จากประชาชาติธุรกิจ
ถ้าเสกได้ต้นปี′60 เราจะมีกฎหมายใหม่ "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ออกมาบังคับใช้
ขอใช้คำว่าเสกก็แล้วกัน เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่เคยผลักดันสำเร็จสักที ถ้าจำไม่ผิดเริ่มตั้งไข่ครั้งแรกสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปี 2537 รอคอย 22 ปีเต็ม ล่าสุด รัฐบาล คสช.ออกมติคณะรัฐมนตรี 7 มิ.ย. 59 เห็นชอบให้ดำเนินการผลักดันกฎหมายให้เป็นรูปธรรม
สำหรับแฟนคลับจะรู้จักภาษีที่ดินฯ ในชื่อเรียกว่า "พร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์" (Property Tax) หรือภาษีที่เกิดจากการครอบครองทรัพย์สิน
ก่อนหน้านี้เคยสัมภาษณ์ "อ.สมชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ท่านอธิบายว่า ภาระภาษีเป็น Tax on Property ...ใครไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินก็ไม่ต้องจ่าย
ถ้าหากพร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์ถูกนำมาใช้จริง จะต้องยกเลิกกฎหมายเดิม 2 ฉบับ มี "กม.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475-ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508" เพราะเป็นของเก่าล้าสมัย อัตราจัดเก็บก็ถูกแสนถูก
ในอดีตอัตราจัดเก็บตั้งต้นบ้านหลังละ 3 แสน-1 ล้านได้รับการยกเว้น ทำให้ม็อบมนุษย์เงินเดือนส่งเสียงต่อต้านระงม มางวดนี้รัฐบาล คสช.แหวกโผกำหนดบ้านหลังแรกราคาไม่ถึง 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้นหน้าตาเฉย
ทุกคนงง ทำไมอัตรายกเว้นสูงโด่งอย่างนั้น บริษัทจัดสรรยิ่งงงหนัก เคยขอยกเว้นบ้านแค่ 3-5 ล้าน แต่ของจริงได้มาตั้ง 50 ล้าน ทางที่ปรึกษาภาษีอธิบายว่า เป็นเพราะภาษีบำรุงท้องที่เดิมยกเว้นภาษี 50 ตารางวา-1 ไร่
พอคำนวณย้อนกลับเป็นที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ ย่านสีลม เพลินจิต สุขุมวิท วาละ 1 ล้าน แปลตรงตัวคือภาษีบำรุงท้องที่ยกเว้นให้สำหรับ 50 ล้านบาท ก็เลยยกมาทั้งพวงว่าพร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์ก็จะยกเว้นให้บ้านหลังแรก 50 ล้านบาทเท่ากัน นัยว่าเพื่อจะได้ไม่มีข้อโต้เถียงใด ๆ อีก
ทีเด็ดมาซ่อนไว้ตรง "บ้านหลังที่ 2" เก็บตั้งแต่บาทแรก เศรษฐีพากันเป็นทุกข์หนัก แม้บ้านหลังที่ 2 มีภาษีถึง 7 ขั้นบันได เริ่มต้นบ้าน-คอนโดมิเนียมไม่เกิน 5 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
ไฮโซตกใจเพราะคิดเยอะ ทรัพย์ตั้งแต่ 5-100 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษีล้านละ 500-3,000 บาท ก็เลยกลัวกันว่าชื่อคนเดียวกันถืออสังหาฯหลายแปลงกลัวรัฐบาลงกนำมาบวกกันเช่น มี 10 หลัง รวมกันเกิน 30 ล้าน ต้องเสียภาษีล้านละ 2,000 บาท ทั้ง ๆ ที่แต่ละหลังราคา 3-4 ล้าน
ตรงนี้เพื่อความสบายใจ ได้รับคำชี้แจงมาว่า บ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไปเรียกเก็บตามโฉนดกรรมสิทธิ์ แปลว่าแยกรายแปลง ไม่มีการนำมาบวกกันแต่อย่างใด
ถัดมา พร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์มีหลักการใหญ่ลดความเหลื่อมล้ำในการจ่ายภาษี บังคับให้ทุกคนที่ครอบครองทรัพย์สินต้องจ่าย กระทบอย่างจังกับวงการซื้อที่อยู่อาศัยมาปล่อยเช่า โดยเฉพาะคอนโดฯ ที่เห็นปักป้ายคัตเอาต์โฆษณาโจ๋งครึ่ม การันตีผลตอบแทนค่าเช่า 5-6% 1-2 ปี
อัตราจัดเก็บพาณิชยกรรมมี 5 ขั้นบันได เริ่มต้นไม่เกิน 20 ล้าน จ่ายภาษีล้านละ 3,000 บาท ตั้งรับให้ดีละกัน
ที่น่าสนใจคือ "ที่ดินเปล่า" รัฐบาลเล่นงานหนักเพราะถือว่าไม่ทำประโยชน์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เริ่มต้นเก็บล้านละ 1-3 หมื่นบาท ตัวนี้แหละโกลาหลของจริง ลองคำนวณเล่น ๆ คนที่ถือครองที่ดินเปล่าวาละ 5 แสน-1 ล้าน ตกไร่ละ 200-400 ล้าน เสียภาษีล้านละ 1-3 หมื่นหรือปีละ 2-12 ล้าน
วันก่อนเจอ "อ.ต่อตระกูล ยมนาค" กูรูวงการวิศวกรโครงสร้างอีกท่านหนึ่ง ปรารภให้ฟังว่าบังเอิญมีที่ดิน 1 ไร่ครึ่′ ราคาตลาดไร่ละ 100 ล้าน ต้องกลับไปตัดโฉนดแบ่งให้ลูก 3 คน เอาความจริงมาพูดเล่นหรือเปล่าก็ไม่รู้ (ฮา)
รู้แต่ว่าในสายตานักพัฒนาที่ดิน แอบหวังลึก ๆ กันว่าถ้าเสกกฎหมายพร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์สำเร็จ คาดว่าจะดัดหลังนักเก็งกำไร-พวกปั่นราคาอยู่หมัดทีเดียว
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน