จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า รัฐบาลที่เข้ามารับผิดชอบบริหารปกครองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สั้นหรือยาวประการใด และไม่ว่าจะมีที่มาที่ไปอย่างใด จะต้องเป็นรัฐบาลของประชาชนและเพื่อประชาชน มิใช่เป็นองค์กรธุรกิจที่อาศัยการเมืองแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ดังนั้นทุกรัฐบาลก็จะต้องมีเป้าประสงค์ในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง และประชาชนมีความอยู่ดีกินดี และเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าวจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์และวางนโยบาย ซึ่งคือหลักและวิธีปฏิบัติเป็นแนวทางดำเนินการ
การพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและประชาชนอยู่ดีกินดีย่อมต้องการยุทธศาสตร์และนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องเหมาะสมต่อสถานการณ์ความเป็นจริงอันเป็นเงื่อนไขสำหรับการนั้นความปรารถนาที่จะได้เห็นสิ่งดีๆ ในบ้านเมืองเป็นเรื่องที่ควรสรรเสริญ ซึ่งอาจกำหนดให้เป็นเป้าประสงค์ให้มีความชัดเจน เพื่อเป็นหลักชัยในการขับเคลื่อนประเทศ ขณะที่การวางนโยบายคือหลักและวิธีปฏิบัตินั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างออกไป ทั้งนี้ เพราะนโยบายเศรษฐกิจเป็นเรื่องจริง มิใช่จินตนาการ
จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน คนไทยที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลปืนเที่ยง ต่างก็มีความสับสนในความคิดใหม่ ๆ ข้อเสนอใหม่ ๆ และแนวความคิดใหม่ ๆ ที่มีผู้นำเข้ามาจากต่างประเทศในสภาพสุก ๆ ดิบ ๆ และย้อมสีด้วยภาษาต่างประเทศที่คนไทยไม่คุ้นหู ผสมผเสกับภาษาไทยที่คนไทยไม่รู้จัก ทั้งนี้โดยยืนยันว่าเป็นนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยของรัฐบาลที่จะให้บรรลุเป้าประสงค์ภายในเวลา3-5ปี
มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่าจะต้องมีความเข้าใจผิดอะไรกันสักอย่างสองอย่างทั้งในวิสัยทัศน์ในตรรกะ และในการวิเคราะห์สถานภาพของเศรษฐกิจสังคมไทย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ความเข้าใจผิดในเบื้องแรกก็คือความอึดอัดทุรนทุรายของบุคคลบางกลุ่มว่า ประเทศไทยติด "กับดัก" ประเทศรายได้ปานกลางมาหลายสิบปี และเมื่อมีความอึดอัดกับสิ่งที่ไม่มีอะไรที่จะน่าอึดอัด ก็ทุรนทุรายที่จะให้หลุดพ้นไปจาก "กับดัก"
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสังคมไทยได้หลุดพ้นจากสภาพการด้อยพัฒนาล้าหลังที่เป็นสภาพเมื่อสงครามโลกครั้งที่2สู่ความเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในระหว่างครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
ในปัจจุบันคนไทยทั้งประเทศปราศจากความขาดแคลนในจตุปัจจัยอีกทั้งบรรดาชีวปัจจัยทั้งหลายตลอดจนปัจจัยที่เป็นสัญลักษณ์คุณภาพชีวิตของโลกปัจจุบันเช่นการศึกษา การสาธารณสุข สวัสดิการสังคม การสื่อสารคมนาคม ฯลฯ แม้กระทั่งมีคนไทยจำนวนนับแสนนับล้านคนที่อยู่ในฐานะมหาเศรษฐี สำหรับความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกัน ในทางเศรษฐกิจสังคมนั้นเป็นทั้งผลพลอยได้ และผลพลอยเสีย ของปรากฏการณ์พัฒนาการเศรษฐกิจ
การหลุดพ้นจากสภาพการด้อยพัฒนาเป็นปรากฏการณ์ที่ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นไปค่อนข้างมากในระหว่างครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาในขณะที่คนไทยยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบายจากผลิตผลทางการเกษตรก็ได้เห็นการเพิ่มความสำคัญในมูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมและบริการปัจจุบันเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยมีเสถียรภาพทั้งในระดับราคาสินค้าทั่วไปการมีงานทำ และในดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ นอกจากนั้นประเทศไทยยังแข็งแกร่งในฐานะการเงินการคลังและทุนสำรองที่รองรับค่าของเงินบาทตลอดจนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ตามสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ได้กล่าวมานี้จึงยังไม่เป็นห่วงว่ามีเหตุอันใดที่จะต้องทุรนทุรายปลด"กับดัก"ประเทศรายได้ปานกลางในขณะนี้
ความจริงไม่มีความจำเป็นจะต้องไปพยายามปลด"กับดัก" เพียงแต่ประเทศไทยเพิ่มความเอาใจใส่ต่อ "เศรษฐกิจสหกรณ์" การทำนุบำรุงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้พึ่งตนเองได้ ปฏิรูปการศึกษาให้เด็กไทยมีหลักคิดที่ถูกต้อง ไม่บกพร่องในจิตสำนึก และมีวิชาความรู้จริง ๆ และขจัดธุรกิจการเมืองให้สิ้นซาก เพียงเท่านี้อะไรที่เป็นกับดักก็จะสิ้นสภาพไปโดยอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นจะต้องนำเอาความคิดและข้อเสนอสุก ๆ ดิบ ๆ เข้ามาจากวรรณกรรมการตลาดที่โฆษณาขายในตลาดทุนนิยม ความเข้าใจผิดอย่างมหันต์อีกประการหนึ่งก็คือ ความเข้าใจที่ว่าประเทศไทยได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคการเกษตรก็แล้ว ภาคอุตสาหกรรมเบาก็แล้ว และภาคอุตสาหกรรมหนักก็แล้ว เศรษฐกิจประเทศไทยก็ยังติดกับดักอยู่กับประเทศรายได้ปานกลาง ดังนั้นจึงต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยมุ่งผลิตสิ่งที่เป็น "นวัตกรรม" เพื่อแข่งขันเอาชนะในตลาดโลก ส่วนในภาคการเกษตรก็ต้องทำการแปรสถานภาพการเกษตรให้เป็นธุรกิจ และเปลี่ยนจากผลผลิตเดิม ๆ เป็นอาหารสุขภาพและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฯลฯ ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการก็จะเปลี่ยนไปทำการผลิตสิ่งที่เป็นความคิดใหม่ ๆ อาทิ หุ่นยนต์ บริการสุขภาพผู้สูงอายุ บริการให้คำปรึกษาธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งได้เริ่มให้การส่งเสริมโดยการให้เงินสนับสนุนและการยกเว้นภาษีอากร
มาถึงความเข้าใจผิดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นก็คือความมั่นใจในกลไก"ประชารัฐ"ที่จะระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนภาคการเงินการธนาคารมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ตลอดภาคประชาสังคม ให้มาร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่ความเป็นประเทศร่ำรวยมั่งคั่ง โดยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นเศรษฐกิจที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงแข่งขันในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศ
ความเข้าใจผิดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นก็คือความเข้าใจผิดในวัตถุประสงค์หลักของภาคเอกชนที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้และความเข้าใจผิดในศักยภาพของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของประเทศไทยในปัจจุบัน
ภาคเอกชนโดยปกติก็พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ตามวัตถุประสงค์หลักของการบริหารธุรกิจอยู่แล้วหากไม่มีอุปสรรคขัดขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาครัฐการมอบหมายให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมรับผิดชอบในเรื่องที่อยู่นอกเหนือหน้าที่รังแต่จะสร้างความสับสน
สำหรับสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัยของไทยในปัจจุบันมีศักยภาพในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชาติในขอบเขตที่จำกัดมากจะนำไปเปรียบเทียบกับสถาบันเหล่านั้นในประเทศเอเชียอื่นๆอย่างญี่ปุ่นเกาหลี ไต้หวัน จีน อินเดีย สิงคโปร์ ฯลฯ ไม่ได้เลย นโยบายเศรษฐกิจเป็นเรื่องจริง มิใช่จินตนาการ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน