จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์ โดย พงศ์นคร โภชากรณ์ p_pochakorn@hotmail.com
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกคืออะไร ? เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor Development หรือเรียกย่อ ๆ ว่า EEC เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) หรือ New S-Curve ที่รัฐบาลพูดบ่อย ๆ
โดยมี 3 จังหวัดภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา มีกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ ช่วยประสาน รองรับ และผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย 1) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายบีโอไอ 2) ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3) ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...ซึ่งร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับแรก ผ่าน ครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ส่วนฉบับหลังสุดก็เพิ่งผ่าน ครม.ไปเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ
ขนาดทางเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : ผลิตภัณฑ์มวลรวม 3 จังหวัด (ไม่รวมเงินเฟ้อ) มีมูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 13.5 ของ GDP ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าของภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 6.1 แสนล้านบาท เป็นศูนย์กลางการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
โดย GDP ภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ตกอยู่ใน 3 จังหวัดนี้ถึงร้อยละ 23.2 ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 5.3, 3.9 และ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ เติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจทั้งประเทศที่ขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.5 ต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังมีทั้งท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา โครงข่ายคมนาคมต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมถึงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่มากถึง 21 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพที่โดดเด่นของพื้นที่นี้อย่างชัดเจน
โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดและภาคตะวันออก รออยู่กว่า 1.5 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) : โครงการสำคัญ ๆ ประกอบด้วย การสร้างท่าเรือ สนามบิน คมนาคมทางถนนและราง และอื่น ๆ รวมวงเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท (ตามภาพประกอบ) โดยจะแบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของภาครัฐ 3 แสนล้านบาท ภาคเอกชน 5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกจะเป็นการร่วมทุนของภาครัฐกับเอกชน 7 แสนล้านบาท
นี่ยังไม่นับรวมเม็ดเงินที่จังหวัดได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณที่ส่วนกลางจัดสรรให้จังหวัดถือจ่ายตลอดระยะเวลา5ปีอีกหลายแสนล้านบาทในแต่ละปีงบประมาณ
ในอนาคตหากมีอุตสาหกรรมเป้าหมายชั้นนำของโลกมาตั้งที่ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีศักยภาพสูงนอกจากจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นแล้วยังถือเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงให้กับแรงงานไทยด้วยซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการใช้การลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยในอนาคต และสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางขึ้นสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคตอันใกล้
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน