สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การสืบราชสันตติวงศ์ สถาปนาวังหน้าและองค์รัชทายาท 9 รัชสมัย

จากประชาชาติธุรกิจ

ในช่วง 9 รัชกาล แห่งราชวงศ์จักรี 234 ปี มีการสืบราชสันตติวงศ์ ผ่านการสถาปนา วังหน้า 6 พระองค์ โดยรัชกาลที่ 1 สถาปนา 2 พระองค์ รัชกาลที่ 2 สถาปนา 1 พระองค์ รัชกาลที่ 3 สถาปนา 1 พระองค์ รัชกาลที่ 4 สถาปนา 1 พระองค์ รัชกาลที่ 5 สถาปนา 1 พระองค์


การสถาปนาองค์รัชทายาทโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 5 สถาปนา เจ้าฟ้าวชิรุณหิศฯ และเจ้าฟ้าวชิราวุธฯ รัชกาลที่ 6 สถาปนา เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ รัชกาลที่ 9 สถาปนา เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ

มีองค์รัชทายาทโดยกฎมณเฑียรบาล 4 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 7, 8, 9 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์รัชทายาทที่สถาปนาโดยรัชกาลที่ 9 และโดยกฎมณเฑียรบาล และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พ.ศ. 2312-2352

"เจ้าพระยาจักรี" ได้ทรงรับอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกและทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2325 พระชนมายุ 45 พรรษา ต่อมามีการถวายพระบรมนามาภิไธยใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" หรือ รัชกาลที่ 1 ทรงเป็นปฐมบรมพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดา รวม 42 พระองค์

การสืบราชสันตติวงศ์ ในรัชกาลที่ 1 ยังไม่ได้มีการตกลงว่า ผู้ที่ทรงเป็นรัชทายาท คือ พระบรมโอรสาธิราชของพระเจ้าแผ่นดิน พระพุทธยอดฟ้าฯ พระราชทานตำแหน่งให้ สมเด็จพระอนุชาธิราชพระองค์เดียว และได้รับการสถาปนาเป็น "กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท" เป็นตำแหน่ง "วังหน้า"

"กรมพระราชวังบวร" หรือ สมเด็จพระมหาสุรสีหนาท เสด็จสวรรคต ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346

ต่อมาในปี พ.ศ. 2350 โปรดเกล้าฯ ตั้งสมเด็จพระบรมโอรส เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นเป็น "พระมหาอุปราช" นับเป็นครั้งแรกในประวัติราชวงศ์จักรี ที่มีการสถาปนา "พระโอรสพระองค์ใหญ่" แห่งพระมหากษัตริย์ ขึ้นเป็น "วังหน้า"

พระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 พระชนมายุ 72 พรรษา เป็นปีที่ 28 แห่งรัชกาล

และทรงมอบราชสมบัติแต่ "สมเด็จพระบรมโอรส เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร"

พิธีถวายพระเพลิงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2354

พระพุทธเลิศหล้าฯ

พ.ศ. 2352-2367


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสืบราชสมบัติด้วยโบราณราชประเพณี 3 ประการ คือ 1.ทรงเป็นพระบรมโอรสหัวปีของรัชกาลที่ 1 2.ได้ทรงรับการแต่งตั้งเป็นวังหน้า โดยสมเด็จพระราชบิดา 3.พระพุทธยอดฟ้าฯทรงมอบราชสมบัติ พระราชทาน เมื่อก่อนสวรรคต

การสืบราชสมบัติ นับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352

งานพระบรมราชาภิเษก จัดขึ้นตามธรรมเนียมโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับรัชกาลที่ 1 มีการจัดขบวนแห่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรอบกรุง ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีทหารเข้าขบวนแห่ราว 8,000 นาย

ในปี 2352 ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชมารดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนารักษ์ เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วให้เสด็จไปประทับที่ วังหน้

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ยังมิได้ออกกฎใหม่ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ แต่โปรดพระราชทานพระเกียรติอย่างสูงแก่พระบรมโอรส ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าองค์ใหญ่คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งมีพระชนมายุ 5 พรรษา ในปี พ.ศ. 2355 มีการจัดพิธีสรงเจ้าฟ้ามงกุฎอย่างใหญ่หลวง

ในปี 2360 สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือสมเด็จวังหน้าสวรรคต เมื่อพระชนม์ 37 พรรษา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงโศกเศร้าพระราชหฤทัยอย่างมาก มิได้ทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดเป็นวังหน้าแทน

ตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ไม่มีการแต่งตั้งพระรัชทายาท แม้ว่าจะมีการยกย่องเจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ แต่ก็มิได้เลือกผู้ที่จะสืบราชสมบัติไว้ ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวม 73 พระองค์

พระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงประชวรหนักอยู่ได้ 8 วัน เสด็จสวรรคตในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 พระชนมายุ 56 พรรษา กับ 5 เดือน

สมัยนั้นยังไม่มีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เมื่อเสด็จสวรรคต พระราชบัลลังก์จึงว่างลง

พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2368

พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. 2367-2394


กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระชนมายุ 21 พรรษา ทรงเป็นโอรสองค์ที่ 3 ของพระพุทธเลิศหล้าฯ เมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงเป็นกรมหลวงอิศรสุนทร

มีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาทั่วพระราชอาณาจักร มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างมโหฬาร ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2367

โดยพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเล่าประทาน เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรส ไว้ว่า ขณะที่พราหมณ์ครูถวายพระมหามงกุฎแด่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อทรงรับมาแล้วมิได้ทรงบนพระเศียร

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า รัชกาลที่ 3 มิได้ทรงพระมหามงกุฎตลอดรัชกาล

พระองค์ไม่มีพระอนุชาร่วมพระมารดา จึงสถาปนาเสด็จอา คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 17 ของพระพุทธยอดฟ้าฯ ดำรงตำแหน่ง วังหน้า อยู่ 8 ปี ก็เสด็จสวรรคต

รัชกาลที่ 3 ไม่ได้ทรงแต่งตั้งเจ้านายพระองค์ใดเป็น วังหน้า จนตลอดรัชสมัย

แม้ว่าจะมี กรมหลวงรักษ์รณเรศ พระโอรสรัชกาลที่ 1 ได้รับการเลื่อนยศจากกรมหมื่นเป็นกรมหลวง เป็นเจ้านายที่ทรงอาวุโสสูงสุด ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวม 51 พระองค์

พระนั่งเกล้าฯ เสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 04.00 น. วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระชนมพรรษา 63 พรรษา ทรงครองราชย์ 25 ปี 7 เดือน 23 วัน

พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 3 โปรดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2395

พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. 2394-2411


สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ ของรัชกาลที่ 2 ซึ่งที่ประชุมพระราชาคณะ พระราชวงศ์ และท่านขุนนางผู้ใหญ่มีความคิดเห็นเป็นเอกฉันท์ ให้สมควรทูลเชิญขึ้นครองราชสมบัติ

หลังการเสด็จสวรรคต ของรัชกาลที่ 3 ได้ไม่กี่ชั่วโมง ยามสายวันเดียวกัน มีผู้ไปกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า จะทรงรับเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วทรงจัดการลาสิกขา

รัฐบาลจัดการแห่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ จากวัดบวรนิเวศไปประทับเป็นการชั่วคราวที่วัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 มีพิธีพระบรมราชาภิเษก มีการประดับโคมน้ำมันสีต่าง ๆ 7,000 ดวง

พระมหาราชครูถวายพระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงสวมเศียร ทรงโปรดให้มีคำนำหน้าพระนามแบบใหม่ เพื่อสงวนนามเดิมไว้ว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ"

ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระอนุชาพระองค์เดียวที่ร่วมพระมารดา ขึ้นเป็น สมเด็จพระมหาอุปราช คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี ไม่ได้มีการแต่งตั้งเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เป็นการ แต่งตั้ง พระอนุชา เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง มีการพระราชทานพระราชพิธีบวรราชาภิเษก อันใหญ่หลวง และให้เสด็จไปประทับที่ วังหน้า พระราชทานนามว่า "พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"

พระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2409 พระชนมายุ 58 พรรษา และไม่สถาปนา "วังหน้า" จนตลอดรัชสมัย

แม้ไม่ได้มีการตั้ง สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็น มกุฎราชกุมาร แต่มีการพระราชทานเกียรติเป็นพิเศษ ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวม 82 พระองค์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2411

โดยไม่มีการเลือกเจ้านายพระองค์ใดสืบราชสมบัติแทน

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ.2411-2453


หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคตเวลา21.00 น. ในเวลา 24.00 น. หลังเสด็จสวรรคต 3 ชั่วโมง วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2411 เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหม เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เรียกประชุมในพระที่นั่งอนันตสมาคม ในบรมมหาราชวัง (ของเดิม)

เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ คุกเข่าพนมมือ แถลงว่า "พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ไม่ได้ทรงแต่งตั้งเจ้านายพระองค์ใดเป็นรัชทายาท โปรดเกล้าฯให้ที่ประชุมเลือกผู้ใดที่เห็นว่าสมควร"

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ จึงตรัสว่า "เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงควรถวายราชสมบัติแด่ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ" พระราชโอรสรัชกาลที่ 4 ขณะนั้นพระชนมายุ 15 พรรษา กับ 1 เดือน (ประสูติวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2368)

โดยให้เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ว่าราชการแผ่นดินไปจนกว่าพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระชนมายุที่จะผนวชได้ คือ 20 พรรษามีการพระบรมราชาภิเษกอย่างมโหฬาร ใน พ.ศ. 2416 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา

เมื่อทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎจากพราหมณ์ พระราชครู ทรงสวมเศียรโดยพระองค์เอง

ต่อมาได้สถาปนาผู้สำเร็จราชการฯ ให้ได้บรรดาศักดิ์สูงสุดของไทย คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

และได้มีการเชิญสมเด็จพระโอรสพระองค์ใหญ่ ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ คือ พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช หรือ วังหน้า

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ดำรงตำแหน่งวังหน้าได้ 17 ปี แล้วเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2428 พระชนมายุ 48 พรรษา เป็นวังหน้าองค์สุดท้ายในพระราชวงศ์จักรี

ในรัชสมัยนี้เป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการสถาปนา สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็น "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร" พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา แต่การสืบราชสันตติวงศ์ยังไม่ได้มีการกำหนดเด็ดขาด

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จสวรรคต ด้วยพระชนม์เพียง 17 ปี ใน พ.ศ. 2437

พระเจ้าอยู่หัว สถาปนา พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช องค์ต่อไป

ในรัชสมัยนี้มีการโปรดเกล้าฯ ตั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. 2440 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวม 77 พระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เวลา 00.55 น. วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

พระชนมพรรษา 57 ปี 33 วัน ทรงครองราชสมบัติได้ 42 ปี 22 วัน

พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 13 มีนาคม พ.ศ. 2454

พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. 2453-2468


รัชสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นครั้งแรกในพระบรมราชวงศ์จักรี ที่เมื่อสิ้นรัชกาลก่อน ได้มี "องค์สมเด็จพระยุพราช" ที่ได้ทรงรับการแต่งตั้งถูกกฎหมายแล้ว ภายใต้พระบรมราชโองการ

พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ไว้ก่อนจะสวรรคต 15 ปี

พิธีพระบรมราชาภิเษกอันมโหฬาร 2 งาน งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 และงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454

และยังใช้พระบรมนามาภิไธยว่า "พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"

รัชกาลที่ 6 ทรงแต่งตั้ง เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดา เป็นรัชทายาท

องค์รัชทายาท ประจำรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ทรงมีพระราชธิดารวม 1 พระองค์

ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้ออก "กฎมณเฑียรบาล" ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ นับเป็นกฎหมายการสืบราชสมบัติของไทยฉบับแรก 8 หมวด 21 มาตรา

ในการนี้มีการกำหนดไว้ว่า "ถ้าพระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระราชโอรส ให้มีการสืบราชสมบัติ ทางสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงก่อน ถ้าไม่มีทายาทสมควร ก็ให้ไปในสายของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี คือทูลกระหม่อมมหิดล"


อนึ่ง ในเวลานั้น พระอนุชาที่เป็นรัชทายาท ตามบทบัญญัติในกฎมณเฑียรบาล คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เวลา 01.00 น. ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

พระชนมพรรษา 45 ปี 9 เดือน กับ 25 วัน ทรงครองราชสมบัติอยู่ได้ 15 ปี

พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. 2468-2475


ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ ภายใต้กฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 ขณะพระชนมายุ 32 พรรษา

มีการแต่งตั้งประธานอภิรัฐสภา คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธ์ฯ

ทรงแต่งตั้ง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครแทนพระองค์ ระหว่างที่รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ ที่สหรัฐอเมริกา

เป็นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์แรก ที่ทรงลงพระบรมนามาภิไธย ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร พ.ศ. 2475 ซึ่งมีบทบัญญัติเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล เรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ว่า "ผู้ที่ควรเป็นพระมหากษัตริย์ได้นั้น สภาต้องรับรอง..."

เป็นการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังราชวงศ์จักรีผ่านมาได้ 150 ปี

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ ส่วนหนึ่งของเอกสารทรงลาออก ทรงบันทึกว่า "ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ...ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใด ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์"

อนึ่งทรงรับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิระศักดิ์สุประภาต เป็นบุตรบุญธรรม

ทั้งนี้ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ผู้ที่ทรงเป็นรัชทายาท ตามกฎหมายขณะนั้นคือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระชันษา 10 ขวบ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระชนมพรรษา 47 ปี 204 วัน

พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ณ ประเทศอังกฤษ

ในปี พ.ศ. 2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล

พ.ศ. 2477-2489


รัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระชันษา 10 ขวบ ขณะทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดที่ 1 คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เป็นประธาน และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

คณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดที่ 2
ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการ และเจ้าพระยายมราช, เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน

รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกภายหลังทรงครองราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488

วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 รัชกาลที่ 8 ทรงโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง

พระชนมายุ 21 พรรษา ทรงครองราชสมบัติ 12 ปี

สมาชิกรัฐสภา ให้ความเห็นชอบ สมเด็จพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์

พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8 มีขึ้นในวันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ. 2493



พระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2489-2559


เมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489

สมาชิกรัฐสภาอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์

วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2489 มีการแต่งตั้ง กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

พิธีถวายพระเพลิง รัชกาลที่ 8 วันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ. 2493

พิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 มีขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

เมื่อกรมพระชัยนาทฯ สิ้นพระชนม์ (7 มีนาคม 2494) พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวช

สมเด็จพระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนี ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ

ในปีที่ 27 ในรัชกาลที่ 9 วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2515 มีการประกาศสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเป็นองค์รัชทายาท ตามกฎมณเฑียรบาล


วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ที่โรงพยาบาลศิริราช

พระชนมพรรษา 89 พรรษา ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุด 70 ปี มีพระราชโอรส 1 พระองค์ พระราชธิดา 3 พระองค์ รวม 4 พระองค์

โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อและคณะองคมนตรีเลือก นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ให้ทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เรียบเรียงจากหนังสือ "เจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาล แห่งราชวงศ์จักร" โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การสืบราชสันตติวงศ์ สถาปนาวังหน้า องค์รัชทายาท 9 รัชสมัย

view