จากประชาชาติธุรกิจ
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหาร "ร้อยโท" และเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 กองพันที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ วันที่ 11 พฤษภาคม 2489 เป็นต้นมา
จนกระทั่งมีพระยศเป็น "จอมทัพไทย" ทรงสนพระราชหฤทัยและให้ความสำคัญในกิจการทหารเสมอมา เป็นที่ประจักษ์ดั่งพระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ในโอกาสต่าง ๆ
3 พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใส่พระทัยในการพระราชทานยศให้แก่นายทหารชั้นนายพลทุกชั้นยศ โดยผู้ที่ได้รับพระราชทานยศดังจะได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานประดับยศ โดยทรงใช้พระคทาแตะที่อินทรธนูขวาและซ้าย เพื่อเป็นเกียรติประวัติและเป็นสิริมงคล โดยให้ถือว่าเป็นนายทหารชั้นนายพลโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ดีในปี 2550 ได้เปลี่ยนแปลง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารชั้นนายพลที่ได้รับพระราชทานประดับยศเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเท่านั้น
นอกจากพิธีประดับยศนายทหารชั้นนายพล อันเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริในการพระราชทานยศจอมพล โดยจะทรงพระราชทานคทาจอมพล อันมีลักษณะเป็นรูปครุฑพ่าห์ ด้านล่างของด้ามคทาประดิษฐ์เป็นรูปทรงมัณฑ์ (ทรงกลม) 3 ยอด ประดับด้วยแก้วผลึกสีเขียวสลับแดง ที่ด้ามมีจารึกพระนามจอมพลพร้อมด้วยวันที่ได้รับพระราชทาน รวมถึงพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา หรือพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล เป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดินมาแต่โบราณ โดยมักเรียกสั้น ๆ ว่า ถือน้ำ คือ ผู้ที่เข้าร่วมในพิธีจะต้องดื่มน้ำล้างอาวุธของพระราชาเพื่อแสดงว่าจะจงรัก ภักดีต่อพระราชาของตน หากผู้ใดมิได้รักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้กล่าวไว้ในพิธี ก็อาจต้องเป็นไปด้วยคมอาวุธ หอก ดาบอันใช้จุ่มในน้ำที่ตนได้ดื่มพระราชพิธีนี้ยกเลิกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง การปกครอง ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นอีก แต่ผู้ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระราชพิธีครั้งนี้เฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิก เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเท่านั้น เรียกพระราชพิธีนี้ ว่า พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
เกียรติยศมาพร้อมกับความรับผิดชอบ
ขณะเดียวกันทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของทหารในโอกาสต่างๆ เช่น ในพิธีประดับยศและพระราชทานสัญญาบัตรยศ แก่นายทหารชั้นนายพล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 17 มิถุนายน 2526 "การที่ได้เลื่อนยศนี้ก็เป็นเกียรติประวัติของแต่ละคน เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และเป็นเวลาเดียวกันก็มีอีกอย่างหนึ่ง คือ ความรับผิดชอบที่มากขึ้นเพราะว่ามียศสูงขึ้นไปก็ต้องมีความรับผิดชอบมากตาม เท่านั้น ฉะนั้นก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย ข้อสำคัญผู้มียศสูงขึ้นไปจะต้องเป็นเหมือนสัญลักษณ์ หรือ ธงไชยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชายิ่ง ๆ ขึ้น ทำให้เป็นกำลังใจหรือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ใต้บังคับบัญชา สำหรับทหารของแบบนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะทหารย่อมต้องมีเกียรติ ย่อมต้องมีความรับผิดชอบ และย่อมจะต้องเป็นผู้ที่นำส่วนรวมไปในทางที่ดี"
พระบรมราโชวาท พระราชทาน แก่ผู้สำเร็จหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและสถาบันการศึกษาสามเหล่า ทัพ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร 15 ตุลาคม 2526 "...การปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ด้วยความรู้ความสามารถระดับนี้ ย่อมมีประสิทธิภาพสูงมาก อาจบันดาลผลเลิศได้ในทุกกรณี ท่านทั้งหลายควรอย่างยิ่งที่จะตั้งตัวตั้งใจให้เที่ยงตรงเหนียวแน่นอยู่ใน ความสุจริต บริสุทธิ์ใจ ในการที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานของแต่ละคน และทุกคนโดยเต็มความสามารถ และโดยความถูกต้อง เป็นธรรม เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ คือ ความเจริญวัฒนาและความก้าวหน้าผาสุกให้บังเกิดแก่ประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะเท่ากับเป็นการปกป้อง และธำรงรักษาความมั่นคงของชาติและราชอาณาจักรไว้อย่างดีที่สุด..."
"การป้องกันรักษาความมั่นคงของประเทศในปัจจุบันนี้ มีปัญหาต่าง ๆ ที่ละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวพันซับซ้อนอยู่มาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะอาศัยความสามารถ และความรอบรู้อย่างสูง พร้อมทั้งความร่วมมือประสานกันอย่างมีเอกภาพ ของหน่วยราชการทุกหน่วย ท่านทั้งหลายต่างเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยงานราชการทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือน ทั้งได้ผ่านหลักสูตรการศึกษาอบรมพิเศษจากสถาบันการรักษาความมั่นคงระดับสูง ของชาติมาแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเจนจัดทั้งในหลักวิชาและการปฏิบัติ งานร่วมกัน จึงความอย่างยิ่งที่จะตั้งตัวตั้งใจให้เที่ยงตรงหนักแน่น ในอันที่จะปฏิบัติบริหารงานของแต่ละคนให้สอดคล้องส่งเสริมกัน โดยเต็มกำลังความรู้ความสามารถ ให้งานส่วนรวมของชาติดำเนินพร้อมกันไปสู่เป้าหมาย คือ ความมั่นคงให้ประชาชนอุ่นใจ และมั่นใจได้ว่า แผ่นดินไทยนั้นเป็นถิ่นอันประเสริฐสุดที่ทุกคนจะอยู่อาศัยร่วมกันด้วยความ ผาสุกร่มเย็นตลอดไป..."พระบรมราโชวาท พระราชทาน ณ หอประชุมอเนกประสงค์ วังไกลกังวล 6 มกราคม 2549
ทรงเตือนสติ "ไม่หวั่นไหวด้วยการยุแยงปลุกปั่นทั้งปวง"
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้สำเร็จการ ศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนแผนที่ กรมแผนที่ทหาร และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเข้ารับพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตร เป็นประจำทุกปี
พระบรมราโชวาทด้านความมั่นคง เช่น ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือและนักเรียนนายเรืออากาศ ณ บริเวณสนามในศาลาว่าการกลาโหม 24 กุมภาพันธ์ 2520 ตอนหนึ่ง ว่า
"การปฏิบัติหน้าที่ของทหารในยาม บ้านเมืองถูกคุกคามประทุษร้ายดังทุกวันนี้ ย่อมมีอันตรายมาถึงหลายด้าน นอกจากอันตรายโดยตรงจากการปฏิบัติการยุทธ์แล้ว ยังมีอันตรายในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การแทรกแซง แทรกซึม ยุแหย่ ยุยั่ว ป้อยอ ล่อหลอกนานาประการ ซึ่งถ้าไม่ระมัดระวังให้ถี่ถ้วนรอบคอบแล้ว จะเป็นอันตรายพ่ายแพ้ได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้น เพื่อปฏิบัติตนปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย จะต้องฝึกหัดคิดพิจารณาสถานการณ์ทุกอย่างด้วยความละเอียดรอบคอบด้วยเหตุผล และหลักวิชา ทำความเห็นความเข้าใจในกรณีต่าง ๆ ให้กระจ่างแจ่มแจ้งและถูกต้อง
ยิ่งกว่านั้นจะต้องทำความคิดและจิตใจให้มั่นคงหนักแน่น มีความขยันหมั่นเพียร ทั้งอดทนต่ออุปสรรคและอคติทุกอย่าง ไม่หวั่นไหวด้วยการยุแยงปลุกปั่นทั้งปวง สำคัญที่สุดจะต้องยึดมั่นในอิสรภาพ ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศบ้านเมือง เป็นจุดหมายอันสูงสุด"
สามัคคี-ซื่อสัตย์ พาชาติพ้นภัย
ในสมัยก่อนการสวนสนามของทหารรักษาพระองค์กระทำตามคำสั่งของกองทัพบกเป็นครั้ง คราว จนในโอกาสวันสถาปนากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในปี 2496 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้กองทัพภาคที่ 1 จัดงานราชวัลลภขึ้น และจัดให้มีการสวนสนามของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่พระลานพระราชวังดุสิต ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานและได้จัดให้มีการสวนสนามในต้นเดือนธันวาคมเป็นประจำ ทุกปี
พร้อมพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเหล่า ทหารหาญ ดั่งพระบรมราโชวาท ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 2 ธันวาคม 2550 ตอนหนึ่ง ว่า "สถานการณ์บ้านเมืองเราในทุกวันนี้ เป็นที่ทราบแก่ใจของเราทุกคนที่สุดแล้วว่า ไม่น่าไว้วางใจ พูดได้ ว่า หากคนไทยขาดความสำนึกในชาติ ขาดความสามัคคี
ก็อาจประสบเคราะห์กรรมกันทั้งชาติ จึงขอให้ทหารทุกคนและชาวไทยทุกคน ทุกหมู่ ทุกเหล่า ได้พิจารณาตัดสินใจว่า ประเทศชาติของเรานั้น สำคัญที่เราควรจะรักษาไว้ให้ยั่งยืนต่อไปหรือไม่ ถ้าเห็นว่าสำคัญ มั่นใจ ก็ขอให้สังวร ระวังกายใจ ให้ตั้งมั่นอยู่ในความสัตย์สุจริต พยายามลดอคติและสร้างเสริมความเมตตา สามัคคีในกันและกัน ไม่ว่าจะทำการสิ่งใดให้ยึดเอาความมั่นคงปลอดภัยของชาติเป็นที่หมายสูงสุด"
ชาติบ้านเมืองคือชีวิตต้องไม่ย่อหย่อนต่อหน้าที่
พระบรมราโชวาท ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก 8 มิถุนายน 2514 "ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวงที่ประกอบขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปกติพร้อมกันอย่างไร ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้ เพราะสถาบันต่าง ๆ ตั้งมั่น และปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยพร้อมมูลอย่างนั้น ท่านทั้งหลายควรจักได้ทราบตระหนักว่า ชาติบ้านเมือง คือ ชีวิต เลือดเนื้อและสมบัติของเราทุกคน และดำรงรักษาประเทศชาตินั้น มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุก ๆ ฝ่าย ทุก ๆ คน ที่จักต้องร่วมมือกระทำพร้อมกันไป โดยสอดคล้องกัน เกื้อกูลกันและมีจุดมุ่งหมายมีอุดมคติอันร่วมกัน ถ้าหมู่หนึ่งหมู่ใดทำหน้าที่ย่อหย่อน เป็นอันตรายไป ก็อาจทำให้ทั้งชาติแตกสลายทำลายไปได้"
เลือกอาวุธสมกับฐานะและสภาพบ้านเมือง
ด้านการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยและให้ความสำคัญเป็นอย่างมากดังพระราชดำรัสขณะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรอาวุธยุทโธปกรณ์ภายในกองทัพและพระราชดำริขณะเสด็จฯ ทรงเจิมยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ
"...ควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการ และเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ลึกซึ้งและกว้างขวางแล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ ดี มีประสิทธิภาพแน่นอน มาปรับปรุงใช้พอสมกับฐานะ และสภาพของบ้านเมืองของเรา..."
"เรือรบขนาดใหญ่ราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสม และสร้างได้เอง เมื่อสร้างเรือ ต.๙๑ แล้ว ควรขยายให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่ม" พระราชดำรัสขณะทรงทดสอบและตรวจสอบสมรรถนะเรือ "ต.๙๑"
"กองทัพจะต้องมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมีขีดความสามารถจึงจะสามารถป้องกันประเทศได้ เมื่อกองทัพมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว ทหารจะต้องมีความสามารถที่จะใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ตาม เป้าหมายของภารกิจด้วย จึงจะถือได้ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านั้นเป็นประโยชน์จริง"
ติดศัสตราวุธทางปัญญา-ประชาชนอยู่ดีกินดี
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ 29 เมษายน 2536 "ทหารนั้นมิใช่จะมีหน้าที่ใช้ศัสตราวุธทำสงครามประการเดียว หากยังต้องปฏิบัติภารกิจด้านกิจการพลเรือน คือ ใช้ความรู้ ความคิด จิตวิทยาและความเฉลียวฉลาด ซึ่งอาจรวมเรียกได้ว่า อาวุธทางปัญญาเข้าปฏิบัติพัฒนาท้องถิ่นให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความปลอดภัย มีขวัญ ความมั่นคงให้แก่ตนเองและส่วนรวม..."
พระราชทานแนวทางให้ ทหารเข้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยมีพระราชดำรัส ว่า "ทุกข์ของประชาชน คือ ทุกข์ของแผ่นดิน ถ้าทหารเห็นประชาชนมีทุกข์ยาก ทหารก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือแก้ไข"
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน