สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถึงเวลา เศรษฐกิจเอเชีย ...ต้องยืนด้วยขาตัวเอง

จากประชาชาติธุรกิจ

ในอดีตที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียล้วนผูกพันอยู่กับเศรษฐกิจใหญ่ ๆ สำคัญในซีกโลกตะวันตก ที่ไม่เพียงรุดหน้ากว่า แต่ยังมี "เครื่องมือ" ในรูปของสถาบันต่าง ๆ อยู่ในกำมือของตัวเองมาโดยตลอด แต่เศรษฐกิจของเอเชียยังรุ่งเรืองและมั่นคงได้ ตราบเท่าที่การค้าระหว่างเอเชียกับตะวันตกยังดำเนินไปได้ด้วยดี สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศที่ก้าวหน้าเหล่านั้นยังอยู่ในสภาพ "แข็งแกร่ง" เพียงพอต่อการรองรับผลผลิตจากภูมิภาคเอเชีย

สิ่งที่ต้องกังวลและจับตานอกเหนือจากผลกระทบทางด้านการค้าก็คือการไหลเวียนของเงินทุนสภาวะและโครงสร้างอัตราดอกเบี้ย กับการเปลี่ยนแปลงผันแปรในอัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลลาร์ ยูโร และเยน ที่จำเป็นต้องมีเสถียรภาพอยู่ในระดับที่เอเชียสามารถรับมือกับผลกระทบเหล่านั้นได้




แต่ในยามนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่น้อยนอกเหนือจากความกังวลเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจของ"โลกตะวันตก" และภาวะทางการเงินดังกล่าว เอเชียกำลังเผชิญกับปัญหารูปแบบใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือไปจากปัญหาความกังวลแต่เดิม ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ปัญหาใหม่นี้ยังเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบ ระเบียบการค้าของโลกต่อไปในระยะยาวในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นกรณีอังกฤษมีประชามติถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือการแสดงออกในเชิงต่อต้านความตกลงด้านการค้าเสรีของคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เรื่อยไปจนถึงปัญหาคาราคาซังที่อาจส่งผลถึงกับทำให้ ความตกลงด้านการค้าที่จะก่อให้เกิดเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี)ถึงกับแท้งก่อนคลอด เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในซีกโลกตะวันตกทำนองนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจซีกโลกตะวันตกอยู่ในสภาพชะลอตัว การเติบโตอาจมีบ้างแต่กระจุกตัวไม่สม่ำเสมอ ในเวลาเดียวกันสภาวะทางการเงินในประเทศเหล่านี้ก็จะตกอยู่ในสภาพผิดปกติสูงสุดชนิดที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเป็นลบต่อเนื่องตลาดเงินและตลาดทุนตกอยู่ในสภาพอ่อนแอเปราะบาง และไม่สะท้อนสภาวะที่แท้จริง 

และที่สำคัญที่สุดก็คือ ปัญหานี้จะไม่จำกัดอยู่ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี หากแต่จะเกิดต่อเนื่องยาวนานเกินกว่าที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะรองรับได้หากไม่เตรียมพร้อมและปรับเปลี่ยนให้ดีพอต่อการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้

ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือทั้งๆ ที่เกิดปัญหาสารพัด บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ก็ยังคงเป็น "แกนหลัก" ในระบบของโลกอยู่ในเวลานี้ จะด้วยเหตุผลของความรับผิดชอบที่ผ่านมาหรือจะเป็นด้วยอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาก็แล้วแต่ ประเทศเหล่านี้ยังคงเป็นเจ้าของสกุลเงินที่ใช้เป็นทุนสำรองกันอยู่ทั่วโลก ใช้เป็นหลักในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันทั่วโลก 

ประเทศเหล่านี้ยังคงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนทางการเงินเป็นตลาดสำหรับซื้อขายสินทรัพย์ซึ่งถือเป็นการ"ออม" ภายนอกประเทศของบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลายอยู่ต่อไป

นี่ยังไม่นับรวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าในทางปฏิบัติประเทศเหล่านี้ยังมีอำนาจวีโตในองค์กรการเงินระหว่างประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก แถมยังมีอิทธิพลในการชี้ขาดว่าใครคือผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำขององค์กรเหล่านี้ด้วยอีกต่างหาก

ที่ผ่านมาโลกเคยยอมรับอภิสิทธิ์ต่างๆเหล่านี้ของชาติมหาอำนาจตะวันตกด้วยความคาดหวังว่า ประเทศที่พัฒนารุดหน้าเหล่านี้จะดำเนินการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจของตนด้วยดีและด้วยความรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆโดยรอบ เนื่องจากยิ่งมีบทบาทสำคัญมากเท่าใด ผลสะเทือนที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ถึงตอนนี้ ด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ ๆ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีประเทศไหนในโลกมีความมั่นใจว่า การบริหารจัดการเศรษฐกิจของชาติตะวันตกเหล่านั้นจะดีและเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบอีกต่อไป

แน่นอน ที่ผ่านมาภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกมามากมายไม่น้อย แต่โชคดีที่ในอดีตที่ผ่านมา บรรดาประเทศในเอเชียสามารถสะสมทุนสำรองของตัวเองไว้ในระดับที่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังของตัวเองเอาไว้ได้มีโครงสร้างทางการเงินที่มั่นคงพอตัว แต่เพื่อให้สามารถรองรับกับข้อเท็จจริงใหม่ของภาวะซึมยาวต่อเนื่องในโลกตะวันตก "เอเชียจำเป็นต้องยืนหยัดบนขาของตัวเอง" ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับผลกระทบระยะยาวทั้งทางเศรษฐกิจและการเงินในอนาคต

ในสภาพความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในเวลานี้ตลาดเงินในเอเชียยังจำเป็นต้องพัฒนาไปมากยิ่งขึ้นสร้างมิติให้กับคุณภาพของตลาดในเชิงลึกมากขึ้น และเอเชียจำต้องพึ่งพากับกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่อยู่ภายในภูมิภาคของตัวเองให้มากยิ่งขึ้น และต้องเริ่มทำเสียตั้งแต่ตอนที่เอเชียยังอยู่ในสถานะดีกว่าภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก มีศักยภาพที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนและสามารถเติบโตสวนกระแสโลกได้อย่างเช่นในเวลานี้

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถึงเวลา เศรษฐกิจเอเชีย ต้องยืนด้วยขาตัวเอง

view