จากประชาชาติธุรกิจ
หมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปยังวันที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ได้เขียนบันทึกเรื่องราวเมื่อครั้งมีโอกาสเข้าถวายงานและคอยตามเสด็จฯ ขณะทรงงานตามที่ต่าง ๆ เป็นเรื่องราวที่อธิบายภาพหลายภาพที่เราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้เบื้องหลัง หลาย ๆ โครงการที่เรารู้แต่ชื่อ แต่ไม่เคยรู้ที่มาที่ไป เบื้องหลังภาพและโครงการในพระราชดำริทั้งหลายได้รับการอธิบายจาก ดร.สุเมธ ในครั้งนี้ เป็นความซาบซึ้งใจและปีติ ที่ได้รับรู้ว่ากว่าจะมาเป็นเช่นทุกวันนี้ พระมหากรุณาธิคุณนั้นหาที่สุดมิได้
ดร.สุเมธ บันทึกไว้ว่า...
"วันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล เป็นวันสำคัญของชาติบ้านเมืองและเป็นวันที่ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าจะต้องไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อถวายความจงรักภักดีและชื่นชมยินดีกับผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าในวันนั้น หลังจากพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเสร็จแล้ว ก็เสด็จฯ มายังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อถวายราชสักการะ พวกเราก็มักจะไปยืนเข้าเฝ้าฯ หน้าพระอุโบสถอีกครั้งหนึ่ง
ในปีนี้ หลังจากเสด็จฯ ออกจากพระอุโบสถและเสด็จฯ ไปถวายราชสักการะที่ปราสาทพระเทพบิดร ระหว่างเสด็จฯ ผ่านแถวของพวกเรา ก็ทรงหยุดชะงักนิดหนึ่ง แล้วทรงหันมารับสั่งกับผมว่า "โครงการวัดมงคลเป็นอย่างไรบ้าง ไปดูกันบ้างหรือเปล่า สมัยก่อนนี้พวกเราสนุกกันมากนะ"
แน่นอน พระเจ้าอยู่หัวหยุดรับสั่งด้วยก็สร้างความมหาปีติเกิดขึ้นในหัวใจอย่างเป็นที่สุด แต่ฟังพระราชกระแสถึงเรื่องอดีตเก่า ๆ ก็รู้สึกซึ้งในจิตใจบอกไม่ถูก และหวนตระหวัดไปเห็นภาพเก่า ๆ เมื่อได้มีโอกาสเข้าถวายงานในฐานะเลขาธิการ กปร. ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา เป็นระยะห้วงชีวิตที่มีความสุขและสนุกที่สุดที่เคยมีมา
ในยุคนั้นจะประทับอยู่ในนครหลวง เพียงไม่ถึงครึ่งปี นอกนั้นก็เสด็จประพาสไปในภูมิภาคต่าง ๆ ครบทั้ง 4 ภาคเป็นประจำ พวกเราก็ต้องย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ในต่างจังหวัดชั่วคราว ระยะแรก ๆ ยังไม่มีบ้านพัก กปร. ก็นอนโรงแรมบ้าง ขออาศัยบ้านพักหน่วยราชการบ้าง โดยเฉพาะกรมชลประทาน สมบุกสมบัน ชีวิตมีเรื่องตื่นเต้นอยู่ตลอด เสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนราษฎรและโครงการต่าง ๆ เกือบวันเว้นวัน เสด็จฯ ออกยามบ่าย และเสด็จฯ กลับที่ประทับยามดึกแก่ ๆ ทุกวัน
เสด็จฯแปรพระราชฐานที่หัวหิน ก็เจออากาศร้อน เสด็จฯ ใต้ เจอฝนแน่นอน อีสานร้อนสลับหนาว และภาคเหนือก็หนาวเหน็บ และโดยเฉพาะภาคเหนือถนนหนทางทุรกันดาร นั่ง ฮ.เกือบทุกครั้ง ทุกพระองค์มิได้ทรงปริพระโอษฐ์บ่นอะไรเลยแม้แต่น้อย ผมกลับสังเกตเห็นว่า ทุกพระองค์ทรงมีความสุขยามที่ได้ทรงงานขจัดทุกข์ของประชาชนและแก้ไขปัญหาของแผ่นดิน
ระหว่างเสด็จฯได้ทรงพระเมตตาสอนพวกเราในทุกอย่าง ได้เรียนรู้อย่างมากมายจากพระองค์ท่าน และรู้จักทำงานให้แก่แผ่นดินอย่างแท้จริง บางทีก็นำเสด็จฯ พระองค์หลงทางก็บ่อย ทั้ง ๆ ที่มีแผนที่ มีเครื่องไม้เครื่องมือพอสมควร แต่ดูว่าพระองค์ทรงรู้จักแผ่นดินของพระองค์และคนของพระองค์ทุกกระเบียดนิ้ว
มีครั้งหนึ่งที่ภาคใต้ ทรงเปลี่ยนจุดโดยกะทันหัน สร้างความโกลาหลให้แก่พวกเราเป็นอย่างมาก วันนั้นเสด็จฯ พรุแฆแฆ ย่ำค่ำแล้ว มีรับสั่งว่า จะไปทอดพระเนตรอีกจุดหนึ่ง ต้องเปลี่ยนแผนกันกลางป่ากลางสวน จนมีโอกาสได้พบลุงวาเด็ง ก็วันนั้นเอง สนุกสนานที่สุด
ตอนเมื่อเสด็จฯ กาฬสินธุ์ ขณะลงจาก ฮ.ก็รับสั่งว่า เดี๋ยวจะไปดูที่ลำพะยัง จะไปก่อนก็ไม่ทัน พวกเราซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งนั้น ทั้งช่างชลประทาน ทหารแผนที่ มีทั้งชั้นพิเศษ พันเอก ด็อกเตอร์ รีบวางแผนอย่างรวดเร็ว พอขบวนเคลื่อนก็ยังไม่ประมาทอุ้มชาวบ้านที่เดินอยู่ข้าง ๆ ทาง นุ่งผ้าขาวม้าอยู่
ผืนเดียวเอาขึ้นรถไปด้วย เพราะถามแล้วเขาตอบมาว่า รู้จักที่ที่จะไป ก็นำเสด็จฯ ไปเรื่อย ถามชาวบ้านคนนั้นไป เอาไฟฉายส่องแผนที่ไป ลุยป่าไปเรื่อยจนถนนไม่มี ก็แล่นกระโดกกระดากไปตามท้องลำธารบนหินก้อนโต ๆ เลยได้รับพระราชทานนามว่า "ทางดิสโก้" ขย้อนโขยกไปตลอดทาง สุดท้ายไปเจอคันนายาว ไปไม่รอด ขบวนไปนิ่งสนิทอยู่กลางทุ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯลงจากรถพระที่นั่ง ทรงดุพวกเรามาแต่ไกลว่าจะไปไหน หลงทางตั้งแต่แยกแรกแล้ว ไม่ใช่ ไม่ใช่ ทางนี้อยู่ใกล้นิดเดียว เผอิญเป็นเวลาค่ำคืนจึงไม่เห็นหน้าพวกเรา ซึ่งเคยบานเป็นตะโก้ บัดนี้เหลือที่เขาเรียกว่า "หน้าเหลือสองนิ้ว" เท่านั้น ขาออกมาแทนที่จะนำเสด็จฯ กลับต้องขับรถพวกเราตามเสด็จฯ โดยทรงนำทางตลอด ประเดี๋ยวเดียวก็ถึงดังที่รับสั่ง ก็เป็นเรื่องครื้นเครงสนุกสนานสำหรับพวกเราอีกครั้ง ไม่ทรงกริ้วอะไร
วันนั้นเอง ชาวบ้านเอาข้าวรวงเล็ก ๆ มาถวายให้ทอดพระเนตร รวงหนึ่งมีข้าวแค่ 3-4 เมล็ด เพราะแห้งแล้งมาก ชาวบ้านเอามือขุดดินโรยเมล็ดข้าวลงไป แล้วรอน้ำค้างมาให้ความชื้น ก็เป็นที่มาของพระราชกระแสรับสั่งว่า "เกษตรน้ำค้าง" และน่าปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งว่า บัดนี้ในบริเวณดังกล่าวได้แปรสภาพจากเกษตรน้ำค้าง เป็นเกษตรชลประทานที่อุดมสมบูรณ์ เปลี่ยนสภาพไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ตามเสด็จฯทางเหนือใช้ ฮ.เป็นหลัก ลงจาก ฮ.แล้วบางที่ต้องเดินเป็นระยะไกล ๆ ข้ามเนินเขาลงหุบห้วย ผ่านไปในนาข้าว บางทีฝนตก กว่าจะถึงยอดเนินก็ทรุดตัวลงนั่งหอบแฮก ๆ กันทุกคน แต่พระองค์กลับประทับยืนกางแผนที่ เหลียวจะสั่งงานใครก็ลงไปทรุดนั่งป้อแป้กันหมด เลยรับสั่งว่า "ไม่เห็นจะสู้คนอายุ 60 ได้สักคน" พวกเราก็ถวายยิ้มแหย ๆ แห้ง ๆ ไป ตามระเบียบ ก็ต้องยอมรับว่าสู้พระองค์ไม่ได้เลยจริง ๆ
ภาพที่ประทับใจและจดจำไม่เคยลืมมีอีกภาพหนึ่ง คือ หลังจากที่ทรงพระประชวรในช่วงเวลาหนึ่งนั้น ก็เสด็จฯ ออกครั้งแรก จำได้แม่นยำว่าเป็นที่ชะอำ ที่เป็นสถานที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายในวันนี้ ได้เสด็จฯ ออกทรงงานเป็นครั้งแรกหลังจากว่างเว้นมานาน หลังจากมีพระราชกระแสพระราชทานแนวทางหลัก ๆ แล้ว ได้หยุดขบวนประทับ เบื้องหน้าเป็นหุบเขาเรียกว่าหุบสบู่ เวลานั้นตะวันหลบแล้ว แต่ยังมีแสงเรืองรองอยู่ นกบินกลับรังเป็นฝูง ๆ ทรงฉายภาพวิวรอบ ๆ อากาศร่มลมพัดเย็นสบาย มีพระพิรุณโปรยมาบาง ๆ ชุ่มชื้นแต่ไม่เปียก
วันนั้นทรงมีความสุขมาก รับสั่งขึ้นมาลอย ๆ ว่า ไม่ได้เสด็จฯ ออกมานานแล้ว และเห็นชัดเจนว่าทรงพระเกษมสำราญเหลือเกิน ที่มีโอกาสทำงานให้พสกนิกรของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น จังหวะงานที่ทรงอยู่ก็เริ่มต้นอย่างทรงพลังอีกครั้งหนึ่ง โครงการพระราชดำริโครงการแล้วโครงการเล่า ก็ได้จัดทำขึ้นมาทุกหัวระแหงของแผ่นดิน
ระหว่างที่ถวายงานอยู่คราวจะแปรพระราชฐาน บางครั้งพวกเราติดงาน ไปก่อนไม่ได้ จะไปหลังก็จะถวายงานไม่ทัน ก็จะขอพระราชทานพระเมตตาอาศัยเครื่องบินพระที่นั่งตามเสด็จฯ ไปด้วย ซึ่งจะต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนทุกครั้ง ทรงมีพระเมตตาพระราชทานให้ พวกฝ่ายในวังก็จะรู้ มักจะจัดให้เรานั่งแถวหน้าของส่วนผู้ติดตามขบวน เพราะเกือบทุกครั้งจะมีการสั่งงานบนเครื่องบินพระที่นั่งนั่นเอง
หลายครั้งก็เสด็จฯ มาสั่งงานตรงที่พวกเรานั่งอยู่ จะประทับยืนสั่งงานโดยมีพวกเรานั่งพับเพียบกับพื้นเครื่องบินพระที่นั่ง บางครั้งทรงสั่งงานยาวมากจนเครื่องบินบินถึงปลายทางก็มี มีอยู่ครั้งหนึ่งเสด็จฯ นราธิวาส เครื่องบินลงแตะรันเวย์แล้ว พระองค์ก็ยังคงประทับยืนอยู่อย่างนั้น จะกราบบังคมทูลให้ประทับนั่งเพื่อความปลอดภัยก็ไม่กล้า
บางโครงการ เช่น โครงการยึกยือก็เกิดบนนภาอากาศนั่นเอง วันนั้นเสด็จฯ แปรพระราชฐานในสกลนคร ระหว่างบิน มหาดเล็กมาตามตัวไปเฝ้า เมื่อเข้าเฝ้าฯ พระองค์ประทับเสวย
พระกระยาหารว่างอยู่ ก็รับสั่งเรื่องน้ำก่ำ อยากจะให้ทดลองกั้นลำน้ำก่ำเป็นช่วง ๆ ยามหน้าน้ำจะได้ปิดกันน้ำไว้ให้ราษฎรได้ใช้ ไม่ต้องให้ไหลลงแม่น้ำโขงอย่างเปล่าประโยชน์ ระหว่างรับสั่งก็ทรงหยิบเศษกระดาษมาแผ่นหนึ่ง ทรงวาดเค้าโครง ร่าง ๆ ออกมาเป็นลำน้ำก่ำคดเคี้ยวหยักไปตามสภาพจริงและขีดเส้นกั้นเป็นระยะ ๆ เมื่อทรงวาดเสร็จ พระราชทานพระราชดำริเสร็จ ก็ทอดพระเนตรรูปนั้น ซึ่งมีลักษณะเหมือนตัวหนอนตัวบุ้งอะไรทำนองนั้น เลยรับสั่งว่าเหมือน "ยึกยือ" นะ ก็เลยเป็นชื่อเล่นสำหรับโครงการนั้นไปว่า "โครงการยึกยือ" พวกเราก็เข้าใจว่าเป็นน้ำก่ำ
พอได้ฟังแล้วพวกเราชาวไทยทุกคนควรจะได้ทราบว่าจุดกำเนิดของโครงการนั้น ไม่ใช่เพียงเริ่มจากห้องทรงงาน บนพื้นดิน
ในน้ำเมื่อเสด็จประพาสทางเรือ แม้บนอากาศก็ยังทรงคิดงานที่จะช่วยเหลือประชาชน นั่นคือภาพที่ไม่สามารถจะลืมได้
สำหรับวัดมงคลชัยพัฒนา ที่ทรงรำลึกถึงเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ตามที่เริ่มเรื่องไว้นั้น ก็มีจุดกำเนิดที่สนุกสนานยิ่ง มีรับสั่งให้ไปหาที่และวัดที่มีลักษณะอย่างนั้นๆ มีอายุประมาณนั้น โดยรับสั่งเป็นเรื่องนวนิยาย ว่ามีพระเอกชื่ออะไร ก็สงวนไว้ก่อน ติดตามปู่ไปทำบุญที่พระพุทธบาทในยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ ขากลับได้แวะทำบุญเป็นเงิน ๘๐ ชั่ง บางครั้งก็พระราชทานโจทย์มาอย่างนี้ พวกเราจึงต้องใช้ปัญญารอบด้านขบปัญหาและโจทย์ให้แตก มิฉะนั้นจะถวายงานไม่สำเร็จแน่ มีพระราชกระแสเพียงแค่นี้ก็ต้องขวนขวายให้พบ และก็พบวัดมงคลนี่แหละ ก็รับสั่งว่าใช่
ก่อนจะไปสำรวจก็มีเรื่องประหลาดอีก พวกเราปลอมตัวไป ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า มีหลายคนฝันถึงพระเจ้าอยู่หัว และโบสถ์ที่ยังสร้างค้างอยู่ จะมีผู้สูงศักดิ์มาช่วยให้สำเร็จ วันรุ่งขึ้นพวกเราก็แปลงกายเป็นพ่อเลี้ยงมากว้านหาซื้อที่ เจรจาไม่ค่อยจะสำเร็จ ชาวบ้านกลัวเป็นนายทุนมาหลอก ก็บอกเขาว่า ซื้อแล้วไม่เอาไปไหนหรอก พัฒนาแล้วก็เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านเอง ใครจะเชื่อ นายทุนอย่างนี้มีด้วยหรือ ?
ความมาแตกเอาตอนที่เจรจาซื้อที่ของลุงสมจิต เผอิญมีปฏิทินแขวนอยู่ข้างฝาบ้านเป็นรูปพระเจ้าอยู่หัว กำลังเสด็จฯ อยู่แห่งหนึ่ง มีพวกเราทั้งฝูงตามเสด็จฯ อยู่ ลุงสมจิตเหลือบไปเห็นปฏิทินแล้วมองหน้าพวกเรา เจอะหน้าแต่ละคนเหมือนบนปฏิทินยังกับแกะ ความลับเลยแตก พ่อเลี้ยงตัวปลอมเลยต้องสารภาพเปิดเผยตัว การซื้อที่ดินก็เลยสะดวกโยธิน พอชาวบ้านรู้ ป้าบุญเรืองก็ถวายเพิ่มอีกหลายแปลง เป็นพระบารมีโดยแท้
ต่อจากนั้น ก็ลงมือพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ยึดหลักชาวบ้าน วัด ราชการ (โรงเรียนด้วย) ให้ประสาน 3 ส่วนด้วยกัน โดยมีพระเป็นศูนย์กลาง มาทำบุญ แล้วก็มาเรียนรู้การเกษตรหลังวัดได้ทำแหล่งน้ำ ปลูกข้าว ปลูกไม้ไร่ ไม้สวน ครบถ้วน พอวันเสด็จฯ มา ทรงพอพระทัยมาก ระหว่างเสด็จฯ พระราชดำเนินเลาะริมสระน้ำอยู่ ก็รับสั่งว่า "รูปแบบการพัฒนานี้เป็นรูปแบบที่ดี มีหกอย่างในแปลง ชาวบ้านเขามีกิน มีใช้ มีอยู่ ฝนทิ้งช่วงก็มีน้ำในสระคอยพยุงไว้ เป็นทฤษฎีใหม่นะ" ณ วันนั้น เวลานั้น ชื่อโครงการทฤษฎีใหม่ ซึ่งแพร่ขยายไปทั่วประเทศ ก็อุบัติขึ้น
จะเห็นว่า โครงการแต่ละโครงการมีเบื้องหลังที่น่าจดจำสร้างความตื่นเต้นสนุกสนาน เพลิดเพลินยิ่งนัก จนลืมความเหน็ดความเหนื่อยไปหมด ดังที่ได้ทรงปรารภขึ้นมาเมื่อเย็นวันที่ 5 พฤษภาคม 2548 วันฉัตรมงคล วันที่มีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับพวกเราชาวไทย
วันนี้ พวกเราต้องพูดตรง ๆ ว่า พวกเราเหงามาก ไม่ค่อยได้มีโอกาสตามเสด็จฯ โดยมีพระองค์เสด็จฯ นำหน้าเราเหมือนในอดีต วันที่รับสั่งจึงรู้สึกสะท้อนใจมาก "ประโยชน์สุข" ที่ทรงสร้างให้แก่แผ่นดินนั้นยิ่งใหญ่ ยากจะอรรถาธิบายเรียบเรียงมาครบถ้วนให้ได้รับทราบ ทั้งในความรู้สึกในส่วนลึกของหัวใจ จะมีแดดแผดเผา จะมีฝนตกไม่ลืมหูลืมตา จะย่ำโคลนน้ำท่วม จะไต่เขาสักกี่ลูก เพื่อพสกนิกรชาวไทย ได้ทรงทำมาหมดตลอดเวลา ทำให้แผ่นดินนี้มั่นคง มั่งคั่ง พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข พวกเราคงต้องรักษาทะนุถนอมสมบัติชาติของเราไว้ ช่วยแบ่งเบาพระราชภาระที่ทรงแบกหนักอึ้งมาตลอดเวลายาวนาน โดยยึดหลัก "รู้รัก สามัคคี" สละประโยชน์ส่วนน้อยของเรา เพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ใหญ่กว่า แผ่นดินนี้จะได้ตกถึงลูกหลานเหลนตลอดไป
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน