จากประชาชาติธุรกิจ
วิกฤตเศรษฐกิจ นำมาซึ่งวิกฤตการเมืองเสมอมา ตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถึงยุคประชาธิปไตย ในทุกยุควิกฤตเศรษฐกิจ มักมีสาเหตุมาจากราคาพืชผล-การส่งออก-งบประมาณ และปมขัดแย้งคนการเมือง
เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสว่า "การที่จะรบกับการเงินนั้นย่อมมืดแปดด้าน แม้แต่ผู้ที่เป็นเอกซเปอดก็เถียงกันคอแตก มีความเห็นกันต่างๆ นานา"
แม้ว่าก่อนหน้านั้น 2 ปี ฐานะการเงินของสยาม-หนี้สิน และการขาดดุลได้ถูกเคลียร์ไปเรียบร้อยแล้ว
แต่ตัวเลขพืชผล ราคาข้าว ดีบุกเพื่อการส่งออกก็ตกต่ำ รายได้ของรัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีก็ลดลง
พระยาโกมารกุลมนตรี เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในเวลานั้น รายงานว่า "สยามกำลังไปสู่ภาวะขาดดุลอย่างหนัก และว่าสถานการณ์นี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตที่ร้ายแรงของประเทศได้"
กรมพระยาดำรงฯ เสนอให้ "ลดเงินเดือน" ข้าราชการทั้งหมด ซึ่งคณะเสนาบดีลงมติ 7 ต่อ 4 "เห็นด้วย" แม้ว่ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จะทรง "คัดค้าน"
ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 1 ปี ชนวนปัญหาเศรษฐกิจ กลายเป็นจุดระเบิดของรัฐบาล
ถึงกับทำให้ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม "ต้องลาออก" เพราะมีข้อขัดแย้งกับเสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ เรื่องการใช้เงิน "ขั้นตอนไม่ถูกต้อง" และงบฯทหารถูกตัดทอน อีกทั้งมีความพยายามจะขึ้นเงินเดือนให้ทหาร 322 นาย
ประกอบกับ กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ก็จะขึ้นเงินเดือนให้กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมด้วย
ที่สุดมติส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับกรมพระยาดำรงฯ ที่ให้ "ยกเลิกการขึ้นเงิน" ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดช "ยื่นใบลาออก"
จากนั้นมีการปรารภกันในหมู่เสนาบดีว่าจะมีการ "เก็บภาษีที่ดิน" แต่ภาษีนี้จะกระทบต่อบรรดาเชื้อพระวงศ์มากและถูกคัดค้านมาตลอด
เศรษฐกิจสยาม สะเทือนหนักขึ้น เมื่อมีปัจจัยลบจาก "อังกฤษ" ออกประกาศจะเลิกใช้ระบบทองคำสำรอง
ทว่าสยามเลือกที่จะยึด "มาตรฐานทองคำ" เป็นทุนสำรองต่อไป เพื่อรักษา "ค่าเงินบาท" ท่ามกลางเสียงโจมตีจากในและต่างประเทศ และข่าวลือเรื่อง "ลดค่าเงินบาท" สะพัด
เมื่อสยามต้องการสร้างความเชื่อมั่น จึงยื่นข้อเสนอกู้เงิน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่วอชิงตันมีเงื่อนไขว่าสยามต้องยอมจำนำรถไฟสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือให้ด้วย ซึ่งในที่สุดข้อเสนอที่โหดร้ายนี้ได้ถูก "ยกเลิก" ไป
ช่วงปลายปี 2474 ตัวเลขการค้า รายรับ และดัชนีเศรษฐกิจ อยู่ในอัตราที่ลดลง มีการชี้ให้เห็นถึง "อันตรายของเงินเฟ้อ" และ "ภาวะขาดดุล" ยิ่งผลักให้การเผชิญหน้ากันระหว่าง 2 ขั้วการเมืองในคณะเสนาบดียิ่งแหลมคมขึ้น
ข้อเสนอที่สะเทือนชนชั้นศักดินา เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจเฉพาะหน้า คือ "ตัดรายจ่าย-เพิ่มรายได้จากภาษีคนรวย" ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง
จดหมายร้องทุกข์ถึงรัฐบาล ไม่ต่างจากทศวรรษนี้ คือ การลดค่าเงินบาทเพื่อกระตุ้นการค้า-การพักชำระหนี้ที่ดินและภาษีรายหัว-ให้มีกฎหมายห้ามยึดที่ดินติดจำนอง และขอให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง
รัฐบาลช่วยผู้มีรายได้น้อย-กสิกร ด้วยการให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ ลดภาษีที่นา 20%
กระนั้น ข้อขัดแย้งระหว่างเสนาบดี 2 ขั้วยังลุกลามไปถึงการจัดตั้งงบประมาณ และการลดค่าเงินบาท ซึ่งในที่สุด มติของที่ประชุมเสนาบดี ให้ตั้งงบประมาณเกินกว่าประมาณการรายได้ และเสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ ถูกปลดทันที ! หลังมติดังกล่าว
นักประวัติศาสตร์พิเคราะห์ว่า จุดแตกหักที่สำคัญของการเมืองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือภาษีคนรวย-ภาษีที่ดิน-งบประมาณและการลดค่าเงิน
ปัญหาเศรษฐกิจ-ข้อขัดแย้งของคนรัฐบาล 2559 ยังคงย่ำอยู่ที่ภาษีคนรวย-ช่วยผู้มีรายได้น้อยและงบทหาร
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน