จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
มาสู่ยุคเปลี่ยนผ่านของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในพันธมิตร ต้องเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และหากเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ลึกลงไปก็จะทราบว่า ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศแน่นแฟ้นมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา นำมาซึ่งมิตรภาพที่ดีระหว่าง 2 ประเทศจวบจนถึงปัจจุบัน...
พระราชกรณียกิจบนแผ่นดินอเมริกา
จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการนั้น เกิดขึ้นนับตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์จักรีแล้ว ที่ทางสหรัฐอเมริกา ได้มีการส่งเอกอัครราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมทั้งนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงได้มีการร่วมลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce)
ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ เป็นไปอย่างราบรื่นมาโดยตลอด จนดำเนินมาถึงในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยิ่งสร้างความพิเศษมากขึ้นไปอีก เพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวบนโลกที่เสด็จพระราชสมภพบนแผ่นดินอเมริกา และประทับอยู่จนมีพระชนมายุ 2 พรรษา จึงเสด็จฯนิวัจประเทศไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะเสด็จฯไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญพระองค์ คือการเจริญสัมพันธไมตรีด้านการทูตกับประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป รวมถึงทวีปอเมริกา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ทางการทูต และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนอเมริกาถึง 2 ครั้งด้วยกัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2503 เป็นครั้งแรกที่พระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ,พระราชโอรสและพระราชธิดา รวมทั้งผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง เสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ในสมัยของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ชาวนิวยอร์กกว่า 750,000 คน ที่ได้มีโอกาสต้อนรับพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ อย่างยิ่งใหญ่ด้วยการปรบมือและโปรยกระดาษสายรุ้งจำนวนมาก ไปตลอดเส้นทางของถนนสายบรอดเวย์ รวมทั้งทรงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนชาวอเมริกันอย่างเป็นกันเอง
ในการเสด็จฯเยือนอเมริกาครั้งนั้น ได้เสด็จฯเยือนสถานที่พระราชสมภพ “โรงพยาบาลเม้าท์ออเบิร์น” (Mount Auburn Hospital) ณ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาซูเซตส์ ทรงพบกับพระสหายคนแรกคือ ดอกเตอร์ ดับบลิว.สจ๊วต วิตเมอร์ นายแพทย์ที่ทำคลอดและคณะพยาบาลอีก 4 คน คือ มิสซิส เลสลี่ เลตัน , มิส เจนีเวียฟ เวลด้อน , มิสซิสมาร์กาเร็ท เฟย์ และ มิสรูธ แฮริงตัน พร้อมทั้งพระราชทานสิ่งของเป็นหีบบุหรี่ถมทองแก่นายแพทย์ผู้ทำคลอดและตลับแป้งถมทองแก่นางพยาบาลทั้ง 4 คนอีกด้วย
ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับแพทย์และคณะพยาบาล
นอกจากนี้แล้ว ยังมีคนดังระดับโลกอีกหลายคน ที่ได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์อย่างใกล้ชิด ได้แก่ ริชาร์ด บูน นักแสดงชายชื่อดังของฮอลลีวูด, เอลวิส เพรสลี่ย์ ราชาเพลงร็อกแอนด์โรลของโลก, วอล์ท ดิสนีย์ ผู้ให้กำเนิดตัวการ์ตูนชื่อดัง คือ มิกกี้ เม้าส์ รวมไปถึง เบนนี กู๊ดแมน นักดนตรีผู้ได้รับฉายา “ราชาแห่งแจ๊ซ”
วอลท์ ดิสนีย์ ถวายธงมิคกี้เม้าส์ แด่เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ และเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ
จนมาถึงปี พ.ศ.2010 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 2 เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดศาลาไทย ซึ่งศาลาไทยหลังดังกล่าวได้พระราชทานเป็นของขวัญให้แก่สถาบัน East-West Center มลรัฐฮาวาย เมื่อปี 2507 ถือเป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาในระดับท้องถิ่น
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาของพระองค์ทั้ง 2 ครั้งนั้น นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและแผ่นดินสหรัฐอเมริกาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากข่าวการเสด็จสวรรคตของพระองค์เผยแพร่ออกไป ทั่วทั้งโลกต่างแสดงความเสียใจ ประชาชนชาวอเมริกัน รวมถึงชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ต่างเดินทางและนำดอกไม้ไปวาง ณ บริเวณจัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช (King Bhumibol Adulyadej of Thailand Square) ที่ตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระองค์ เพื่อร่วมแสดงความอาลัยฯและน้อมถวายบังคมแด่การเสด็จสวรรคต
ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ
แต่ในความโศกเศร้านั้น ก็ยังมีเรื่องที่น่ายินดีและภูมิใจแก่ชาวไทย คือการที่ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ นักการเมืองและอดีตทหาร เชื้อสายไทย - อเมริกัน จากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้ง ทำให้เธอได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐอิลลินอยส์ และก่อนหน้านี้ เธอมีโอกาสได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ชาวต่างประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) ในฐานะเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา
มหาอำนาจเยือนไทย
ประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาช้านาน นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาแล้ว ทางประเทศไทยเองก็ได้มีการต้อนรับประธานาธิบดีจากสหรัฐอเมริกาอีกหลายคนเช่นกัน
ประธานาธิบดีคนแรกที่เดินทางมาเยือนราชอาณาจักรไทยคือ ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 36 เดินทางมาพร้อมกับ เลดี เบิร์ด จอห์นสัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ด้วยเฮลิคอปเตอร์ของทั้ง 2 คน ที่ลงจอดหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม
สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงต้อนรับประธานาธิบดี จอห์นสัน และ นางเลดี เบิร์ด จอห์นสัน :
จากยูทิวป์ British Pathé
จากข้อมูล Office of the Historian ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ในประวัติศาสตร์มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการ รวมทั้งสิ้น 7 ครั้งด้วยกัน ประกอบด้วย ลินดอน บี. จอห์นสัน, ริชาร์ด นิกสัน , วิลเลียม เจฟเฟอร์สัน (บิล) คลินตัน , จอร์จ บุช และสุดท้าย บารัค โอบามา ซึ่ง ลินดอน บี. จอห์นสัน และ จอร์จ บุช ต่างเคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยถึง 2 ครั้งด้วยกัน
พระราชทานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแด่ ริชาร์ด นิกสัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประธานาธิบดี บิล คลินตัน
นอกจากนี้ ยังมีอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ที่เคยเดินทางมาเยือนไทย และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อครั้งที่เขายังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีสหรัฐฯในขณะนั้น ให้เดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย
พระราชทานพระราชวโรกาสให้ จอร์จ บุช อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เฝ้าฯ
พระราชทานพระราชวโรกาสให้ โรนัลด์ เรแกน เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เฝ้าฯ
หลังจากที่ข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเผยแพร่ออกไป สาส์นจากผู้นำโลกต่างถูกส่งมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นมาจาก ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ประเทศหนึ่งซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อราชอาณาจักรไทยมาอย่างยาวนาน
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
“การเสด็จ สวรรคตของพระองค์ไม่เพียงเป็นความสูญเสียสำหรับประเทศไทยและคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นความสูญเสียสำหรับมิตรประเทศทั่วโลก... พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงอุทิศพระองค์เพื่อความเป็นเอกภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความสุขของปวงชนชาวไทย ความเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพ และการอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมืองอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยด้วยพระราชจริยวัตรที่งดงาม จะอยู่ในความทรงจำของประชาชนคนไทยตลอดไป”
ในขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ก็ได้มีผู้นำประเทศคนใหม่คือ โดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 หลังจากเอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ไปเป็นที่เรียบร้อย
แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 50 ปี นับตั้งแต่การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาทั้ง 2 ครั้งนั้น แต่ชาวอเมริกันรวมถึงชาวโลกทุกคน จะจดจำและระลึกถึงพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนี้ตลอดไป...
ขอบคุณข้อมูล : www.uswatch.mfa.go.th
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน