สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเรียน-ด้านมืด สตาร์ตอัพ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ขณะที่กระแส "สตาร์ตอัพ" กำลังเบ่งบานทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่มีการพูดถึงสตาร์ตอัพในทุกวงการ ขณะเดียวกัน ก็เริ่มเห็นข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาของสตาร์ตอัพ เพราะต้องยอมรับว่าการสร้างสตาร์ตอัพไม่ใช่เรื่องง่าย

บริษัทวิจัย "Xeler8" ของอินเดียระบุว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสตาร์ตอัพในอินเดียล้มไปแล้วเกือบ 1,000 บริษัท

Xeler8 เก็บสถิติสตาร์ตอัพในประเทศมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2014 พบว่าช่วงสองปีเศษมีสตาร์ตอัพเกิดขึ้นทั้งหมด 2,281 ราย โดยที่มีสตาร์ตอัพล้มเลิกกิจการไปแล้ว 997 ราย หรือประมาณ 40% ของทั้งหมด

สถิติที่น่าสนใจ คือ สตาร์ตอัพส่วนใหญ่จะเลิกกิจการภายใน 12 เดือนหลังเปิดตัว และมีสตาร์ตอัพอายุเกิน 16 เดือนเพียง 43 รายเท่านั้นจาก 2 พันกว่าราย

เหตุผลหลักที่สตาร์ตอัพเหล่านี้ต้องเลิกกิจการ ส่วนใหญ่เป็นเพราะขาดแคลนเงินทุน และการแข่งขันที่รุนแรง

โดยหมวดธุรกิจของสตาร์ตอัพที่ล้มเหลว ได้แก่ โลจิสติกส์ (20.9%) อีคอมเมิร์ซ (19.6%) เทคโนโลยีอาหาร (18.7%) และการวิเคราะห์ข้อมูล (11.3%) 

ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานเกี่ยวกับสัญญาณฟองสบู่ (แตก) "สตาร์ตอัพจีน"

เนื่องจากสตาร์ตอัพจีนที่ให้บริการออนดีมานด์รายใหญ่ต่างทุ่มเงิน (ที่ได้จากนักลงทุน) จัดแคมเปญส่วนลดสารพัดเพื่อดึงลูกค้า แม้ว่าจะได้ลูกค้าแต่สตาร์ตอัพเหล่านั้นก็ไม่สามารถสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้ 

เพราะเงินทุนดำเนินการของสตาร์ตอัพส่วนใหญ่มาจาก "เวนเจอร์แคปิตอล" เรียกว่าไม่ใช่เงินของตัวเอง 

แต่ก็เริ่มมีสัญญาณว่าสงครามราคาใกล้สิ้นสุด เพราะเม็ดเงินลงทุนที่เคยหลั่งไหลเข้าสตาร์ตอัพจีนเริ่มหดหาย โดยครึ่งแรกปี 2016 หายไปราว 25% เมื่อเทียบปี 2015

อาจเพราะธุรกิจสตาร์ตอัพที่ดำเนินธุรกิจโดยเงินทุนเหล่านั้นสนุกเพลิดเพลินกับการใช้เงิน เพื่อดึงดูดลูกค้าโดยไม่ได้มองถึงการสร้างผลกำไรของธุรกิจ

สตาร์ตอัพในจีนเริ่มเผชิญวิกฤตสภาพคล่อง เช่น "หยีชี่ ชาง" สตาร์ตอัพจองห้องร้องคาราโอเกะ ที่ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 600 คน หลังการระดมทุนล้มเหลว ขณะเดียวกัน ก็เริ่มเห็นการควบรวมธุรกิจในจีน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือบริการเรียกรถ Didi Chuxing ซื้อกิจการ Uber ในจีน รวมถึงการควบรวมของ Meituan-Dianping เว็บซื้อสินค้าและอาหารแบบกลุ่ม, Ganhi-58.com เว็บประกาศโฆษณา, Ctrip-Qunar เว็บจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน

ปัญหาที่พบคือสตาร์ตอัพส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสร้างผลกำไรจากการดำเนินงาน 

หรือว่าวงการ "สตาร์ตอัพจีน" ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว 

และกรณีที่เป็นประเด็นฉาวของสตาร์ตอัพในช่วงที่ผ่านมา คือ สตาร์ตอัพจากสหรัฐที่ชื่อ Theranos ที่ก่อตั้งโดย "เอลิซาเบธ โฮลมส์" ซึ่งอ้างว่าได้คิดค้นเทคโนโลยีการตรวจเลือดแบบใหม่ที่มาปฏิวัติวงการแพทย์ จากปกติที่ต้องเจาะเลือดเป็นหลอด ๆ แต่เทคโนโลยีนี้เจาะเลือดที่ปลายนิ้วแค่ 2-3 หยดก็สามารถตรวจวัดค่าต่าง ๆ ได้กว่า 240 อย่าง แถมรู้ผลเร็วแค่ 30 นาที และราคาถูกกว่า 

โดยปี 2013-2014 สตาร์ตอัพรายนี้ก็ขึ้นทำเนียบยูนิคอร์น (บริษัทที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์) มีคนดัง ๆ มานั่งเป็นบอร์ดบริษัทเพียบ 

ประสบความสำเร็จในการระดมทุนกว่า 400 ล้านดอลลาร์ และมีการประเมินว่ามูลค่าธุรกิจพุ่งทะลุ 9,000 ล้านดอลลาร์

แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีปัญหา บริษัทถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความแม่นยำของเครื่องมือที่ให้บริการ สืบไปสืบมาได้พบความจริงว่าเครื่อง Edison ที่ว่าเป็นเทคโนโลยีลับเฉพาะ แท้จริงก็ไม่ได้ต่างจากเทคโนโลยีของบริษัทอื่น ๆ จนอาจเรียกว่าเข้าข่าย "ลวงโลก"

นี่จึงอาจเรียกว่าเป็น "บทเรียนและด้านมืด" ของสตาร์ตอัพที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บทเรียนด้านมืด สตาร์ตอัพ

view