จากประชาชาติธุรกิจ
ถ้าใครเดินทางไปเมืองจีน ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองกวางเจา กว่างซี เซี่ยงไฮ้ เอ้หมึง เฉิงตู คุนหมิง และปักกิ่ง จะเห็นทุเรียน มังคุด เงาะสดวางขายอยู่ทั่วไป บางทีก็จะเห็นกระท้อนห่อ มะม่วงรวมอยู่ด้วย ไม่ต้องพูดถึงลำไยและลิ้นจี่ที่จะมาอยู่ด้วยในบางฤดู ลิ้นจี่ของไทยนั้นรสชาติสู้ลิ้นจี่ของจีนไม่ได้ แต่อาศัยว่าลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิของเราออกก่อนลิ้นจี่ของจีน ลิ้นจี่ของเราจึงสามารถส่งเข้าไปขายในเมืองจีนได้
ส่วนลำไยของเรานั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก ทั้งที่เป็นลำไยสดและลำไยแห้ง ลำไยสดนั้นรับประทานเป็นผลไม้สดเช่นเดียวกับผลไม้อื่น ๆ แต่ลำไยแกะเมล็ดออกตากแห้งจะกลายเป็นสมุนไพรจีนที่สำคัญชนิดหนึ่ง ที่ใช้ไปเข้ากับยาอย่างอื่น มีสรรพคุณทางบำรุงร่างกายของชายชาตรี จึงเป็นที่นิยมกันอย่างมาก
ส่วนแตงโมและสับปะรดเป็นผลไม้สดชั้นสูงที่รับประทานเป็นผลไม้หลังของ หวานในงานเลี้ยงทุกแห่งทุกภัตตาคารเป็นผลไม้ที่แสดงฐานะของผู้รับประทาน
ถ้าหากเป็นงานเลี้ยงธรรมดาที่บ้านก็จะเลี้ยงด้วยผลไม้เมืองหนาว เช่น ลูกพลับ ลูกบ๊วยหวานและองุ่น หรือแตงจากซินเกียงที่คนไทยถือว่าเป็นผลไม้ราคาแพง ที่เมืองจีนกลับเป็นผลไม้ราคาถูก ไม่ใช้เลี้ยงแขก
ผลไม้ไทยไม่ว่าจะเป็นมะม่วง แตงโม สับปะรด ฝรั่ง มังคุด เงาะ ลำไย และอื่น ๆ ก็ไม่ได้มีแต่เมืองไทย ประเทศอื่น ๆ ก็มี เช่น พม่า ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่อินเดียและบังกลาเทศ แต่มีคุณภาพสู้ผลไม้ของไทยไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องความหอมหวานหรือความหลากหลายของชนิด
เคยมีงานวิจัยของเพื่อนนักวิชาการฟิลิปปินส์ที่พยายามอธิบายว่า ทำไมผลไม้ไทยจึงมีคุณภาพดีกว่าผลไม้ชนิดเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้าน คำตอบอันหนึ่งก็คือเป็นผลมาจากการเก็บภาษีสวนตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่เก็บตามจำนวนต้นและชนิดของผลไม้ โดยการประมูลภาษีให้นายอากรสวนเป็นผู้จัดเก็บ อัตราภาษีสวนผลไม้เป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง ชาวสวนจึงเลือกเก็บเฉพาะผลไม้ชนิดดีที่มีราคาสูงไว้ และโค่นต้นที่คุณภาพต่ำออก เก็บแต่ต้นที่คุณภาพสูง ขายได้ราคาดีไว้ แต่เดี๋ยวนี้ภาษีเช่นว่านี้ไม่มีแล้ว
ในสมัยก่อน เงาะ กระท้อน มังคุด ทุเรียน ที่มีคุณภาพต่ำ เกษตรกรก็เก็บไว้ แต่บังเอิญมีต้นเงาะต้นหนึ่งเกิดที่โรงเรียนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเงาะที่เนื้อล่อนไม่ติดเมล็ด รสกรอบหวาน หลังจากที่ตลาดตอบรับจึงมีการขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งเพื่อไม่ให้กลายพันธุ์ เรียกกันว่าเงาะโรงเรียน และนิยมปลูกกันทั่วไปหมดทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก จนบัดนี้ไม่มีเงาะที่คุณภาพไม่ดีออกสู่ตลาดเลย เงาะทุกวันนี้จึงเป็นเงาะโรงเรียนทั้งหมด ลางสาดก็เช่นเดียวกันกลายเป็นลองกองไปหมด ต้นลางสาดถูกโค่นทิ้งไปหมดแล้ว
เคยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศยืนยันว่า เกษตรกรไทยนั้นตื่นตัวและตอบสนองต่อผลตอบแทนของการลงทุน ต่อผลผลิตสินค้าเกษตรที่ตนผลิตอยู่เสมอ กล่าวคือเป็นคนที่ติดตามข่าวและตอบสนองต่อตลาดอยู่ตลอดเวลา ไม่แพ้คนอื่น ๆ ที่เป็นนายทุนในภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการอื่น ๆ เลย มีความกระตือรือร้นและยินดีลงทุน ถ้าหากทราบว่าผลตอบแทนคุ้มต่อการลงทุน กล่าวคือเป็นมนุษย์เศรษฐกิจ หรือ "Economic Man" นั่นเอง พฤติกรรมเช่นนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือเป็นผู้รู้จักใช้โอกาสที่มาถึงเสมอ แต่ข้อเสียก็คือ เมื่อสินค้าที่ตนผลิตขึ้นสามารถตอบสนองกับความต้องการของตลาดได้และมีราคาสูงขึ้นมากเพียงฤดูเดียว ฤดูการผลิตถัดมาก็จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดสูงกว่ามากจนของล้นตลาด ราคาก็จะลดลง ในทางกลับกัน ถ้าราคาลดลง การผลิตก็จะลดลงในเวลาอันสั้น ราคาก็จะดีดกลับในเวลาอันสั้นเช่นเดียวกัน ทำให้ความผันผวนของราคามีสูงในระยะสั้นและมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อราคาในระยะยาวด้วย
ตลาดของสินค้าเกษตรกรรมจะเป็นตัวปรับทางด้านปริมาณการผลิตและความต้องการให้เกิดดุลยภาพ หรือให้เกิดความสมดุลอยู่เสมอ รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงตลาด การเข้าไปแทรกแซงตลาดทำความสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตกับปริมาณความต้องการของตลาดเสียไป ทำให้ตลาดไม่อยู่ในภาวะที่จะเกิดดุลยภาพในระยะยาว สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรทางการเงิน หรือภาษีอากรของชาติโดยเปล่าประโยชน์
เมื่อผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เป็นที่โปรดปราน เป็นที่นิยมชมชอบของผู้บริโภคชาวจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน จนกระทั่งพ่อค้าคนจีนบุกมาเหมาสวนทุเรียน สวนมังคุด สวนลำไย ลิ้นจี่ รวมทั้งทำสัญญาระยะยาว ซื้อแตงโม สับปะรด และอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องน่ายินดี ทำให้ผลไม้เหล่านี้ราคาสูงขึ้นจนคนไทยซื้อไม่ไหว
สิ่งที่ตามมาก็คือ การตัดผลไม้ที่ยังไม่สุก ด้อยคุณภาพออกขาย ทำลายความเชื่อถือของผลไม้ไทย ซึ่งได้ทราบว่าสมาคมชาวสวนผลไม้ชนิดต่าง ๆ ได้ร่วมมือกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำการควบคุมตรวจตราอย่างเคร่งครัด กำหนดโทษปรับและอาจจะถึงขั้นไม่ออกใบรับรองคุณภาพให้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับตลาดผลไม้ไทยในตลาดเมืองจีน
เมื่อราคาผลไม้ไทยถีบตัวสูงขึ้น เพราะความต้องการของตลาดจีนมีมากขึ้น สิ่งที่คาดไว้ที่จะเกิดขึ้นคงมี 2 อย่าง อย่างแรกก็คือการปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นไปอีก เรื่องนี้คนไทยเก่งที่สุดในภูมิภาคนี้ สำหรับผลไม้เมืองร้อน ประการที่สอง เกษตรกรคงจะเพิ่มเนื้อที่เพาะปลูกและปริมาณการผลิตมากยิ่งขึ้น ในอนาคตอีก 5-7 ปีข้างหน้า ทุเรียน มังคุด จะล้นตลาดอย่างเดียวกับยางพาราหรือน้ำมันปาล์มหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าคิด นโยบายการผลิตควรจะมีหรือไม่ บทบาทของรัฐบาลควรจะเป็นอย่างไร
การที่คุณภาพผลไม้เมืองร้อนของเกษตรกรไทยดีที่สุดในโลก การปรับปรุงพันธุ์มีอยู่ตลอดเวลา การป้องกันเชื้อโรค เชื้อรา การหนีจากโรค การค้นคว้าให้ความรู้ในการปรับปรุงดิน รวมถึงการทำหีบห่อ การสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มการควบคุมกันเอง การรับรองคุณภาพ บทบาทของรัฐที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป เรื่องที่จำเป็นสำหรับผลไม้แต่ละอย่างแต่ละชนิด ซึ่งมีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกันและบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน
ในขณะที่ผลไม้ไทย ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ แตงโม สับปะรด ลองกอง มะม่วง มะขามหวาน จากที่เคยเป็นที่นิยมอาจจะหมดความนิยมไป เช่น มะขามหวานสู้มะขามเปรี้ยวที่ทำเป็นมะขามเปียก ส่งไปขายในภาคตะวันออกกลาง ปากีสถาน อินเดียรวมทั้งศรีลังกา ที่เอาไปใช้ใส่อาหารประเภทแกงกะหรี่ แกงที่ใส่เครื่องเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ กลายเป็นสินค้าออกที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เฉพาะเมืองจีนเท่านั้น
คนไทยเองก็นิยมบริโภคผลไม้จากเมืองจีน และเมืองหนาวเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล กีวี แพร์ แอบพิคอต องุ่น สตรอว์เบอรี่ เชอรี่ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาล
แต่อย่างไรเสีย ผลไม้เมืองหนาวก็สู้ผลไม้เมืองร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ไทย ที่มีทั้งรับประทานตอนที่ยังดิบ ยังไม่สุก กับที่สุกแล้ว รสชาติก็หลากหลายมีทั้งรสเปรี้ยว รสหวาน รสมัน รสจืดอย่างมันแกวก็มี
ผลไม้ไทยมีความหลากหลายสูงมาก ต่างกันทั้งสี กลิ่น รส ทั้งที่ยังอ่อน ที่ห่าม ที่สุก เหมือนกับการเมืองไทยที่มีความหลากหลาย ไม่มีสูตรเดียวตายตัว ผู้คนที่เกี่ยวข้องก็มีหลากหลาย ทั้งผู้แสดงและผู้ชม ผู้ที่ถูกกระทบ และผู้ที่มิได้ถูกกระทบ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความหลากหลายก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะมีน้อยลง
ไม่เหมือนเมืองจีน การเมืองมีจำนวนสูตรจำกัด
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน