จากประชาชาติธุรกิจ
รายงานพิเศษ
ประวัติศาสตร์การนองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณท้องสนามหลวงเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มักถูกบันทึกไว้ ในแง่มุมเหตุการณ์ที่มีการล้อมปราบนักศึกษา ภาพการแขวนคอกลางสนามหลวง ภาพจลาจล
ทว่าอีกด้านของเหตุการณ์คนพูดถึงน้อยยิ่งกว่าน้อย แต่กลับมีนัยที่สำคัญต่อการเมืองไทยในเวลาต่อมาคือเหตุการณ์ที่ตัวแทนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(ศนท.)ติดต่อไปยังรัฐบาลเพื่อให้ยุติการสลายการชุมนุมนักศึกษา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงดึกของคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ทว่าตัวแทนที่เดินทางไปเจรจากับรัฐบาลกลับถูกจำคุกกว่า 2 ปี เกิดอะไรขึ้นกับตัวแทน ศนท.เหล่านั้น...
"สุรชาติ บำรุงสุข" นักวิชาการด้านความมั่นคง รั้วจุฬา ฯ ในอดีตเป็นกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เป็น 1 ใน 8 ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ที่เข้าไปเจรจากับรัฐบาลก่อนถูกจับ ย้อนความหลัง ว่า
"ตกดึกของคืนวันที่ 5 ตุลา กระสุนนัดแรกยิงเข้าธรรมศาสตร์ประมาณตี 2 มีเครื่องยิงระเบิดยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ลงสู่สนามกีฬา แถวหน้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ผมคลานออกมาดูหน้าหอประชุมซึ่งออกไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่ามีกระสุนปืนยิงเข้ามา เห็นเพื่อน 3 ชีวิตนอนนิ่งอยู่เข้าใจว่าเสียชีวิต เพราะนอนนิ่งแล้ว"
"พอเกิดเหตุการณ์เราพยายามติดต่อรัฐบาล จนกระทั่งได้รับคำตอบจากรัฐบาลว่า ให้นักศึกษาไปพบอาจารย์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี เราก็จัดคนโดยมีคุณสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท. พร้อมด้วยกรรมการศูนย์ เดิมผมไม่อยู่ในชุดนั้นเพราะมีการตัดสินใจว่าจะเอารองนายกของรามคำแหง แต่มีปัญหาเพราะตกใจจนช็อก ด้วยความเป็นเพื่อนกับคุณสุธรรม โตมาด้วยกันที่จุฬาฯ ผมจึงไปด้วยกัน"
"เราหลบกระสุนปืนจากตึกออกประตูท่าพระจันทร์ รถตำรวจรอรับเราอยู่ไปบ้านอาจารย์เสนีย์ เมื่อไปถึงบ้านอาจารย์เสนีย์ ตำรวจมาโบกบอกว่า ไม่ต้องลง แล้วพาจากบ้านอาจารย์เสนีย์ไปที่กองปราบสามยอด"
"ผมกับคุณสุธรรมคิดว่าสงสัยเขาเก็บเราไว้เดี๋ยวไม่กี่วันก็ปล่อยเรากลับบ้านรอให้กระแสข้างนอกมันลดเชื่อกันว่าเต็มที่ตำรวจเก็บเราไว้7 วัน ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไร แต่มีคนมากระซิบก็ฟังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เขาไม่อนุญาตให้เอาหนังสือพิมพ์ให้เราดู"
"ระหว่าง 7 วันถูกสอบ พอพ้น 7 วันถูกฝากขังใหม่ 7 วัน ก่อนจะถูกส่งตัวไปที่เรือนจำบางขวาง เป็นนักโทษการเมืองชุดสุดท้ายที่รับโทษในเรือนจำบางขวาง"
บริเวณที่ "สุรชาติ" และพวกถูกขังในใจกลางบางขวาง นักโทษทั้ง 8 ชีวิต ถูกตั้งข้อหาหนักมีโทษถึง "ประหารชีวิต" นับ 10 ข้อหา ต้องถูกตีตรวนที่ข้อเท้าทว่าเมื่อเกิดเสียงเรียกร้องจากโลกตะวันตกให้ปล่อยนักโทษการเมืองในไทย วันหนึ่งรัฐบาลมีคำสั่งให้เลิกตีตรวนผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา และห้ามใส่เครื่องแบบนักโทษขึ้นศาลทันที เพราะในศาลมีผู้แทนรัฐบาลต่างชาติเข้ามานั่งฟัง
"สุรชาติ" เล่าต่อว่า ใช้ชีวิตอยู่จนกระทั่งมีนักโทษการเมืองรุ่นน้อง เกิดคดีกบฏ 26 มีนา 2520 พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ก่อกบฏแล้วแพ้ ปรากฏว่าชุดแรกที่เข้ามา ไม่ใช่ พล.อ.ฉลาด แต่เป็นคนรูปร่างผอม 4 คนแบกเสื่อมา คนนำขบวนชื่อ พ.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เดินตามมาอีกคน คือ พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ กลายเป็นทหารฝ่ายขวามาอยู่กับผู้นำนักศึกษาที่เป็นฝ่ายซ้าย ชีวิตในคุกเป็นการหลอมคนที่อุดมการณ์ต่างขั้วข้าง ต้องหลอมรวมผ่านชีวิตที่ต้องอยู่ด้วยกัน ทุก ๆ เช้าผู้นำนักศึกษา กับผู้นำทหารฝ่ายขวาเตะตะกร้อด้วยกัน ทานข้าวด้วยกัน
กระทั่งวันหนึ่ง "กบฏ 26 มีนา" ได้รับการนิรโทษจึงมีการให้คำสัญญาระหว่างทหารฝ่ายขวากับนักศึกษาฝ่ายซ้ายคือ
"พี่ออกก่อน แล้วเดี๋ยวพี่มาช่วย" กระทั่งวันหนึ่งประตูคุกเปิดออก 1 ในที่ถูกจับ 26 มีนา ที่ได้รับการปล่อยตัวคือ "พิชัย วาศนาส่ง" เป็นตัวแทนของรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เดินเข้ามาแล้วขอให้ผู้คุมออกไป
เหลือแต่พวกผู้นำนักศึกษาแล้วบอกสิ่งที่"สุรชาติ" ไม่ลืมกระทั่งวันนี้
"รัฐบาลต้องการยุติสงครามกับนักศึกษา เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาทั้งหมด"
หลังจากนิรโทษ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เชิญไปกินข้าวที่บ้าน เพื่อสร้างสัญลักษณ์คือการประนีประนอมกับขบวนการนักศึกษา เป็นการส่งสัญญาณไปถึงเพื่อนนักศึกษาที่อยู่ในฐานที่มั่นชนบท หลังจากนั้นเห็นนักศึกษาทยอยออกจากป่าคืนสู่เมือง...ด้วยการนิรโทษกรรม ผ่านคำสั่ง 66/23
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน