สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนรำลึก บทพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพฯเล่าเรื่องตามเสด็จในหลวง (ตอน 1)

จากประชาชาติธุรกิจ

ขอบคุณที่มา
บทพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
นิตยสารลิปส์ ฉบับครบรอบปีที่ 11
เดือนกรกฎาคม 2553



สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพ พบกับเรา "รายการพูดจาประสาช่าง" ซึ่งออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.30-11.00 นาฬิกา ณ สถานีวิทยุจุฬาฯ ระบบ F.M.ความถี่ 101.5 MHz อีกครั้งหนึ่ง รายการครั้งนี้เป็นรายการครั้งที่ 18-21 ในชื่อรายการรายการว่า พระภัทรมหาราชกับงานช่าง

เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับชาวไทยทุกคน ด้วยในวันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระภัทรมหาราช อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ผู้จัดทำรายการ "พูดจาประสาช่าง" รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเล่าถึงพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับงานวิศวกรรมที่ทรงกระทำไว้มากมายเพื่อประเทศชาติและความสุขของประชาชนชาวไทย

ในการนี้ รศ.ดร.มนู วีรบุรุษ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.วิชา จิวาลัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์ ขอเชิญรับฟังได้ ณ บัดนี้


ตอนที่ 1


รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

ข้าพระพุทธเจ้าทราบด้วยเกล้าว่า ใต้ฝ่าละอองพระบาทได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด และทรงเป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์มาโดยตลอด ข้าพระพุทธเจ้าจึงใคร่ขอพระราชทานพระราชวโรกาสนี้กราบบังคมทูลเชิญให้ทรงบรรยายให้ประชาชนชาวไทยทราบถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับงานวิศวกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกุศโลบาย และการใช้งานวิศวกรรมในการพัฒนาประเทศพ่ะย่ะค่ะ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ความจริงที่อาจารย์บอกว่าเป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวนั้นนะคะ ที่จริงก็ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ได้มีโอกาสตามเสด็จ ที่ท่านเอาไปเพราะต้องการให้ได้รู้จัก ได้พบเห็น และได้ทราบวิธีการดำเนินการต่าง ๆ คอยที่จะช่วยท่านได้ในการติดต่อกับผู้ที่ท่านทรงใช้หลาย ๆ ฝ่ายเท่านั้น

ในด้านวิศวกรรมเท่าที่ได้สังเกตต้องขอออกตัวก่อนว่าจากการได้สังเกตของตัวเอง ซึ่งความรู้ทางด้านช่างหรือวิศวกรรมยังมีน้อยเต็มที ก็สังเกตได้เท่าที่มีความสามารถอยู่ เห็นได้ว่าท่านทรงเอาใจใส่เป็นพิเศษ เนื่องจากหลักสำคัญของท่านคือ ต้องการให้ประชาชนในประเทศมีความอยู่ดีกินดี มีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสามารถที่จะทำงานได้และมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข การที่จะให้บรรลุจุดประสงค์อย่างที่กล่าวนี้ ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีหลาย ๆ ด้าน งานด้านวิศวกรรมหลายแขนงก็เป็นการช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีขึ้น และประเทศก็จะพัฒนาขึ้น คิดว่าอันนี้เป็นจุดสำคัญในการที่ทรงสนพระทัยในงานวิศวกรรม

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

ข้าพระพุทธเจ้าใคร่ขอให้ใต้ฝ่ายละอองพระบาททรงยกตัวอย่างพระราชกรณียกิจที่ทรงกระทำให้ประชาชนได้ทราบพ่ะย่ะค่ะ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ที่คนเห็นกันมาก ๆ ที่ทรงปฏิบัติในด้านวิศวกรรมคืองานพัฒนาแหล่งน้ำ และการชลประทาน เท่าที่ได้ฟังกระแสพระราชดำรัสนั้น ท่านเห็นว่าเรื่องน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในงานเกษตรกรรม แม้แต่ดินจะไม่ดีบ้าง หรือมีอุปสรรคทางด้านอื่น ๆ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้แล้ว เรื่องอื่น ๆ ก็จะพลอยดีขึ้นติดตามมาในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ส่วนใหญ่ก็จะใช้รวม ๆ กัน ทั้งในด้านน้ำชลประทานนำมาใช้ในการเพาะปลูกโดยตรง กับน้ำที่ใช้ในครัวเรือนน้ำกินน้ำใช้ มักจะรวมอยู่เบ็ดเสร็จในโครงการเดียวกัน เมื่อมีโครงการอย่างหนึ่งแล้วก็ต้องให้ประโยชน์ในทุก ๆ ด้าน ในระยะหลัง ๆ นี้ สังเกตเห็นว่าในการวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นท่านมุ่งลงไปในรายละเอียดด้วย

ในการควบคุมน้ำจะต้องพยายามคำนึงถึงน้ำทางด้านชลประทาน และการควบคุมน้ำท่วมและทำในเรื่องการระบายน้ำไปด้วยในคราวเดียวกันไม่ให้เกิดปัญหา

ถ้าสมมติว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของน้ำหรื้อระดับน้ำ จะมีผลต่อปัจจัยอื่น ๆ ในการเกษตร เช่น คุณภาพของดินก็ต้องเอาปัจจัยอันนั้นมาคิดและพิจารณาด้วยในการวางแผนการชลประทาน ในเวลาเดียวกัน ท่านก็นึกถึงว่าในช่วงเวลาทั้งปีนั้น ชาวบ้านในเขตที่จะทำการชลประทานนั้นจะมีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอหรือเปล่า และไม่ได้คำนึงเฉพาะถึงแต่คนเท่านั้น ท่านก็ถามถึงว่า วัว ควาย หรือปศุสัตว์นั้นมีน้ำกินเพียงพอหรือเปล่า ในบางท้องถิ่นที่ทำการเกษตรหลาย ๆ ประเภทไม่พอเพียงในการทำนายอย่างเดียวก็ต้องคำนึงถึงว่า การใช้น้ำในรอบปีหนึ่งจะพอเพียงในการทำกิจกรรมอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้มีการปลูกปอ ปัญหาที่มักจะเกิดขั้นเสมอ ๆ คือ ชาวบ้านที่ทำปอนั้นจะเอาปอมาแช่ในแหล่งน้ำ ทำให้น้ำเน่าและน้ำนั้นก็คุณภาพไม่ดีไม่สามารถใช้ทำนาและให้ปศุสัตว์กินได้ การวางแผนการชลประทานก็ต้องมีการแบ่งน้ำว่าน้ำส่วนนี้จะใช้ในการแช่ปอ น้ำส่วนนี้เป็นน้ำในการทำนา ส่วนนี้ใช้ให้ปศุสัตว์ได้กิน

และในการวางแผนนั้นก็ต้องคำนึงถึงคนที่อยู่ในบริเวณนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งทำอ่างเก็บน้ำ บริเวณที่เป็นอ่างเก็บน้ำมันมักจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านหรือเป็นไร่นาก็ต้องคำนวณว่าเมื่อกั้นเป็นอ่างเก็บน้ำไปแล้วจะท่วมที่ทำกินของชาวบ้านเท่าไหร่ แล้วผลได้ผลเสียจากการทำนั้นจะเป็นอย่างไร ท่วมที่นาเข้าไปจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าทำแล้วผลประโยชน์คือจะได้น้ำไปเลี้ยงนาจำนวนมากกว่า จะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อาจจะจาก 5 ถัง 10 ถึง ต่อไร่ เป็น 30-40 ถัง ก็ต้องทำในการทำนานี้ ถ้าไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากราษฎรในท้องถิ่น ถึงแม้ว่าในเชิงวิศวกรรมจะทำได้ท่านก็จะต้องรอไว้ก่อน ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ย่อมจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะทำหรือไม่ทำ บางครั้งทำแล้วท่วมที่นาของคนหนึ่ง แต่ว่าจะไปทำให้ได้ผลประโยชน์ต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งก็ต้องเอามาปรึกษาหารือกันให้พร้อมหน้าอีกหนหนึ่ง แล้วแบ่งจัดรูปที่ดินเสียใหม่ให้คนที่ได้รับผลประโยชน์ คือ เดิมมีนา 5 ไร่ พอได้อ่างนี้ก็มีเนื้อที่เท่าเดิมแต่เปรียบเสมือนว่ามีนา 50 ไร่ ก็ต้องแบ่งปันบางส่วนให้เพื่อนฝูงในหมู่บ้านที่เสียประโยชน์จากการทำอ่างน้ำอันนี้

