สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชวนอ่าน 8 หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ชวนอ่าน  8  หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

       “นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือ แสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิต หรือเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดีก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้น นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิดและความบริสุทธิ์ในความคิดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมองว่า สิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ในขอบเขตของศีลธรรม”
       
       พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำนักจิตรดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2515
       
       จากพระบรมราโชวาทข้างต้นเราจะเห็นได้ถึงความสนพระทัยของในหลวงที่ทรงมีต่องานวรรณกรรมในแขนงต่างๆ รวมไปถึงแวดวงของนักวรรณกรรม ซึ่งพระองค์ท่านให้ความสำคัญต่อการแสดงความคิดเห็นของผู้ประพันธ์ที่ถ่ายทอดลงสู่ผลงาน พอๆ กับทรงให้มี“อิสระและเสรีภาพทางความคิด” ในการสร้างสรรค์งานอย่างเต็มที่แต่โดยต้องอยู่ใน“ขอบเขตของศีลธรรม”
       
       และเมื่อเราได้ค้นคว้าข้อมูลจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาของพระองค์ไม่ว่าจะเป็นบางช่วงบางตอนที่ ดร. วิษณุ เครืองาม บันทึกไว้ใน “เรื่องที่ควรรู้ของในหลวง บันทึกของ ดร.วิษณุ เครืองาม ปี 2013”ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า...
       
       ...เมื่อครั้งยังเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผมเคยได้รับพระมหากรุณาพระราชทานคำแนะนำเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาไทยหลายหน
       
       ครั้งหนึ่งได้ถวาย ‘รายชื่อ’บุคคลให้ทรงแต่งตั้ง รับสั่งถามว่า ตั้งกี่คน ผมกราบบังคมทูลว่าคนเดียว ตรัสว่าคนเดียวเรียกว่า ‘ชื่อ’ถ้า ‘รายชื่อ’ต้องหลายคน
       
       อีกคราวหนึ่ง มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า ‘ทูลเกล้าทูลกระหม่อมมาเพื่อทรงพิจารณา’ทรงพระสรวลตรัสว่า “ถ้าทูลเกล้าทูลกระหม่อมก็อยู่บน กระหม่อมยังไม่ถึงฉัน ถ้าจะให้ถึงฉัน ต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายมาเพื่อทรงพิจารณา”
       
       และอีกส่วนหนึ่งจากหนังสือ รวมถึงพระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียงบทความต่างๆ หลายเล่มหลายฉบับก็ทำให้เราตระหนักอย่างชัดเจนได้ว่า “ในหลวงทรงมีพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านภาษาและวรรณกรรมรวมไปถึงทรงเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องและสละสลวย”
       
       ดังนั้นเราจึงอยากเชิญชวนให้ลองค้นหาและตามอ่าน “8 หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ” พระราชนิพนธ์ตลอดช่วงชีวิตการเป็นนักประพันธ์ของพระองค์ ซึ่งแม้จะทรงงานหนักมาตลอด แต่ในหลวงก็ยังคงปลีกเวลาเพื่อนิพนธ์ผลงานให้ฝากไว้เป็นมรดกด้านวรรณกรรมคู่ผืนแผ่นดินของเรา

ชวนอ่าน  8  หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

       1. เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์, 2489
       
       พระราชนิพนธ์เรื่องแรก “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” โดยพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายเดือน วงวรรณคดี ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 เป็นตอนแรก โดยพระบรมราชานุญาตพิเศษเฉพาะหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ในขณะนั้นถือได้ว่าหนังสือวงวรรณคดี จัดว่าเป็นหนังสือที่ดีและมีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าอย่างมากในสมัยนั้น
       
       พระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” เป็นบันทึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชนิพนธ์ขึ้นในช่วงเวลาเสด็จพระราชดำเนินเพื่อกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2489 หลังจากที่พระองค์ท่านทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 ในราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 พระองค์ได้ทรงบันทึกผ่านพระอักษรเป็นเรื่องราวการเดินทาง แสดงถึงความรู้สึกของพระองค์ ตลอดถึงเหตุการณ์ที่ทรงได้ประสบพบเจอ ดังขออัญเชิญความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เล่มนี้ที่พสกนิกรชาวไทย รู้สึกประทับใจในพระเจ้าอยู่หัวของเรา
       
       “วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 - วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว...พอถึงเวลาก็ลงจากรถพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่าง แล้วก็ไปยังวัดพระแก้ว เพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกตและพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้ชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า ‘อย่าละทิ้งประชาชน’อยากจะร้องบอกเขาส่งไปว่า ‘ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้’แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว”

ชวนอ่าน  8  หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

        2. นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ (แปล), 2537
       
       “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” ทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “A MAN CALLED INTREPID” บทประพันธ์ของเซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน (William Stevenson) เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายกว่าสองล้านเล่ม พระองค์ทรงใช้ระยะเวลาในการแปลถึง 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2520 และเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 โดยหนังสือเล่มนี้มีจำนวนถึง 501 หน้า แสดงให้เห็นว่าทรงมีพระราชอุตสาหะในการแปลเป็นอย่างมาก และในเดือนธันวาคม พ.ศ.2536 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา
       
       "นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนายอินท์ หรือ INTREPID เป็นชื่อรหัสของเซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยราชการลับอาสาสมัครของอังกฤษ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีหน้าที่ล้วงความลับทางทหารของเยอรมัน เพื่อรายงานต่อเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีรูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันต่อต้านการขยายอำนาจของนาซีหรือแผนร้ายของฮิตเลอร์ที่หวังแผ่อำนาจเข้ามาครอบครองโลกโดยมี “นายอินทร์” และผู้ร่วมในงานนี้เป็นตัวอย่างของผู้กล้าหาญที่ยอมอุทิศชีวิตเพื่อความถูกต้อง ยุติธรรม เสรีภาพ และสันติภาพ โดยไม่หวังลาภยศสรรเสริญใดๆ

ชวนอ่าน  8  หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

       3. ติโต (แปล), 2537
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลเรื่อง “ติโต” จากต้นฉบับเรื่อง “TITO” ของ Phyllis Autyเมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อใช้ในศึกษาและเรียนรู้บุคคลที่น่าสนใจของโลกคนหนึ่ง รวมถึงผู้สนใจในประวัติศาสตร์ได้รู้จักติโต อย่างกว้างขวางมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา
       
       เรื่องราวในติโต มีใจความโดยสรุปดังนี้
       
       ติโต รู้จักกันในนามของจอมพลติโต เดิมชื่อโจซิบ โบรซ (Josip Broz) พ.ศ. 2435-2523 นายกรัฐมนตรีคอมมิวนิสต์คนแรก (พ.ศ. 2488) และประธานาธิบดีของประเทศยูโกสลาเวีย (พ.ศ. 2496-2523) เกิดที่เมืองคุมโรเวค โครเอเชีย
       
       ในปี 2491 ติโตได้แยกประเทศออกจากโซเวียต ทำการพัฒนาประเทศและตั้งตนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อิสระ (ลัทธิติโต) เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมประเทศผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ติโตเป็นรัฐบุรุษของประเทศยูโกสลาเวีย ซึ่งประกอบด้วยหลายชนชาติ มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เมื่อในยามวิกฤตประชาชนกลับมารวมกันเป็นปึกแผ่น สามารถรักษาความสมบูรณ์และเพิ่มพูนความเจริญของประเทศตลอดชีวิตของเขา ในปี พ.ศ.2523 ติโตเสียชีวิตขณะมีอายุ 88 ปี หลังจากนั้นประเทศยูโกสลาเวียก็ค่อยๆ สลายลง จนกระทั่งมีความแตกแยก จนยากที่จะแก้ไขได้ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
       
       “คำว่า การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติบ้านเมือง ต้องหมายตลอดถึงเสรีภาพของชาวโครแอตสโลวีนเซิร์บมาร์เซโดเนียน ชิปต้าร์ มุสลิม พร้อมกันหมด ต้องหมายว่าการต่อสู้จะนำมาซึ่งอิสรภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ สำหรับทุกชนชาติในยูโกสวาเวียอย่างแท้จริง นี่คือสารัตถ์สำคัญของการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ”  ติโตกล่าวในปี 1942 (ติโต พระราชนิพนธ์แปล หน้า 62-63)
       
       ติโตผู้ที่ฟันฝ่าอุปสรรคในทุกวิถีทางเพื่อสร้างความเป็นไท ให้แก่ประเทศของเขา ข้อสังเกตในการแปลเรื่องนี้ก็คือ ทรงใช้ภาษาที่สามัญชนเข้าใจง่าย รวมทั้งการใช้โวหารเปรียบเทียบที่คมคาย

ชวนอ่าน  8  หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

       4. พระมหาชนก, 2539
       
       พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก มีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ในเล่มเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลพระมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล เมื่อปี พ.ศ.2539 พระราชนิพนธ์พระมหาชนกนี้ มีภาพวาดโดยศิลปินที่มีชื่อเสียหลายท่าน ที่สำคัญที่สุดคือมีภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาทิเช่น ภาพวันที่เรือล่ม โดยมีแผนที่อากาศแสดงเส้นทางพายุจริงๆ และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ โดยมีนางมณีเมขลาเหาะอยู่เบื้องบน เป็นต้น พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกก็จะช่วยให้ทุกคนสามารถพิจารณาแนวดำเนินชีวิตที่เป็นมงคล
       
       โดยพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" ได้พิมพ์เผยแพร่ออกสู่สายตาผู้อ่านจำนวนมาก จัดพิมพ์โดยบริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน) นอกจากเนื้อหาที่ทรงคุณค่าแล้วยังมีภาพวาดประกอบของจิตรกรชื่อดัง 8 คน คือ จินตนา เปี่ยมศิริ, ประหยัด พงษ์ดำ, พิชัย นิรันต์, ปรีชา เถาทอง, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร, ธีระวัฒน์ คะนะมะและเนติกร ชินโย
       
       เรื่องราวในพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” มีใจความโดยสรุปดังนี้
       
       พระมหาชนก เป็นกษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ “พระอริฏฐชนก” และ “พระโปลชนก” หลังจากพระมหาชนกสวรรคต พระอริฏฐชนกได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ และทรงแต่งตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช ต่อมาได้เกิดเหตุสู้รบกันระหว่างพระอริฏฐชนกและพระโปลชนกอันเนื่องมาจากการยุแหย่ของเหล่าอมาตย์ใกล้ชิด พระอริฏฐชนก ได้สิ้นพระชนม์ชีพในสนามรบ พระเทวีซึ่งเป็นพระอัครมเหสีกำลังทรงพระครรภ์อยู่จึงได้หลบหนีออกจากกรุงมิถิลามุ่งหน้าสู่นครจัมปากะและต่อมาได้ประสูติพระโอรสซึ่งมีวรรณะดั่งทอง พระเทวีได้ขนานนามพระโอรสเหมือนพระอัยกาว่า “มหาชนกกุมาร”
       
       พระมหาชนกทรงทราบเรื่องเกี่ยวกับพระบิดาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จึงตั้งพระทัยเสด็จฯ ค้าขายยังเมืองสุวรรณภูมิ เพื่อให้ได้ทรัพย์เพื่อทำการทวงสมบัติคืน จึงทรงนำพวกพาณิชประมาณ 700 คนขึ้นเรือเดินทางออกสู่มหาสมุทร ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พระโปลชนกทรงประชวร เมื่อเรือแล่นไปได้ 7 วัน ไกลประมาณ 700 โยชน์ ก็เจอคลื่นยักษ์จนเรืออับปาง และวันนั้นก็เป็นวันที่พระโปลชนกสวรรคต
       
       พระมหาชนกทรงว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรอยู่ 7 วัน เทพธิกาชื่อ “มณีเมขลา” ผู้ดูแลรักษาสัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณความดี ไม่ให้ตามในมหาสมุทรก็ตรวจตราพบ จึงเหาะมาทดลองความเพียรโดยถามพระมหาชนกว่าเมื่อมองไม่เห็นฝั่งแล้วจะพยายามว่ายอยู่ทำไมพระมหาชนกตรัสตอบว่า
       
       “เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลก และอานิสงส์ แห่งความเพียร เพราะฉะนั้นถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร” และ “เราทำความพยามยามแม้ตายก็จักพ้นครหา บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตายก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ญาติ เทวดา และบิดา มารดา อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง”
       

       นางมณีเมขลายังได้กล่าวทดลองความเพียรของพระมหาชนกอีกหลายประการ จนได้ประจักษ์ในความเพียรของพระองค์ จึงได้อุ้มพาเหาะไปในอากาศจนถึงเมืองมิถิลา
       
       ด้วยความเพียรและปัญญา ทำให้พระมหาชนกสามารถตอบปัญหา 4 ข้อ ที่พระโปลชนกทิ้งไว้ก่อนสวรรคตได้ และได้อภิเษกกับ “สีวลีเทวี” พระธิดาองค์เดียวของพระโปลชนก ตลอดจนได้ครองกรุงมิถิลา และต่อมาได้ทรงตั้งสถาบันการศึกษาขึ้น ชื่อว่า “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” (วรนุช อุษณกร. ในหลวงผู้ทรงพระอัจฉริยภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2544,โอเดียนสโตร์, กรุงเทพ)

ชวนอ่าน  8  หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

       5. พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน, 2542
       
       ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2542 พระองค์ทรงโปรดฯ ให้จัดพิมพ์พระมหาชนกเป็นฉบับการ์ตูนเพื่อสะดวกแก่การศึกษาทำความเข้าใจของเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังมีการจัดพิมพ์เป็น ฉบับอักษรเบรลล์ เพื่อเผยแพร่แก่คนตาบอดอีกด้วย
       
       พระมหาชนกฉบับการ์ตูนนี้ผู้เขียนการ์ตูนประกอบคือ ชัย ราชวัตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าทรงมีพระราชดำริในการให้ใช้ลายเส้นแบบไทยๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นไทย

ชวนอ่าน  8  หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

        6. เรื่องทองแดง, 2545
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพระราชนิพนธ์ “เรื่อง ทองแดง” (The Story of Tongdaeng) เผยแพร่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน เรื่องทองแดงเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ที่ติดอันดับขายดีที่สุดของประเทศในปี พ.ศ.2545
       
       เกี่ยวกับ "คุณทองแดง" สุนัขธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะมีลักษณะพิเศษทั้งด้านกายภาพและอุปนิสัย แสนรู้ เฉลียวฉลาด เป็นสุนัขตัวโปรดของพระองค์ท่านที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ประทับใจของประชาชนชาวไทยทุกคน คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงตัวที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสุนัขทรงเลี้ยงที่ติดตามถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกครั้ง ไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปที่ใด
       
       เนื้อหาหลักเป็นเรื่องความกตัญญูรู้คุณของคุณทองแดง รวมทั้งความจงรักภักดี ความมีมารยาท และการสั่งสอนลูกของคุณทองแดง และในพระราชนิพนธ์ได้ทรงยกย่องคุณทองแดงในเรื่องความกตัญญูรู้คุณของคุณทองแดงที่มีต่อแม่มะลิ
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า “ทองแดง” เป็นสุนัขธรรมดาที่ไม่ธรรมดา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันนับว่ากว้างขวางมีผู้เขียนเรื่องทองแดงก็หลายเรื่องแต่น่าเสียดายว่าเรื่องที่เล่ามักมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และขาดข้อมูลสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะเกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณของคุณทองแดงที่มีต่อ “แม่มะลิ” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องว่า“ผิดกับคนอื่นที่เมื่อกลายมาเป็นคนสำคัญแล้ว มักจะลืมตัวและดูหมิ่นผู้มีพระคุณที่เป็นคนต่ำต้อย”
       
       สำหรับหนังสือพระราชนิพนธ์ "เรื่อง ทองแดง" เล่มนี้ จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็ง หนา 84 หน้า ขนาด 17 คูณ 26 ซ.ม. พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันอย่างดี ภาพประกอบ 4 สีตลอดเล่ม

ชวนอ่าน  8  หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

       7. เรื่องทองแดง ฉบับการ์ตูน, 2547
       
       พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2547  ในรูปแบบลายเส้นการ์ตูนโดยใช้ชื่อ "ทองแดงฉบับการ์ตูน" ลายเส้นในเรื่องได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพการ์ตูนโดยฝีมือจิตรกรระดับชาติ คือ ชัย ราชวัตร และทีมจิตรกรอีก 3 ท่าน คือ คุณโอม รัชเวทย์, คุณสละ นาคบำรุง และคุณทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ โดยมีอาจารย์พิษณุศุภนิมิตร เป็นที่ปรึกษาและออกแบบศิลป์ ซึ่งสามารถถ่ายทอดผลงานออกมาได้อย่างสวยงามสมจริง ไม่ผิดความจากต้นฉบับ ดังพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาในคำนำหนังสือ “เรื่องทองแดง” ฉบับการ์ตูนนี้ที่ว่า
       
       “ในครั้งนี้คุณชัย ราชวัตรเขียนการ์ตูนทูลเกล้าฯ ถวายประกอบเรื่องพระราชนิพนธ์ ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตามเรื่องพระราชนิพนธ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพราะคุณชัยได้ไปดูพื้นที่จริง และเขียนภาพหลายภาพที่ไม่มีภาพถ่ายตีพิมพ์ในเล่มเดิม ภาพการ์ตูนซึ่งเป็นภาพสีสดใสเหล่านี้ดูมีชีวิตชีวาเหมือนเคลื่อนไหวได้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทองแดงและสุนัขทรงเลี้ยงอื่น ๆ แนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นคว้าเรื่องสุนัข และภาพทิวทัศน์ในตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และวังไกลกังวลหัวหิน”
       
       พระราชนิพนธ์ “เรื่องทองแดง” ฉบับการ์ตูน จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกอ่อน หนา 172 หน้า ขนาด 17 X 26 ซ.ม. ลายเส้นหรือการ์ตูน พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันอย่างดี ภาพพิมพ์ 4 สีตลอดเล่มพิมพ์ด้วยระบบการพิมพ์ที่ทันสมัย สีสันสดใส ราคาเล่มละ 149 บาท วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 สำนักพิมพ์อมรินทร์

ชวนอ่าน  8  หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

       8. พระราชดำรัส เป็นพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ
       
       พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนพรรษาของทุกปี เป็นพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ พระองค์ทรงเริ่มแปลพระราชดำรัสเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 พระราชดำรัสในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสหประชาชาติ และมีความประสงค์จะได้รับฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณแปลพระราชดำรัสเอง และจากพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีมติให้ประกาศให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวัน “วันสิ่งแวดล้อมไทย” หลังจากนั้นก็ทรงแปลพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเรื่อยมา
       
       พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2532 จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการประชาสัมพันธ์สิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน
       
       นอกจากนั้น พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2534 เรื่องเกี่ยวกับ “รู้รักสามัคคี” จัดพิมพ์เผยแพร่โดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
       
       งานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของในหลวงของเรา พร้อมด้วยพระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้าในการทรงงาน กล่าวได้ว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาอย่างแท้จริง ไม่เพียงเท่านี้ พระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกร โดยได้มีการจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ฉบับการ์ตูนเพื่อเด็กและเยาว์ชน ฉบับอักษรเบรลล์เพื่อคนตาบอด สำหรับพระราชนิพนธ์พระมหาชนก และเรื่อง ทองแดง นอกจากนี้พระองค์ไม่ทรงมองข้ามความเป็นไทย อาทิเช่น ภาพประกอบ ในรูปแบบลายเส้นการ์ตูนแบบไทย และแม้แต่กระดาษที่ใช้ในการจัดพิมพ์ ทรงโปรดให้ใช้กระดาษที่ผลิตในประเทศ พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของประชาชนชาวไทย เน้นความเป็นไทย มีความภูมิใจในความเป็นไทย และใช้ของไทย
       
       จะเห็นได้ว่าหนังสือพระราชนิพนธ์เหล่านี้นั้นล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า ซึ่งเหล่านักอ่านนักเรียนรู้ทั้งหลายควรจะหาเวลาได้อ่านสักครั้งในชีวิต เพราะในทุกๆ เล่มมีทั้งข้อคิดเตือนใจและความเพลิดเพลินที่ทำให้เราได้ขบคิดและตั้งคำถามต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี


เรียบเรียง : วรชัย  รัตนดวงตา
       เรียบเรียงข้อมูลจาก
       http://www.vcharkarn.com/varticle/38236
       
       อ้างอิง
       วรนุช อุษณกร. ในหลวงผู้ทรงพระอัจฉริยภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2544, โอเดียนสโตร์, กรุงเทพhttp://www.bangkokbiznews.com
       
       ที่มารูป
       http://www.oknation.net/blog/print.php?id=169420
       http://mblog.manager.co.th/NELUMBO/tag/พระราชนิพนธ์
       http://www.vcharkarn.com/vcafe/136375/3
       http://lifestyle.campus-star.com/scoop/37299.html
       www.dbook2.com
       http://th.wikipedia.org


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชวนอ่าน หนังสือพระราชนิพนธ์ของพ่อ

view