จากประชาชาติธุรกิจ
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ “ฉลาดทุกเรื่องยกเว้นเรื่องเงิน” โดยหมอนัท คลีนิกกองทุน สำนักพิมพ์มติชน สั่งซื้อหนังสือทางเว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชน ได้ที่ www.matichonbook.com
"แชร์ลูกโซ่" นั้น ดูเผิน ๆ จะเหมือนกับธุรกิจขายตรง แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ "แชร์ลูกโซ่" ไม่มีสินค้า แม้จะมีก็เป็นเพียงสินค้าปลอม ๆ กลไกของธุรกิจจะเน้นไปที่การหาสมาชิกเป็นหลัก และนำเงินจากค่าสมัครสมาชิกเอามาจ่ายกันเป็นทอด ๆ ทำให้ดูเหมือนให้ผลตอบแทนสูงมาก
รูปแบบของแชร์ลูกโซ่นี้เป็น Money game หรือเป็นรูปแบบทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อหารายได้จากการระดมทุนเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ตอบแทนผลประโยชน์ที่สูงกว่าเงินลงทุน หรือเกินความเป็นจริงไปมาก และมักจะอ้างที่มาของบริษัทต่างประเทศที่นำเงินไปลงทุน
วิธีการหาสมาชิกของแชร์ลูกโซ่ มักจะใช้วิธีสร้างภาพลวง สร้างเรื่องต่างๆ ขึ้นมาเพื่อหว่านล้อมให้เกิดความเชื่อ และเนื่องจากสมาชิกรุ่นแรก ๆ ก็มักเป็นคนที่อยู่ในวงการเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน (วางแผนมาคดโกงตั้งแต่แรก) ดังนั้น ก็ย่อมที่จะช่วยเหลือกันเพื่อปกปิดเต็มที่ ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มแรก ๆ ไม่มีแนวโน้มที่จะเสียอะไร มีแต่ได้ประโยชน์
ส่วนบุคคลทั่วไปที่มาทีหลัง ก็จะต้องรับความเสียหายไปตามระเบียบ แน่นอนว่ากว่าจะรู้ตัว ผู้ก่อตั้งก็หายไปเสียแล้ว และเมื่อถามเอาความกับคนที่มาก่อนหน้าก็คงไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ เพราะว่าคนก่อนหน้าก็โดนหลอกมาเช่นกัน
ผลตอบแทนของแชร์ลูกโซ่นั้นจะดีแค่ในช่วงแรก ๆ ที่ทำแบบนี้ เพราะเจ้าของธุรกิจต้องการกระตุ้นสมาชิกให้เกิดความอยากในการนำเงินมาต่อยอดลงทุนไปเรื่อย ๆ
แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้วก็เตรียมหาทางหนี ปิดบริษัทเพื่อหอบเงินของสมาชิกทั้งหลายไปหมด จะมารู้ว่าโดนโกงก็ตอนที่สายไปแล้วนั่นแหละครับ
5 ข้อสังเกตว่าธุรกิจนี้เป็น "แชร์ลูกโซ่" หรือเปล่า
1."จ่ายผลตอบแทน" ดีกว่า "ต้นทุนทางการเงิน" ของบริษัททั่วไป เช่น การให้ผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราต้นทุนทางการเงินของบริษัททั่วไปแล้วละก็... (ต้นทุนทางการเงินมาได้หลายทาง เช่น การกู้ยืมจากธนาคาร หรือจากหุ้นกู้ที่บริษัทเป็นคนออก ต้นทุนในส่วนเงินของเจ้าของ และต้นทุนของหุ้นบุริมสิทธิ) น่าจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีสักเท่าไร เพราะถ้าต้นทุนการจ่ายผลตอบแทนที่สูงมาก ๆ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาให้บริษัทพัฒนาในอนาคต
2.มีความซับซ้อนเกินไป ถ้าผู้ลงทุนไม่สามารถทำความเข้าใจในการลงทุนได้ จากวิธีการลงทุนที่ไม่ชัดเจนหรือซับซ้อนเกินไป อันนั้นเข้าข่ายน่าสงสัยแล้วครับ
3.ผิดกฎหมายไทย การลงทุนที่ดีไม่จำเป็นต้องใหม่ แต่ให้มีความสบายใจกับผู้ลงทุนน่าจะเป็นความเหมาะสมมากกว่า ดังนั้นถ้าธุรกิจเหล่านี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ ให้ถูกกฎหมายแล้ว บอกได้คำเดียวเลยว่า ควรจะหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด
4.ชวนเชื่อแต่ในทางบวก แต่ไม่ได้บอกถึง "ทางลบ" หรือความเสี่ยงของธุรกิจ ใช้ "ความง่าย" ที่จะได้รับผลตอบแทนมาเพื่อจูงใจทำธุรกิจอย่างง่าย ๆ
5.ไม่มีเอกสารใด ๆ รับรองว่ามีการทำธุรกรรมอย่างถูกกฎหมาย และไม่มีผลการดำเนินงานให้พิจารณาเลย เช่น งบการเงิน หรือข้อมูลต่าง ๆ
ผมเชื่อว่าธุรกิจในแนวทางนี้ยังคงอยู่ในบ้านเราต่อไป แต่จะมาในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น มีกลเม็ดใหม่ ๆ ที่ดึงดูดเงินจากผู้ที่มีความโลภมากขึ้น เพื่อมาตอบสนองกลุ่มคนที่ต้องการอิสรภาพการเงิน ไม่อยากทำงาน อยากรวยง่าย รวยเร็ว รวยลัด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพลงตาเท่านั้น
พี่หนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ (Money Coach) พูดไว้ประโยคหนึ่งที่ผมชอบมาก "รวยเร็วมี แต่รวยง่ายมันไม่มี นอกเสียจากเป็นง่อยแล้วมีเงินใช้" เข้าใจตรงกันนะ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน