จากประชาชาติธุรกิจ
ยังอยู่ในมินิซีรีส์ว่าด้วยกฎหมายใหม่ "ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ..." ที่หลักการกฎหมายผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 59 ที่ผ่านมา ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างขั้นตอนเวียนสอบถามข้อคิดเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งผลักดันบังคับใช้ภายในต้นปี 2560
"ประชาชาติธุรกิจ" เปิดบทสนทนากับ "คุณตรี-กิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) สะท้อนมุมมองว่า ผลจากการเก็บภาษีที่ดินเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะที่ดินกลางเมืองราคาสูงและเจ้าของที่ดินไม่มีกำลังพอที่จะจ่ายภาษีที่ดินทุกปี ต่างจากเดิมที่การเก็บที่ดินไว้ไม่มีภาระค่าใช้จ่าย
โดย "คุณตรี-กิตติพล" มีข้อเสนอแนะเครื่องมือหนึ่งที่อาจนำมาปรับใช้เพื่อลดผลกระทบจากภาระจ่ายภาษีที่ดินฯ ในอนาคต นั่นคือแนวคิด "การขายสิทธิ์การพัฒนา" ซึ่งนักวิชาการเคยนำเสนอภาครัฐเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน โดยอิงกับข้อกำหนดเรื่อง FAR (Floor Area Ratio = อัตราพื้นที่ก่อสร้างอาคารเทียบกับขนาดแปลงที่ดิน)
ทั้งนี้ FAR จะเป็นตัวกำหนดไซซ์เล็ก-ใหญ่ของตัวอาคารโดยตรง หลักการคำนวณจากแปลงที่ดินเป็นตัวตั้ง ตามปกติ ที่ดิน 1 ไร่ มี 400 ตารางวา โดย 1 ตารางวาเท่ากับ 4 ตารางเมตร ดังนั้น 400 ตารางวาจึงเท่ากับ 1,600 ตารางเมตร
หลักการคำนวณต่อมา ข้อกำหนดผังเมืองบังคับใช้แต่ละโซนไม่เท่ากัน อัตราสูงสุดที่ได้รับคือ FAR 1 : 10 หมายความว่า ที่ดิน 1 ไร่ หรือ 1,600 ตารางเมตร สามารถคูณพื้นที่ก่อสร้างได้ 10 เท่า แสดงว่าที่ดิน 1 ไร่สามารถก่อสร้างตัวอาคารได้ 16,000 ตารางเมตร กรณีได้ FAR 1 : 5 ก็หมายความว่า ที่ดิน 1,600 ตารางเมตรคูณได้ 5 เท่า สามารถสร้างอาคารได้ 8,000 ตารางเมตร เป็นต้น
แนวคิดการขายสิทธิ์การพัฒนา อธิบายง่าย ๆ ก็คือการสวอป FAR หรือการขายโบนัส FAR นั่นเอง เลียนแบบการขายเครดิตคาร์บอนในวงการอุตสาหกรรม โดยโรงงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำสามารถขายสิทธิ์คาร์บอนให้กับโรงงานอื่น เป็นต้น ดังนั้น หลักคิดอยู่ที่ FAR ที่ดินแปลงใดถ้าใช้ไม่เต็มเพดานที่กฎหมายกำหนด ให้นำส่วนที่เหลือไปขายสิทธิ์ต่อให้กับเจ้าของที่ดินแปลงอื่นได้ เพื่อนำไปเป็นโบนัสเสริมสำหรับนำไปใช้พัฒนาที่ดินได้เพิ่มขึ้น โดยต้องไม่เกินเพดาน FAR พิเศษที่กำหนดไว้
"สมมุติผมมีบ้าน 2 ชั้นในที่ดินแปลงหนึ่ง ใช้ FAR ไปแล้ว 2 เท่า แต่ที่ดินแปลงนั้นได้รับ FAR 6 เท่า ผมสามารถขายสิทธิ์การพัฒนาที่ยังเหลืออีก 4 เท่า สิทธิ์นั้นแปลงเป็นเงินสด แต่ FAR ที่ลดลงจะทำให้มูลค่าที่ดินลดลงตามเพราะใช้ประโยชน์เพิ่มมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เมื่อมูลค่าทรัพย์สินลด ภาษีที่ดินก็จะลดลงเช่นกัน"
ก่อนจบ "คุณตรี-กิตติพล" แสดงข้อคิดเห็นด้วยว่า โดยรวมเป็นกฎหมายที่ดี ผู้ที่ถือครองทรัพย์มูลค่าสูงต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศเพิ่มเติม และเป็นการกระจายการถือครองที่ดินมาใช้ประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพ เมื่อคนมีโอกาสเข้าถึงที่ดินทำกินมากขึ้น ระยะยาวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จึงเป็นผลดีต่อประเทศแน่นอน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน