สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปตท.กับธุรกิจโรงแรม (2)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.worldpress.com

ปตท.กับสถานีบริการน้ำมัน เป็นเรื่องสลักสำคัญอย่างแท้จริง

"ภายใต้แนวคิด PTT Life Station สามารถตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างครบครัน (One Stop Service) อีกทั้งยังมีการสร้างสรรค์ธุรกิจค้าปลีกใหม่ ๆ ที่ ปตท.เป็นผู้ดำเนินการเอง รวมถึงการแสวงหาพันธมิตรของธุรกิจ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการร่วมกัน"

คำอรรถาธิบายว่าด้วยสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ข้างต้น (คัดมาจากรายงานประจำปี 2558) มีความหมายกว้าง ๆ ดูจะสอดคล้องกับสิ่งที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว "ภาพที่เป็นจริงว่าด้วยความสัมพันธ์กับสังคมไทย สาธารณชน หรือผู้บริโภควงกว้าง...ความเป็นผู้นำธุรกิจ ผู้นำแนวโน้มใหม่สู่ความทันสมัย โดยเฉพาะให้ภาพความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่"

แท้จริงแล้วควรจะมีความหมายอย่างลึกซึ้งด้วยเรื่องราวมากมาย เริ่มต้นตั้งแต่ก่อตั้ง ปตท.เมื่อกว่า 3 ทศวรรษเลยทีเดียว


ช่วงแรก
- สร้างแบรนด์ ปตท. หรือ PTT (ออกแบบตราสัญลักษณ์ ขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าหลัก) เมื่อปี 2524 เป็นแบรนด์ซึ่งผู้คนทั่วไปเข้าถึงได้ ผ่านบริการที่สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

ช่วงที่สอง - ใช้เวลากว่าทศวรรษ (ราวปี 2536) ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ปตท.ผ่านสถานีบริการ ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาด ซึ่งมีความหมายสำคัญมาก ๆ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ผู้ค้าปลีกน้ำมันท้องถิ่นเอาชนะเครือข่ายธุรกิจระดับโลก (Shell, Esso และ Caltex) ซึ่งยึดครองตลาดยาวนาน ตั้งแต่ยุคอาณานิคม แม้ว่ามีบางบริบท บางกติกา รัฐเอื้อประโยชน์ต่อ ปตท. (ในอีกฐานะ--บริษัทน้ำมันแห่งชาติ) อย่างมาก แต่ ปตท.ก็ควรภาคภูมิใจ

ช่วงที่สาม - ช่วงพัฒนาโมเดลใหม่สถานีบริการน้ำมัน ว่าไปแล้วเส้นทางไม่ราบเรียบนัก ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองความเป็นผู้นำค้าปลีกน้ำมัน ได้ปรากฏ "แรงเสียดทาน" เล็ก ๆ จากเครือข่ายธุรกิจน้ำมันระดับโลกรายใหม่

ในปี 2536 Conoco Phillips (ชื่อขณะนั้น ต่อมาในปี 2555 แยกตัวออกมาเป็น Phillips 66) กิจการพลังงานครบวงจรยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีฐานที่ Houston สหรัฐอเมริกา มีธุรกิจค้าปลีกด้วย เข้ามาดำเนินธุรกิจสถานีบริการในเมืองไทย ด้วยการเปิดสถานีบริการน้ำมัน Jet โดยมีร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store)--Jiffy ถือเป็นโมเดลสถานีบริการน้ำมันใหม่ในเวลานั้น จนกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางใหม่สถานีบริการน้ำมันในประเทศไทย

ปตท.เองเดินได้ตามกระแสนั้นด้วย แต่ครั้งแรก ๆ ไม่ราบรื่น ในช่วงปี 2540 ร่วมทุนกับบริษัท เอเอ็มพีเอ็ม (ประเทศไทย) และทิพยประกันภัย (โดย ปตท.ถือหุ้น 25%) ตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นเพื่อดูแลร้านค้าสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ภายใต้ชื่อ AMPM แต่กิจการดำเนินไปไม่ดีนัก เชื่อว่าเกี่ยวข้องและมีผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย

ช่วงเวลาดังกล่าว ปตท.กำลังเผชิญการปรับตัว ปรับองค์กร เพื่อเข้าตลาดหุ้น (ปี 2544) ถือว่าเป็นจังหวะไม่ดีนัก เนื่องจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำ แต่ทว่า เป็นเพียงช่วงไม่นานนัก โอกาสอันกว้างขวางและยิ่งใหญ่ก็มาถึง สามารถตั้งหลักอย่างมั่นคง โดดเด่นตั้งแต่ในปี 2547

"ปตท.ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากสินทรัพย์ระดับ 3 แสนล้านบาทในปี 2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี 2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาทในปี 2548-9 ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นจากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545 เพิ่มขึ้นทะลุ 400 บาทในปี 2547" ผมเคยสรุปภาพนั้นไว้ สะท้อน ปตท.ยุคใหม่ มาถึงในฐานะกิจการหลุดพ้นจากสภาพรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นบริษัทไทยระดับโลก อาศัยจังหวะเวลาเพียงสั้น ๆ อย่างที่ไม่เคยมีบริษัทไทยแห่งใดทำได้

แนวคิดร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมันยังคงเดินหน้า ปตท.จับมือกับพันธมิตรใหม่ในปี 2545 ร่วมมือกับ 7-Eleven เครือข่ายร้านสะดวกซื้อในเครือ ซีพี ความสำเร็จทางธุรกิจทั้ง ปตท.กับ ซีพี ออลล์ (เจ้าของเครือข่าย 7-Eleven) ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เป็นโมเดลสำคัญว่าด้วยพันธมิตรทางธุรกิจ สร้างความสะเทือนอย่างกว้างขวาง เชื่อว่าเป็นดีลที่ยากจะเกิดขึ้นอีกในสังคมธุรกิจไทย

จากนั้น (2546-2547) ปตท.บุกเบิกร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมัน เปิดตัว Cafe" Amazon อย่างเงียบ ๆ พร้อม ๆ ผุดแนวคิดรูปแบบสถานีบริการน้ำมันใหม่ ตอนนั้นเรียกว่า Pump in the park มีบริการทางการเงินแบบ drive-thru banking ด้วย แห่งแรกเปิดบริการบนถนนวิภาวดีรังสิต จะถือเป็นจุดตั้งต้นที่สัมผัสได้ในโมเดล PTT Life Station ปัจจุบันก็คงได้

จากนั้น ปตท.เดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โมเดลสถานีบริการน้ำมันใหม่ กลายเป็น "สัญลักษณ์" เชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ ปตท.ยุคใหม่อย่างแท้จริง ภาพนั้นต่อเนื่องมาจากบางเหตุการณ์ที่ควรกล่าวถึง

หนึ่ง - ปี 2550 ก่อตั้งบริษัทใหม่--ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก (PTTRM) เข้าซื้อกิจการจาก ConocoPhillips และบริหารกิจการสถานีบริการน้ำมัน Jet และสะดวกซื้อ Jiffy ปัจจุบันมีสาขาประมาณ 150 แห่ง ดำเนินกิจการไปอย่างไม่คึกคักนัก ประหนึ่งเป็นที่ที่ ปตท.ศึกษา เรียนรู้ สะสมประสบการณ์และเป็นทางเลือกเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก แต่ที่สำคัญภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมัน Jet ดั้งเดิมไม่เหลืออยู่ ไม่สามารถอ้างอิงและเทียบเคียง ความยิ่งใหญ่ของ PTT Life Station ได้

สอง - ปี 2553 เท่าที่จำได้ ปตท.ได้ออกโฆษณาทางทีวีชุดใหม่เกี่ยวกับ PTT Life Station เป็นครั้งแรก ภาพร้านกาแฟ Cafe" Amazon โดดเด่น ในเวลานั้นมีถึง 500 แห่งแล้ว (อ้างจาก http://www.cafe-amazon.com/) สามารถกล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ปัจจุบัน Cafe" Amazon มีเครือข่ายร้านมากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. (ขณะที่ Starbucks เครือข่ายร้านกาแฟระดับโลกแห่งสหรัฐ เปิดบริการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2531 ปัจจุบันมีสาขาประมาณ 170 แห่ง) ความสำเร็จทางธุรกิจในฐานะผู้บุกเบิกร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมัน สร้างปรากฏการณ์ สร้างกระแสใหม่ ๆ อย่างน่าทึ่ง มีความสำคัญและสนับสนุนโมเดล PTT Life Station เป็นแรงกระตุ้นจินตนาการให้กว้างไกล ดังที่ ปตท.อ้างอิงไว้ (กล่าวไว้ตอนต้น ๆ) "ตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างครบครัน...และสร้างสรรค์ธุรกิจค้าปลีกใหม่ ๆ"

ทั้งนี้ มีกรณีและเรื่องราวที่น่าสนใจตามมาอีก

-ปี 2555 ร่วมมือกับพันธมิตรใหม่สร้าง The Crystal PTT สถานีบริการน้ำมันในคอมมิวนิตี้มอลล์ แห่งใหม่บนถนนชัยพฤกษ์ เปิดบริการแล้วเมื่อปี 2557 เป็นจังหวะก้าวเข้าสู่ปรากฏการณ์ใหม่อย่างไม่ลดละ ร่วมมือกับกลุ่ม เค.อี.แลนด์ ภายใต้การบริหารของ กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ ผู้นำกระแสคอมมิวนิตี้มอลล์ในกรุงเทพฯ ซึ่งอ้างอิงกับ California style ในฐานะผู้บุกเบิกวิถีชีวิตชุมชนเมืองสมัยใหม่ ที่ถนนเอกมัย-รามอินทรา และถนนชัยพฤกษ์

-ปี 2557 เปิดตัวโครงการ PTT Innovation Park Landmark พื้นที่ 30 ไร่ ในพื้นที่ใกล้เคียงสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามแนวคิด "สถานีบริการน้ำมันแวดล้อมด้วยธรรมชาติ" ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นการผนวกรวมสถานีบริการน้ำมันกับคอมมิวนิตี้มอลล์ และเชื่อมโยง Landmark ใหม่ (อ้างจาก A49 ผู้ออกแบบ-- http://www.a49.com/Project/Detail/235) ได้แก่ ที่พักริมทาง (Rest Area) ศูนย์การเรียนรู้ (knowledge Centre) และที่แสดงงานศิลปะ (PTT art gallery)

ล่าสุด (2559) เมื่อมีแผนการเชื่อมโยง สถานีบริการน้ำมันกับธุรกิจโรงแรม ย่อมเป็นเรื่องพอเข้าใจได้ ทั้งนี้ จะเป็นแค่เพิ่ม "สีสัน" หรือจะเป็น "ทางแยก" หรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปตท.กับธุรกิจโรงแรม (2)

view