตัวเลขกำไรอาจได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น
และในภาวะที่การปล่อยสินเชื่อยากลำบาก ทำให้สัดส่วนรายได้จากดอกเบี้ยของแบงก์ลดลง จากการที่แบงก์มุ่งหันสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ของแบงก์พาณิชย์ถือเป็นประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญ และประกาศว่าจะต้องมีการยกเครื่องจัดระเบียบใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
โดยก่อนหน้านี้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ธปท.ได้มีการหารือกับทางสมาคมธนาคารไทย ถึงโครงสร้างที่บิดเบี้ยว เนื่องจากประเทศไทยใช้เงินสดสูงมาก ซึ่งถือเป็นบริการที่มีต้นทุนสูงแต่ธนาคารกลับให้บริการฟรี หรือให้บริการราคาถูก ส่วนบริการอิเล็กทรอนิกส์ที่มีต้นทุนต่ำ ธนาคารพาณิชย์กลับเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง เพื่อนำรายได้มาชดเชยกัน
และล่าสุด ธปท.ร่วมกับธนาคารพาณิชย์เปิดบริการโอนเงินแบบใหม่ "พร้อมเพย์-PromptPay" เมื่อ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น จะเป็นจุดเปลี่ยนระบบการชำระเงิน "พร้อมเพย์" จะช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถโอนเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเลขประจำตัวประชาชนแทนการระบุเลขบัญชีเงินฝาก
นอกจากความสะดวกสบาย สิ่งสำคัญก็คือ "ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง"
โดยการโอนเงินต่ำกว่า 5,000 บาทไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมทุกรายการ
มากกว่า 5,000-30,000 บาท ค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาท
มากกว่า 30,000-100,000 บาท ค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาท และเกิน 1 แสนบาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ
จากปกติการโอนเงินไปต่างจังหวัดแค่ 1,000 บาท ก็เสียค่าธรรมเนียม 30 บาทแล้ว
การกำหนดค่าธรรมเนียมของ "พร้อมเพย์" จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเขย่าโครงสร้างค่าธรรมเนียมบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ
โดยจะพร้อมเปิดให้บริการ 31 ต.ค.นี้ ซึ่งในระยะแรกจะเปิดให้บริการโอนเงินระหว่างบุคคลทั่วไปก่อน จากนั้นจะขยายไปสู่บริการชำระเงินต่าง ๆ
สำหรับผู้สนใจใช้บริการ ต้องลงทะเบียนเพื่อผูกบัญชีเงินฝากธนาคาร ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเลขประจำตัวประชาชน ได้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการลงทะเบียนผูกบัญชีธนาคาร นี่คือศึกชิงฐานลูกค้าครั้งสำคัญของธนาคาร
ดังนั้น ขณะนี้ธนาคารที่มีความพร้อมจึงประกาศเปิดรับลงทะเบียนก่อนกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559
เพราะหากลูกค้าตัดสินใจผูกบัญชีกับธนาคารใดแล้ว บัญชีธนาคารนั้นก็ย่อมเป็นธนาคารหลักของลูกค้า
สำหรับกรณี "รายได้ค่าธรรมเนียม" ที่ลดลงของธนาคารพาณิชย์ ก็แลกมาด้วยต้นทุนการบริหารเงินสดที่ลดลงเช่นกัน
เพราะประชาชนหรือลูกค้าแบงก์จะใช้เงินสดน้อยลง ก็ทำให้ต้นทุนการบริหารเงินสดซึ่งมีต้นทุนสูงของธนาคารลดลงด้วยเช่นกัน
ซึ่งสมาคมธนาคารไทยอ้างผลศึกษาว่า โครงการ National e-Payment จะช่วยลดต้นทุนการบริหารเงินสดได้ปีละกว่าแสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นการขยับตัวของระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อรับมือกับการเข้ามารุกไล่ของ "ฟินเทค" คู่แข่งหน้าใหม่ก็คงไม่ผิดนัก
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน