สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธรรมเนียมพระบรมศพ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

มีโอกาสแทรกตัวเข้าไปฟังเสวนา "ธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย สมัยรัตนโกสินทร์" ที่มติชนอคาเดมี เมื่อไม่กี่วันผ่านมา โดยมีนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ สาเหตุที่ต้องใช้คำว่าแทรกตัวฟังเพราะผู้คนต่างมาฟังกันอย่างคับคั่ง

จนทำให้หอประชุมขนาดใหญ่แคบลงไปถนัดตา

เหตุผลเพราะพวกเขาต่างอยากมาฟัง"อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ" เล่าถึงเรื่องประวัติศาสตร์ราชประเพณีโบราณเกี่ยวกับธรรมเนียมพระบรมศพของบรรพกษัตริย์ในอดีตผ่านมา

ขณะเดียวกันพวกเขาอยากรู้ว่าขั้นตอนการเตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีอย่างไรบ้าง? และในฐานะพสกนิกรของพระองค์จะมีส่วนร่วมกับงานพระราชพิธีนี้อย่างไรบ้าง ?

"อาจารย์ธงทอง" ค่อย ๆ เล่าให้ฟังว่าธรรมเนียมที่ให้ราษฎรเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพของกษัตริย์เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 คือพระบรมศพของพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เพราะพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของปวงชนชาวสยาม รัชกาลที่ 6 ทรงเข้าใจเรื่องนี้ดี จึงเปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าถวายสักการะ

แต่กระนั้น ก็เปิดให้ราษฎรเข้ากราบสักการะพระบรมศพเพียงเดือนละ 2 ครั้งเท่านั้น คือในวันที่ 1 และวันที่ 15 ส่วนสถานที่ก็ใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเช่นเดียวกัน

แต่สำหรับพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกลับตรงกันข้าม จะเห็นว่าหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคต ทางสำนักพระราชวังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสรงน้ำพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ศาลาสหไทยสมาคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของราชวงศ์จักรี

ทั้งยังถือเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตั้งแต่ตีห้าจนถึงสามทุ่มของทุกวันที่สำคัญ ยังถือเป็นครั้งแรกที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงบริษัท ห้างร้าน และประชาชนทั่วไปร่วมเป็นเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรมพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย

นอกจากนั้น "อาจารย์ธงทอง" ยังบอกอีกว่าในส่วนของพระโกศทองใหญ่ที่เห็นประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เคยเป็นพระโกศทองใหญ่สำหรับทรงพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 มาก่อน และตลอดราชวงศ์จักรีมีการทรงสร้างพระโกศทองใหญ่ 3 องค์ด้วยกัน คือ สมัยรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9

โดยในส่วนของพระโกศทองใหญ่องค์ที่ 3 เคยนำมาใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นพระองค์แรก

แต่ไม่ได้นำมาใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพราะทรงใช้พระโกศทองใหญ่สำหรับทรงพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 แทน

ที่สำคัญ "อาจารย์ธงทอง" ยังบอกอีกว่าสมัยก่อนหากกษัตริย์พระองค์ใดเสด็จสวรรคต ราษฎรชาย-หญิงทุกคนในสยามประเทศจะต้องโกนหัวไว้ทุกข์ ยกเว้นเฉพาะผู้คนที่อยู่ตามหัวเมืองชายแดนเท่านั้น

ซึ่งราชประเพณีโบราณเช่นนี้เพิ่งจะมายกเลิกในสมัยรัชกาลที่5 นี่เอง

ส่วนพระเมรุมาศที่ถูกราชประเพณีโบราณมากที่สุด "อาจารย์ธงทอง" บอกว่าคือพระเมรุมาศที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นพระเมรุที่มีความสูง 80 เมตร มีตัวพระเมรุ 2 ชั้น ต่างไปอยู่ภายในพระเมรุชั้นนอกที่ทำเป็นพระเมรุยอดปรางค์ หรือยอดรูปดอกข้าวโพด

ส่วนใหญ่เป็นไปตามแบบแผน อาจมีแตกต่างกันไปในรายละเอียดเรื่องการออกแบบตามฝีมือช่าง

สำหรับพระเมรุมาศพระบรมศพรัชกาลที่ 4 ถือเป็นพระเมรุมาศสุดท้ายที่ทำตามแบบราชประเพณีโบราณ เพราะพระเมรุใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมียอดเรือนเพียง 5 ยอด ต่างจากแบบเดิมที่มีเรือนยอด 9 ยอด จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์อันเป็นแบบแผนในฐานะความเป็นเอกแห่งศูนย์กลางจักรวาลที่ถ่ายทอดออกมาเป็นพระเมรุยอดปรางค์9 ยอด ตามแบบอยุธยาได้ยุติลง

นอกจากนั้น "อาจารย์ธงทอง" ยังกล่าวถึงพระโกศไม้จันทน์ที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ในอดีตว่าเป็นศิลปะชั้นสูงของช่างและพระโกศไม้จันทน์จะไม่มีการถวายพระเพลิงไปพร้อมกับพระบรมศพ และทุกวันนี้ถ้าใครอยากชมพระโกศไม้จันทน์ที่เคยทรงใช้ถวายพระเพลิงสมเด็จย่า และสมเด็จพระพี่นางก็ไปดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

อาจมีไฟลามเลียพระโกศไม้จันทน์อยู่บ้าง

แต่กระนั้นก็ยังมีความงดงามทางศิลปะชั้นสูง

เสียดายที่ผมไม่ได้ฟังจนจบไม่เช่นนั้นคงมีเรื่องเล่าอื่น ๆ มาบอกเพิ่มเติม แต่เท่าที่ฟังมา ก็ทำให้ผมประจักษ์ชัดในหลาย ๆ เรื่อง เพราะเรื่องเหล่านี้หาคนเล่าให้ฟังยาก

ถ้าคนคนนั้นไม่รู้จริง

แต่สำหรับ "อาจารย์ธงทอง" แล้ว คงยากที่ใครจะปฏิเสธ เพราะท่านเข้าใจเรื่องธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านายอย่างถ่องแท้อีกด้วย

ดีใจที่ได้มาฟังครับ ?


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธรรมเนียมพระบรมศพ

view