จากประชาชาติธุรกิจ
สัมภาษณ์
"ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์" นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดใจถึงเคสส่งออกหรือโรงสีกดดันราคาข้าว โดยสะท้อนภาพตลาดส่งออกที่อึมครึมจนส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวล่วงหน้าลดลงอย่างหนัก
- ผู้ส่งออกกดราคารับซื้อข้าวจากโรงสี
เราถูกกล่าวหาว่ากดราคา เพราะแจ้งราคาส่งออก 2-3 เดือนล่วงหน้า ดูจากแนวโน้มตลาดฟิวเจอร์ต้องขายลง ถ้าไม่ขายเท่ากับปล่อยให้เพื่อนบ้านขาย เพราะเรามีสต๊อกต้องบริหารจัดการอีก 8-9 ล้านตัน มีข้าวใหม่ต้องส่งออก 20 ล้านตัน ถ้าไม่เล่นราคาจะทำอย่างไร เราไม่ได้ว่า หากรัฐบาลจะไปช่วยเหลือชาวนาทำไป แต่การขายปล่อยเป็นหน้าที่เราทำ ขายล่วงหน้าไปเราเสี่ยงเอง รัฐบาลไม่ได้ขาดทุน แต่ผู้ส่งออกขาดทุน ถ้าไม่ขายจะรอข้าวปีหน้าออกมาอีก 10 ล้านตัน
คาดการณ์ปริมาณผลผลิตครบวงจร ตกลงกันว่าจะลดการปลูกข้าวให้เหลือ 25-27 ล้านตันข้าวเปลือก แต่เอาเข้าจริง ๆ เดือนตุลาคม-ธันวาคม ออกมา 25 ล้านตันข้าวเปลือก ยังไม่รวมนาปรังจะออกเดือนกรกฎาคม 2560 อีก 6 ล้านตัน ควบคุมอะไรไม่ได้ แล้วจะมาเบลมเรา ซัพพลายออกมาเยอะ ตลาดฟิลิปปินส์ ที่คิดว่าจะซื้อ 2.5 แสนตันก็ไม่ซื้อ อินโดนีเซียอีก 5 แสนตันก็ไม่ซื้อ เพราะปัจจัยภายในของ 2 ประเทศเองทำให้ไม่ซื้อ ไม่เหมือนบางปีมีการนำเข้าด่วน เพราะเงินเฟ้อสูงกลัวกระทบประชาชน
ถ้าโรงสีคิดว่าเราตัดราคามาก ไม่ขายก็ไม่ต้องขาย เพราะปีนี้ข้าวหอมมะลิมากกว่าปกติ เคยมีผลผลิต 7 ล้านตัน ปีนี้สูงถึง 9.5 ล้านตัน และมีสต๊อกปล่อยออกมาอีก 2-3 แสนตัน ตลาดข้าวปีนี้เป็นของผู้ซื้อ (ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองมากกว่า) ปีหน้ายังเป็นของผู้ซื้อ ทางเดียวที่จะทำให้ราคาไม่ลดลง ต้องเอาสต๊อกข้าวเก่า 9 ล้านตันนี้ออกไปให้หมด จึงจะขายข้าวใหม่ในราคาตลาดได้
แต่ขณะนี้เกิด Short Term Solution จำเป็นต้องมีแผนระยะกลางและระยะยาวในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ 20 ปีในการผลิตข้าว เพื่อวางแผนว่าจะปลูกข้าวพันธุ์ไหน ปริมาณเท่าไร ตลาดต้องการอะไร จะทำอย่างไรกับพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูก ปัญหาน้ำไม่พอปลูกทำอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีพูดถูกมาตลอดว่า เราต้องวางแผน ไม่ใช่นำเงินมาแจก ต้องไม่มัวแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว ที่ผ่านมาทำหลายอย่างทั้งนาแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้แข่งขันได้ หรือการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อทดแทนการนำเข้า
- การตัดราคาระหว่างผู้ส่งออกกันเอง
ต้องยอมรับว่าตลาดส่งออกข้าวเป็นตลาดเสรี ทุกคนสามารถกำหนดราคาได้ตามที่ประเมินต้นทุนว่าเป็นเท่าไร หรือตามการเก็งตลาดของแต่ละคน ซึ่งอาจจะคนละราคา เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ต่างกัน ซึ่งประเด็นนี้กรมการค้าต่างประเทศเข้าใจ ทางสมาคมไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลสมาชิกได้ เพราะถ้าจะให้ไปดูแลต้องมีกระบองให้ด้วย
- แนวโน้มราคาส่งออกหลังประกาศมาตรการ
พูดยาก เพราะผลกระทบราคาส่งออกเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ในปีหน้าตลาดแอฟริกาจะมีกำลังซื้อกลับมาหรือไม่ ความต้องการในตลาดข้าวจะไม่เข้มแข็งเหมือนเดิม ประเทศผู้นำเข้าหันมาปลูกข้าวเอง ตอนนี้ข้าวไทยราคาเหลือ 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบกับมะลิเวียดนามตันละ 460 เหรียญสหรัฐ ผู้ซื้อจะเลือกข้าวไทยหรือไม่ แต่เวียดนามข้าวจะเกี่ยวกุมภาพันธ์-มีนาคม 2560 ซึ่งปริมาณคงจะดีเหมือนไทย กัมพูชามีผลผลิตมาก และอินเดียมี 106.5 ล้านตัน สูงกว่าปกติที่ผลิตได้ 100 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีผลผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดราคาถูกจากต่างประเทศ สามารถใช้ทดแทนกันได้
- สถานการณ์ส่งออก 9 เดือน
ขณะนี้ 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) 2559 ส่งออกได้ 9 แสนตันเศษเกือบถึง 1 ล้านตัน คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายส่งออกได้ 2.5 แสนตัน
- ตลาดมาเลเซียเป็นอย่างไร
ตอนนี้มาเลเซียเป็นตลาดเอกชน ไม่ซื้อข้าวจีทูจีแบบแต่ก่อน แม้ว่าเบอร์นาสจะเป็นคนที่นำเข้าข้าวเพียงคนเดียว แต่ลักษณะแบบ P to P (เอกชน-เอกชน) ไทยให้พิจารณาซื้อข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อใช้เป็น Long Term Security เช่น หากมีภาวะวิกฤต การซื้อแบบจีทูจีปริมาณมาก ๆ จะช่วยประกันความผันผวนได้ นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ไปพบกับตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายข้าวที่เบอร์นาสนำเข้าในพื้นที่ต่าง ๆ บอกว่า ถ้าราคาข้าวหอมมะลิไทยขนาดนี้รับได้ เพราะราคาต่างจากเวียดนามน้อยลง
- ตลาดอินโดนีเซียเป็นอย่างไร
ตลาดอินโดนีเซียคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อประมาณ 5 แสนตัน ตอนนี้จะไม่ซื้อจนกว่าจะปีหน้า เพราะปีนี้มีปัจจัยภายในทำให้ไม่สามารถจะซื้อข้าวได้ และผลผลิตอินโดนีเซียปรับตัวดีขึ้น เป็นไปตามนโยบายพึ่งพาตัวเอง เว้นแต่ว่าผลผลิตไม่พอรับประทานอาจจะต้องนำเข้า
- ตลาดจีน
ไทยและจีนตกลงส่งมอบข้าวขาวลอตแรก 1 แสนตันของรัฐบาลประยุทธ์ ให้เสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะคุยลอตต่อไปก่อนจะสรุปและส่งมอบ ดังนั้น จะมีการซื้อของเอกชน โดยเฉพาะผู้ที่เหลือโควตาซื้อข้าวเก่าของปีนี้ยังไม่หมด คงจะนำเข้า ส่วนโควตาปีหน้ายังไม่ประกาศ ที่สำคัญคือมีค่าใช้จ่ายพิเศษในการขอใบอนุญาตนำเข้าสูงถึง 200 เหรียญสหรัฐต่อตัน คิดเป็นต้นทุนของผู้นำเข้า ถ้าต้นทุนสูง อาจทำให้ผู้นำเข้าหันไปซื้อข้าวในประเทศมาขายแทน แต่คิดว่ามีโอกาส เพราะปีนี้ข้าวไทยลงมามากแล้ว
- กลยุทธ์ผลักดันการส่งออก
ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ มาตรฐานข้าวหอมมะลิใหม่จะออก จากเดิมรับรองข้าวหอมมะลิความบริสุทธิ์ 92% ส่งออกภายใต้เครื่องหมาย THAI HOM MALI RICE แต่ฉบับใหม่จะเปิดโอกาสรับรองข้าวหอมมะลิเกรดรอง ความบริสุทธิ์ไม่ถึง 92% เช่น พันธุ์ปทุมธานี พันธุ์คลองหลวง 1 ข้าวหอมจังหวัด ซึ่งเป็นข้าวหอมเหมือนกัน เมล็ดยาว และมีความนุ่ม เพราะมีค่าอะไมโลสไม่เกิน 20 สามารถส่งออกภายใต้เครื่องหมายรับรอง THAI JASMINE RICE เพื่อเปิดกว้างให้สามารถผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของตลาดมะลิเกรดรองลงมา ซึ่งมีสัดส่วน 70-80% จากเดิมเน้นข้าวพรีเมี่ยม มีสัดส่วน 20-30% โดยข้าวหอมกลุ่มนี้ราคา เช่น ปทุมฯส่งออกตันละ 400 เหรียญสหรัฐเศษ จะไปแข่งขันกับข้าวหอมมะลิจากเวียดนาม เป็นต้น
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถผลิตข้าวหอมมะลิราคาถูกมาแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทย ทำให้ยอดส่งออกมะลิเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ตัน เป็น 1.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่ยอดส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยลดลงจาก 2 ล้านตัน เหลือเฉลี่ยเพียง 1.4 ล้านตันต่อปี เช่น ตลาดฮ่องกง ไทยเคยครองส่วนแบ่งตลาด 85-88% พอจำนำข้าวราคาสูง ตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาดลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 42% หลัง คสช.มาราคาลงเหลือ 800-900 เหรียญสหรัฐ ทำให้ดึงส่วนแบ่งตลาดไทยกลับมาได้เป็น 60%
อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเลขปริมาณส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยตอนนี้ช่วง 9 เดือนแรกมกราคม-กันยายน 2559 มีปริมาณ 1.05 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ส่งออกได้ 9.8 แสนตัน เท่ากับมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 7.5%
ทั้งนี้ ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้คาดการณ์ภาพรวมตัวเลขการส่งออกข้าวทุกชนิดของไทยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 9.20 ล้านตัน และคาดการณ์ปี 2560 ว่าจะสามารถส่งออกได้ประมาณ 9.50 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีนี้ประมาณ 3.3%
นายเกรียงศักดิ์เล่าว่า โรงสีในจังหวัดชัยนาทเป็นโรงสีขนาดเล็ก กำลังการผลิต 250 ตันต่อวัน เน้นผลิตข้าวหอมมะลิ ข้าวปทุมธานี ข้าวเหนียว แต่หากไม่มีจะมาผลิตข้าวขาวแทน และส่งขายให้กับผู้ส่งออกที่เป็นลูกค้าประจำ โดยส่วนตัวไม่มีธุรกิจส่งออกข้าวเอง แต่ละปีโรงสีรุ่งทรัพย์พืชผลฯ จะขึ้นไปเปิดจุดรับซื้อข้าวหอมมะลิต้นฤดู ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เช่น จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ซึ่งขึ้นชื่อเป็นข้าวหอมมะลิที่ดีมาก เฉลี่ยซื้อปีละ 15,000-18,000 ตันต่อปี ใช้เวลาซื้อประมาณ 1.5 เดือน
"ปีนี้ผมขึ้นไปสำรวจพื้นที่เปิดจุดซื้อข้าวเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม โดยวางแผนจะเปิดซื้อ 1 พฤศจิกายน แต่พอไปถึงมีเกษตรกรประมาณ 20-30 คนมารอและขอร้องให้ช่วยซื้อข้าวทันทีเลย เพราะไม่มีที่ขาย โรงสีในพื้นที่เพิ่งเปิดรับซื้อยังไม่เต็มที่ ทางผมเห็นใจจึงเปิดซื้อลอตแรก โดยมีเงื่อนไขว่า ขออย่าเป็นข้าวเขียวเกี่ยวสด หรือข้าวจมน้ำ เพราะผมเสี่ยง หากซื้อไม่เต็มพ่วงข้าว ขนกลับมาอบไม่ทันข้าวจะมีปัญหา ได้ซื้อไป 300 ตัน ราคาตันละ 6,700-6,800 บาท เพราะเกี่ยวสด ซึ่งเป็นธรรมดาที่ชาวนาจะขายต้นฤดูเพราะต้องนำเงินไปจ่ายค่าเกี่ยว และเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ที่เหลือจะเก็บเข้ายุ้ง"
นอกจากธุรกิจโรงสีแล้ว ยังทำข้าวถุงตราตัวต่อ เพื่อส่งไปขายในพื้นที่ จ.นราธิวาส ยอดขายเฉลี่ย 2 พ่วงต่อเดือนเท่านั้น
นายเกรียงศักดิ์มองปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำขณะนี้ว่า รัฐบาลควรดูทั้งระบบแล้วร้อยเรียงกันมา หากรัฐบาลมองว่าโรงสีเป็นปัญหา แสดงว่ามองผิดจุด เพราะทั้งระบบเชื่อมโยงกันตั้งแต่ชาวนา พ่อค้าข้าวเปลือก โรงสี ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ต้องดูทั้งระบบ ไล่มาตั้งแต่ราคาส่งออกเดิมควรอยู่ที่ตันละ 700 เหรียญสหรัฐ ทำไมไม่ถึง คนขายจริงที่ถือครองส่วนแบ่งตลาดมีกี่คน แล้วคน 5-10 คน ซึ่งคนเหล่านั้นทำอะไรได้บ้าง อยู่ที่รัฐบาลต้องดูแลให้รอบด้าน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน