จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เปิดแหล่งรวมเหรียญและพระผงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทั้งออนไลน์ เว็บไซต์ เพจและจาก แหล่งเช่าพระในย่านดัง ๆ ด้านเซียนจากวงการพระเครื่อง แจงเหรียญในหลวงซึ่งเป็นที่นิยมของนักสะสม เพราะต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างเพื่อนำรายได้ไปใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณชน แม้บางรุ่นไม่ได้พุทธาภิเษก แต่ก็เป็นเหรียญที่แฝงด้วยนัยยะ เผยเคล็ดลับในการดูเหรียญในหลวงแท้หรือเทียม เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของนักฉวยโอกาสปล่อยของปลอมออกมาในช่วงที่ประชาชนต้องการ ระบุ เหรียญทรงผนวช มีปลอมอื้อและเหรียญชาวเขาตามมาติด ๆ
จากการลงพื้นที่ของ Special scoop ในแหล่งจำหน่ายเหรียญที่ระลึก ทั้งตลาดพระเครื่องแหล่งใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร เช่น ห้างสรรพสินค้าพันธ์ุทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน ตลาดพระท่าพระจันทร์ และร้านค้าแถวธนาคารชาติ ไปจนถึงในแผงลอยเล็กๆ ซึ่งกระจายตามที่ต่างๆ เช่น ตลาดค้าส่งสำเพ็ง ประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจเดินทางมาเสาะแสวงหาเหรียญที่ระลึกของในหลวงรัชกาลที่๙ กันอย่างหนาแน่น
โดยจากการบอกเล่าของร้านค้าบริเวณนั้นต่างบอกว่าส่วนใหญ่มีความต้องการเหรียญกษาปณ์ และเหรียญที่ระลึกในโอกาสพิเศษของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งปัจจุบันไม่มีให้เช่าทั่วไป ทั้งจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง หรือวัดต่างๆ ที่จัดสร้าง จึงต้องหาแลกจากแหล่งซื้อขายต่าง ๆ โดยมีการบวกราคาไปสูงกว่ามูลค่าแลกเดิมค่อนข้างมาก เช่นเหรียญกษาปณ์ พระบิดาแห่งฝนหลวง ครบ 50 ปี ฝนหลวงพระราชทาน 14 พฤศจิกายน 2548 ราคาหน้าเหรียญ 20 บาท จำหน่ายที่ราคา 400 บาทขึ้นไป ไปจนถึงการประมูลราคาในเว็บไซต์ และเว็บเพจต่างๆ โดยการแลกเปลี่ยน และซื้อขายออนไลน์
ทั้งนี้การแลกเปลี่ยน และซื้อขายออนไลน์ นอกจากจะไม่ได้เห็นเหรียญว่าเป็นของแท้หรือไม่แล้ว ยังต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งหลายเพจใช้วิธีการให้ผู้ขายแสดงบัตรประชาชนและหน้าสมุดบัญชีธนาคารเพื่อความโปร่งใส และรับรองตัวตนให้ชัดเจน ก่อนประกาศแลกเปลี่ยนซื้อขาย ซึ่งเป็นวิธีที่เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ซื้อในระดับหนึ่ง
นักสะสมนิยมเหรียญ-พระผง ‘พ่อหลวง’
ด้าน นายสุรวิช พ้นภัย หรือเจ้าของเพจ “ราชาเซียน by ปิง นับแบงค์” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการนักสะสมเหรียญในหลวง กล่าวว่า เหรียญในหลวงที่วงการนักสะสมนิยมกันมากมีทั้งเหรียญและพระผง
เหรียญพิธีพระบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2493
“บางรุ่นสร้างเป็นจำนวนมากถึงหลักล้านเหรียญ สำหรับเหรียญแรก คือ “เหรียญพิธีพระบรมราชาภิเษก” ซึ่งเริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 มาจนถึงปัจจุบัน และ “เหรียญอุทยานราชภักดิ์” เนื้อทองคำ เงิน ทองแดง ฝาบาตร นับว่าเป็นรุ่นสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงอนุญาตให้จัดสร้างขึ้น ”
ขณะที่พระกริ่ง 7 รอบ ปี พ.ศ. 2489 ถือว่าเป็นพระเครื่ององค์แรก และพระเครื่องรุ่นเดียวของในหลวง ที่จัดสร้างขึ้นในช่วงที่ทรงผนวช ด้านหลังมีเลข ๗ ไทย สร้างจากมวลสารต่างๆ เช่น พระพุทธรูปชำรุดโบราณ และแผ่นทองคำจารทั้งหมด 84 แผ่น นำมาหลอม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเททอง ทั้งนี้สร้างขึ้นจำนวน 500 องค์ โดยวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อนำรายได้ไปบูรณะในด้านต่างๆ ของวัด ด้วยความนิยมเหรียญนี้ ทำให้ราคาเช่าจากหลักสิบ ขยับขึ้นมาเป็นไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านบาทในปัจจุบัน
มีการแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ “เหรียญที่ระลึก” และ “เหรียญเงินตรา” ที่เราใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งเหรียญประเภทนี้ยังพอมี ตามที่กรมธนารักษ์เปิดให้แลก เพื่อให้ประชาชนเก็บไว้เป็นที่ระลึก โดยส่วนใหญ่เป็นเหรียญตกค้างจากที่มีการผลิตจำนวนมาก และจำหน่ายไม่หมด จึงยังมีการเก็บรักษาไว้ วันนี้จะเห็นได้ว่ามีคนมาต่อคิวซื้อเหรียญที่ระลึกของกรมธนารักษ์เป็นจำนวนมหาศาล
เหรียญทรงผนวช พ.ศ. 2508
“เหรียญที่ระลึก”พุทธาภิเษกที่หายาก
ขณะเดียวกัน “เหรียญที่ระลึก” มีการแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เหรียญพุทธาภิเษกที่มีการปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์ และ “เหรียญที่ระลึก” ที่ไม่ได้พุทธาภิเษก แต่จัดสร้างไว้เพื่อแจกเป็นที่ระลึก
“เหรียญทรงผนวช” พ.ศ. 2508 นับว่าเป็นเหรียญที่ระลึกพุทธาภิเษก ที่วงการนักสะสมนิยมและคนทั่วไปตามหากันมาก โดยมีการจัดสร้างอยู่ 2 รุ่น คือ รุ่นที่ในหลวงทรงผนวชในปี พ.ศ.2499 ซึ่งเหรียญสร้างขึ้นหลังจากผนวชแล้ว โดยวัดบวรฯ เป็นผู้จัดสร้างออกมาในรุ่นแรก มีจำนวนการสร้างไม่มาก และไม่มีการบันทึกจำนวนที่ชัดเจนเอาไว้ การจัดสร้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปบูรณะวัด
ปัจจุบันเหรียญในหลวงทรงผนวชรุ่นแรก ถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูงมาก ทั้งจากความต้องการสะสมไว้เป็นที่ระลึก และเหตุเพราะจำนวนเหรียญที่มีการสร้างไม่มาก จึงส่งผลทำให้เหรียญทรงผนวชรุ่นแรก เนื้อทองแดงนั้นมีมูลค่าสูงอย่างยิ่ง มีราคากว่าแสนบาท ส่วนเนื้ออื่นๆ มีราคา 2 ถึง 3 แสนบาทต่อเหรียญ และกระทั่งปัจจุบันราคาก็ยังขยับขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการปรับราคาลงมา
ต่อมาในปี 2550 ความทราบถึงในหลวงว่าเหรียญทรงผนวชมีมูลค่าสูงมาก จึงเป็นที่มาของการจัดสร้างเหรียญทรงผนวช 2 ที่ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สร้างขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความศรัทธาของประชาชน และมีราคาไม่แพงมาก
นอกจากนั้นยังมีแบบเนื้อผง ทรงผนวช ที่ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้วัดต่างๆ จัดสร้างขึ้นในวาระที่แตกต่างกันออกไป แต่ยังไม่เป็นที่นิยมเท่ากับเหรียญทรงผนวชของวัดบวรฯ เนื่องจากเป็นวัดที่ทรงผนวชทำให้ได้รับความนิยมสูงเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม เหรียญทรงผนวชทั้ง 2 รุ่นมีการทำของปลอมออกมาเช่นกัน ทุกวันนี้หากไปตรวจสอบในแหล่งเช่าพระต่างๆ จะพบว่ามีการปลอมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ที่ต้องการเสาะหา จึงควรหาเช่าจากบุคคลที่เชื่อถือได้เท่านั้น โดยนักสะสมในวงการจะเล่นบล็อกนิยมหรือพิมพ์นิยม จึงต้องศึกษาจากผู้รู้อย่างละเอียด เพราะนอกจากของปลอมแล้วยังมีบล็อกที่ทำเลียนแบบขึ้นมาอีกด้วย
“เหรียญสนทนาธรรม” สมเด็จพระญาณสังวรกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ จัดสร้างขึ้นมาเป็นเหรียญทองคำ 5 เหรียญ เงิน 87 เหรียญ และทองแดง 20,000 เหรียญ เพื่อแฝงไว้ว่าเวลาท่านทรงปฏิบัติงานนั้น มีธรรมะคู่กับการปฏิบัติงานของท่านเสมอ
เหรียญสนทนาธรรมสมเด็จพระญาณสังวรกับในหลวงรัชกาลที่ ๙
“เหรียญที่ระลึก”หายากที่ไม่ได้พุทธาภิเษก
ส่วน “เหรียญที่ระลึก” ที่ไม่ได้พุทธาภิเษก แต่จัดสร้างขึ้นมาเพื่อแจกให้เป็นที่ระลึกนั้น “เหรียญพิธีพระบรมราชาภิเษก” ถือเป็นเหรียญแรกที่ในหลวงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2493 โดยจัดสร้างในต่างประเทศ และมีการจัดสร้างออกมาหลายแบบ โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙
“เหรียญทรงแซกโซโฟน” ซึ่งในหลวงทรงรับสั่งให้จัดสร้างขึ้น เพื่อแจกเป็นที่ระลึกกับนักดนตรี ที่เข้าร่วมเล่นดนตรีกับท่าน ซึ่งถือว่าเป็นเหรียญที่มีจำนวนการสร้างน้อยที่สุด คือ ประมาณ 300 เหรียญ ทำให้เหรียญนี้หาได้ยากมากในปัจจุบัน
“เหรียญพระมหาชนก” เป็นเหรียญที่เน้นทางด้านความเพียร มีที่มาจากวรรณกรรมที่ท่านทรงพระราชนิพนธ์
ซึ่งแม้ว่าเหรียญเหล่านี้จะไม่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษก แต่ทุกเหรียญล้วนแล้วแต่มีคุณค่าทางจิตใจ รวมทั้งทุกเหรียญมีนัยยะแฝงจากพระองค์ท่าน เช่น เหรียญชาวเขา ที่ด้านหลังเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย เหมือนเป็นความนัยว่า ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด ท่านจะเดินทางไปเยี่ยมราษฏรทุกพื้นที่
พระสมเด็จจิตรลดา ปี 2509
‘พระผงสมเด็จจิตรลดา’ หายากที่สุด
“พระสมเด็จจิตรลดา ปี 2509” เป็นพระผงที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อนักสะสมเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินถึงเรื่องราวประวัติการสร้างที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมอบมวลสาร ทั้ง เส้นพระเจ้า พระทนต์ เพื่อนำมาสร้างพระรุ่นนี้ รวมถึงทรงเป็นผู้ที่กดพิมพ์ด้วยพระองค์เอง
พระรุ่นนี้ยังมีนัยสำคัญคือให้ทุกคนทำความดีที่ไม่ต้องให้ใครเห็น โดยให้ข้าราชบริพาร ข้าราชการหรือบุคคลสำคัญ ที่ได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดานั้น นำแผ่นทองคำเปลวมาติดไว้ด้านหลังองค์พระ และสักวันทองจะล้นมาด้านหน้า
พระสมเด็จจิตรลดามีจำนวนการสร้างไม่มาก ปัจจุบันจึงถือว่าหาได้ยากและมีมูลค่าสูงมาก เพราะเป็นการยากมากที่คนทั่วไปจะมีในครอบครอง เพราะต้องได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์เท่านั้น
ในระยะหลัง มีการจัดสร้างพระสมเด็จจิตรลดา 2 และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้หน่วยงานต่างๆ จัดสร้าง พระสมเด็จจิตรลดารุ่นต่อๆ มา เพื่อนำรายได้ไปสร้างประโยชน์แก่สาธารณชน
นอกจากนี้ พระผงรุ่นอื่นๆ ที่จัดสร้างขึ้นในยุคหลังๆ ของวัดบวรฯ ยังมีมวลสารที่ในหลวงท่านพระราชทานไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้ใช้เป็นประโยชน์ เช่น พระสมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราช, พระพุทธ 25 ศตวรรษของพุทธมณฑล พ.ศ. 2500 โดยส่วนใหญ่ที่เราเห็นเหรียญ หรือพระผงมีอักษร ภปร. ด้านหลัง จะเป็นพระที่ทรงมอบมวลสารให้วัดหรือองค์กรต่างๆ ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำมาใช้ประโยชน์
“ เหรียญชาวเขา” ที่พระราชทานไว้เพื่อแทนบัตรประชาชน
ทุกเหรียญของพระองค์ท่านล้วนเป็นมงคลชีวิต
สิ่งที่ในหลวงท่านทรงให้พสกนิกรคนไทยในการสร้างเหรียญนั้น แบ่งวัตถุประสงค์การสร้างเหรียญ เป็น 2 ลักษณะ คือ “เหรียญพระราชทาน” และ “เหรียญจัดสร้างขึ้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์”
กรณีเหรียญพระราชทาน คือที่พระราชทานให้กับราษฎรโดยไม่คิดมูลค่า เช่น “เหรียญชาวเขา” ที่พระราชทานไว้เพื่อแทนบัตรประชาชน ในสมัยนั้น คือช่วงปี พ.ศ. 2511-2512 ทรงทราบว่ามีชาวเขาและกะเหรี่ยงจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีบัตรประชาชน เปรียบเหมือนเป็นคนไทยที่ตกหล่นไป เวลาเดินทางไปไหนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าตรวจค้นตลอดเวลา และไม่มีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลใดๆ ทั้งสิ้น
ในหลวงท่านทรงคิดว่า ทำอย่างไรให้ช่วยราษฎรกลุ่มนี้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากสมัยก่อนการทำบัตรประชาชนไม่ได้ทำง่ายๆ จึงรับสั่งให้ข้าราชบริพารจัดสร้างเหรียญเพื่อแจกเป็นตัวแทนของในหลวงให้แขวนไว้แสดงตัว โดยด้านหลังมีอักษรตัวย่อระบุจังหวัดไว้ เช่น ชม. ชร. นน. คือ เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน
ปัจจุบันเหรียญชาวเขา ถือว่าเป็นเหรียญที่หายากที่สุด เพราะชาวเขาหวงแหนเหรียญนี้มาก โดยบางคนได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ของท่านเลยทีเดียว ซึ่งมีจำนวนการสร้างประมาณหลักแสนเหรียญขึ้นไป แต่ปัจจุบันเหรียญชาวเขาสูญหายไปเกือบหมด ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่จะเป็นของปลอม
ขณะเดียวกัน “เหรียญจัดสร้างขึ้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์” แก่ส่วนรวมและสาธารณะ เช่น “เหรียญทองคำ” สร้างเป็นที่ระลึกครบรอบ 60 ปี มีการจัดสร้างเหรียญออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เพื่อการสร้างโรงพยาบาล การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และการขอพระบรมราชานุญาตเพื่อนำเงินไปสร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ซึ่งจะได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระองค์ท่านเพราะเป็นประโยชน์
เจ้าของเพจ “ราชาเซียน by ปิง นับแบงค์” บอกว่า หากจะพูดถึงพระเครื่องของในหลวงนั้น มีจำนวนเป็นร้อยรุ่น แบ่งเป็นรุ่นที่นักสะสม กับรุ่นที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาได้ แต่ไม่ว่ารุ่นไหนที่ทรงอนุญาต ล้วนแต่มีความสำคัญทั้งนั้น เพราะการพกเหรียญในหลวง เปรียบเสมือนที่ระลึกทางจิตใจที่พระองค์ท่านอยู่กับเรา มูลค่าจึงไม่ใช่ประเด็นหลัก
“ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์”
ดังนั้นนักสะสมบางคนจึงไม่สนใจมูลค่าเลยว่าจะมีราคาเป็นหลักแสนหรือหลักล้าน แต่สิ่งสำคัญที่สำนึกไว้เสมอคือ เหรียญนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ของคนไทย
ขณะที่เหรียญทั่วไปที่นักสะสมนิยม หรือแม้กระทั่งเหรียญสตางค์ เหรียญบาทที่ทุกคนใช้นั้น ก็ถือเป็นเหรียญที่ทรงคุณค่า อยากให้ทุกคนหันมามองเหรียญในหลวงในอีกนัยหนึ่งว่าการมีเหรียญ หรือวัตถุมงคลที่ทรงสร้างไว้ ก็ต้องระลึกถึงคำสอนของพระองค์ท่านทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ด้านความขยันหมั่นเพียร การระลึกลักษณะนี้จะได้ประโยชน์สูงสุด และตรงตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน
ปัจจุบันเหรียญของในหลวงหรือพระเครื่องของในหลวง ไม่ว่าจะเป็นเหรียญหรือพระผงรุ่นไหนก็ตาม ต้องศึกษาเป็นอย่างดี เพราะของปลอมของเทียมมีค่อนข้างมาก รวมทั้งมีวิธีการลอกเลียนแบบที่แนบเนียน
วิธีการศึกษาหรือการดูว่าเป็นของจริงหรือของปลอมนั้น จะมีหนังสือคู่มือไว้ใช้เป็นการอ้างอิง ซึ่งตามความเห็นนั้นไม่จำเป็นต้องค้นหาพระรุ่นที่หายากมาบูชา เพราะสิ่งสำคัญที่สุดนั้น คือ การศึกษาเพื่อเรียนรู้ว่า ทรงสร้างพระไว้ โดยพระที่ทรงสร้างสื่อความหมายไว้อย่างไร ประวัติศาสตร์ เรื่องราวของในหลวง และพระราชดำรัสที่ทรงกล่าวนั้น มีความสำคัญมากกว่าการมุ่งหวังจะเสาะหาเหรียญหายากมาให้ได้ อยากให้ยึดตามที่พระองค์ตรัสเรื่องความพอเพียง
เคล็ดลับดู ‘เหรียญ-พระผง’แท้หรือเทียม
ทั้งนี้วิธีการศึกษาหาข้อมูลของวงการนักสะสมนั้น โดยทั่วไปมีทั้งการพูดคุยกันในวงการนักสะสม รวมถึงการสืบค้นจากหนังสือมหามงคลแห่งแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นเล่มมาตรฐานที่นักสะสมใช้สำหรับศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพิธี และประวัติการสร้างของเหรียญในหลวง และพระสังฆราช ถือว่าเป็นหนังสือที่ให้ความรู้มาก เพราะพิมพ์ขึ้นมาโดยคนในวงการพระเครื่องและคนที่จัดสร้างเหรียญในยุคนั้น
หากคนที่ต้องการจะมีเหรียญในหลวงเก็บไว้เพื่อสิริมงคลแก่ชีวิตนั้น การศึกษาถึงประวัติการสร้าง กระบวนการผลิตของเหรียญ หรือพระเครื่องรุ่นต่าง ๆ ที่เป็นการสร้างโดยวัดและหน่วยงานราชการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าแต่ละเหรียญแต่ละรุ่นมีที่มาที่ไปอย่างไร
ซึ่งนอกจากศึกษาในคู่มือต่างๆ ที่มีการเขียนบันทึกไว้แล้ว วิธีการของนักสะสมรุ่นเก่า ๆ บางครั้งต้องศึกษาจากสถานการณ์จริงด้วย เช่น พระกริ่ง 7 รอบ มีหลายเนื้อ ทั้งแดง, เหลือง และมีจำนวนการสร้างเพียง 500 องค์ ซึ่งเราคงไม่ได้เห็นโดยทั่วไปแน่ เนื่องจากจำนวนการสร้างน้อย จึงทำให้มีของเทียม ของปลอมจำนวนมากในปัจจุบัน และต้องระวัง เนื่องจากทำได้ค่อนข้างดีมาก
ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาให้รอบคอบ ดูให้เป็น ตั้งแต่เนื้อโลหะ วิธีการหล่อ กระบวนการสร้าง นำมาเปรียบเทียบเพราะว่าของเทียมสร้างได้ใกล้เคียง แต่เพราะอายุที่มีการจัดสร้างมานานถึง 60 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับของเทียมความเป็นธรรมชาติจะแตกต่างกัน
อีกจุดสังเกตของพระหล่อ คือลักษณะการหล่อแบบโบราณจะทำให้ไม่เหมือนกัน 100% ต้องดูจากเนื้อโลหะและกระบวนการสร้างเป็นหลัก
การดูเหรียญเทียม เช่น เหรียญสนทนาธรรม ซึ่งมีรูปสมเด็จพระญาณสังวร กับในหลวงท่านทรงสนทนาธรรมกันอยู่ ออกโดยวัดบวรฯ และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่าย แต่มอบไว้ให้กับข้าราชการตำรวจเพื่อเป็นที่ระลึกให้อยู่ในความชอบธรรม เหรียญนี้จึงหาได้ค่อนข้างยากมาก เนื้อเงินมีจำนวนการสร้างเพียง 87 เหรียญ (เท่ากับพระชนมายุของสมเด็จพระญาณสังวร) ส่วนเนื้อทองคำมีจำนวนการสร้างเพียง 5 เหรียญ เหรียญทองแดง 20,000 เหรียญ ด้วยความที่ไม่เพียงพอนั้น จึงทำให้มีการจัดสร้างของเทียม เนื้อเงินและเนื้อทองแดงออกมาวางขายกันจำนวนมาก
วิธีการดูนั้น รุ่นแรก เป็นยุคที่จัดสร้างจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จัดสร้างโดยโรงกษาปณ์ และโรงงานเป็นหลัก การดูที่ผิวเหรียญ ต้องมีความคมชัด ตึง บางรุ่นด้านหลังมีโค้ดซึ่งตอกด้วยมือ สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการดู เพราะหากเป็นพระของเทียมนั้น จะเน้นการถอดพิมพ์เป็นหลัก โดยการนำเหรียญแท้ไปถอดพิมพ์ จึงไม่ดูเป็นธรรมชาติ เพราะบล็อกแท้และบล็อกเทียมมีความแตกต่างกัน
จุดสำคัญที่เป็นเทคนิคของนักสะสมจะดูขอบข้างเหรียญด้วยว่า มีเส้นตัด เพราะในสมัยนั้นเวลาปั๊มเหรียญจะมีปีกออกมา ทำให้ต้องตัดขอบข้าง ให้เหรียญเป็นรูปกลม ดังนั้นรอยตัดด้านข้างจึงเป็นอีกจุดสังเกตที่สำคัญ
กรณีเหรียญทรงผนวช เนื้อโลหะมีการสร้างเหรียญปลอมออกมาจำนวนมาก คนที่ไม่ศึกษาอย่างจริงจังไปเช่ามาบูชา เพราะคิดว่าเป็นของแท้ ซึ่งในความเป็นจริง สามารถตีเป็นของปลอมได้ถึงร้อยละ 90 ขึ้นไป
โดยนักสะสมจะใช้วิธีการวิเคราะห์ถึงกระบวนการสร้าง จำนวนการสร้าง ประวัติ ว่ามีการสร้างเนื้ออะไรบ้าง แม้จะไม่รู้จำนวนการสร้าง แต่ทราบว่าสร้างในปี พ.ศ. 2508 เพราะกรณีมีการสูญหายของการจดบันทึก
อีกทั้งนักสะสมจะไถ่ถามและสืบประวัติ เพราะเมื่อมีการกำหนดจัดสร้าง จะมีการระบุถึงเนื้อเอาไว้ เช่น เนื้อทองคำ เนื้อเงิน ทองแดง เนื้ออัลปาก้า เป็นต้น ซึ่งจากข้อสังเกตเหล่านี้ จะทำให้นักสะสมสามารถแยกพิมพ์ออกมาได้
ต่อจากเรื่องเนื้อ จะต้องมาพิจารณาถึงความคมชัด ซึ่งพระเหรียญในปัจจุบัน ใช้วิธีการปลอมด้วยการนำเหรียญจริงมาสแกนด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้เหรียญปลอมมีความชัดประมาณ 98%
สำหรับจุดตายที่นักสะสมใช้เป็นเทคนิค คือ การสังเกตขอบข้าง บางครั้งผิวเหรียญแม้จะมีความต่าง แต่ถ้าพิจารณาผ่านๆ จะมีความใกล้เคียงกันมากจนแยกแทบไม่ออก จึงต้องอาศัยกล้องเอาไว้ส่องจุดตาย เช่น เส้นแตก เป็นต้น
แหล่งจำหน่ายเหรียญที่ยังคงมีให้สะสม
นายสุรวิช พ้นภัย บอกอีกว่า แหล่งที่ประชาชนสามารถไปหาซื้อเหรียญเก็บไว้เป็นที่ระลึกในปัจจุบัน เช่น ที่สมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย ห้างพันธ์ุทิพย์ฯ สาขางามวงศ์วาน เพราะที่นั่นจะเป็นศูนย์รวมของวงการพระเครื่อง ซึ่งจะมีวงการสะสมเหรียญในหลวงมาอยู่คู่กันด้วย
“ตามที่รับรู้และรับทราบมา ผู้รู้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการ และบางท่านอยู่ในพิธีการจัดสร้างด้วย ซึ่งจะทำให้ได้ความรู้อย่างมากหากมาที่นี่”
และควรไปศึกษาจากตำราศึกษาประวัติการสร้างเสียก่อน และถ้าต้องการแบบเจาะลึก จะต้องไปหาบุคคลที่สะสมเหรียญในหลวงโดยตรง ยิ่งถ้าเป็นเหรียญที่นิยมในวงการ จะต้องเช่ากับบุคคลที่เชื่อถือได้และศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงเท่านั้น
สำหรับคนที่อยากหามาบูชาและเก็บไว้เป็นที่ระลึก ปัจจุบันเหรียญที่มีราคาไม่สูง คือเหรียญของกรมธนารักษ์ ซึ่งมั่นใจได้ที่สุดว่าเป็นของแท้
เหรียญอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมนั้น ความเป็นไปได้ที่จะได้มาครอบครอง ถือว่าน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เพราะเหรียญจัดสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ภายใน 1 ปีก็จำหน่ายหมด และบางส่วนสูญหาย ทำให้ปัจจุบันเป็นของหายาก และเป็นที่มาของเหรียญทำเทียมต่างๆ เพื่อสนองความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อในหลวง
แม้บางเหรียญจะไม่มีมูลค่าในตอนจัดสร้าง เช่น เหรียญชาวเขาที่พระราชทานให้ชาวเขาและกะเหรี่ยง แต่ปัจจุบันมีราคาประมาณ 4,000 ถึง 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวัด บางแห่งมีการจัดสร้างเพียงหลักร้อยเหรียญเท่านั้น เช่น จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งหายาก เพราะมีจำนวนการสร้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทหมายเลขสวย 9999 จะหาได้ยากที่สุด ทำให้ทะลุหลักหมื่นทีเดียว
เจ้าของเพจ “ราชาเซียน by ปิง นับแบงค์” ย้ำว่าหากเราไปเช่าเหรียญในหลวงที่มีการปลอมแปลงขึ้นนั้น จึงเหมือนเป็นการสนับสนุนคนที่จัดทำของเทียมออกมาเพื่อการค้า ผิดจากวัตถุประสงค์ที่อนุญาตให้จัดสร้างเพื่อนำรายได้ไปใช้ประโยชน์ การที่คนผลิตของปลอมขึ้นมา และนำเงินเข้ากระเป๋าส่วนบุคคลนั้น ถือว่าเป็นความละโมภ จึงอยากให้พิจารณาให้ดี และไม่ควรส่งเสริมกลุ่มคนเหล่านี้
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน