สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคบุตร

ในช่วง 2 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐบาล คสช. เต็มไปด้วยนโยบายใหม่ ๆ ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย 

ชุดนโยบายเหล่านี้ถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามารับไม้ต่อในฐานะรองนายกรัฐมนตรี มือเศรษฐกิจคนใหม่ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นชุดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ชุดนโยบาย Cluster/Super Cluster และล่าสุด ชุดนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

โดยชุดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มุ่งส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดน วางเป้าหมายไว้ใน 10 จังหวัดใน 13 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านมา 1 ปีครึ่ง ปรากฏมีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 32 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 6,900 ล้านบาท 

หันมาดูนโยบายคลัสเตอร์กันบ้าง โดยชุดนโยบายนี้มุ่งไปที่การยกระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาเป็นฐาน การผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและเป็นอุตสาหกรรม แห่งอนาคตในลักษณะของการสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า หรือ Value Chain แบ่งเป็น Super Cluster ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ยานยนต์/ชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์/โทรคมนาคม, ปิโตรเคมี/เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ดิจิทัล, อากาศยาน, หุ่นยนต์, นวัตกรรมด้านอาหาร และการแพทย์ครบวงจร 

ในขณะที่ Cluster เป้าหมาย จะส่งเสริมเกษตรแปรรูป กับสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม โดยทั้ง 2 Cluster มีเงื่อนไขสำคัญต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา/วิจัยในโครงการพัฒนาบุคลากรหรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 

จนกระทั่งปัจจุบันปรากฏมีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามชุดนโยบาย Cluster/Super Cluster แล้วจำนวน 14 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 17,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า สิทธิประโยชน์ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับ Cluster นั้น "ใกล้กันจนแทบจะแยกกันไม่ออก" กล่าวคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษจะได้รับการ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี กับลดหย่อนภาษีเงินได้ร้อยละ 50 อีก 5 ปี (เฉพาะกิจการเป้าหมายที่กำหนด 13 กิจการ) ขณะที่ Super Cluster จะได้รับการ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อน 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี รวมถึงการ "ยกเว้น" อากรขาเข้าเครื่องจักร (Cluster ปกติจะได้รับการ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี)

แต่ Super Cluster มีแต้มต่อตรงที่ว่า กระทรวงการคลังกำลังเสนอแพ็กเกจ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-15 ปี กับกิจการเพื่ออนาคตที่มีความสำคัญสูง (แปลว่า ไม่ได้ทุกกิจการ) กับ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำที่เข้ามาทำงาน นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและนำเข้าช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาทำงานได้

ความ "ใกล้กัน" ในการให้สิทธิประโยชน์ข้างต้น กลายมาเป็น "ทางตัน" ที่รัฐบาลจะให้การส่งเสริมการลงทุนที่เป็นเรื่องพิเศษที่เหนือกว่า "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" หรือ "Super Cluster" ส่งผลให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในอุตสาหกรรมอนาคต 10 Cluster เป้าหมาย อาทิ ไบโอเทคและอาหาร-ยานยนต์ในอนาคต-อุปกรณ์อากาศยาน-ปิโตรเคมี-Bioeconomy จะต้องมีความเหนือกว่าสิทธิประโยชน์ที่ให้สูงสุดกันอยู่ในปัจจุบัน

จนมีข้อเสนอกันว่า ภาษีนิติบุคคลธรรมดา ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ จะต้องได้รับการ "ยกเว้น" ไม่เกิน 13 ปี และพิเศษขึ้นไปอีกใน พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภาษีนิติบุคคล "ยกเว้น" ไม่เกินถึง 15 ปี ภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญ 0% หรือ 15% ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ยังได้เช่าที่ดินราชพัสดุ 50+49 ปี อนุมัติต่างชาติ เข้ามาทำงานได้ 5 ปี รวมไปถึงสามารถถือครองเงินตราต่างประเทศได้โดยไม่ต้องรีบแลกเป็นเงินบาท

เรียกว่า "พิเศษ" เหนือความพิเศษใด ๆ กับความหวังที่จะต้อง "ปั้น" เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เกิดขึ้นให้ได้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

view