สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จันทน์หอม ไม้มงคลป่ากุยบุรี สู่พระราชพิธีพระบรมศพ

จากประชาชาติธุรกิจ

ตั้งแต่สมัยโบราณยุคพุทธกาล ในงานพระราชพิธีนั้น ใช้ "จตุชาติสุคนธ์" หรือของหอมจากธรรมชาติ 4 อย่าง ได้แก่ กลิ่นของกฤษณา กระลำพัก จันทน์หอม และดอกไม้หอม ประพรมในพระราชพิธี



ไม้จันทน์หอมนั้นจัดเป็นไม้มงคลชั้นสูงในงานพระราชพิธีมาเนิ่นนาน เป็นไม้ที่ทางราชสำนักใช้เป็นเชื้อเพลิง (ฟืน) ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์ชั้นสูง ในงานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ไม้จันทน์หอมจะได้ทำหน้าที่ของการเป็นไม้ชั้นสูงในการรับใช้พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนทั้งแผ่นดินเป็นครั้งสุดท้ายโดยการแปรรูปจากต้นไม้ใหญ่สูงเด่นกลางป่าไปเป็นพระโกศแกะลวดลายวิจิตรบรรจง รวมทั้งแปรไปเป็นดอกไม้จันทน์ และท่อนฟืนเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ไม้จันทน์หอมที่จะใช้ในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น สำนักพระราชวังได้ตระเตรียมจัดหาไม้จันทน์หอมที่เหมาะสมไว้แล้ว โดยได้เลือกไม้จันทน์หอมยืนต้นตาย 4 ต้นในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งที่พบไม้จันทน์หอมมากที่สุดในประเทศไทย



เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกอบพิธีบวงสรวงขอขมาเทพเทวาอารักษ์ เพื่อขออนุญาตในการตัดไม้จันทน์หอม ตามฤกษ์ที่โหรหลวงได้กำหนดช่วงเวลาระหว่าง 14.09-14.39 น. โดยมีนายวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ เป็นประธานในพิธี และนายฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์เป็นพราหมณ์นำประกอบพิธีบวงสรวง

หัวหน้าโหรพราหมณ์ฉัตรชัย ปิ่นเงิน ให้ข้อมูลว่า พิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์มีความหมายตามความเชื่อประเพณีโบราณว่าเป็นการบอกกล่าวและการแลกเปลี่ยน



"เวลาจะเข้าบ้านใคร จะไปเอาของใครก็ต้องบอกกล่าว ขอจากเจ้าของบ้าน และมีของไปแลกเปลี่ยน จะตัดต้นไม้ของเขาก็ต้องขอเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านในที่นี้คือรุกขเทวดา เจ้าป่า เทพารักษ์ ที่สถิตอยู่ และการจะทำอะไรต้องดูฤกษ์ ต้องหาวันเวลาดีเพื่อที่จะคุยกับเขา และหาฤกษ์ที่สมพงศ์กับพระองค์ท่านด้วย อธิบายง่าย ๆ ว่าของจะเอาไปให้ใครใช้ก็ต้องเลือกที่เหมาะกับคนที่ใช้"



ในบริเวณพิธีมีการตั้งโต๊ะเครื่องบวงสรวงตรงกลางหันหน้าเข้าหาต้นไม้จันทน์ ซึ่งพราหมณ์อธิบายว่า เครื่องบวงสรวงก็เหมือนการตั้งสำรับกับข้าว มีเครื่องคาว เครื่องหวาน และผลไม้ ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีอะไรบ้าง แต่ต้องมีครบ พิธีบวงสรวงเริ่มด้วยการหลั่งน้ำเทพมนตร์จากพระมหาสังข์และโหรหลวงลงแป้งเจิมที่ต้นไม้จันทน์ มีการลั่นฆ้องชัยบัณเฑาะว์ประกอบ โหรกล่าวคำบวงสรวงบอกกล่าวรุกขเทวดา เรียกว่าการกล่าวโองการบวงสรวง จากนั้นให้ประธานหลั่งน้ำเทพมนตร์ที่ขวานทองและเจิมต้นไม้จันทน์หอมใกล้โต๊ะเครื่องบวงสรวงพร้อมปักธูปเทียนแล้วพรมน้ำเทพมนตร์และใช้ขวานทองฟันที่ต้นไม้จันทน์หอม เป็นปฐมฤกษ์ 3 ครั้ง ประโคม และโปรยข้าวตอกดอกไม้

ท่านพราหมณ์อธิบายขั้นตอนพิธีและความหมายของแต่ละขั้นตอนว่า "พอมาถึงก็เข้าไปที่ต้นไม้จันทน์ หลั่งน้ำ เจิมแป้ง ก็เหมือนการไปสรงน้ำ อาบน้ำ แต่งตัวให้เจ้าของบ้าน แล้วเชิญท่านลงมากินข้าว และกลับลงมากล่าวบวงสรวง ด้วยบทสวดที่เรียกว่า การกล่าวโองการบวงสรวง ขั้นตอนนี้ก็คือการเจรจา พอเจรจาเรียบร้อยแล้วก็ค่อยตัด คือขั้นตอนที่กลับขึ้นไปที่ต้นไม้แล้วเอาขวานฟัน จากนั้นเป็นการโปรยดอกไม้ ความหมายคือการขอขมา เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ใช้อำนาจเข้าไปตัด แต่เราให้เกียรติเจ้าของบ้าน การมีเครื่องบวงสรวงก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่บอกกล่าวโดยไม่ทำอะไร แต่มีของมาแลกเปลี่ยน"

ทั้งนี้ในวันนั้นเป็นการทำพิธีบวงสรวงตามฤกษ์ของโหรหลวงเท่านั้น หลังเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวง กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังไม่ได้ตัดไม้จันทน์ในวันนั้น แต่จะตัดในภายหลัง ขั้นตอนการดำเนินงานต่อจากนี้คือรอให้กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ออกแบบพระโกศไม้จันทน์นำแบบถวายให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงวินิจฉัย เมื่อสรุปแบบแล้วสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสร้างพระโกศจะสรุปว่าต้องแปรรูปไม้ขนาดประมาณเท่าใด จำนวนเท่าใด แล้วเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯจึงตัดและแปรรูปไม้ส่งไปที่สำนักช่างสิบหมู่

นายสมควร อุ่มตระกูล ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ได้กำหนดคร่าว ๆ ให้ทางกรมอุทยานฯส่งไม้ไปให้ที่สำนักช่างสิบหมู่ภายในเดือนธันวาคมนี้ จึงคาดว่าการออกแบบของพระโกศไม้จันทน์น่าจะแล้วเสร็จและมีข้อสรุปในเดือนธันวาคมนี้



พระโกศจันทน์วันถวายพระเพลิง

ตามโบราณราชประเพณีพระโกศทองใหญ่ ซึ่งเป็นลำดับขั้นสูงสุดของโกศ เป็นหนึ่งในเครื่องประกอบราชอิสริยยศของกษัตริย์ ดังที่ใช้กันมาในการพระบรมศพพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ รวมทั้งในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในขณะนี้

แต่นอกจากพระโกศทองใหญ่แล้ว ในพระราชพิธีพระบรมศพยังมีพระโกศที่สำคัญอีกสององค์ที่ถือเป็นเครื่องประกอบราชอิสริยยศเช่นกัน คือ พระโกศจันทน์ และพระโกศพระบรมอัฐิ ซึ่งจะมีบทบาทต่อไปในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ข้อมูลเกี่ยวกับพระโกศอธิบายไว้ว่า พระโกศนั้นมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ชั้นใน มีลักษณะทรงกลมหรือมน พื้นผิวเรียบปิดทอง เรียกว่า พระลองใน ส่วนชั้นนอก เป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม ทำด้วยทอง แกะลวดลายสวยงาม และประดับเครื่องเพชร อัญมณีต่าง ๆ เรียกว่า พระลองทองใหญ่ ซึ่งแบ่งครึ่งเป็น 2 ส่วน เพื่อให้ถอดแยกออกจากกัน และประกบเข้าด้วยกันได้

ตามขั้นตอนพระราชพิธีแล้ว เมื่อถึงงานพระเมรุมาศ หรือการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระโกศและหีบพระบรมศพ จะถูกอัญเชิญไปยังพระเมรุมาศ และจะมีการเปลื้องพระลองทองใหญ่ที่หุ้มพระลองในออก แล้วประกอบพระโกศจันทน์ไปห่อหุ้มพระลองในแทน แล้วนำขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน (เชิงตะกอนเผาพระบรมศพ) บนพระเมรุมาศ

ดังที่มีบันทึกกำหนดการพระราชพิธีพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในหนังสือ "งานพระเมรุมาศ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์" ว่า

"เจ้าพนักงานได้เปลื้องพระโกศทองใหญ่แล้ว นายทหารกรมทหารราบที่ 1 (มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จะได้อัญเชิญพระลองพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน ประกอบพระโกศจันทน์..."

เช่นกันกับข้อมูลในหนังสือ "จดหมายเหตุงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7" ที่บันทึกไว้ว่า

"ในงานวันถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ วันอังคารที่ 9 เมษายน 2528 หลังจากเปลื้องพระลองทองใหญ่ออกแล้ว เจ้าพนักงานจะได้นำพระโกศจันทน์เข้าประกอบพระโกศลองใน แล้วเชิญขึ้นไปประดิษฐานบนตะแกรงเหล็กช่วงรัดเอวของพระจิตกาธาน เพื่อถวายพระเพลิง..."

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางสุ ผู้เชี่ยวชาญด้านราชสำนัก อธิบายเหตุผลที่ต้องเปลื้องพระโกศทองใหญ่ แล้วใช้พระโกศจันทน์แทน เนื่องจากว่า พระโกศจะโดนความร้อนจากเปลวเพลิง และหากเป็นพระโกศทองนั้นทองอาจจะหลอมเหลวจนเสียหาย จึงใช้ไม้จันทน์แทน เพราะไม้จันทน์นั้นถึงแม้จะโดนความร้อนจะเปลวไฟก็พอทนความร้อน ได้ไม่ถึงขั้นไหม้เสียหาย

ในหนังสือ "จดหมายเหตุงานพระบรมศพฯ" ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระโกศจันทน์ในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีไว้ว่า พระโกศจันทน์มีลักษณะเป็นโกศแปดเหลี่ยม มียอด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.86 เมตร สูง 1.61 เมตร ประกอบด้วยโครงลวดตาข่ายประดับลาย ฉลุเป็นลายซ้อนไม้ทั้งองค์ องค์

พระโกศจันทน์สามารถถอดแยกได้เป็น 3 ส่วน สำหรับประกบกัน ประกอบขึ้นเป็นองค์พระโกศ ฐานพระโกศจันทน์ประกอบหน้ากระดานบน-ล่าง เส้นลวดบัวคว่ำ-หน้ากระดานล่างประกอบเส้นลวดประดับกระจังตาอ้อย บัวคว่ำประกอบเส้นลวดประดับลายกลีบบัวลายใบเทศ ลวดบัว หน้ากระดานบนเป็นลูกแก้วประดับลายประจำยามก้ามปูลูกโซ่ เชิงพระโกศจันทน์ประดับลายกระจังใบเทศ

องค์พระโกศจันทน์ประดับลายบัวกลีบขนุน ภายในลายบัวกลีบขนุนประดับลายใบเทศสะบัดยอดเปลวเพลิง เหนือลายบัวกลีบขนุนประดับเกสรบัว ขอบองค์พระโกศจันทน์ประดับกระจังตาอ้อยติดห้อยหัวลงเสริมลายเฟื่องอุบะ ขอบฝาพระโกศจันทน์ประกอบหน้ากระดานประดับลายประจำยามลูกโซ่ เหนือขึ้นไปเป็นชั้นกระจังเสริมลายบัวคว่ำประดับดอกไม้ไหว บัวคว่ำประดับลายกลีบบัวลายใบเทศ ยอดฝาพระโกศจันทน์ลูกแก้ว 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เดินเส้นลวดทองไม้เชิงบาตรประดับลายบัวเกสรเส้นลวดทองไม้หน้ากระดานบนประดับลายประจำยาม เหนือหน้ากระดานบนประดับกระจังตาอ้อยและดอกไม้ไหว ชั้นที่ 2 ท้องไม้เชิงบาตรประดับลายเกสรบัว

