สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เวียดนาม-มาเลย์บุกหนักลาว ไทย รั้งท้ายอันดับ 5

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเดินทางไปเยือน "ลาวใต้" ในฐานะนักเรียนหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 6 ของสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ณ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อศึกษาดูงานส่วนภูมิภาคตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ในหลักสูตร

การเดินทางไปต่างบ้านต่างเมือง ด่านแรกต้องเข้าพบเพื่อทำการคารวะเจ้าของบ้าน คือเจ้าแขวงจำปาสัก ซึ่งปรากฏว่า ท่านติดภารกิจด่วน จึงมอบให้ ท่านบวลีน วงพะจัน รองเจ้าแขวงมาต้อนรับคณะของเราก่อนจะไปศึกษาดูงานสถานีโทรภาพ ประจำแขวง และศึกษาดูงาน บริษัท ซี.พี. ลาว จำกัด ในลำดับถัดไป

การเข้าพบครั้งนี้ทำให้ได้รับทราบข้อมูลแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 8 ของลาว (2559-2563) ซึ่งตั้งเป้าหมายจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 7.5% ของจีดีพี

โดยช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติในการหารายได้เข้าประเทศ ด้วยการดึงดูดนักธุรกิจเข้าไปลงทุนมีการส่งเสริมการลงทุน และให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เปรียบเหมือนกับบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ของไทย มีการให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุนและทรัพย์สินของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงอนุญาตให้นักลงทุนสามารถเช่าที่ดิน และโอนสิทธิและผลประโยชน์จากการเช่าที่ดินได้

ที่สำคัญ มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสร้างงาน และสร้างรายได้เข้าประเทศเช่นเดียวกับไทย ส่งผลให้ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ข้อมูลของกรมส่งเสริมการลงทุน ณ นครเวียงจันทน์ ระบุว่า ในปี 2558 เวียดนาม ถือเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนใน สปป.ลาวมากที่สุดถึง 36.76% รองลงมาเป็นมาเลเซีย มีการลงทุนถึง 33.94% ตามด้วยจีน ลงทุน 7.01% ฮ่องกง ลงทุน 1.46% อังกฤษ ลงทุน 0.32% ไทย ลงทุน 0.18% อินโดนีเซีย ลงทุน 0.04% และญี่ปุ่น ลงทุน 0.02% ขณะที่นักลงทุนลาวเองลงทุนเป็นอันดับ 3 มีประมาณ 20.25%

โดยธุรกิจที่ผู้ประกอบการสนใจเข้าไปลงทุน มี 7 ประเภท ได้แก่ 1.การลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Electricity Generation) มากถึง 44.78% โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยมีหลายโครงการ

2.การลงทุนในธุรกิจเกษตร 36.76% ซึ่งมียักษ์ใหญ่ด้านเกษตรปศุสัตว์ครบวงจรอย่าง ซี.พี. เข้าไปลงทุนด้านพันธุ์สัตว์ ตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และโรงงานแปรรูป นอกจากนี้มีบริษัท น้ำตาลมิตรลาว จำกัด ในกลุ่มมิตรผล ได้รับสัมปทานในการปลูกอ้อยและก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลจากรัฐบาล สปป.ลาว ที่เมืองอุทุมพร แขวงสะหวันนะเขต และเมืองเซบั้งไฟ แขวงคำม่วน

3.การลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ 14.49% 4.การลงทุนในอุตสาหกรรม และหัตถกรรม 2.89% 5.ธุรกิจบริการ 0.91% 6.ธุรกิจสิ่งทอ 0.11% 7.ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร 0.04%

สอดรับกับข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปัจจุบัน สปป.ลาวเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ (CLMV) โดยมีมูลค่าส่งออกของไทยไป สปป.ลาว สูงถึงประมาณ 1.8 แสนล้าน

ในปี 2558 สปป.ลาวมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 25 ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจ สปป.ลาวในช่วง 2553-2558 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.8 ต่อปี และในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ต่อปี ทำให้ประชาชนลาวมีรายได้สูงขึ้น ขณะที่การผลิตสินค้าใน สปป.ลาว ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ขยายตัวสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดสินค้า

โดยสินค้าของไทยที่ได้รับ ความนิยมในการอุปโภคบริโภคของประชาชนลาวและเป็นโอกาสในการส่งออกของไทยเป็น พวกสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นผงชูรส สินค้าประเภทน้ำตาล น้ำปลา กะปิ น้ำมันพืชซอสปรุงรส สินค้าอุปโภคที่จำเป็น เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม รวมถึงรองเท้า และผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่าง ๆ อาทิ ครีมบำรุงผิวที่มีสรรพคุณช่วยให้ผิวหน้าแลดูอ่อนกว่าวัย ช่วยลบเลือนริ้วรอย ให้ผิวหน้ากระจ่างใส รวมถึงครีมกันแดด เป็นต้น

นอกจากนี้ สปป.ลาว ถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยเป็นระยะทาง ประมาณ 1,800 กิโลเมตร หรือครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด ทำให้เอื้อต่อการขนส่งสินค้าผ่านทางการค้าชายแดน และการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย และ สปป.ลาวมีแนวโน้มคล่องตัวมากขึ้น ด้วยการเปิดใช้เส้นทางคมนาคมใหม่ ๆ และเปิดสะพานมิตรภาพเชื่อมโยงระหว่างกันถึง 5 จุด

ที่สำคัญ เท่าที่ทราบหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนลาวมากที่สุด หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียด้วยกัน ดังนั้นนักธุรกิจไทยจะมัวแต่จด ๆ จ้อง ๆ ในการเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว คงไม่ได้แล้ว เพราะวันนี้ เวียดนาม มาเลเซีย จีน ฮ่องกง อังกฤษ ได้เข้าไปลงทุนแซงหน้าไทยไปแล้ว โดยมีอินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ตามหลัง หายใจรดต้นคอ "ไทย" เพียงนิดเดียว


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เวียดนาม มาเลย์ บุกหนักลาว รั้งท้ายอันดับ 5

view