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

ในส่วนที่เกี่ยวกับการหาแหล่งน้ำ หรือพัฒนาแหล่งน้ำ ไม่ทราบด้วยเกล้าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีวิธีการอย่างไรบ้างในเรื่องนี้พ่ะย่ะค่ะ

สมเด็จพระพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ประชาชนจะมีโอกาสเห็นอยู่เสมอว่า วิธีการที่ทรงปฏิบัติในการหาแหล่งน้ำ และการช่วยเหลือประชาชนในการชลประทานนั้นทำอย่างไรจากข่าวโทรทัศน์ แต่บางท่านอาจจะเข้าใจได้ยาก เพราะว่าภาพที่เห็นนั้นไปไหน ๆ "ตามพระเจ้าอยู่หัวก็จะต้องมีถือแผนที่ของท่านอยู่แผ่นหนึ่ง แผนที่แผ่นหนึ่งของท่านค่อนข้างจะกว้างกว่าแผนที่ที่ใคร ๆ เห็นกันทั่วไป เพราะท่านเอาหลาย ๆ ระวางมาแปะติดกัน การปะแผนที่เข้าด้วยกันท่านทำอย่างพิถีพิถัน แล้วถือเป็นงานที่ใครจะมาแตะต้องช่วยเหลือไม่ได้เลยทีเดียว ก่อนที่จะเสด็จไหนท่่านจะเตรียมทำแผนที่และศึกษาแผนที่นั้นโดยละเอียด ท่านได้ตัดหัวแผนที่ออกแล้วส่วนที่ตัดออกนั้นจะทิ้งไม่ได้ ท่านจะค่อย ๆ เอากาวมาแปะติดกัน สำนักงานของท่านคือ ห้องกว้าง ๆ ไม่มีเก้าอี้ มีพื้นแล้วท่านก้มอยู่กับพื้นแล้วเอากาวติดแผนที่เข้าด้วยกันแล้วหัวกระดาษต่าง ๆ ท่านก็ค่อย ๆ ตัดแล้วแปะเรียงกัน เป็นหัวแผนที่ใหม่เพื่อจะได้ทราบว่าแผนที่นั้นเป็นแผนที่ใหม่ อันใหญ่ของท่าน ท่านทำจากแผนที่ระวางไหนบ้าง



แล้วเวลาเสด็จไปก็ต้องไปถามชาวบ้านว่า สถานที่นั้นอยู่ที่ไหน ทางทิศเหนือมีอะไร ทิศใต้มีอะไร ท่านถามหลาย ๆ คน แล้วตรวจสอบกันไปมาระหว่างคนที่ถามนั้น ดูจากแผนที่ว่าแผนที่อันนั้นถูกต้องดีหรือไม่ น้ำไหลจากไหนไปที่ไหน บางครั้งถ้าแผนที่ไม่ถูกต้องท่านจะตรวจสอบได้ และมีเจ้าหน้าที่จากกรมแผนที่ที่ตามเสด็จด้วยก็เรียกมาชี้ให้ดูว่า ตรงนี้จะต้องแก้ไข

แม้แต่ในการเสด็จพระราชดำเนินถ้าไปทางรถธรรมดาท่านจะมีแผนที่ซึ่งท่านใช้อยู่ประจำเป็นแผนที่ 1:50,000 แต่ในบางท้องที่ก็โปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นแผนที่ 1:25,000 ซึ่งบางครั้งปรากฏว่าแผนที่ 5,000 กลับถูกต้องกว่า เวลาเดินทางไปท่านก็ดูแผนที่ บางทีก็เช็กจากชื่อหมู่บ้านที่เขาติดไว้ข้างถนนบ้าง หลักกิโลเมตรบ้าง แล้วก็เอาชื่อหมู่บ้านและหลักกิโลเมตรใส่ลงในแผนที่ด้วย แล้วรถยนต์ที่ไปก็มีเครื่องบอกกิโลเมตรดูจากนั้น แต่เครื่องบอกกิโลเมตรในรถของท่านนั้นผิดไป 10% เวลาเดินทางก็ต้องคำนึงถึงข้อนี้ด้วย และมีเข็มทิศกับเครื่องวัดระดับความสูงอยู่ในรถนั่นด้วย ก็พอเช็กแผนที่ได้อย่างคร่าว ๆ พอไปถึงที่ก็ถามได้ ในเรื่องของระดับนั้นทรงพิถีพิถันเป็นพิเศษ

เนื่องจากหลักของท่านคือ ท่านจะทำในด้านน้ำเพื่อชลประทานก็ต้องทราบว่าน้ำเริ่มต้นที่ไหน จะไหลจากที่ไหนไปสู่ที่ไหน และการพิจารณาในการวางโครงการของท่านนั้นท่านพิจารณาเป็นกลุ่ม ๆ ไปไม่ปะปนกัน เพราะบางครั้งชาวบ้านที่กราบบังคมทูล ก็กราบบังคมทูลไม่ถูกต้องก็มี ถูกต้องก็มี ก็ต้องใช้ความรู้หลาย ๆ ด้าน เพื่อที่จะพิจารณาดูว่าคนไหนให้ข้อมูลถูกคนไหนให้ข้อมูลผิด และสถานที่นั้นเป็นที่ไหนมีคนไหนกราบทูลว่าอย่างไร ท่านก็ใช้แผนที่อันเดิมนั้นในการที่จะตรวจสอบ ทำให้ท่านหวงแผนที่ของท่านมาก อันเดิมนั้นต้องเก็บไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนที่ทางภาคใต้นั้นโดนฝนมา เพราะเวลาเสด็จออกไปฝนมักจะตก ทำให้แผนที่ค่อนข้างจะเปื่อยยุ่ย ก็ต้องถือด้วยความระมัดระวัง



เวลาท่านสอน ท่านสอนแม้กระทั่งการพับแผนที่ เพราะว่าในเวลาเรานั่งในรถที่มันก็แคบ กางแขนกางขาออกไปมากไม่ได้ เวลาเตรียมก่อนเดินเราต้องพับแผนที่ให้ถูกทางว่าตอนแรกไปถึงไหนและพอไปถึงอีกที่นี่จะต้องคลี่คลายให้ได้ทันท่วงทีจากคลี่หน้าไหนแล้วต่อไปถึงหน้าไหน ถ้าแผนที่นั่นเน่าเต็มทน คือโดนฝนโดนอะไรหลายปีหลายฤดูกาล ท่านก็ต้องย้ายข้อมูลจากแผ่นเก่าไปสู่แผ่นใหม่ ซึ่งท่านก็ต้องทำเองอีกเหมือนกัน และเวลาตอนหลังนี่พวกเราที่ตามเสด็จ ก็ได้รับพระราชทานแจกแผนที่ซึ่งเวลาท่านใช้เองด้วยหรือท่านเอามาแจก ท่านใช้ท่านก็ทรงระบายสีเอง ท่านขีดเส้นตรงที่คิดว่าสมควรที่จะทำเขื่อน หรือจะทำฝายตรงไหนวางแผนในนั้น และระบายสีฟ้าเป็นน้ำ ส่วนเขื่อนหรือถนนท่านก็เอาสีแดงระบายวาดเป็นเส้นไปที่ท่านต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะว่าการทำเขื่อนแต่ละอันก็หมายถึงว่าต้องจ่ายงบประมาณของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

การจะเลือกทำที่ไหนนั้น นอกจากจะเลือกให้ไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรเป็นจำนวนมาก คือต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นที่ตั้งบ้านเรือน และยังต้องคำนึงถึงงบประมาณความประหยัดด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครเสนอโครงการมา ท่านก็จะต้องทอดพระเนตรก่อนว่ากั้นน้ำตรงนี้น่าจะเลี้ยงไร่นาไปได้ถึงแค่ไหน จะเพิ่มผลผลิตคุ้มและเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ เป็นเหตุผลพอมั้ยที่จะจ่ายเงินของราษฎรเป็นจำนวนสูงเท่านี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงต้องดูแผนที่ ถ้าใครมากราบบังคมทูลว่าขอพระราชทานอ่าง เขื่อน ฝาย อะไรที่ไหน จะต้องถามจนผู้กราบบังคมทูลแทบจะจนตรอกว่าอยู่ที่ไหน การเดินทางไปเป็นอย่างไร ทิศเหนือจดอะไร ทิศใต้จดอะไร บริเวณมีลักษณะเป็นอย่างไร แล้วจึงทรงกำหนดลงในแผนที่ และดูระดับ ดูความสูง ตอนแรก ๆ ก็รับสั่งเล่าให้ฟังว่าวิธีการศึกษาของท่านคือ ศึกษาจากนายช่าง หรือเจ้าหน้าที่ชลประทานที่เขาตามเสด็จหรือที่ได้ทรงพบคนที่ทรงรู้จักว่าถ้าอย่างนี้เป็นอย่างไร การทำเขื่อนทำอย่างไร ทางเทคนิคต่าง ๆ ท่านก็เรียนจากเขา แต่ว่าอาศัยที่ได้ทอดพระเนตรเห็นงานการต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศมามาก

บางครั้งท่านทรงเกิดความคิดขึ้นมาก็บอกให้เขาฟัง ถ้าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรงเขาเห็นว่าถูกต้องเหมาะสมเห็นด้วยก็ทำไป แต่ถ้าเขามีข้อคัดค้านหรือที่ท่านทรงทราบมายังไม่ถูกต้องเขาก็จะกราบบังคมทูลขึ้นมาโดยที่ท่านถือว่าไม่ต้องมาเกรงใจว่าเป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ต้องทำตามจะผิดจะถูกต้องทำตามทั้งนั้น ท่านก็ไม่ถืออย่างนั้น

ถ้านายช่างเขามีเรื่องทางเทคนิคที่ท่านสั่งมายังไม่ถูกต้อง ที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร ท่านก็รับฟังเสมอและค่อย ๆ ฟังมาเรื่อยจนค่อนข้างจะมีความชำนาญ ตอนหลังมีอะไร เขาก็นำไปพิจารณาวางโครงการละเอียด ที่ท่านทำนั้นก็เป็นลักษณะทำอย่างคร่าว ๆ ไม่คำนวณอย่างละเอียด ท่านก็คำนวณตัวเลขกว้าง ๆ เหมือนกันว่า ทำตรงนี้จะดีได้ผลในบริเวณไหน การที่ได้ผลแค่นี้ชาวบ้านจะเพิ่มผลผลิตได้เท่าไร และในการก่อสร้าง ถ้าทำเขื่อนสูงเท่านั้นเท่านี้เมตรจะตกเป็นราคาในวงเงินเท่าไหร่ ถ้าทำอย่างนี้จะถูกกว่า

หรือว่าบางครั้งในโครงการมีว่าจะทำอ่างตรงนี้ และต้องทำระบบต่อไป แต่ว่าระบบนั้นบางครั้งทำยากและต้องเสียเวลานานกว่าคนจะได้รับผลประโยชน์กว่าจะได้กินก็พอดีอดกันแย่ ท่านก็ต้องหาวิธีอื่น ๆ เช่น อาจจะทำเป็นฝายเล็ก ๆ เพื่อที่จะเอาน้ำมาก่อนเพื่อที่จะแก้ปัญหาเป็นปี ๆ เฉพาะหน้าไป ก็มีแผนระยะสั้นแผนระยะยาวหรือว่าในบางแห่งในเชิงวิศวกรรมน่าจะทำมากแต่ว่าชาวบ้านแถวนั้นยังไม่พร้อมในการพัฒนา ยังไม่มีสภาพร่างกายและจิตใจที่พร้อมที่จะทำ หรือมีโอกาสได้รับประโยชน์ ถ้าทำนั้นไปโดยคิดแต่ว่าจะให้ประโยชน์แก่พื้นที่ จะพัฒนาภูมิประเทศท้องที่ให้ดีขึ้น แต่ไม่คำนึงถึงตัวตนจริง ๆ แล้วที่ที่เลว ๆ พอทำให้ดีขึ้น พวกที่ขยันขันแข็ง และร่ำรวยอยู่แล้วก็จะถือโอกาสกรูกันเข้าไปหา คนที่จนอยู่แล้วก็ยิ่งจะหนักขึ้น บางครั้งแผนต่าง ๆ ก็ต้องเป็นแผนในกระดาษไปก่อน และถ้าคนในท้องถิ่นนั้นพร้อมเมื่อไรจะทำไปนี่ก็เป็นวิธีการที่ว่าเอาความรู้ทางวิศวกรรมมาผนวกกับปัญหาด้านสังคม


(ติดตามต่อตอน 2 )

ภาพประกอบจาก welovethaiking.com


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ย้อนรำลึก บทพระราชทานสัมภาษณ์ สมเด็จพระเทพฯเล่าเรื่อง ตามเสด็จในหลวง (ตอน 1)

view