จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ศาลารอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายในค่ายเม็งรายมหาราช
“ไม่มีที่ใดในแผ่นดินไทย ที่พระองค์เสด็จไปไม่ถึง” แม้กระทั่งบนพื้นที่สีแดง ตั้งแต่สมัยยุคสงครามเย็นระหว่างรัฐบาล (ทหาร) ไทย กับกลุ่มผู้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-พคท.) และยังประทับรอยพระบาทไว้เพื่อแสดงให้เห็นถึงสันติสุขที่ก่อกำเนิดขึ้นได้บนพื้นที่สีแดงแห่งนั้น
และพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงประทับรอยพระบาทเอาไว้ ก็คือ “ดอยพญาพิภักดิ์” หรือเรียกอีกชื่อว่า “ภูหลงถัง” ตั้งอยู่ที่ ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย
ภาพเมื่อครั้งที่ทรงประทับรอยพระบาท ณ ดอยพญาพิภักดิ์ จ.เชียงราย (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
“ดอยพญาพิภักดิ์” นับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย เนื่องจากในยุคสงครามเย็นที่มีการรบพุ่งกันระหว่างรัฐบาล(ทหาร)ไทยกับกลุ่มผู้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-พคท.) และชาวบ้านในพื้นที่ที่หลายๆ คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐผลักไสให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม ในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น บนดอยพญาพิภักดิ์ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งทางรัฐบาลได้ส่งกองกำลังเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จนเกิดเสียงปืนแตกนำสู่การต่อสู้ที่ยืดเยื้อขึ้น
รอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2524 พันโทวิโรจน์ ทองมิตร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 473 ได้นำกำลังพลเข้าปฏิบัติการในยุทธการยึดเนิน 1188 บนดอยพญาพิภักดิ์ จนสามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นั้นลงได้
แต่การสู้รบครั้งนั้น เหล่าทหารหาญก็ได้พลีชีพเพื่อชาติไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนเหล่าทหารหาญและพสกนิกร ณ ฐานปฏิบัติการพญาพิภักดิ์ บนดอยยาว ท่ามกลางชาวบ้านที่เดินทางมาเฝ้ารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525
ภายในศาลารอยพระบาท
นอกจากนี้ในการเสด็จฯ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ทางทหารได้จัดเตรียมไว้ ตามคำกราบบังคมทูลของพันโทวิโรจน์ ที่ศาลาบนดอยพญาพิภักดิ์
นอกจากนี้ในการเสด็จฯ ครั้งนั้น แม้สถานการณ์ควันไฟจากการสู้รบจะเพิ่งสงบได้หมาดๆ ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อภยันอันตราย เพราะในเขตพื้นที่ดอยพญาพิภักดิ์ (เขตงานที่ 8) ถือเป็นหนึ่งในเขตที่มีความรุนแรงที่สุด เพราะเป็นประตูในปฏิบัติการประสานกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ในไทย ลาว และ เวียดนาม แต่ด้วยน้ำพระทัยอันกล้าหาญ พระองค์ท่านทรงรับการมอบตัวและมอบอาวุธต่อกองกำลังฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเพื่อรับเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ทำให้ความขัดแย้งยุติลง ความสงบสันติสุขกลับคืนมา
ทิวทัศน์ตัวเมืองเชียงรายจากดอยโหยด
ปัจจุบัน รอยพระบาทบนปูนปลาสเตอร์นั้นได้ถูกนำมาเก็บไว้ที่ “ศาลารอยพระบาท” ยอดดอยโหยด ภายในค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย โดยเดิมทีนั้นรอยพระบาทของในหลวง ร.9 จะเป็นที่รู้กันเฉพาะในหมู่ค่ายทหารเม็งรายมหาราช แต่ต่อมา เมื่อหน่วยทหารเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปท่องเที่ยวได้ จึงเป็นโอกาสที่ประชาชนภายนอกจะสามารถเข้าไปเยี่ยมชมและสักการะรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ศาลารอยพระบาท บนยอดดอยโหยด
หากต้องการเข้าไปเยี่ยมชมและสักการะรอยพระบาท สามารถเดินทางเข้าไปยังค่ายเม็งรายมหาราช ได้ทั้งด้านหน้า ช่องทาง 1 และด้านหลังค่าย ช่องทาง 5 (มีซุ้มประตูชื่อ ศาลารอยพระบาท) ผ่านสนามกอล์ฟแม่กก คลับเฮาส์ อาคารที่พักรับรองริมแม่น้ำกก และ ผ่านสนามกอล์ฟ เพื่อขึ้นไปสักการะและสัมผัสบรรยากาศ ชมวิวทิวทัศน์ตัวเมืองเชียงรายได้โดยรอบ ณ ศาลารอยพระบาท บนยอดดอยโหยด สามารถเข้าชมได้ทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น.
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน