จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ทรงมีพระราชประสงค์ให้นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวายวางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ แล้วพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ พอพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวล จึงพบว่ามันเทศที่วางบนตาชั่ง มีใบงอกออกมา จึงทรงรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หา พื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ”
นั่นคือคำบรรยายถึงที่มาแห่งโครงการในพระราชดำริที่มีชื่อว่า “โครงการชั่งหัวมัน” ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณหมู่บ้านหนองคอกไก่ หมู่ที่ 5 ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
ชื่อ “ชั่งหัวมัน” โดยความหมายนั้น คือ “การชั่งน้ำหนักมันเทศ” ตามปฐมเหตุที่รองเลขาธิการพระราชวัง “ดิสธร วัชโรทัย” เล่าไว้ในข้างต้น ก่อนจะสาธยายต่อไปถึงแก่นแท้หัวใจอันเป็นที่มาแห่งโครงการพระราชดำริอีกหนึ่งโครงการนี้ที่คนไทยทุกคนต่างทราบกันเป็นอย่างดี
“เหตุผลจริงๆ คือ ขนาดว่า หัวมันที่วางอยู่บนตาชั่งซึ่งเป็นเหล็ก ยังงอกขึ้นได้ บนผืนดินที่แห้งแล้ง มันก็ต้องขึ้นได้ ดังนั้น นี่ก็จึงเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พระองค์ท่านมาซื้อที่ดินที่นี่ ที่หมู่บ้านหนองคอกไก่ ซึ่งแห้งแล้งมากๆ ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก ผืนดินที่นี่ยังมีแต่ต้นยูคาลิปตัส จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ แต่ก็อย่างที่เราทุกคนคงทราบนั่นล่ะครับว่า อะไรที่ยากลำบาก พระองค์ท่านทรงโปรด พระองค์ท่านจะทำให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่าทำได้ เพื่อจะได้เป็นแม่บท และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านที่นี่
“เมื่อก่อนนั้น ที่ดินแถวนี้ดินไม่ดี พระองค์ท่านทรงเลือกซื้อที่ดินที่ไม่ดี ที่ดินดีทรงไม่โปรด เพราะพระองค์ท่านทรงอยากแก้เรื่องที่ดิน จึงเจาะจงซื้อที่ดินที่มีต้นยูคาลิปตัส เพราะจะได้แก้ปัญหาเรื่องดิน”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอกไก่ ประมาณ 120 ไร่ เมื่อปลายปี พ.ศ.2551 ต่อมากลางปี พ.ศ.2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่ เพื่อดำเนิน “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ” และในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เสด็จพระราชดำเนินเปิดป้ายโครงการด้วยพระองค์เอง และหลังจากที่ทรงขับรถยนต์ทอดพระเนตรภายในโครงการ ก็ทรงมีพระราชดำริให้รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่ “โครงการชั่งหัวมัน” แห่งนี้ เพื่อพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมให้ “พืชเศรษฐกิจ” ของไทยไม่สูญหายไป
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเคยรับสั่งว่า ที่ดินซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อในราคาสี่หมื่นห้าพันบาทในตอนนั้น พระองค์ท่านทรงซื้อไว้นานแล้ว แต่ปิดเป็นความลับไว้ กระทั่งวันโอนที่ดิน กรมที่ดินทูลถามว่าจะทรงใช้ชื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่ พระองค์ท่านทรงให้ใช้ชื่อนี้เลย แล้วก็ทรงขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรทำไร่ ถือโฉนดทะเบียนบ้านเลขที่ ๑
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2552 ความว่า
“…คนที่ไปดูก็เห็นได้ว่า เริ่มต้นด้วยไม่มีอะไรเลย แต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนที่อยู่ในท้องที่นั้นก็เข้าใจว่าต้องช่วยเหลือกัน และยิ่งในสมัยนี้ ในระยะนี้ เราต้องร่วมมือกันทำ เพราะถ้าไม่มีการร่วมมือกัน ก็ไม่ก้าวหน้า ไม่มีความก้าวหน้า ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้เป็นสิ่งที่ดีมาก หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี
“ก้าวหน้าได้อย่างไร ก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำ แล้วก็ทำให้ก้าวหน้า แต่อันนั้นมันไม่ใช่กลุ่มหนึ่ง ทั้งหมดทำร่วมกัน และก็มีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศชาติจะมีความสำเร็จ…”
โครงการดังกล่าวนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วยกันปรับปรุงพัฒนา เช่น การทำถนนทางเข้าโครงการ ขุดสระเก็บน้ำ ทำถนนล้อมรอบโครงการ ก่อสร้างอาคารที่ทำการเรือนรับรอง ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ขุดเจาะบ่อบาดาล ทำให้พื้นที่โครงการและหมู่บ้านใกล้เคียงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว
และเหนืออื่นใด จากสภาพเดิมโดยทั่วไปที่แห้งแล้งกันดาร เนื่องจากเจ้าของเดิมปลูกต้นยูคาลิปตัสเป็นส่วนใหญ่ มีแปลงปลูกมะนาวอยู่ประมาณ 35 ไร่ แปลงอ้อยประมาณ 30 ไร่ ดังนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยน “แปลง” ที่ปลูกยูคาลิปตัสทั้งหมด ให้เป็นแปลงพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งพืชผักสวนครัว นาข้าว ไม้ผล สับปะรด มะพร้าวหอม ข้าวโพด ยางพารา ฯลฯ
ขณะเดียวกัน พระองค์ท่านทรงให้ทำแผนที่ที่ดิน ดูลักษณะที่ดินตรงจุดต่างๆ เพื่อมีพระราชวินิจฉัยว่าควรปลูกอะไร เนื่องจากโครงการนี้เป็นที่ดินส่วนพระองค์ จึงเลือกปลูกพืชผลตามที่พระองค์ทรงต้องการให้ปลูก บางครั้งพระองค์ท่านเสวยมะขามหวาน ก็จะทรงเก็บเม็ดให้นำมาเพาะ เหมือนเป็นสถานที่ทดลองส่วนพระองค์
เป้าหมายหลักของโครงการชั่งหัวมัน คือต้องการให้เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยเลือกพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ดีที่สุดเข้ามาปลูก แล้วให้ภาครัฐและชาวบ้านร่วมดูแลด้วยกัน พร้อมกับแลกเปลี่ยนแนวคิด ในส่วนของชาวบ้านนั้นเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มาทำไร่ให้พ่อด้วยใจ ไม่ได้ค่าจ้าง อย่างเช่น กลุ่มปลูกหน่อไม้ฝรั่งก็มาทำไร่หน่อไม้ฝรั่ง กลุ่มผู้ปลูกมะนาวก็ช่วยกันดูแลสวนมะนาว และมะนาวก็ถือว่าเป็นพืชซึ่งทำรายได้เป็นที่หนึ่งในบรรดาพืชผักผลไม้ทุกชนิด
ในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังจากเริ่มโครงการ ผืนแผ่นดินที่เคยแห้งแล้งกรอบเกรียม ก็เขียวขจีไปทั้งผืน และอีกไม่กี่ปีต่อมา ผืนดินดังกล่าวก็กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกชั้นยอดขึ้นชื่ออันดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม ทั้งชาวบ้านบริเวณนี้และเกษตรกรชาวไทยจากทั่วทุกภูมิภาคที่เดินทางมาศึกษา เพื่อนำไปดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ในผืนดินของตนเอง
ที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่เมื่อมีประชาชนเข้ามาเยี่ยมชมอยู่ตลอด ก็จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งประจำจังหวัดเพชรบุรีไปโดยปริยาย และนั่นก็นับเป็นเรื่องดี ในแง่ของการส่งเสริมชาวบ้านซึ่งมาทำงานที่นี่ ได้มีรายได้ที่คงที่ อีกทั้งไม่ต้องจากบ้านไปทำงานที่ไหนไกล
นอกจากจะเป็นแม่แบบทางด้านการเกษตรแล้ว บนพื้นที่โครงการ “ชั่งหัวมัน” ยังมีการสร้าง “กังหันลมผลิตไฟฟ้า” เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตขนาด 50 กิโลวัตต์ ปัจจุบันมีกังหันทั้งหมด 20 ต้น ปั่นไฟได้ต้นละ 5 กิโลวัตต์ ปั่นไฟเข้าระบบแล้วไปเก็บไว้ในหม้อแปลงไฟฟ้า ก่อนจะขายให้การไฟฟ้า
นอกจากจะเป็นแม่แบบทางด้านการเกษตรแล้ว บนพื้นที่โครงการ “ชั่งหัวมัน” ยังมีการสร้าง “กังหันลมผลิตไฟฟ้า” เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตขนาด 50 กิโลวัตต์ ปัจจุบันมีกังหันทั้งหมด 20 ต้น ปั่นไฟได้ต้นละ 5 กิโลวัตต์ ปั่นไฟเข้าระบบแล้วไปเก็บไว้ในหม้อแปลงไฟฟ้า ก่อนจะขายให้การไฟฟ้า
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน