สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สร้างธุรกิจไทยให้ไประดับโลก

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ นอกรอบ โดย ดร. ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

นิยามของธุรกิจที่ผูกขาดนั้น มักจะพิจารณาที่อุตสาหกรรมหรือตลาดที่มีผู้ผลิตและ/หรือผู้ขายเพียงรายเดียว ดังนั้น ถ้ามองว่า "ดิวตี้ฟรี" คืออุตสาหกรรมหนึ่ง และ "ผู้ที่ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง" คือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย "คิงเพาเวอร์" ก็คงถูกมองว่าผูกขาดในประเทศไทยแน่นอน เพราะนอกจากจะไม่มีคู่แข่งแล้ว ลูกค้าก็ไม่สามารถซื้อสินค้าจากผู้ขายรายอื่นเพื่อทดแทนได้ (เพราะเดินออกมาข้างนอกลำบาก)

นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ดูเหมือนจะเข้าใจตรงกัน ว่า การแข่งขันทำให้ราคาถูกลง (และปริมาณขายมากขึ้น) เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่า การผูกขาด อาจารย์ที่สอนเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งนักศึกษาที่เรียนวิชานี้ก็มักจะยกตัวอย่างของคิงเพาเวอร์ไว้เป็นกรณีศึกษา ที่รัฐบาลเป็นผู้สร้างการผูกขาดซะเอง (แทนที่จะส่งเสริมให้มีการแข่งขันกัน) อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการปรับเปลี่ยนนิยามให้กว้างขึ้น คำตอบที่ได้ก็อาจจะไม่เหมือนเดิม



เช่น ถ้ามองว่า "ดิวตี้ฟรี" เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยเท่านั้น เราก็จะเห็นคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้นทันที หรือ ถ้าเรามองตลาดให้ออกนอกประเทศไทยไปในระดับอาเซียน เอเชีย หรือระดับโลก เราก็จะพบว่านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถเลือกซื้อสินค้าปลอดภาษีที่ดิวตี้ฟรีของประเทศอื่น ๆ ได้เช่นกัน

สรุปได้ง่าย ๆ ว่า แม้ว่าคิงเพาเวอร์จะเป็นผู้ผูกขาดในตลาดดิวตี้ฟรี แต่ก็ไม่ใช่ผู้ผูกขาดในตลาดค้าปลีก และแม้ว่าคิงเพาเวอร์จะเป็นผู้ผูกขาดในประเทศไทย แต่ก็ไม่ใช่ผู้ผูกขาดในระดับโลก (แม้ว่าตอนนี้ คิงเพาเวอร์จะดังระดับโลกไปแล้วจากเรื่องของฟุตบอล)

พอพูดถึงคิงเพาเวอร์ ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึง "ซีพี" ที่หลายคนคิดว่าเป็นธุรกิจผูกขาด ซีพีแตกต่างกับคิงเพาเวอร์ ในประเด็นเกี่ยวกับสัมปทาน แต่มีความคล้ายคลึงกับคิงเพาเวอร์ในเรื่องของนิยาม ยกตัวอย่างเช่น 7-11 อาจมีอำนาจต่อรองมากในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ แต่ถ้าพูดถึงธุรกิจค้าปลีกในภาพรวมแล้ว 7-11 ก็ยังต้องเจอกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งอีกมาก และแม้ว่าซีพีจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ (มาก) ในประเทศไทย

แต่ถ้าวัดกันในระดับโลกแล้ว ซีพีก็ยังถือว่าห่างไกลกับคำว่าผูกขาด

เมื่อโลก "แคบ" ลงกว่าเดิม การแข่งขันกันในทางธุรกิจมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น หลายครั้งที่บริษัทสัญชาติไทยไม่ได้จับตลาดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่มองตลาดอาเซียน เอเชีย หรือโลก เป็นจุดหมายปลายทางมากกว่า

ดังนั้น หากบริษัทของคนไทยไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่พอ ก็อาจไม่สามารถต่อสู้กับบริษัทต่างชาติได้ และในที่สุด ใครจะรู้ เมื่อธุรกิจต่างชาติที่มีขนาดระดับโลกหรือ Global Company บุกเข้าเมืองไทยอย่างจริงจัง เราจะเอาอะไรไปสู้กับเขา

ที่ผ่านมา เราตั้งคำถามเกี่ยวกับผูกขาดเพียงแค่ว่า "เอาผูกขาด" หรือ "ไม่เอาผูกขาด" แต่มองข้ามมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบด้าน ถึงผลลัพธ์ของทางเลือกต่าง ๆ แต่ถ้าหากเราลองตั้งคำถามใหม่ เราอาจเข้าใจภาพที่ชัดเจนขึ้น เช่น "เราต้องการให้บริษัทต่างชาติผูกขาดในประเทศไทย สร้างรายได้มหาศาล แต่ส่งเงินส่วนใหญ่กลับประเทศของเขาหรือไม่" "เราต้องการเห็นบริษัทของคนไทยลงทุนเป็นเจ้าของกิจการในต่างประเทศ หรือเราต้องการเห็นบริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการในประเทศไทย" "เราต้องการเห็นบริษัทของคนไทยที่มีศักยภาพระดับโลก หรือเราต้องการให้บริษัทไทยมีขนาดเพียงแค่พอแข่งขันได้ในประเทศตัวเอง แต่ไม่สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก"

การเป็นผู้ผูกขาด (Monopoly) หรือมีอำนาจเหนือตลาด (Market Power) นั้น ไม่ใช่ความผิด ตรงกันข้าม บริษัททุกแห่งต่างก็แข่งขันกัน เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดและอำนาจเหนือตลาดทั้งนั้น


ประเด็นสำคัญ คือผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาด ต้องไม่ใช้อำนาจเหนือตลาดสร้างกำแพงเพื่อลดการแข่งขัน ซึ่งถ้าผู้ผลิตหรือผู้ขายรายใดมีพฤติกรรมเช่นนี้ ก็ควรจะถูกลงโทษทางกฎหมายและให้สังคมประณามเป็นเรื่อง ๆ ไป หรือถ้ากฎกติกา (รวมทั้งการบังคับใช้) อ่อนแอเกินไป ก็สามารถวิจารณ์ เพื่อการแก้ไขปรับปรุงได้

สำหรับกรณีของการผูกขาดจากสัมปทานของรัฐนั้น ขอเพียงสองข้อก็พอ คือ หนึ่ง-ขอให้มีกลไกที่โปร่งใสเพื่อให้ผลประโยชน์ตกเป็นของแผ่นดินให้ได้มากที่สุด และสอง-ขอให้มีผลกระทบทางลบต่อผู้บริโภคคนไทยน้อยที่สุด เท่านี้ก็ดีใจแล้วครับ

ไม่เพียงอยากเห็นดาราหรือนักกีฬาไทยบนเวทีโลกเท่านั้น แต่อยากสนับสนุนและให้กำลังใจบริษัทของคนไทยให้ "โกอินเตอร์" และ "แข่งขัน" กับนานาชาติได้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สร้างธุรกิจไทย ไประดับโลก

view