จาก โพสต์ทูเดย์
เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล
"รับทำวุฒิการศึกษาทุกระดับชั้น ใครที่เรียนไม่จบ เรียนไม่ตรงหลักสูตร แต่อยากหางานทำ ปรับเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง ปรึกษาเราได้"
"ม.XXX 8 ใบรวดดด สั่งหลายใบมีส่วนลดนะคะ"
"ราชภัฎXXXคร่าาาา"
"ป.ตรี มหาวิทยาลัยXXXX ทรานสคริปต์เสร็จแย้วว รอใบปริญญากำลังตามมา อิอิ"
ฯลฯ
ข้อความโฆษณารับจ้างทำวุฒิการศึกษาถูกป่าวประกาศโจ๋งครึ่มทางเฟซบุ๊ก ตั้งแต่วุฒิการศึกษาชั้นมัธยม ปวช. ปวส. ปริญญาตรี พร้อมใบรับรองและทรานสคริปต์ โดยแอบอ้างสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีใบประกาศผลการทดสอบความรู้ทางภาษาอังกฤษหรือ TOEIC ใบประกอบวิชาชีพครู พยาบาล วิศวกร ภายใต้สโลแกนว่า "ทำจริง ส่งจริง ตรวจสอบได้ ใช้งานได้ 100 %"
ทั้งหมดนี้กำลังสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่แวดวงการศึกษาไทยอย่างน่าเป็นห่วง
ชำแหละ"ขบวนการปลอมวุฒิ"ผ่านเฟซบุ๊ก
อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบหลังได้รับร้องเรียนจากเหยื่อรายหนึ่งที่ถูกหลอกให้โอนเงินแลกกับวุฒิการศึกษา พบว่า ปัจจุบันมีเพจเฟซบุ๊กรับจ้างทำวุฒิการศึกษาปลอมไม่ต่ำกว่า 100 ราย
"พวกนี้ทำเป็นขบวนการ เริ่มจากนำภาพถ่ายใบปริญญาบัตร ทรานสคริปต์ ใบรับรองจบการศึกษาที่มีตราประทับของมหาวิทยาลัย มีลายเซ็นอธิการบดีมาโชว์ให้เหยื่อหลงเชื่อ โดยอ้างว่าตัวเองเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นด็อกเตอร์ เป็นบุคลากรในมหาวิทยาลัย พูดจาน่าเชื่อถือ ให้ความมั่นใจว่าเป็นของแท้ ขณะเดียวกันก็มีหน้าม้าทำทีเป็นลูกค้า โพสต์เชียร์ว่าได้รับของแล้ว ใช้งานได้จริง เมื่อตกลงกันได้จะใช้วิธียื่นหมูยื่นแมว ให้เหยื่อโอนเงินและนัดส่งของ หลายคนถูกหลอกเชิดเงินหนีก็เยอะ กลุ่มผู้ซื้อวุฒิปลอมส่วนใหญ่เป็นคนที่เรียนไม่จบ เรียนไม่ตรงสาย แต่อยากเข้าทำงานในตำแหน่งที่ตัวเองต้องการ เช่น ภาคอุตสาหกรรมโรงงาน ห้างสรรพสินค้า บางคนต้องการปรับวุฒิเพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือน เช่น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง
ราคาแล้วแต่ระดับวุฒิการศึกษาและชื่อเสียงของสถาบัน เช่น วุฒิม.3 จบแบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) 5,000 บาท แบบโรงเรียนทั่วไป 6,000 บาท วุฒิม.6 กศน. 7,000 บาท โรงเรียนทั่วไป 8,000 บาท ปวช.และปวส. 8,000-12,000 บาท ระดับปริญญาตรี 30,000 บาท-100,000 บาท ที่น่าเป็นห่วงคือ ใบประกอบวิชาชีพเก๊ เช่น ครู พยาบาล วิศวกร คิดดูถ้าคนไม่มีความรู้ความสามารถไปทำอาชีพเหล่านี้ เกิดผิดพลาดขึ้นถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง"
ช่องโหว่ที่ทำให้ขบวนการรับจ้างทำวุฒิการศึกษาปลอมระบาดหนักคือ ขาดการตรวจสอบอย่างจริงจังจากผู้ประกอบการ
"ที่ผ่านมา ตลาดแรงงานต้องการคนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งไม่ตรวจสอบประวัติผู้มาสมัครงานอย่างละเอียดเพียงพอ บางที่ดูแค่ว่าจบระดับอะไร เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ สถาบันไหนเท่านั้น ทั้งที่วิธีเช็คง่ายมากคือ ตรวจสอบไปยังฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัยว่าคนๆนี้จบการศึกษาจริงหรือไม่ ไม่เกิน 3 วันก็รู้ผล แต่ถ้าปล่อยปละละเลยให้คนไม่มีความรู้ความสามารถฉวยโอกาสเข้ามา สุดท้ายเจ้าของธุรกิจก็จะเสียหายไปด้วย"
อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์
ถูกหลอกเชิดเงิน เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บวกกับอยากได้ปริญญาบัตรแบบเร่งด่วนจนหน้ามืดตามัว ทำให้ กนก (นามสมมติ) ต้องสูญเงินกว่า 32,5000 บาทให้กับแก๊งมิจฉาชีพที่แอบอ้างว่าสามารถออกวุฒิการศึกษาได้
"ผมเรียนจบจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร และรับราชการอยู่ในกระทรวงแห่งหนึ่ง ล่าสุดกำลังเรียนต่อที่คณะส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใกล้จะจบแล้ว บังเอิญต้องการรีบใช้วุฒิเพื่อปรับตำแหน่งใหม่ เลยติดต่อกับเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่งที่ประกาศว่าสามารถทำวุฒิการศึกษาได้ ต่อมามีคนโทรมาแนะนำตัวว่า ชื่อกมลวรรณ อยู่ฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัย เขารู้ข้อมูลของเราหมดว่ารหัสอะไร เรียนวิชาอะไรบ้าง เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ ก่อนเรียกค่าใช้จ่าย 65,000 บาท รู้สึกว่าแพงมาก กลัวโดนหลอก เพราะหน้าตาก็ไม่เคยเห็น แต่อยากได้มาก จึงตัดสินใจโอนเงินไปก่อนครึ่งหนึ่งจำนวน 32,500 บาท ฝ่ายนั้นตอบกลับว่าจะนัดเจอที่มหาวิทยาลัย แต่ก็ผัดผ่อนไปเรื่อย ผ่านไป 2 อาทิตย์รู้ตัวว่าโดนหลอกแน่เลยเข้าไปที่ฝ่ายทะเบียน ปรากฎว่าไม่มีชื่อเจ้าหน้าที่คนนี้"
เหยื่อรายนี้ยอมรับผิดว่าทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หวังให้ประสบการณ์ผิดพลาดของตัวเองเป็นอุทาหรณ์ว่า อย่าตกหลุมพรางของเหล่ามิจฉาชีพ
มะเร็งร้ายบ่อนทำลายวงการศึกษา
หลังจากเครือข่ายสังคมออนไลน์เผยแพร่เรื่องราวของขบวนการปลอมวุฒิการศึกษาทางเฟซบุ๊ก พร้อมภาพถ่ายใบปริญญา ทรานสคริปต์ ใบรับรองจบการศึกษาที่ระบุชื่อของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ก่อให้เกิดกระแสฮือฮาเป็นอย่างมาก
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เป็นคนแรกที่ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งความดำเนินคดีต่อมิจฉาชีพกลุ่มดังกล่าวข้อหาปลอมแปลงเอกสารสำคัญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เช่นเดียวกับ ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีบุคลากรของมหาวิทยาลัยเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการปลอมวุฒิการศึกษา อีกทั้งระบบการจัดเก็บเอกสารและข้อมูลต่างๆในคอมพิวเตอร์ถูกควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ไม่มีการรั่วไหลอย่างแน่นอน
วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ผอ.ฝ่ายสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องหันมาตื่นตัว
"อยากจะสื่อสารไปยัง 5 กลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ประกอบด้วย 1.คนรับจ้างปลอมวุฒิการศึกษา พวกนี้มีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร มีโทษทั้งจำทั้งปรับ 2.คนที่ไปซื้อวุฒิการศึกษามาใช้ คนกลุ่มนี้ก็มีความผิดได้รับโทษเทียบเท่ากับผู้ปลอมเอกสารทุกประการ แถมยังมีส่วนในการทำลายระบบการศึกษาด้วย 3.บริษัทผู้ประกอบการ ควรเช็คอีกครั้งอย่างละเอียด ไม่ว่าจะด้วยการตรวจสอบเอกสาร สัมภาษณ์ หรือติดต่อมายังมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยล้วนยินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว 4.สถาบันการศึกษา ควรมีระบบออกเอกสารที่เข้มงวด ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก่อนเรียนจบ ต้องมีการขึ้นทะเบียนบัณฑิต ส่งเรื่องให้สภามหาวิทยาลัยอนุมัติ ก่อนให้อธิการบดีเซ็นลงนาม เอกสารทุกฉบับมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ 5.หน่วยงานภาครัฐ ไม่ควรปล่อยปละละเลย ที่ผ่านมามีขบวนการทำพาสปอร์ตปลอม ใบขับขี่ปลอม วุฒิการศึกษาปลอมกันเกลื่อนกลาด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาด"
พฤติการณ์ซื้อขายวุฒิการศึกษาปลอมที่กำลังระบาดอย่างหนัก นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังสร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่วงการศึกษา สังคม และประเทศชาติอย่างคาดไม่ถึง
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน