จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“ถ้าพระองค์ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์สามารถทรงเป็นหัวหน้าวงดนตรีชั้นนำได้เลยทีเดียว” จะมีกษัตริย์องค์ใดที่ได้รับการยอมรับจากนักดนตรีระดับโลกได้มากมายขนาดนี้ นอกจากพรสวรรค์ที่พระองค์ทรงมีแล้ว พระอัจฉริยภาพทางดนตรีจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดพระอุตสาหะมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ไม่ว่าจะทรงเหนื่อยพระวรกายจากพระราชกรณียกิจสักเพียงใด แต่ผู้ใกล้ชิดร่วมวงดนตรีเดียวกับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พระองค์ทรงมีเวลาให้เสมอสำหรับ “ดนตรี”
ทึ่ง! พระอัจฉริยภาพระดับโลก
ทรงดนตรีร่วมกับ “Benny Goodman” ราชาแห่ง Swing Jazz และนักเป่าคลาริเน็ตฝีมือเอกของโลก
"พระองค์ท่านทรงสอนบางอย่างให้กับเรา ผมพูดจริงๆ เพราะสิ่งที่พระองค์ท่านทำ ทำให้ผมแปลกใจ พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพ ทรงดนตรีได้ทุกรูปแบบที่วงดนตรีเล่น หมายถึงทรงเดี่ยวโดยใช้ปฏิภาณได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ทรงวางพระองค์เหมือนไม่รู้ไม่เชี่ยวชาญ ในขณะที่นักดนตรีชาวอังกฤษมักคิดว่า เป็นผู้รู้เรื่องเกี่ยวกับคอร์ดหมดทุกอย่าง"
ไลโอเนล แฮมพ์ตัน (Lionel Hampton) นักเล่น Vibraphone ระดับโลก นักดนตรีแจ๊ซชาวอเมริกันระดับโลก กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของ “คีตราชา” ที่สยามประเทศมี ซึ่งไม่ต่างไปจากความรู้สึกของ นักดนตรีแจ๊ซชื่อดังอย่าง เลส บราวน์ (Les Brown) ที่ได้เผยความรู้สึกเอาไว้หลังมีโอกาสร่วมพูดคุยผ่านท่วงทำนองกับพระองค์
"พวกเรารู้สึกแปลกใจมากที่พระองค์ทรงดนตรีแจ๊ซและสามารถเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม ทรงเป็นนักดนตรีที่ดีมาก และทรงเป็นนักดนตรีที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะเพลงพระราชนิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพลงในจังหวะวอลตซ์ พอลก้า หรือมาร์ช ก็ทรงพระราชนิพนธ์ได้ดีเยี่ยมในทุกจังหวะ ผมเชื่อว่าถ้าพระองค์ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์สามารถทรงเป็นหัวหน้าวงดนตรีชั้นนำได้เลยทีเดียว"
เช่นเดียวกับนักดนตรีชื่อก้องโลกที่พระองค์เคยทรงดนตรีด้วย ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันในพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็น "Stan Getz" นักเป่า Tenor Saxophone ชื่อดัง, "Jack Teagarden" นักเป่าทรอมโบนชื่อดัง หรือแม้แต่ราชา Swing Jazz ผู้โด่งดังอย่าง “Benny Goodman” นักเป่าคลาริเน็ตฝีมือเอกของโลก
แม้แต่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางดนตรีของโลก ยังยอมรับในพระปรีชาสามารถของพระองค์ในฐานะ “นักประพันธ์เพลงหน้าใหม่” เป็นเหตุให้ “สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา” ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันดนตรีที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ต้องทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งที่ขณะนั้น ยอมรับสมาชิกที่ได้มาตรฐานระดับโลกไว้เพียง 22 ท่านเท่านั้น และพระองค์คือบุคคลลำดับที่ 23 ที่ได้รับการยอมรับ
ที่น่าทึ่งอย่างมากคือ พระองค์ทรงได้รับรางวัลดังกล่าว ในขณะทรงเจริญพระชนมายุได้ 37 พรรษาเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุด ทั้งยังเป็นชาวเอเชียแต่เพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติในครั้งนี้จากศูนย์กลางดนตรีของโลกในยุคนั้นอีกด้วย
"ปกติแล้ว กรุงเวียนนา เป็นศูนย์กลางดนตรีของโลก นักดนตรีดีเด่นทั้งหลาย อยากจะเอาเพลงของตัวเข้ามาแสดงที่นั่นมากเหลือเกิน แต่ถ้าเพลงไม่ดีจริง ก็เข้ามาไม่ได้ แต่การที่เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถมาแสดงที่กรุงเวียนนาได้ เรียกว่าเพลงของพระองค์ต้องสมบูรณ์ที่สุดและดีเด่นจริงๆ ถึงเข้ามาได้" รำไพพรรณ ศรีโสภาค อดีตนักศึกษาผู้อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น บอกเล่าเรื่องราวสำคัญเอาไว้
"ในทัศนะ หรือในความรู้สึกของผู้แต่งเพลง มันเป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาด เป็นความรู้สึกที่บรรยายยากว่าเป็นอย่างไร คนที่ไม่เคยแต่งเพลง แม้จะเป็นนักดนตรีที่เล่นดนตรี แต่ไม่เคยแต่งเพลง ก็จะไม่ได้ความรู้สึกอันนี้
เราปั้นให้เขาขึ้นมาอย่างนี้ มีบุคลิกลักษณะของเพลงอย่างนั้นๆ เสร็จแล้ว เราออกไปแล้ว เอากลับคืนไม่ได้ ให้เพลงนั้นไม่มีไม่ได้ ถ้าเป็นภาพเขียนที่เขียนมาเมื่อ 20 ปีแล้ว กลับไปดู ถ้าสีมันลอก ต้องซ่อมต้องแซม สีมันเปลี่ยนไป แต่เพลง สีไม่เปลี่ยน"
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2524 เกี่ยวกับความรู้สึกของพระองค์ในฐานะผู้พระราชนิพนธ์ทั้ง 48 บทเพลงแห่งประวัติศาสตร์ บทเพลงจากพระปรีชาสามารถด้านดนตรีที่ได้รับการกล่าวขวัญในระดับโลก
ย้อนวัยพระพรสวรรค์ของ “เจ้าชายน้อย”
ทรงดนตรีได้ทุกประเภท
ลองย้อนรอยกลับไปเพื่อค้นพระพรสวรรค์ขององค์เหนือหัวรัชกาลที่ ๙ บนเส้นทางแห่งตัวโน้ต จะพบว่าทรงปรากฏเด่นชัดมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แม้แต่คุณครูประจำชั้นของพระองค์ เมื่อครั้งยังทรงศึกษาที่โรงเรียนมาร์แตร์เดอี ยังเคยกล่าวชื่นชมเอาไว้เมื่อได้เห็นพระอัจฉริยภาพทางด้านนี้ว่า "This little prince is gifted for music" หมายความว่า “เจ้าชายน้อยองค์นี้มีพรสวรรค์ในทางดนตรีที่น่าสนใจทีเดียว”
“Dixieland Jazz” คือแนวดนตรีแจ๊ซที่ทรงโปรดปรานมากที่สุด จึงทำให้องค์อัครศิลปินพระองค์นี้ ศึกษาทุกเครื่องดนตรีอย่างจริงจัง จนสามารถทรงดนตรีได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ทรัมเป็ต, ทรัมโบน, อัลโท, เทนอร์, บาริโทน, โซปราโน แซกโซโฟน, คลาริเน็ต, เปียโน ฯลฯ แต่ที่ทรงยกให้เป็นเครื่องบรรเลงอันดับหนึ่งในพระราชหฤทัยก็คือ “แซกโซโฟน”
“เงิน 300 ฟรังก์” จากสมเด็จย่า เมื่อครั้งยังคงพำนักที่เมืองโลซาน ประเทศสวิซเซอร์แลนด์ ในปี 2476 คือประตูบานแรกที่ทำให้เจ้าชายน้อยองค์รัชทายาท กลายเป็น “กษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถทางดนตรีในระดับโลก” ในอนาคต ภาพเหตุการณ์ทั้งหมดในครั้งนั้น ถูกบอกเล่าเอาไว้ผ่านลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
