จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ CSR Talk
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งกิจการที่ทำประโยชน์ให้แก่คนในชุมชน เช่น การสร้างงาน การช่วยเหลือสังคม โดยไม่มีการแบ่งปันผลกำไร จึงได้มีมติเห็นชอบในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ว่าด้วยหลักการมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) อันเป็นผลให้ผู้ประกอบการสามารถจัดตั้งบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ตามนิยามของวิสาหกิจเพื่อสังคมในที่นี้หมายถึงบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่น ๆ โดยมุ่งส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นที่มีวิสาหกิจเพื่อสังคมตั้งอยู่ หรือมีเป้าหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ปัญหา และพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มิใช่การสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน
กิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีคือวิสาหกิจเพื่อสังคมที่นำผลกำไรทั้งหมดไปลงทุนในกิจการหรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น ๆ และไม่มีการจ่ายเงินปันผล โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของกิจการในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
วิสาหกิจเพื่อสังคมจำพวกที่ไม่มีการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าวนี้ "ศ.มูฮัมหมัด ยูนูส" นักเศรษฐศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบลชาวบังกลาเทศ เรียกว่าธุรกิจเพื่อสังคม (ประเภท 1) หรือ Social Business (Type I) คือเป็นการทำธุรกิจในแบบไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (Nonloss, Nondividend)
สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมดของผลกำไร จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของกิจการ
มาตรการ ภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมชุดดังกล่าวนี้ยังให้สิทธิประโยชน์ทาง ภาษีสำหรับผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลด้วยโดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีแรก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อสังคมตามจำนวนที่ลง ทุนจริง (หรือ 1 เท่า) ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อ สังคมไว้จนกว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม เลิกกิจการ
กรณีที่สอง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยให้เงินหรือโอนทรัพย์สินให้วิสาหกิจเพื่อสังคมนำไปใช้ในกิจการหรือใช้ เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยไม่มีค่าตอบแทนสามารถหักรายจ่ายเงินที่มอบให้หรือ ทรัพย์สินที่โอนให้ตามจำนวนที่จ่ายจริง (หรือ 1 เท่า) แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม อย่างไรก็ดี ผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว ก็ต่อเมื่อวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการสนับสนุนในทั้งสองกรณี เป็น Social Business ที่ไม่มีการจ่ายเงินปันผล หรือเป็น Social Enterprise ที่มีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เกินร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
หากวิสาหกิจเพื่อสังคม มีการจ่ายเงินปันผลเกินร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ ทั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม และผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีใด ๆ จากมาตรการดังกล่าว
นับแต่นี้ ไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องการจะตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมของตน เอง หรือจะเข้าลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมอื่น หรือจะสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมในรูปของการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ล้วนแต่มีโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุน วิสาหกิจเพื่อสังคมชุดนี้อย่างถ้วนหน้าหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
เรียกได้ว่า Social Business : ธุรกิจที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน