จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดย ชาย มโนภาส (คนขายของ)
ผมเริ่มรู้จักนักลงทุนผู้นี้จากรุ่นพี่นักลงทุนที่เล่าว่า หนังสือเรื่องการลงทุนที่น่าจะแพงที่สุดในโลก ณ เวลานี้คือหนังสือชื่อ "Margin of Safety" เขียนโดย Seth Klarman ซึ่งออกจำหน่ายในปี 1991 และไม่มีการพิมพ์เพิ่ม ทำให้หนังสือเล่มนี้ขายมือสองทางออนไลน์ในอเมริกา ด้วยราคาสูงถึงเล่มละ 900 เหรียญสหรัฐ ถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณสามหมื่นบาท
สำหรับหนังสือขนาดปกติที่มี 249 หน้า ก็ถือว่า "แพงมาก" แต่ถ้าผู้ที่อ่านได้นำหลักการที่ Seth พูดถึงมาใช้ในการลงทุน อาจรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่าที่สูงกว่านั้นมาก
Seth Klarman ผู้จัดการกองทุนบริหารความเสี่ยงขนาด 29 พันล้านเหรียญ โดยใช้แนวการลงทุนเน้นคุณค่าเป็นหลัก ด้วยพื้นฐานปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Cornell และ MBA จาก Harvard ทำให้เข้าสู่โลกการบริหารกองทุน โดยก่อตั้ง Baupost Group ในปี 1982 ด้วยอายุ 25 ปี ผ่านถึงปัจจุบัน ประเมินกันว่ากองทุนของ Seth ทำผลตอบแทนทบต้นราว 17% ตั้งแต่ก่อตั้ง ถึงแม้ว่ายังไม่เทียบเท่า Warren Buffett แต่ก็นับว่าชนะคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันแบบขาดลอย
กองทุน The Baupost Group ขึ้นชื่อด้านการลงทุนแบบอนุรักษนิยม การถือเงินสดราว 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมอดูเป็นเรื่องปกติของกองทุนนี้ Seth ย้ำเสมอว่าการลงทุนมองกันในระยะเวลาระดับปี และหากใครต้องการให้เขาบริหารเงินให้ โดยเน้นระยะเวลาเพียงแค่ 6-12 เดือน เขาจะแนะนำว่าให้ไปที่กาสิโนน่าจะดีกว่า
ในปี 1999 เป็นปีที่ตลาดหุ้นของอเมริการ้อนแรงมาก ดัชนี Dow Jones ขึ้นไป 25% ขณะที่ดัชนี S&P500 ขึ้นไป 21% แต่กองทุน Baupost ของ Seth กลับขาดทุนถึง 18%
Seth เคยอธิบายถึงการแพ้ตลาดในช่วงตลาดอยู่ในภาวะกระทิงว่า "ผมขอย้ำว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่าไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อจะชนะตลาดในสภาวะกระทิง เพราะภาวะกระทิงผู้คนส่วนใหญ่จะได้ผลตอบแทนที่ดีมาก ซึ่งมีบ่อยครั้งที่ทำได้ดีกว่านักลงทุนเน้นคุณค่า แต่ในสภาวะที่ตลาดตกต่ำต่อเนื่องยาวนานต่างหาก ที่หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่าเป็นเรื่องสำคัญ"
ผลงานการลงทุนของ Seth กลับมาเป็นที่ประจักษ์อีกครั้งในปี 2000 เมื่อดัชนี Dow Jones ติดลบ 6% และ S&P ติดลบ 9% แต่กองทุน Baupost กลับได้กำไร 10% และต่อมาในปี 2001 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดได้รับผลซ้ำเติมจากการก่อการร้าย ทำให้ดัชนี Dow Jones ติดลบ 7% และ S&P ติดลบเกือบ 12% แต่กองทุน Baupost กลับทำกำไรได้ถึง 27%
เท่าที่ผมสังเกตดูการลงทุนของกองทุน Baupost ตามรายงานที่ยื่นต่อตลาด พอจะสรุปสไตล์การลงทุนได้ดังนี้ 1. กองทุน Baupost จะไม่ไล่ซื้อหุ้นที่ราคาขึ้นไปมากแล้ว หรือกำลังร่วงตกลงมาแรง ๆ แต่จะเข้าซื้อในช่วงที่ราคาอยู่นิ่งมายาวนาน 2. PE ของหุ้นที่เข้าซื้อมีหลากหลาย ต่ำก็มี สูงแบบ 20 เท่าก็มี หรือ กิจการยังขาดทุนอยู่กองทุนก็ลงทุน แต่เท่าที่สังเกตคือ บริษัทที่กองทุนลงทุนจะเริ่มเห็นผลเปลี่ยนแปลงของกำไรทางที่ดีขึ้นในไม่ช้า และ3. กองทุนจะถือหุ้นแบบ "โฟกัส" มาก โดยหุ้นที่ถือมากที่สุด 3 ตัวคิดเป็นมูลค่า 50% ของพอร์ต และหุ้นที่ถือมากที่สุด 10 ตัวคิดเป็น 75% ของพอร์ต ซึ่งเป็นการจัดพอร์ตต่างจากกองทุนบริหารความเสี่ยงกองอื่นอย่างมาก
Seth เคยกล่าวว่า การลงทุนในตลาดหุ้น คือจุดตัดกันระหว่างความรู้ทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ กับความรู้เรื่องจิตวิทยาการลงทุน เขาเชื่อว่าความรู้เรื่องการประเมินมูลค่าหุ้นไม่ได้ยุ่งยาก แต่ที่ยากคือ "การตัดสินใจกับคำถามประเภท" จะซื้อตอนนี้ดีหรือรอไปก่อน ? และวันที่ทุกอย่างดูแย่ไปหมด เราควรตัดสินใจอย่างไรดี ? ซึ่งเขาเชื่อว่าคำถามประเภทนี้ ต้องใช้ประสบการณ์พอสมควร และถึงแม้ Seth เองก็มีประสบการณ์เรื่องการลงทุนมายาว นานพอสมควรถึง 34 ปี แต่ในปี 2015 กลับเป็นปีที่กองทุนทำผลตอบแทนติดลบเป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของกองทุน
เรื่องนี้ตอกย้ำว่าการลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะได้กำไร แม้แต่ระดับมืออาชีพที่มีการศึกษาอย่างดี มีประสบการณ์ยาวนานก็ไม่สามารถที่จะชนะตลาดได้เสมอไป การลงทุนมักมีการแพ้การชนะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา การตัดสินใจถูกและผิดเป็นเรื่องปกติ ดังที่ George Soros นักลงทุนในตำนาน เคยกล่าวไว้ว่า "มัน(เรื่องการลงทุน)ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิดที่สำคัญ หากแต่เป็นเรื่องถ้าคุณถูก คุณทำเงินได้เท่าไหร่ และเมื่อคุณผิดคุณจะเสียเงินเท่าไหร่ นั่นแหละที่สำคัญ"
ดังนั้นกลยุทธ์เรื่อง "Margin of Safety" หรือ "ส่วนเผื่อความปลอดภัย" ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการลงทุนเน้นคุณค่า จึงมีส่วนช่วยให้นักลงทุน อยู่รอดปลอดภัย ถึงแม้เขาอาจจะตัดสินใจผิดไปบ้างก็ตาม
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน