สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.วรเจตน์ ลั่น สังคมนิติรัฐ ต้องไม่ใช้ความเชื่อ ตัดสินลงโทษคน

จากประชาชาติธุรกิจ


ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ไม่ใช่ นายแบบโฆษณาแอร์หน้าร้อน แต่เป็นนักวิชาการที่จุดไฟ กลางพายุ เพื่อบอกกับสังคมว่า การทำลายทักษิณ เพียงคนเดียว โดยการทุบทำลายหลักกฎหมายทั้งหมด อาจได้ไม่คุ้มเสีย แล้วต่อไปจะเอาอะไรไปสอนหนังสือนักศึกษา เพราะสิ่งที่อยู่ในตำรา กับ การใช้กฎหมาย วันนี้ เป็นคนละเรื่อง !!!


    คำพิพากษาศาลฎีกา คดียึดทรัพย์ ทักษิณ ศาลเขียนคำวินิจฉัยกลาง 187 หน้า  ใช้เวลาอ่าน เมื่อวันที่ 26 ก.พ. นานกว่า 7  ชั่วโมง
    ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และเพื่อนนักวิชาการ เสียงข้างน้อย  เขียนบทวิเคราะห์(วิจารณ์) คำพิพากษาศาลฎีกา 32 หน้า ใช้เวลาเขียนนานกว่า 7 วัน
    ประชาชาติธุรกิจ  อ่าน คำพิพากษาศาลฎีกา 187 หน้า แล้วอ่าน บทวิเคราะห์ของ ดร. วรเจตน์ อีก 32 หน้า
    ก่อนไปสัมภาษณ์  ดร. วรเจตน์ บนชั้น 4 คณะนิติศาสตร์  สนทนากันตั้งแต่ 10 โมงเช้า ไปจนถึง 13.30 น.
    ชั่วโมงนี้ อาจารย์ทั้ง 5  ถูกเหน็บแนมว่า องครักษ์พิทักษ์ จอมปลวก  หรือว่าที่จริงแล้ว พวกเขาเป็น นักวิชาการผู้กล้าหาญ... ผู้กล้าจุดไฟกลางพายุ
    ล่าสุด สิ้นเดือนนี้  ทนายทักษิณ ต้องยื่นอุทธรณ์ คดียึดทรัพย์ อันเป็นการต่อสู้ เฮือกสุดท้ายของอดีตนายกฯ  อะไรคือ อุทธรณ์ อะไรคือ ข้อมูลใหม่ และอะไร คือ ความบกพร่องทางวิชาการของสังคมไทย ....ต้องอ่านบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้  
  @@@ อาจารย์จะภูมิใจหรือเสียใจ ถ้าบทวิเคราะห์ 32 หน้าของอาจารย์ไปปรากฏในคำอุทธรณ์ของคุณทักษิณ เกือบหมดเลย   ไม่ใช่เรื่องของผม ไม่เป็นปัญหาของผมเลย นี่ผมบอกเลยนะครับ มีคนมาเล่าให้ผมฟังว่า มีการโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ต ถามว่าทำไมไม่มาจ้างอาจารย์กลุ่มนี้ ...ไม่เกี่ยวอะไรกับผม ผมไม่ได้ยุ่งกับคดีนี้ตั้งแต่แรก ไม่เคยเกี่ยวข้อง เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่ผมทำให้กับสังคม
     ความมุ่งหมายของผมมีอย่างเดียวคือ ผมต้องการให้สังคมเห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่มีการพูดกัน เอาความรู้มาเถียงกัน ผมไม่อยากให้สังคมถูกพัดพาไปโดยกระแสในด้านเดียว เท่านั้นเอง และผมคิดว่าความจริงคือความจริง ความรู้คือความรู้ ไม่อยากให้ใช้ความเชื่อ ไม่อยากให้ใช้อคติ พูดก็พูดเถอะ ธรรมชาติประทานสติปัญญาให้เรา ประทานสมองให้เรา เราต้องคิด ต้องใช้มันให้มาก อคติไม่ต้องใช้มากเพราะสังคมไทยใช้มาเยอะแล้ว ซึ่งที่ผมพูดมา หรือที่กลุ่มห้าอาจารย์พูด เราพูดในเชิงกฎหมาย เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับคำพิพากษานี้ ไม่ได้สนับสนุนความชอบธรรมอะไรในทางการเมืองให้กับคุณทักษิณ เพราะคำพิพากษานี้เป็นเรื่องการขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ก็ต้องว่ากันตามเกณฑ์ทางกฎหมาย
   เพราะเรื่องทางการเมือง ต้องประเมินอีกอย่างหนึ่ง มีเกณฑ์อีกแบบหนึ่งเป็นคนละเกณฑ์กัน แต่นี่เรากำลังจะเอา 2 เกณฑ์มาเป็นเรื่องเดียวกัน
  ไม่ใช่เรื่องที่ผมภูมิใจหรือไม่ภูมิใจ และมีคนถามว่านี่ผมช่วยคุณทักษิณหรือ? แล้วผมเกี่ยวอะไรกับคุณทักษิณ ผมขอบอกว่า ถ้าจะดูช่วยไปดูที่เนื้อหา สังเกตไหมว่าแถลงการณ์เที่ยวนี้ เราพูดเรื่องรัฐประหารน้อยนะ ทั้งที่เป็นประเด็นใหญ่สุดเพราะเป็นต้นสายของทุกอย่างที่ตามมา หมายความว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นสืบทอดมาจากรัฐประหาร มันควรจะใช้ไม่ได้ แต่ที่พูดตรงนี้น้อย เพราะเราต้องการให้ดูเรื่องเนื้อหา เพราะมีการพูดกันว่าอย่าไปเถียงเรื่องรัฐประหารและเอาเป็นว่าถ้าเข้าสู่ระบบ ปกติมันผิดไหมอย่างไร
    ผมก็เลยบอกว่าคุณลืมเรื่องรัฐประหารไปเลยก็ได้ คุณเริ่มต้นอ่านจากเนื้อหาในบทวิเคราะห์ของกลุ่มห้าอาจารย์เลย ต่อให้ไม่คิดถึงเรื่องรัฐประหารด้วย ผมไม่อยากให้ทุกคนว่าประเด็นพวกนี้เป็นเรื่องเทคนิค พอเป็นเรื่องเทคนิคแล้วคิดว่ายุ่งยากซับซ้อนแล้วเชื่อๆ ตามๆ กันไป ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น
@@@ในตอนที่ทักษิณ มีอำนาจก็อาจสั่งการโดยไม่ปรากฏหลักฐาน เป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้เพราะทุกอย่างถูกควบคุมโดยทักษิณ ที่วางคนของตัวเองเอาไว้หมด แล้วอาจารย์อาจจะมองไม่เห็นสิ่งที่ทักษิณ สั่งรัฐมนตรี ให้ทำโครงการที่เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป
   ผมคิดว่าความคิดแบบนี้อันตราย ถ้าเราใช้ "ความเชื่อ" ลงโทษคน จะเกิดอะไรขึ้น เช่น เชื่อว่าคนขี้ยาฆ่าข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ความจริงเขาอาจจะไม่ได้ทำ แต่คนเชื่อว่ามันฆ่าข่มขืนก็ให้ประหารชีวิตมันไป
ผมเชื่อในหลักการ และอยากจะบอกแบบนี้ว่า ภายใต้การต่อสู้ทางการเมืองที่มีกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองจำนวนมากเข้า ร่วมวงต่อสู้ กลุ่มผลประโยชน์ทุกกลุ่มต่างต้องการช่วงชิงชัยชนะให้กับตัวเอง การต่อสู้ก็มีวิธีการหลายวิธี เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ การให้ข้อมูลด้านเดียว การให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน  ต่างๆ เหล่านี้ทำกันมา คนคนหนึ่งอาจจะทำ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลของการโฆษณาชวนเชื่ออาจจะทำให้คนเชื่อว่าไอ้หมอนี่ทำ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเชื่อนั้นใช้ไม่ได้ในทางกฎหมาย ถ้าคุณจะเชื่ออย่างไรนั้นก็ว่ากันทางการเมือง
ถ้าคุณอยากจะยึดทรัพย์คุณ ทักษิณ คุณรัฐประหารล้มเขาแล้ว คุณออกประกาศยึดไปเลย ส่วนในอนาคตถ้าเขาจะกลับมาจะนิรโทษกรรมอะไร ก็เป็นเรื่องในอนาคตข้างหน้า แต่ถ้าจะใช้กระบวนการทางกฎหมาย ก็ต้องมีเหตุผล
   ผมกำลังจะบอกว่า เรากำลังเอา 2 เรื่อง มาปนกัน เพราะการรัฐประหาร มันเป็นเรื่องอำนาจ เป็นเรื่องปืน รถถัง มันเถื่อนเพราะมันไม่จำเป็นต้องให้เหตุผล แต่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการตามกฎหมาย มันใช้เหตุผล มันมีหลัก ใช้ความเชื่อไม่ได้ ถ้าไม่อย่างงั้น ก็ไม่ต้องเรียนวิชานิติศาสตร์ ไม่อย่างงั้นผมก็ไปเรียนวิชายิงปืนสิ ผมจะมาเรียนกฎหมายทำไม และถ้าผมเชื่อว่าใครทำผิดผมก็ยิงมันเลย ถ้ามันชั่วนัก
  ผมจะบอกว่าทั้ง 2 อย่างนี้ มันเหมือนน้ำกับน้ำมัน มันไปด้วยกันไม่ได้ และถ้าเอามาผสมกันมันจะสร้างความเสื่อมให้กับตัวระบบ ที่เราสร้างขึ้น 
  เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะทำอะไร คุณก็ทำไปสิ ตั้งแต่ตอนที่คุณมีปืน ที่คุณคิดว่าทำด้วยความหวังดี ทั้งๆที่การรัฐประหารมันเป็นความเถื่อน แต่คุณคิดว่าต้องทำเพราะว่าไอ้ระบบธรรมดามันใช้ไม่ได้ คุณก็ให้เหตุผลไป ผมจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันเป็นเรื่องของผม แต่เมื่อเข้าสู่กลไกทางกฎหมาย เกิดระบบรัฐธรรมนูญ คุณต้องทำตามหลัก จะเอาความเชื่อมาใช้ไม่ได้ แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าที่เราเชื่อนั้นเป็นความเชื่อที่ถูก นี่เราอยู่ในยุคของการพิสูจน์ยุคของเหตุผลนะครับ หรือว่าผมเข้าใจผิด ที่จริงแล้ว เราไม่ได้อยู่ในยุคของเหตุผล   @@@  ประเด็นการอุทธรณ์คดียึดทรัพย์คุณทักษิณ  มีแง่มุมมองทางวิชาการ หรือไม่   เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เข้าใจและเป็นปัญหากลไกซ่อนรูปในรัฐธรรมนูญ และนักกฎหมายหลายคนก็มองไม่เห็น เราพูดเรื่องอุทธรณ์ ว่าพอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว มีสิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 30 วัน ไปยังที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา หลายคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ บางคนก็บอกว่านี่ไงมีการประกันสิทธิเสรีภาพ เรื่องการอุทธรณ์ กระบวนการนี้เป็นธรรมเพราะเปิดให้มีการอุทธรณ์ไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้
    แต่เรื่องนี้คนรู้น้อยมากว่าจริงๆแล้วมันใช่การอุทธรณ์หรือไม่ ไปถามในทางสากลจากนักกฎหมายในโลกนี้ทั้งโลก จะรู้ว่าที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 นี่มันไม่ใช่เรื่องการอุทธรณ์ แม้จะเขียนว่า"อุทธรณ์" ก็จริง แต่เนื้อหามันไม่ใช่ อันนี้มันซ่อนปมอีกอันหนึ่ง
   เพราะสิ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น เป็นลูกผสม ระหว่างการอุทธรณ์กับการขอให้พิจารณาใหม่ หรือการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ในทางกฎหมายแล้ว เรื่องทั้งสองเรื่องนี้มีหลักคิดที่ต่างกัน ยกตัวอย่างคดีอาญา มีบุคคลคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ต่อมาพนักงานสอบสวนก็สอบสวนมีการส่งเรื่องไปที่อัยการและอัยการฟ้องไปที่ศาล เมื่อมีการตัดสินคดีแล้วมีการอุทธรณ์ ฎีกา เมื่อศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกายืน คดีถึงที่สุดที่ศาลฎีกา
    ต่อมาเมื่อเขาอยู่ในคุก พบพยานหลักฐานว่าเขาไม่ใช่คนกระทำความผิด ระบบกฎหมายจะเปิดช่องให้เขา ขอให้พิจารณาใหม่ หรือว่ารื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งการอุทธรณ์กับการขอให้พิจารณาใหม่มีความแตกต่างกัน เพราะการอุทธรณ์ คือการที่คู่ความในคดี ซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลในระดับล่าง โต้แย้งคำพิพากษาของศาลขึ้นไปยังศาลระดับสูง ซึ่งแน่นอนว่า สามารถอุทธรณ์ได้ในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย หรืออาจให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายอันนี้แล้วแต่ระบบกฎหมายจะวางกลไกไว้
    แต่ที่สำคัญที่ต้องเน้นก็คือการอุทธรณ์เป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความได้โต้ แย้งตัวคำพิพากษาของศาล โดยไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานใหม่ คือพยานหลักฐานอาจเป็นของเดิมทั้งหมดเลยก็ได้ แต่อุทธรณ์หรือโต้แย้งว่าศาลล่างตีความกฎหมายไม่ถูก หรือถ้าเป็นการยอมให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ก็โต้แย้งว่าการรับฟังข้อเท็จจริงมีความผิดพลาด นี่คือการโต้แย้งในประเด็นต่างๆที่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวกันมา แล้ว หรือโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายขึ้นไปให้ศาลในระดับสูงกว่าตรวจสอบคำพิพากษาของ ศาลล่างว่าถูกต้องหรือไม่ นี่เรียกว่าการอุทธรณ์
    เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีกแล้ว คดีอาจถึงที่สุดในศาลฎีกา หรือศาลอุทธรณ์หรือศาลชั้นต้น หากไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกาขึ้นศาลสูงแล้วแต่กรณี เมื่อคดีมันจบ หลักก็คือ คำพิพากษาก็เสร็จเด็ดขาด ผูกพันคู่ความในคดี ทีนี้เป็นไปได้ว่าคำพิพากษาอาจผิดพลาด ซึ่งระบบกฎหมายที่ยอมรับหลักความยุติธรรม ต้องยอมรับว่ามันเกิดความผิดพลาดได้เวลาที่ศาลมีคำพิพากษา เพราะฉะนั้น ระบบกฎหมายอย่างนี้ แม้ด้านหนึ่งจะต้องรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงแน่นอนของคำพิพากษาของศาลซึ่งถึง ที่สุดแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งระบบกฎหมายก็ต้องรักษาความยุติธรรมด้วย
    ที่นี้จะรักษาความยุติธรรมยังไงให้ได้ดุลกับความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ คำตอบก็คือเขาก็จะเปิดช่องเอาไว้ว่าหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว มีการพบพยานหลักฐานใหม่ ว่าที่ศาลตัดสินไปนั้นไม่ถูก เขาก็จะเปิดโอกาสให้คนซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วนั้น ยื่นคำร้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่นี้ หลักในทางสากลคือ คดีอาจจบไปแล้ว กี่ปีก็ได้ แต่อาจจะจำกัดเวลาขั้นสูงไว้ว่าถึงอย่างไรก็ไม่เกิน 3o ปี หรือไม่เกินระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร เพียงแต่ว่าถ้าคุณมีพยานหลักฐานใหม่ คุณต้องยื่นเสียอาจจะภายใน 30 วัน เช่น คดีจบ ไปแล้ว 5 ปี แล้วคุณพบพยานหลักฐานอันนี้ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าคุณไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด คุณก็นำไปยื่น เพื่อรื้อฟื้นคดีที่จบไปแล้วนั้นให้ศาลมาพิจารณาใหม่ ตรรกะจะเป็นแบบนี้ จะเห็นได้ว่าหลักการอุทธรณ์คำพิพากษา กับหลักการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ตั้งอยู่บนฐานคิดที่แตกต่างกัน มีเหตุผลรองรับไม่เหมือนกัน
    แต่รัฐธรรมนูญไทย  50 ได้สร้างระบบประหลาดขึ้นมาซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งอาจจะนับว่าเป็นการสรรสร้างของคนร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ เขาบอกว่า คนที่ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปที่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน แต่ต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่ เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในความหมายแท้ๆ ที่ใช้ในทางกฎหมายและก็ไม่ใช่การขอให้พิจารณาใหม่ด้วย
     ที่ผมบอกว่าไม่ใช่การอุทธรณ์ เพราะว่าคุณไปบีบเขาว่าเขาต้องมีพยานหลักฐานใหม่ภายใน 30 วันนี้ และคุณต้องมีพยานหลักฐานใหม่ มันก็เลยไม่ใช่เรื่องการอุทธรณ์ เพราะการอุทธรณ์ในทางระบบที่รับกันทั่วไปในสากลไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่การรื้อฟื้นพิจารณาคดีใหม่ด้วยเพราะคุณไปจำกัดเขาว่า เขาต้องทำภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ไม่ใช่ 30 วันนับแต่วันที่พบพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจจะผ่านไป 5 ปี 10 ปี ก็ได้
 
@@@ หลักการอุทธรณ์ จึงมั่วๆ กันอยู่ระหว่าง 2 หลัก?
      ถูกต้อง มันมั่วสุดๆเลยเลยไม่ใช่มั่วๆ กันอยู่แต่ มันไม่มีหลักอะไรเลยตรงนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องประหลาดมากในทางระบบ อันนี้ต้องอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจ เพราะที่พูดๆกันอยู่นี่ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง นี่พูดจริงๆ หลายคนทำให้ผมรู้สึกว่ามีปัญหามากในทางความรู้ เพราะไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้แล้วพูดไป ไม่อธิบายให้สุด อธิบายทำให้รัฐธรรมนูญ ๕๐ นี่ดูดีเท่านั้น ทำให้สังคมเข้าใจผิด หลักก็เสียหมด
ประเด็นคือ ถ้าเอาตามตัวบทลายลักษณ์อักษรนี่ ทนายความของคุณทักษิณ ต้องเจอหลักฐานใหม่ จึงจะสามารถอุทธรณ์ได้  เพราะฉะนั้นมันไม่เป็นธรรมกับคนที่ถูกลงโทษ ดังนั้นถ้าหากจะประกาศต่อโลกว่าระบบกฎหมายไทยยอมให้อุทธรณ์ได้ก็ต้องไม่ กำหนดเงื่อนไขเรื่องพยานหลักฐานใหม่ เพราะจะเป็นไปได้ยังไงที่บังคับให้เขาต้องหาพยานหลักฐานใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา ไม่ยังงั้นอย่าเที่ยวไปพูดกับใครๆว่ารัฐธรรมนูญ ๕๐ นี้เป็นธรรมแล้วเพราะยอมให้มีการอุทธรณ์ได้ ทั้งๆที่เอาเข้าจริงไม่ใช่เรื่องอุทธรณ์ แต่ทีนี้ครั้นจะสนับสนุนให้เขาอุทธรณ์เต็มที่ หรือแม้แต่อุทธรณ์เฉพาะในประเด็นข้อกฎหมาย คุณก็เกรงอีก เพราะศาลที่ตัดสินเป็นศาลฎีกาแล้ว  ก็เลยเอาเป็นระบบมั่วๆ อย่างนี้มาในรัฐธรรมนูญมันเลยเป็นปัญหา อธิบายให้เป็นเหตุเป็นผลไม่ได้
 
@@@ เป็นประเด็นขอให้พิจารณาในเนื้อหา?

      เรื่อง แรกที่ต้องฝ่าด่านคือว่า อีกไม่กี่วันข้างหน้าหากไปถึงที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ถ้ามีการอุทธรณ์ ศาลต้องดูว่ามีพยานหลักฐานใหม่หรือไม่ ตามถ้อยคำตามของตัวบท ซึ่งการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้ก็น่าเห็นใจคนที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการในการ ตีความอยู่เหมือนกัน อันนี้จะไปโทษเขาไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาที่ต้นทางของรัฐธรรมนูญ ที่ออกแบบมาแบบนี้ คือออกแบบมาประหลาดแบบนี้ แต่ว่าเมื่อตัวบทเป็นอย่างนี้ ก็อยู่ที่ผู้พิพากษาแล้วว่าจะใช้ศิลปะการตีความยังไงให้รับกับหลักการและ ความเป็นธรรม อันนี้อยู่ที่การตีความคำว่าพยานหลักฐานใหม่แล้ว ว่าจะเข้าใจยังไง จะเข้าใจไปถึงพยานหลักฐานที่อ้างมาในชั้นต้นด้วย แต่ไม่ได้นำเข้าสู่การชั่งน้ำหนักในคำพิพากษาหรืออย่างน้อยไม่ปรากฏในคำ พิพากษาด้วยหรือไม่ อันนี้น่าสนใจ   ( ตอนหน้า ดร. วรเจตน์  เจาะลึก ประเด็น 5 โครงการเอื้อประโยชน์ ชินคอร์ป ตรงไหน ? )

 

view