จากประชาชาติธุรกิจ
กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อยาวนานสำหรับการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IIIegal Unreported and Unregulated หรือ IUU Fishing) ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการสภาพยุโรป ได้พิจารณาตัดสินให้ "ใบเหลือง" เพื่อแจ้งเตือนประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือกับสหภาพในการแก้ปัญหา IUU ไปเมื่อเดือนเมษายน 2558
พร้อมกับทำการ "กดดัน" รัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการให้ "ใบแดง" หรือการห้ามนำเข้าสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์จากไทยเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป หากรัฐบาลไทยยังแก้ปัญหา IUU ไม่เพียงพอในความเห็นของสหภาพ
การกดดันของสหภาพยุโรปดังกล่าว มีผลทำให้รัฐบาลไทย "วุ่นวาย" กับการแก้ไขปัญหา IUU หรืออีกนัยหนึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ให้ได้รับการ "คง" สถานะใบเหลืองต่อไป ในทุกครั้งที่สหภาพยุโรปส่ง "ทีม" เข้ามาติดตามความคืบหน้าของฝ่ายไทย
เบื้องต้นรัฐบาลไทยได้จัดทำ Road Map แบ่งการทำงานออกเป็นกลุ่ม ๆ อาทิ การบังคับระบบติดตามเรือ-การบังคับใช้กฎหมาย-การยกเลิกทะเบียนเรือที่ผิดกฎหมาย-ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)/การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ถูกกฎหมาย (Catch Certificate)-ความร่วมมือทางด้านการประมงกับประเทศเพื่อนบ้าน-การออกกฎหมาย/อนุบัญญัติ/คู่มือต่าง ๆ และเรื่องอื่น ๆ ที่ประกอบไปด้วย การดำเนินการตามแผนการซื้อเรือคืน-การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวประมง และการช่วยเหลือแรงงาน และการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประมง เป็นต้น
โดยสิ่งที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการภายใต้กลไกของกองทัพเรือ ในนามของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. ก็คือ การระดมบังคับให้เรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) การแจ้งจุดเรือเข้า-เรือออก (PIPO) การตรวจสอบบังคับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายบนเรือประมง/การค้ามนุษย์ การตรวจจับเรือประมงที่ใช้เครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมาย รวมไปถึงวันหยุดทำการประมง และการกำหนดเขตการทำประมงชายฝั่ง
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็ได้เร่งจัดทำบันทึกความร่วมมือ หรือ MOU ร่วมกับภาคเอกชน อาทิ บันทึกความร่วมมือในการไม่ซื้อ นำเข้า ส่งออก นำผ่าน จำหน่าย สัตว์น้ำ/ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงผิดกฎหมาย การใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ อย่างน้อย.ก็ช่วยในเรื่องการสร้าง "ภาพพจน์" ที่ดีขึ้นสำหรับการปฏิบัติการของประเทศไทย
ทว่าการดำเนินการข้างต้นเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากสถานะใบเหลือง
นำมาซึ่งการระดมสรรพกำลังในทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประมง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ จัดชุดหน่วยเฉพาะกิจตรวจสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ ภายใต้กฎหมายถึง 6 ฉบับ ได้แก่
พ.ร.บ.การประมง 2558-พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 2522-พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว 2551-พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541-พ.ร.บ.ประกันสังคม และ พ.ร.บ.โรงงาน ออกปฏิบัติการตรวจโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ-ห้องเย็น-แพปลา และสถานแกะคัดแยกสัตว์น้ำ (ล้ง) แบบปูพรมในช่วงระหว่างเดือน พ.ย. 2558 จนถึง ก.ย 2559
ผลปฏิบัติการตรวจสอบโรงงานแบบปูพรมจนถึงเดือนมิถุนายน 2559 พบโรงงานหรือสถานแปรรูปสัตว์น้ำที่กระทำผิดเบื้องต้นมากถึงครึ่งต่อครึ่ง
โดย "ตัวเลข" เหล่านี้จะถูกรวบรวมเขียนรายงานส่งให้คณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อปิดความเสี่ยงที่ไทยจะถูก Upgrade ยกชั้นขึ้นเป็นใบแดงนั่นเอง
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน