สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนวคิดเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

เมื่อระลึกถึงและกล่าวถึง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก็จะต้องระลึกถึงและกล่าวถึง "คณะราษฎร" เพราะหากไม่มี "คณะราษฎร" ก็จะไม่มีวันที่ 24 มิถุนายนในประวัติศาสตร์ไทย

ครั้นเมื่อระลึกถึงและกล่าวถึง "คณะราษฎร" ก็จะต้องระลึกถึงและกล่าวถึงรัฐบุรุษผู้หนึ่ง ผู้ร่วมก่อตั้งและทำหน้าที่เป็น "มันสมอง" ของ "คณะราษฎร" นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 ที่ได้ก่อตั้ง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2490 เมื่อคณะราษฎรได้หมดบทบาทและภารกิจในฐานะ "ผู้ก่อการ" เปลี่ยนแปลงและสถาปนาการปกครองระบอบ "ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ" (Constitutional Monarchy) ขึ้นในเมืองไทยอย่างถาวร

และภายใต้การปกครองในระบอบดังกล่าว รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และสหายร่วมอุดมการณ์ ได้สร้างคุณูปการให้แก่สังคมไทยมากมายหลายสิ่ง อันจะจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ไทยยุคปัจจุบันอย่างไม่มีวันเลือน



รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ มีความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะกระทำการให้บรรลุเป้าประสงค์ใน 3 ประการที่สำคัญ คือ 1.สถาปนาระบอบการปกครองที่จะยืนยงเป็นฐานรากของบ้านเมืองไปนานแสนนาน คือ การปกครองในระบอบ "ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ" ซึ่งราษฎรมีส่วนร่วมในการคัดเลือก ให้ความเห็นชอบผู้บริหารประเทศอันเป็นของราษฎรและบริหารประเทศเพื่อราษฎร โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาสนาเป็นหลักค้ำจุน

2.สถาปนารัฐไทยที่มีความก้าวหน้า ทันสมัย และเป็นสากลในทุก ๆ มิติ คือการพัฒนาเศรษฐกิจ การบริหารราชการ การจัดการการเงินการคลังที่สุจริตและมีประสิทธิภาพ การให้การศึกษาและสาธารณสุขอย่างครบถ้วนทั่วถึง การมีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นขื่อแปของบ้านเมือง การให้สิทธิและความเสมอภาคแก่ราษฎร และการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยให้บังเกิดสันติสุข ยิ่งกว่านั้นจะต้องสร้างพลเมืองให้มีคุณภาพบนพื้นฐานของ "หลักคิด" และ "จิตสำนึก" ที่ถูกต้องและเป็นอารยะ

3.สถาปนาหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของราษฎรทุกคน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอนเมื่อชีวิตถึงที่สุด ซึ่งได้แก่ ความปลอดภัย การศึกษา สวัสดิการสังคมอย่างสมบูรณ์ และการมีงานทำและรายได้อย่างเป็นธรรม เพียงพอตามอัตภาพ

ในระหว่างเวลาประมาณ 15 ปี ที่ "คณะราษฎร" ได้รับผิดชอบการบริหารประเทศ แม้จะเป็นระยะเวลาที่ไม่นานนัก หากแต่เป้าประสงค์ต่าง ๆ ข้างต้น ก็ได้วางรากฐานอย่างมั่นคงในสังคมไทย ครบถ้วน ในบทบาทของ "ผู้ก่อการ" ประชาชนชาวไทยที่มี "จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์" (A Sense of History) จะต้องพิจารณาและศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องและถ่องแท้

แนวคิดในด้านเศรษฐกิจของปรีดีพนมยงค์เป้าประสงค์ของรัฐบุรุษอาวุโสสำหรับเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยก็คือความสุขสมบูรณ์ของราษฎรอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า ซึ่งหมายถึง "ความพอเพียง" ในบรรดา "ชีวปัจจัย" ต่าง ๆ ที่เป็นรากฐานของความสุขในชีวิต

ในการให้บรรลุถึงเป้าประสงค์ดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจของชาติ จะต้องประกอบด้วยแนวคิด 5 ประการ คือ หนึ่ง-เศรษฐกิจความมั่นคงของชาติ หมายถึง นโยบายเศรษฐกิจที่ยึดถือเอกราชและอธิปไตยของชาติเป็นหลัก โดยไม่กระทำการใด ๆ แม้ว่าการนั้นจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งและเติบโต ที่จะมีผลกระทบต่อเอกราชและอธิปไตยของชาต

สอง-เศรษฐกิจสหกรณ์ในชนบท
เนื่องจากความสุขสมบูรณ์อย่างทั่วถึงและถ้วนหน้าของราษฎรในพื้นที่ชนบท มีความสำคัญสูงสุดในการบริหารเศรษฐกิจของชาติ ดังนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว จึงต้องมีลักษณะที่เน้นการร่วมมือร่วมใจดำเนินการเศรษฐกิจของเกษตรกรที่มีรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย อันก่อให้เกิดหนี้สินในการผลิต ในการตลาด และในการบริโภค โดยพิจารณาขยายกระบวนการผลิตและการสร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ทั้งนี้ โดยปราศจากอิทธิพลครอบงำของ ทุนนิยม ในขณะที่ภาครัฐให้ความสนับสนุนด้านโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานและการวิจัยและพัฒนา

สาม-เศรษฐกิจประชาธิปไตยหมายถึงการกระจายบรรดา"ปัจจัยการผลิต"อันได้แก่ที่ดิน ทรัพย์สินและเงินทุน และเทคโนโลยี มิให้กระจุกตัวอยู่ในความครอบครองของบุคคลกลุ่มใด ในขณะที่การจัดสรรส่วนแบ่งใน "มูลค่าเพิ่ม" ที่เกิดจากการผลิต มีความเป็นธรรมไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เศรษฐกิจประชาธิปไตยจะเป็นฐานรากรองรับสังคม การเมืองประชาธิปไตย

สี่-เศรษฐกิจสวัสดิการสังคม
โดยที่ราษฎรทุกคนจะต้องมีหลักประกันสวัสดิภาพในทุกมิติ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งถึงเชิงตะกอน ดังนั้น การบริหารนโยบายเศรษฐกิจระดับชาติจึงจำเป็นจะต้องให้ความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ราษฎรทุกคนเข้าถึงสวัสดิการสังคมที่ทั่วถึงและมีประสิทธิผล

ห้า-เศรษฐกิจเทคโนโลยี หมายถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี เพื่อใช้เพิ่มพลังการผลิตบรรดา "ชีวปัจจัย" สำหรับการดำรงและดำเนินชีวิตของราษฎรอย่างมีความสุขสมบูรณ์ การพึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยีจะเป็นหลักประกันเอกราชและอธิปไตยของชาติทางเศรษฐกิจ

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดีพนมยงค์ได้สะท้อนแนวคิดทางด้านเศรษฐกิจข้างต้นนี้ไว้ในเอกสาร"เค้าโครงการเศรษฐกิจ" เมื่อปี พ.ศ. 2475 และในข้อคิดและข้อเขียนต่าง ๆ ในกาลต่อมา จนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แนวคิดเศรษฐกิจ ปรีดี พนมยงค์

view