เส้นลวดท้องไม้หน้ากระดานประดับลายประจำยามก้ามปูลูกโซ่ เหนือหน้ากระดานประดับกระจังตาอ้อยและดอกไม้ไหว ชั้นที่ 3 ทำลวดลายเหมือนชั้นที่ 2 บัวชั้นรองปลียอดเป็นท้องไม้เชิงบาตรประดับลายเกสรบัว เส้นลวดท้องไม้ ปลียอดประดับลายกาบบัวใบเทศ

ส่วนในหนังสือ "จดหมายเหตุงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" ให้ข้อมูลพระโกศจันทน์พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯไว้ว่า สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้เริ่มสร้างพระโกศจันทน์ ณ อาคารจัดสร้างพระโกศจันทน์ ท้องสนามหลวง เมื่อวันอังคารที่ 27 พฤษภาคม 2551 มีผู้ร่วมปฏิบัติงาน 25 คน สร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กันยายน 2551 รวมเวลาสร้างประมาณ 4 เดือน

"พระโกศจันทน์ มีลักษณะเป็นโกศแปดเหลี่ยม มียอด ประดับลายฉลุเป็นลายซ้อนไม้ทั้งองค์ ส่วนประกอบรูปทรงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ฐานพระโกศจันทน์ ส่วนองค์พระโกศจันทน์ และส่วนฝาพระโกศจันทน์ ในแต่ละส่วนจะมีแม่แบบลายที่คล้ายคลึงกัน เช่น ส่วนฐานพระโกศจันทน์มีแม่แบบลายเป็นลายหน้ากระดานลายบัวคว่ำ ลายท้องไม้ ลายกระจัง ลายดอกไม้ไหว

ส่วนองค์พระโกศจันทน์มีแม่แบบลายกลีบบัว เช่น กลีบบัวขนุน จัดประกอบเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ สลับกลีบกัน และมีลายเฟื่อง อุบะติดห้อยประดับที่ขอบปากบนขององค์พระโกศจันทน์ ส่วนฝาพระโกศจันทน์มีแม่แบบลายเป็นลายหน้ากระดาน ลายบัวคว่ำหรือบัวถลา ลายท้องไม้ ลายกระจัง และลายดอกไม้ไหว ขนาดความสูงของพระโกศจันทน์ถึงปลายยอด 162.50 เซนติเมตร ความกว้างส่วนหน้ากระดานฐานล่างมีความกว้าง 2 ขนาด คือ จากเส้นหน้ากระดานถึงเส้นหน้ากระดาน 76 เซนติเมตร และจากเส้นเหลี่ยมฐานถึงเส้นเหลี่ยมฐาน 82 เซนติเมตร

ลวดลายของพระโกศจันทน์ แบ่งลักษณะลวดลายเป็น 35 แบบ แต่ละแบบนับแยกเป็นชิ้น ๆ โดยเริ่มนับลายชั้นแรกตั้งแต่ฐานชั้นล่างเป็นชั้นที่ 1 ขึ้นไปสู่ส่วนปลายยอดเป็นลายสุดท้ายชั้นที่ 35 ลักษณะลวดลายแต่ละชั้นเป็นลายฉลุโปร่ง และคัดแยกรายละเอียดของลวดลายภายในที่เรียกว่าไส้ลาย เขียนถอดลายแบ่งเป็นชิ้น ๆ เพื่อเป็นแบบในการโกรกฉลุไม้จันทน์ แล้วจึงนำไปประกอบเป็นลายซ้อนไม้ในขั้นตอนต่อไป"

สำหรับพระโกศไม้จันทน์ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขณะนี้กรมศิลปากรกำลังออกแบบและจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป ทั้งนี้คาดว่าพระโกศจันทน์งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 จะมีรูปแบบไม่แตกต่างจากพระโกศจันทน์ของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีพระองค์ก่อน ๆ เนื่องจากพระโกศจันทน์มีแบบและแม่แบบลายดั้งเดิมที่ยึดถือสืบต่อกันมาตามโบราณราชประเพณี


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จันทน์หอม ไม้มงคล ป่ากุยบุรี พระราชพิธีพระบรมศพ

view