"เมื่อทรงพระเยาว์นั้น พระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ (รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙) ท่านเป็นยิ่งกว่าพี่น้อง เป็นเพื่อนที่รักกันมากกว่าเพื่อนอื่นๆ ถ้าจะทรงเล่นอะไร ก็จะได้ศึกษาอย่างจริงจังและเป็นเวลานานๆ สิ่งที่ทรงเล่นด้วยกันเป็นเวลานานคือดนตรี
ต่อมา ทอดพระเนตรเห็นดนตรีวงใหญ่ เล่นกันในโรงแรมที่เมืองอโรซา (Aroza) ก็อยากเล่นกัน จึงทรงหาแซกโซโฟนใช้แล้วมาได้ราคา 300 ฟรังก์ แม่ออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง แล้วทรงจ้างครูมาสอนที่บ้าน
วันแรก ฉันจำได้ รัชกาลที่ ๘ ท่านดันพระอนุชา เข้าไปในห้องเรียน รัชกาลที่ ๙ จึงเป็นผู้เริ่ม ต่อมา รัชกาลที่ ๘ ก็ทรงซื้อคลาริเน็ตส่วนพระองค์ ทรงฝึกตามโน้ตและบรรเลงแบบคลาสสิกอยู่ 2 ปีเต็ม จึงได้เริ่มทรงฝึกดนตรี ประเภทที่ทรงสนพระทัยจริงๆ คือแจ๊ซ"
บทเพลงในพระราชนิพนธ์ลำดับแรกในชีวิตของพระองค์คือเพลง “แสงเทียน” แต่ที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนจนกลายเป็นเพลงยอดนิยมในยุคนั้น คือเพลง “ยามเย็น” เนื่องจากเป็นบทเพลงในจังหวะ fox-trot ซึ่งเป็นแนวเพลงในจังหวะร่าเริง ให้อารมณ์สนุกสนาน และเป็นจังหวะที่ผู้นิยมการเต้นรำมักนำไปใช้หัดเต้น จึงส่งให้บทเพลงพระราชนิพนธ์บทนี้ เข้าไปอยู่ในใจของพสกนิกรชาวไทยได้ในทันที
จากนั้น บทเพลงที่กลั่นออกมาจากพระปรีชาสามารถแห่งท่วงทำนอง จึงค่อยๆ ทยอยออกมาให้พสกนิกรชาวไทยได้ยลยินกัน โดยเฉพาะบทเพลงในลำดับที่ 4 อย่าง “สายฝน” ที่ได้รับความนิยมยิ่งกว่า “ยามเย็น” เสียอีก เรียกได้ว่าบ้านไหนไม่เคยได้ยินเพลงนี้ในสมัยนั้น ถือว่าเชยน่าดู
คิดดูว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” โด่งดังขนาดไหนในสมัยนั้น แม้แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฟ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ ยังเคยเห็นชาวบ้านซักผ้าไปด้วย เปิดเพลงของพระองค์ฟังไปด้วย จนต้องหอบเรื่องเล่ามาทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นเหตุให้ผู้พระราชนิพนธ์บทเพลงอย่างพระองค์ทรงพระสรรวล และต้องทรงหยิบเรื่องเล่าเอามาไว้ในพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2524
"เมื่อแต่งมาเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน หม่อมเจ้าจักรพันธุ์ได้เขียนจดหมายมาถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้ม เพราะท่านไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนน ได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เห็นคนกำลังซักผ้า แล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและซักผ้าไปด้วย นับว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงว่า เพลงสายฝนนี้ก็มีประสิทธิภาพสูง ซักผ้าได้สะอาด"
ทั้งยังได้ดำรัสถึงที่มาของแรงบันดาลพระราชหฤทัย ในบทเพลงพระราชนิพนธ์ยอดนิยมอย่าง “สายฝน” เอาไว้ด้วยว่า มีที่มาที่ไปจากพระอาการครึ้มอกครึ้มใจ หลังทรงฟังเพลงผ่านวิทยุคลื่นหนึ่ง
“ครึ้มอกครึ้มใจ ฟังวิทยุเพลงของเขาก็ดี แต่ของเรามันก็อยู่ในหัว มันดูดีกว่า ก็ปิดวิทยุ แล้วก็เอาเศษกระดาษมาขีดๆ แล้วก็จดไว้ จำได้ว่าเป็นเดือนพฤษภาคมออกไป คนก็ชอบ คนก็บอกว่าเพลงเพราะดี ก็รู้สึกว่ามีความปลื้มใจ”
กษัตริย์ผู้ก่อตั้งวง กษัตริย์นักอิมโพรไวส์
"พระองค์มักจะเปิดแผ่นเสียงหรือว่าเทปฟัง แล้วทรงเป่าตาม ซึ่งพระองค์สามารถจะทำได้โดยไม่ต้องมีโน้ต" แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นักดนตรีวง อ.ส.วันศุกร์ วงดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งขึ้น เคยยืนยันร่องรอยความประทับใจในพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี เมื่อครั้งมีโอกาสร่วมบรรเลงตัวโน้ตกับพระองค์เอาไว้
ไม่ต่างจากถ้อยคำของ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ สมาชิกวงดนตรีในองค์เหนือหัวอีกราย ที่บอกเล่าเอาไว้ว่า "ธรรมดาแล้ว คนเราถูกฝึกมาให้เล่นตามโน้ต แต่พระองค์ท่านจะทรงเล่นแบบมีโน้ตก็ได้ ไม่มีโน้ตก็ได้ อย่างในภาษาแจ๊ซเรียกว่า อินโพรไวส์"
วงดนตรี “อ.ส.วันศุกร์” ชื่อนี้มีที่มาจากสถานที่ทรงดนตรีที่นัดหมายกับสมาชิกไว้ว่า จะต้องมาเล่นดนตรีกันทุกวันศุกร์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน (ย่อเป็น อ.ส.) เพื่อเผยแพร่เสียงทางวิทยุออกไปสู่พสกนิกรให้ได้ร่วมครึ้มอกครึ้มใจในเสน่ห์แห่งดนตรีไปด้วยกัน โดยทรงกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าจะต้องมาซ้อมดนตรีอย่างเป็นระบบกันทุกวันอาทิตย์ด้วย เพื่อสืบสานความงดงามด้านท่วงทำนองให้คงอยู่ต่อไป
"เรามีการออกอากาศกันสดๆ โดยถือว่าวันอาทิตย์เป็นวันซ้อม และวันศุกร์เป็นวันออกอากาศ ก็เลยเรียกชื่อว่า "อ.ส.วันศุกร์" มีคนโทร.มาขอเพลง เราก็บรรเลงให้ ถ้าเพลงไหนคนขอมาแล้วเราไม่รู้จัก เราก็บอกไม่รู้จัก ถ้าเล่นได้ครึ่งเพลง เราก็บรรเลงเท่านั้น
คนที่จะเล่นดนตรีเครื่องหนึ่งเครื่องใด เราไม่เคยประกาศ หรือแม้แต่นักร้องจะร้องเพลงใด เราประกาศชื่อเพลงเท่านั้นเอง ส่วนชื่อคนร้อง เราก็ไม่ประกาศ ชื่อคนพูดเราก็ไม่ประกาศ เป็นที่รู้กันเองในหมู่ประชาชนคนฟัง" สมาชิกคนหนึ่งในวงบอกเล่ารอยอดีต
"วันที่ 28 เม.ย. เป็นวันครบรอบอภิเษกสมรสของพระองค์ท่าน ในช่วงนั้น เป็นช่วงเวลาที่พระองค์ท่านแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน สมัยนั้น ในวันดังกล่าวนี้ จะมีการจัดงานฉลอง วงของเราก็ได้ไปร่วมเล่นด้วย เราจะเล่นกันที่ศาลาเริง ซึ่งเป็นท้องพระโรงเล็กๆ ในพระราชวังไกลกังวล พวกเราจะเล่นกันไปจนถึงเช้า
และเป็นธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อดนตรีเลิกแล้ว พระองค์ท่านจะนำเป่าแตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังชายทะเล วงก็จะตามลงไปด้วย พระองค์ท่านก็จะเสด็จฯ ลงไปในน้ำ และจะทรงเป่าแตรไปด้วย ในที่สุดก็ตามลงไปกันไม่ได้ ต้องถอยลงมาแล้วก็รอส่งเสด็จอยู่ที่ชายหาด จากนั้นพระองค์ท่านจะเสด็จประทับเรือใบ พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ และจะทรงแล่นเรือใบไปทางทะเล ลำพังเพียงสองพระองค์นั้นเอง” กวี อังศวานนท์ อีกหนึ่งเพื่อนสมาชิกวงส่วนพระองค์
"วันศุกร์มาส่งที่กระจายเสียง วันอาทิตย์มาซ้อม ท่านทำสม่ำเสมอมาเป็นเวลา 50 ปี บางครั้งบางคราว เราคิดว่าวันนี้ท่านติดพระราชกิจ ไปต่างจังหวัด คงจะไม่มาเล่นหรอก ค่ำแล้วนี่นา อ้าว! ท่านมา" ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ นักดนตรีรุ่นลายครามเล่าด้วยสีหน้าปลาบปลื้มใจ
"เนื่องจากพระราชกรณียกิจมีมากมายเหลือเกิน พระองค์ท่านไม่ทรงมีพระเวลาเลย ทำให้การทรงดนตรีเลตไป พวกเราจึงต้องมาเริ่มเล่นกันประมาณเที่ยงคืน และพระองค์จะทรงเก็บวันศุกร์กับวันอาทิตย์ไว้ตลอดเวลาสำหรับการทรงดนตรี" แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ กล่าว
"พระสุรเสียงของพระองค์ท่านที่ผมจำได้จนถึงทุกวันนี้ คือวันที่ตรัสชมนักดนตรีว่า 'วันนี้เล่นดีนะ' ทำให้ผมปลื้มปีติทุกครั้งที่นึกถึง เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ต่างจังหวัด เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนราษฎร และเสด็จฯ กลับมาตอนค่ำๆ เสด็จฯ เข้ามาในห้องดนตรีเวลาสามทุ่ม ตามที่กำหนดเอาไว้ พร้อมกับฉลองพระองค์ที่ทรงงาน
แม้พระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยจากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ แต่ไม่ทรงแสดงสีพระพักตร์แห่งความเหนื่อยให้เราได้เห็นเลยสักนิด กลับทรงดนตรีอย่างพระเกษมสำราญ ทำให้ผมมองว่า ดนตรีเป็นความสุขของพระองค์ท่าน เพราะทุกครั้งที่พระองค์ทรงดนตรี พระพักตร์จะสดชื่นตลอดเวลา" อนิรุทธิ์ ทินกร ณ อยุธยา มือกีตาร์ ผู้ถวายงานด้านดนตรีมากว่า 30 ปี
หลายต่อหลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดพระองค์ท่านจึงยังคงพยายามหาเวลาทรงดนตรีให้ได้ ทั้งๆ ที่พระราชกรณียกิจมีมากมายจนแทบไม่เหลือเวลาส่วนพระองค์ คงมีเพียงพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชดำรัสที่เคยให้ไว้แก่สื่ออเมริกา ที่จะช่วยตอบข้อสงสัย และแน่นอนว่าคำสอนของพ่อทั้งหมดนี้ จะตราตรึงอยู่ใน “ผู้ที่มีดนตรีในหัวใจ” ไปตราบนานเท่านาน
"...การดนตรีนี้ ก็เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปที่ไม่ได้เล่นดนตรี ไม่ได้แต่งเพลง ไม่ได้ร้องเพลง แต่ก็ฟังเพลง เข้าถึงจิตใจของเขาได้ นี่คือความสำคัญของการดนตรี ซึ่งเหนือศิลปะอื่นๆ
ฉะนั้น การดนตรีนี้จึงมีความสำคัญสำหรับประเทศชาติ สำหรับสังคม ขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการดนตรี ได้ปฏิบัติดนตรีหรือปฏิบัติในเรื่องของการดนตรี ด้วยความตั้งใจที่ดี ก็จะได้ความชื่นใจในความปีติของตัวเอง แล้วก็จะทำให้คนอื่นที่ฟัง ที่ได้ประโยชน์จากเพลงนั้น ก็เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง..."
“...ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊ซหรือไม่ใช่แจ๊ซก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม...”
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน