จากประชาชาติธุรกิจ
ร่วม 30 ปีที่ "สะพานพระราม 9" รองรับการเดินทางของคนกรุงเทพมหานครสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้สามารถสัญจรไปมาหาสู่ได้คล่องตัวมากขึ้น
นับเป็นสะพานขึงแห่งแรกของประเทศไทยที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่9และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า "สะพานพระราม 9" เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2530
สำหรับการก่อสร้างสะพานแห่งประวัติศาสตร์นี้ มีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนสายเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ใช้เงินก่อสร้าง 1,418 ล้านบาท มีความยาว 782 เมตร และเป็นสะพานมีช่วงกลางยาวเป็นอันดับที่ 2 ของโลกในยุคนั้น โดยใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี นับจากวันที่ 1 ต.ค. 2527 ถึงวันที่ 22 พ.ย. 2530
รูปแบบโครงสร้างออกแบบเป็นสะพานเสาขึงระนาบเดี่ยวฝั่งละ 17 คู่ ยึดด้วยตอม่อ 4 ต้นและเสาไพลอน (สีเหลือง) ที่สูงถึง 87 เมตร
จากความสูงของเสาไพลอนของสะพานพระราม 9 ทำให้สามารถเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งจุดที่เป็นไฮไลต์ คือ บนยอดเสาขึงเคเบิลของสะพานพระราม 9 ทางฝั่งพระนคร มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ ซึ่ง นายจรัญ บุรพรัตน์ ผู้ว่าการ กทพ.ในสมัยนั้นเป็นผู้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐาน เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2530
หลังเปิดใช้งานเกือบ 3 ทศวรรษ ล่าสุด กทพ.เตรียมจะสร้างสะพานใหม่อีกแห่งคู่ขนานไปกับสะพานพระราม 9 ภายใต้ชื่อโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 17 กม. วงเงิน 32,000 ล้านบาท
โดยออกแบบเป็นสะพานขึง สร้างอยู่ด้านซ้ายของสะพานพระราม 9 ในทิศทางจากพระราม 3 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังถนนพระราม 2 อยู่ในระนาบกับสะพานพระราม 9 ช่วงตรงกลางแม่น้ำจะไม่มีเสา เพื่อให้เรือสินค้าลอดผ่านได้ โดยโครงสร้างเสาสะพานจะเป็นรูปแบบตัว H เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นสะพานขึงคู่แห่งแรกของประเทศไทย
ทางด่วนสายใหม่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นโครงข่ายทางด่วนสายใหม่แก้ปัญหาการจราจรให้กับคนกรุงเทพฯโซนตะวันตกเท่านั้น
อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญเพื่อเป็นสะพานสำรองรองรับกรณีต้องมีการซ่อมใหญ่"สะพานพระราม9" ให้อยู่ในวิถีชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครตราบนานเท่านาน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน