จากประชาชาติธุรกิจ
นิพนธ์ พัวพงศกร
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ตั้งแต่กลางตุลาคมเป็นต้นมา ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิทรุดฮวบแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ราคาข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเก่าลดลงจาก 12,090 บาทต่อตันในเดือนกันยายนเหลือ 10,500 บาทต่อตันในวันที่ 28 ตุลาคม 2559 หรือลดลง 13% เทียบกับช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนปีนี้ที่ลดลงเพียง 2%
ราคาข้าวนี้เป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี
สาเหตุสำคัญที่ราคาข้าวเปลือกลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะราคาข้าวสารหอมมะลิส่งออกที่เป็น ราคา ล่วงหน้าในเดือนธันวาคม 2559 ลดฮวบมาเหลือเพียง 548เหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ต่ำกว่าราคาตลาด (spot price) 720 เหรียญเมื่อ 28 ตุลาคม 2559 ผลคือ ราคาเปิดล็อตแรกของราคาขายส่งข้าวสารหอมมะลิใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวสัปดาห์แรกของพฤศจิกายน 2559 เท่ากับหาบละ 1,200 บาท เทียบกับล๊อตแรกของปีที่แล้วหาบละ 2,000 บาท ลดลงไป 800 บาท เป็นการลดลงแบบผิดปรกติ
ทำไมราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจึงทรุดฮวบอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ยังไม่ได้เกี่ยวข้าวในเดือนตุลาคม
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจข้อเท็จ 3 เรื่องก่อน เรื่องแรก คือ แม้จะยังไม่มีการเกี่ยวข้าวหอมในเดือนตุลาคม แต่ก็มีการซื้อขายข้าวเปลือกปีก่อนในภาคอิสานและเชียงรายแบบประปราย เพราะชาวนาบางคนที่มีข้าวเปลือกเก่าในยุ้งฉางของตน นำข้าวเปลือกออกขาย
ข้อสอง ราคาส่งออกข้าวสารหอมมะลิเป็นราคาซื้อขายล่วงหน้า (forward price) ของผู้ส่งออกข้าวไทยที่ไปเสนอขายให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ แล้วใช้เป็นฐานกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกในช่วงเก็บเกี่ยว เช่น เมื่อ 28 ตุลาคม 2559 ราคาล่วงหน้าของเดือนธันวาคม 2559 เท่ากับ $548 แปลว่าผู้ส่งออกตกลงจะส่งมอบข้าวสารหอมมะลิฤดูใหม่ให้ผู้ซื้อในเดือนธันวาคมในราคา $548 ราคานี้ไม่ใช่ราคาที่เปิดเผย แต่จะถูกเปิดเผยเมื่อผู้ซื้อต่างประเทศหันมาเจรจาขอซื้อข้าวจากผู้ส่งออกรายอื่นๆ
ข้อสาม ราคาล่วงหน้าเป็นตัวกำหนดราคาข้าวเปลือกในวันนี้ แปลกดีใช่ไหมครับ ราคาล่วงหน้าเป็นราคาในอนาคตที่เกิดจากการคาดคะเนของพ่อค้าข้าวและโรงสี เกี่ยวกับอุปสงค์ (ความต้องการ) และอุปทาน (ผลผลิต) ของข้าวหอมมะลิในฤดูการผลิตใหม่
ถ้าพ่อค้าส่งออกคาดว่า การเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะมีอุปทานน้อย ขณะที่
อุปสงค์เท่าเดิม ราคาล่วงหน้าก็จะสูงขึ้นเพราะเขาจะรีบสั่งซื้อข้าวเปลือกก่อนที่ราคาจะสูงขึ้น หลังจากนั้นถ้ามีพ่อค้าส่งออกคนอื่นเริ่มสั่งซื้อมากขึ้น โรงสีและพ่อค้าท้องถิ่นก็จะรีบกว้านซื้อข้าวเปลือกเก่าที่มีอยู่ในตลาดมาส่งให้พ่อค้าส่งออก เพราะข้าวเปลือกเก่าและข้าวใหม่ต่างก็ทดแทนกันได้ ฉะนั้น ราคาล่วงหน้าจึงกำหนดราคาข้าววันนี้ตามกลไกการเก็งกำไรในตลาด
ที่นี้ก็ถึงเวลาตอบคำถามว่าทำไมราคาล่วงหน้าของข้าวหอมมะลิจึงทรุดฮวบ คำตอบง่ายๆคือ พ่อค้า ส่วนใหญ่ คิดว่าหลังเก็บเกี่ยว เราจะมีอุปทานจำนวนมหาศาล ขณะที่ความต้องการซื้อมีเท่าเดิม หรืออาจลดน้อยลงกว่าปีก่อน นี่คือ ผลของการเก็งกำไรของพ่อค้า ใครเก็งถูก (คือ เก็งว่าราคาตลาดเดือนธันวาคมจะต่ำกว่าราคาขายล่วงหน้าในเดือนตุลาคม) ก็รวย ใครเก็งผิดก็ขาดทุน เป็นเรื่องปกติของพ่อค้า เพราะกำไรของพ่อค้าข้าวส่วนใหญ่เกิดจากความสามารถในการเก็งกำไร
ปีนี้ซัพพลายข้าวหอมมะลิน่าจะมีมากผิดปรติจาก 3 แหล่ง แหล่งแรก คือ ปริมาณผลผลิตที่กำลังจะเริ่มเก็บเกี่ยวในขณะนี้จนถึงเดือนธันวาคม จะมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก เพราะปีฝนในภาคอิสานดีมาก ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเราจะมีผลผลิตจำนวนเท่าไร แม้จะมีตัวเลขการพยากรณ์ผลผลิตของกระทรวงเกษตรฯ แต่พ่อค้าส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือตัวเลขเหล่านั้น ฉะนั้นพอถึงช่วงข้าวออกรวงก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน พ่อค้าส่งออกก็จะออกสำรวจพื้นที่ โดยการสอบถามจากโรงสีและพ่อค้าในท้องถิ่น ฉะนั้นพ่อค้าแต่ละคนย่อมประมาณการผลผลิตไม่เท่ากัน และจะไม่ถูกต้องแม่นยำ แต่ถ้ามีพ่อค้าจำนวนมากๆ ออกสำรวจ ค่าเฉลี่ยที่ได้ก็น่าจะใกล้เคียงของจริง
ซัพพลายแหล่งที่สอง คือ ข้าวเปลือกที่ค้างอยู่ในสต๊อคของโรงสี พ่อค้าส่งออก และพ่อค้าบางรายที่ได้เงินอุดหนุนดอกเบี้ยในการซื้อข้าวเปลือกเข้าเก็บในสต๊อคตั้งแต่ต้นปี 2559 คงจำได้ว่าตอนต้นปี 2559 เรามีปัญหาฝนแล้งจากภาวะเอลนินโญ่ พ่อค้าและโรงสีต่างก็คาดว่าราคาข้าวหอมมะลิจะต้องถีบตัวขึ้นสูง จึงพากันกักตุนข้าวไว้ในสต๊อค มิหนำซ้ำยังมาวิ่งเต้นขอร้องให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยอุดหนุนภาระดอกเบี้ย 3% โดยสัญญาจะซื้อข้าวเปลือกในราคา 14,000 บาท ปริมาณการสต็อคข้าวเปลือกในโครงการสูงถึง 3.35 ล้านตัน แต่หลังจากนั้นราคาข้าวหอมมะลิก็ลดลงตลอด เพราะเอลนินโญ่คลี่คลายในกลางกรกฏาคม ฝนในอิสานค่อนข้างดี การคาดคะเนปริมาณผลผลิตก็เปลี่ยนไป คนที่สต็อคข้าวไว้จึงขาดทุน ฉะนั้นพ่อค้าจำนวนมากจึงยังไม่ได้ขายข้าวเปลือกจำนวนนี้ออกไป คาดว่าขณะนี้น่าจะยังมีข้าวเปลือกค้างในสต๊อค (ทั้งข้าวหอมและข้าวขาว) อีกประมาณ 2 ล้านตันโรงสีที่ยังไม่ได้ขายข้าวเปลือกดังกล่าวจึงไม่ได้ชำระหนี้ธนาคาร ฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีสภาพคล่องที่จะนำมาซื้อข้าวเปลือกในฤดูใหม่ ทำให้พ่อค้าคิดว่าปีนี้อุปสงค์จะลดลง
นอกจากนี้พ่อค้ารายใหญ่บางรายก็กำลังประสบปัญหาการเงิน ทำให้ต้องหยุดซื้อข้าว ดังนั้นปีนี้พ่อค้าที่จะมาแย่งซื้อข้าวตอนเก็บเกี่ยวก็คงจะมีจำนวนน้อยลง
ข้อมูลเหล่านี้แหละเป็นต้นตอของการเก็งกำไรที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกดำดิ่งลงเหมือนกับเวลาราคาหุ้นลดฮวบช่วงขาลงเพราะนักลงทุนตื่นตกใจ สาเหตุที่พ่อค้าข้าวตื่นตกใจเกิดจากการที่พ่อค้าบางคนที่ออกสำรวจตลาด และพบว่าปีนี้ผลผลิตจะมีมากกว่าปรกติ บวกกับอาจมีข้อมูลว่ายังมีข้าวเปลือกเก่าในสต๊อคของโรงสีจำนวนมาก พ่อค้าเหล่านี้เริ่มคาดคะเนว่าตอนเก็บเกี่ยวข้าว ราคาน่าจะตกต่ำมาก เช่น คิดว่าราคาจะลดลงเหลือ $550 ต่อตัน ก็เลยรีบไปเสนอขายต่างประเทศล่วงหน้าในราคา $610 (ราคาสมมุติ) เพราะถ้าราคาตอนเก็บเกี่ยวลดลงต่ำกว่า $610 เขาก็จะมีกำไร
แต่ราคาล่วงหน้าไม่ใช่ความลับ พ่อค้าบางคนที่รู้ว่ามีใครบางคนไปขายราคา $610 เริ่มตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น จึงเริ่มตรวจสอบข้อมูล ถ้าได้ข้อมูลว่าผลผลิตจะเพิ่มมากจริงๆ ก็เลยเสนอหั่นราคาขายลง สมมุติว่าเหลือ $570 ข่าวเรื่องการขายราคาต่ำเริ่มแพร่สะพัดในปลายตุลาคม พ่อค้าส่วนใหญ่เริ่มตื่นตะหนกมากขึ้น บางคนก็เลยไปขายส่งออกล่วงหน้าในราคา $548 ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมลดลงเหลือแค่ 9,500-10,000 บาทต่อตันตอนสิ้นเดือนตุลาคม
แม้การเก็งกำไรจะเป็นเรื่องปกติในตลาดค้าข้าว คนที่เก็งผิดก็จะขาดทุน เราไม่ต้องห่วงเขา แต่ผลการเก็งกำไรแบบตื่นตกใจกลับส่งผลเสียหายต่อเกษตรกรที่กำลังจะเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนพฤศจิกายน ราคาข้าวที่เขาจะได้รับตกต่ำมาก
รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจึงเป็นห่วงเป็นใยชาวนา แต่เราก็ควรเข้าใจว่าราคาที่ลดลงนี้เกิดจากผลพวงของการเก็งกำไรของพ่อค้าในตลาด ลำพังแพะเพียงไม่กี่ตัว ไม่สามารถสร้างสถานการณ์นี้ได้
การที่พ่อค้าตื่นตกใจจนคิดว่าราคาจะต่ำมาก เกิดจากการที่ไม่มีใครมีข้อมูลที่แน่นอน ต่างคนต่างคาดคะเน พอเกิดภาวะตกใจ การเก็งกำไรกลายเป็นแบบไม่มีเหตุผล ในหลายกรณีราคามักตกต่ำกว่าที่ควร (overshooting) สถานการณ์ราคาจะเริ่มทรงตัวหรือขยับขึ้นนิดหน่อยหลังจากที่พ่อค้าเริ่มใช้สติพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน
สาเหตุสำคัญที่ราคาแปรปรวนไร้เสถียรภาพชั่วคราวเกิดจากการขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และตลาดเพิ่งได้ข้อมูลใหม่ๆในช่วงตุลาคม ผู้ที่มีข้อมูลดีที่สุดมักเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่คนที่มีเครือข่ายกว้างขวาง
นี่คือเหตุผลที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีภาคเกษตรขนาดใหญ่และมีระบบการค้าพืชผลการเกษตรแบบเก็งกำไร ต้องหาหนทางแก้ไข โดยการสร้างตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแบบทางการ (futures market) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้โรงงานแปรรูปและพ่อค้าสามารถป้องความเสี่ยง (hedging) จากความผันผวนของราคา นอกจากนั้นกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกายังลงทุนสร้างระบบการพยากรณ์ผลผลิตการเกษตรและความเสียหายที่มีความน่าเชื่อถือป้อนให้แก่ตลาด โดยมีการปรับปรุงผลการพยากรณ์ทุกๆเดือน
ถ้าเรามีระบบพยากรณ์ผลผลิตและรายงานสต็อคข้าวทั้งในมือรัฐบาลและเอกชนที่น่าเชื่อถือ พ่อค้าทุกคนในตลาดก็จะมีข้อมูลชุดเดียวกันตั้งแต่ต้นฤดู แน่นอนตัวเลขการพยากรณ์จะเปลี่ยนไปทุกเดือนตามสภาวะการณ์ แต่ถ้าภาวะดินฟ้าอากาศไม่ผิดปรกติ ตัวเลขพยากรณ์ในเดือนหลังๆก็จะไม่ต่างจากเดือนแรกๆมากนัก เมื่อตัวเลขด้านอุปทานและอุปสงค์ค่อนข้างนิ่งและน่าเชื่อถือ ราคาก็จะไม่ผันผวนมากนัก เช่น ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ไทยยังมีปัญหาเอลนินโญ่ การคาดคะเนผลผลิตข้าวปีนี้จะค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อถึงปลายกรกฏาคม ภาวะเอนินโญ่คลี่คลายกลับสู่ปกติ การคาดคะเนผลผลิตจะถูกปรับให้มากขึ้น ราคาล่วงหน้าก็จะค่อยๆลดลง จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ราคาจะไม่ผันผวนมากเหมือนที่เกิดในช่วงปลายตุลาคม 2559 ลองคิดดูว่าถ้าผลพยากรณ์ พบว่า ผลผลิตข้าวหอมจะเพิ่มขึ้นจริง น้อยกว่า การคาดคะเนของพ่อค้า เช่น พ่อค้าคิดว่าจะมีอุปทานข้าวตอนเก็บเกี่ยว 12 ล้านตัน แต่การพยากรณ์ที่มีระบบน่าเชื่อถือคาดว่าจะมีอุปทานข้าวเพียง 10 ล้านตัน ราคาล่วงหน้าจะแตกต่างกันมาก
เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากความผันผวนของราคาหอมมะลิครั้งนี้
บทเรียนแรก การที่พ่อค้าบางคนไปเสนอขายข้าวในราคาต่ำเกิดจากระบวนการเก็งกำไร ซึ่งเป็นเรื่องปกติของกลไกตลาด ไม่น่าจะเกิดจากปัจจัยการเมือง จริงอยู่พ่อค้าบางคนที่ไปเสนอขายข้าวราคาต่ำอาจจะเป็นนักการเมืองหรือเป็นหัวคะแนนนักการเมือง แต่คงไม่มีพ่อค้าคนใดเสี่ยงล้มละลายโดยตั้งใจขายข้าวจำนวนมากๆ ในราคาต่ำ เพราะถ้าราคาตลาดตอนเก็บเกี่ยวสูงกว่าราคาขายล่วงหน้า เขาก็จะขาดทุนหนัก เมื่อเป็นเรื่องของกลไกตลาด การใช้อำนาจรัฐเข้าไปตรวจโรงสีจึงไม่เหมาะสม ถ้าโรงสีจำนวนมากเกิดความกลัว ไม่กล้าซื้อข้าวในราคาต่ำ แต่ตัดสินใจหยุดซื้อพร้อมๆกัน ชาวนาจะเดือดร้อนมากขึ้น ราคาจะยิ่งตกลงไปอีก สู้ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อราคาถูก โรงสีและพ่อค้าจะมีแรงจูงใจซื้อมากขึ้น เพราะมีโอกาสทำกำไรได้ ราคาก็จะค่อยๆยกตัวขึ้น ส่วนการช่วยชาวนาที่ขายข้าวได้ราคาต่ำ โดยจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 800 บาทไม่เกิน 15 ไร่ เป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด เพราะทำให้ชาวนาไม่ขาดทุนและไม่บิดเบือนราคาตลาด
บทเรียนที่สอง คือ ตลาดข้าวไทยมีปัญหาด้านข่าวสารข้อมูลในตลาดข้าวที่น่าเชื่อถือตั้งแต่ราคาซื้อขายล่วงหน้า (ที่สมาคมการค้าต่างๆไม่เคยจัดทำอย่างเป็นระบบ เพราะเป็นราคาที่ผู้ส่งออกไทยแต่ละคนไปตกลงกับผู้ซื้อในต่างประเทศ) ปริมาณสต๊อคข้าวในคลังเอกชนและรัฐบาล ปริมาณความต้องการของตลาด และการพยากรณ์ผลผลิตข้าวของหน่วยงานรัฐที่ยังขาดความน่าเชื่อถือ รวมทั้งยังไม่มีการพยากรณ์ผลผลิตข้าวแยกตามชนิดข้าว (ข้าวเจ้าขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว) การไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือทำให้วงการค้าเกิดความได้เปรียบสียเปรียบกันในเรื่องเก็งกำไร พ่อค้ารายใหญ่ที่มีเงินทุน มีเครือข่ายใหญ่ มีเส้นสายก็จะได้เปรียบคนอื่นๆ หน้าที่สำคัญของรัฐ คือ การลงทุนพัฒนาระบบการพยากรณ์ผลผลิตและสต๊อคข้าวให้น่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ตลาดมีข้อมูลถูกต้อง ลดความผันผวนจากการเก็งกำไรแบบตื่นตกใจ และทำให้พ่อค้ารายเล็กมีข้อมูลใกล้เคียงรายใหญ่
แนวทางการพัฒนาการพยากรณ์จะต้องมีการระดมความร่วมมือของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สนเทศที่มีภาพถ่ายดาวเทียม แต่ภาพถ่ายบอกไม่ได้ว่าต้นข้าวเป็นข้าวชนิดใด จึงต้องมีการลงทุนสำรวจภาคพื้นดินที่ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั้งประเทศ ลำพังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักมีทรัพยากรคนและเงินไม่พอ ต้องอาศัยกรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตรนอกจากนั้นยังต้องพึ่งอาจารย์ด้านเกษตรนักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญของกรมอุตุนิยม กระบวนการพัฒนาการพยากรณ์ผลผลิต สต๊อคข้าวและอุปสงค์ คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปีจึงจะอยู่ตัวครับ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน