จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com
เรามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งล่าสุดกันในปี 2554 เป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ (ประมาณ 4 ปีมาแล้ว) ซึ่งในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนั้น มีผลกระทบต่อตลาดแรงงานสูง เพราะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งผมได้เคยเขียนบทความให้ความเห็นส่วนตัวไปในครั้งนั้นว่า ในการปรับใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างค่าตอบแทน ผมเห็นว่าไม่ควรจะปรับรวดเดียวให้สูงเกินกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ (ตัวเลขนี้ไม่ได้มาจากตำราเล่มไหนนะครับ มาจากประสบการณ์ของผมล้วน ๆ ใครจะเห็นด้วยกับตัวเลขนี้หรือไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่ากันครับ) หากจำเป็นต้องปรับเกินกว่านี้ควรใช้วิธีปรับเป็นขยักโดยทิ้งระยะเวลาไว้สักหน่อยจะดีกว่า
เพราะหากปรับค่าจ้างสูงกว่านี้จะเกิดผลกระทบในเรื่องStaffCostต่อผู้ประกอบการสูง บริษัทใหญ่ ๆ ที่มีทุนหนาก็ไม่มีปัญหาหรอกครับ แต่ต้องคำนึงถึงบริษัทขนาดกลางหรือเล็ก หรือ SMEs ที่เป็นบริษัทส่วนใหญ่ในบ้านเราด้วยว่าจะรับผลกระทบที่สูงมาก ๆ นี้ไหวด้วยหรือเปล่า เพราะในการปรับค่าจ้างนั้นควรจะต้องมองทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ที่จะต้องอยู่กันได้ตรงจุดไหนจะเหมาะสมมากที่สุดที่จะอยู่กันได้ทั้งสองฝ่าย
เอาละครับ พักเรื่องดราม่าข้างต้นไว้ก่อน เรามาดูกันซิครับว่า ถ้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำคนที่จะต้องรับผิดชอบในการบริหารค่าตอบแทน (ก็หนีไม่พ้น HR นั่นแหละครับ) ของบริษัทควรจะต้องเตรียมตัวอะไรกันบ้าง
1.คำนวณ Staff Cost สำหรับพนักงานที่จะรับเข้ามาใหม่ ที่จะเพิ่มขึ้นภายหลังจากการประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งผมแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้ครับ
1.1.พนักงานที่บริษัทจะรับเข้าทำงานใหม่หลังจากปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ที่จะต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน หรือกลุ่ม Unskilled Labor ว่าจะมี Staff Cost ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าไหร่
1.2.บริษัทจะปรับอัตราจ้างพนักงานจบใหม่ตามคุณวุฒิที่จบหรือไม่ถ้าปรับกลุ่มนี้จะมีการรับพนักงานกลุ่มนี้เข้ามาในปีงบประมาณนี้กี่คนจะทำให้มีStaff Cost ในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าไหร่ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์จากอัตราเดิม ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้คือกลุ่มที่จบใหม่ เช่น ปวช., ปวส., ปริญญาตรี, ปริญญาโท ฯลฯ ที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน
คำว่า "Staff Cost" ของผมนี้หมายความถึงฐานเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น, ค่าโอที, เงินสมทบประกันสังคม, เงินสมทบ Provident Fund ที่จะต้องเพิ่มขึ้นด้วยนะครับ ซึ่งถ้า HR แยกแยะให้ฝ่ายบริหารเห็นได้ชัดว่าจะเป็น Staff Cost ในหมวดไหนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นเม็ดเงินเท่าไหร่ และเป็นเปอร์เซ็นต์เท่าไหรยิ่งดี
2.คำนวณ Staff Cost สำหรับพนักงานเก่าที่จะเพิ่มขึ้น ตรงนี้คงต้องมาดูว่าจะมีคนเก่าที่เข้ามาก่อนและได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำหรือปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิใหม่ให้กับพนักงานเข้าใหม่ตามข้อ1สักกี่คนเช่น สมมุติบริษัทปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปริญญาตรีจากเดิม 15,000 บาทเป็น 16,000 บาท แล้วพนักงานที่เข้ามาก่อนหน้านี้ที่มีเงินเดือน 16,000 บาท บริษัทจะปรับเงินเดือนให้พนักงานเก่าคนนี้หรือไม่ จะปรับเท่าไหร่ ควรมีวิธีการปรับหรือมีสูตรในการปรับแบบไหนยังไงดี และถ้าเมื่อปรับแล้วจะมี Staff Cost ของพนักงานเก่าเพิ่มขึ้นจากเดิมกี่บาทหรือกี่เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน (หรือต่อปี) เป็นต้น
3.ควรจะต้องปรับปรุง (Update) โครงสร้างเงินเดือนแล้วหรือยัง ซึ่งในการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนนี้ไม่ได้หมายถึงการปรับเงินเดือนให้ใครนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องของ HR ฝั่งของ Compensation Manager ที่จะต้องมาดูว่าผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะมีผลถึงกับทำให้ต้องปรับโครงสร้างเงินเดือนกันเลยหรือเปล่าเพราะในการปรับโครงสร้างเงินเดือนนั้นจะต้องดูความสัมพันธ์และผลกระทบกันในทุกกระบอกเงินเดือนให้สอดคล้องกันด้วยนะครับไม่ใช่ว่าปรับปรุงเฉพาะกระบอกแรกๆโดยไม่ดูว่าผลกระทบไปสู่กระบอกอื่นเป็นยังไง ซึ่งคนที่ดูแลเรื่องนี้อยู่คงเข้าใจดีครับ
เอาละครับ หวังว่าที่ผมแชร์มาข้างต้นคงจะเป็นไอเดียให้กับคนที่ทำงานด้าน HR ที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องการบริหารค่าตอบแทน ได้มีแง่คิดไอเดียในการเตรียมการนำเสนอผลกระทบให้กับฝ่ายบริหารได้บ้างแล้วนะครับ
ที่สำคัญคือ HR ควรจะทำงานเชิงรุก คือ พอทราบข้อมูลการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ชัดเจนแล้ว ก็ต้องเตรียมวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลให้กับฝ่ายบริหารได้ทราบเสียก่อน โดยที่ไม่ต้องรอให้เขาสั่งจะได้เป็นมูลค่าเพิ่มและเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของคนทำงาน HR ที่เป็นมืออาชีพด้วยนะครับ
อ้อ ! ฝากไว้ท้ายเรื่องนี้ก็คือ อย่าลืมเรื่องของ "ความละเอียดรอบคอบ" ในตัวเลขต่าง ๆ ที่นำเสนอให้ดีด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่านำเสนอเร็วทำงานเชิงรุกแต่ตัวเลข Staff Cost ผิดพลาดนี่จบข่าวเลยครับ ดังนั้น ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ให้ดีก่อนการนำเสนอด้วยนะครับ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน