จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โครงการ ในพระราชานุเคราะห์ และโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีมากมายหลายโครงการที่ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อพสกนิกร ทั่วทุกพื้นที่ อาทิ โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ หน่วยบริการด้านความรู้และคำปรึกษาเกี่ยวกับการเกษตรแขนงต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ราษฎรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่ทรงพระราชทานให้แก่ประชาชนในทุกภูมิภาค โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และที่ภาคเหนือ โครงการเกษตรวิชญา ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และที่ภาคใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบซีรา ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และโครงการเพื่อชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็นบ้านสันติ 2 จังหวัดยะลา และที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
โครงการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะตลอดระยะเวลานับแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ และยังทรงยึดมั่นในพระปฏิญญาทรงพระวิริยอุตสาหะ มุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โดยมิได้ทรงย่อท้อแต่ประการใด
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศิจิกายน ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 76/2559 เป็นพิเศษ โดย ได้แจ้งระเบียบวาระต่อสมาชิกเรื่องการดำเนินการตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามที่ได้มีประกาศของพระราชสำนักราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ นร.0503/44549 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2559 เรื่องแจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาท ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์ พ.ศ. 2467 แจ้งว่า บัดนี้ราชบัลลังก์ว่างลงและพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นรัชทายาทไว้แล้ว ครม.จึงขอแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และประธานรัฐสภาเรียกประชุมเพื่อทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สืบไป
โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมฯ
โครงการช่วยเหลือเกษตรกร เกิดขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอพระราชานุญาตจัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่กราบบังคมทูลถวาย และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระราชานุเคราะห์ และทรงพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการ
โครงการดังกล่าวได้ช่วยในการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตทางเกษตรได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ตามความต้องการของเกษตรกร และความเหมาะสมของพื้นที่ รวมไปถึงการ เสริมสร้างความรู้และฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมแก่เกษตรกร ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งเรื่องการให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ และวินิจฉัยและให้บริการโดยการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ
1. คลินิกพืช (กรมวิชาการเกษตร) โรคและแมลงศัตรูพืช วัชพืช สารพิษตกค้าง การขาดธาตุอาหารพืช วัตถุมีพิษทางการเกษตร
2. คลินิกดิน (กรมพัฒนาที่ดิน) วิเคราะห์และตรวจสอบดินและปุ๋ย
3. คลินิกสัตว์ (กรมปศุสัตว์) โรคสัตว์ ควบคุมบำบัดโรคสัตว์ ตรวจรักษาพยาบาลสัตว์ ฉีดวัคซีนสัตว์
4. คลินิกประมง (กรมประมง) โรคสัตว์น้ำ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คุณภาพน้ำ กิจกรรมเสริมสร้าง ความรู้ การฝึกอบรมและจัดนิทรรศการที่เป็นความต้องการของเกษตรกรหรือเป็นเทคโนโลยีที่เกษตรกรควรรู้ ได้แก่
5. คลินิกบัญชี (กรมตรวจบัญชีสหกรณ์) การจัดทำบัญชีฟาร์ม
6. คลินิกชลประทาน (กรมชลประทาน) การบริหารจัดการน้ำ ฯลฯ
7. คลินิกสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) การดำเนินงานด้านสหกรณ์ ระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ
8. คลินิกกฎหมาย (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) การดำเนินงานด้านกฎหมายที่ดิน เป็นต้น
มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อเยาวชนไทย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนิน โครงการทุนการศึกษาขึ้นเมื่อปี 2552 ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจน ยากลำบาก แต่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีตามความสามารถของแต่ละคน เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและศักยภาพแก่เยาวชนไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ ม.ท.ศ. ขึ้น และการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ ภายใต้มูลนิธิฯ คณะกรรมการมูลนิธิฯ และคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน ได้น้อมรับพระราชดำริ ไปกำหนดหลักเกณฑ์การพระราชทานทุนและวิธีการคัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรองนักเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อรับทุนการศึกษาพระราชทานในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถและความต้องการของผู้เรียน
โดยยึดหลักให้มีการกระจายทุนครบในทุกจังหวัด ระยะเริ่มแรก พระราชทานทุนให้จังหวัดละ2 ทุน ในทุกจังหวัด และให้มีความเท่าเทียมระหว่างเพศของผู้รับพระราชทานทุน โดยเป็นทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี ทั้งนี้ ในระยะต่อไป จะพิจารณาขยายจำนวนทุนเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม และให้ครอบคลุมถึงการพระราชทานทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นการเฉพาะกรณีๆ และจากการดำเนินงานตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 - 2558 มีนักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องไปแล้ว จำนวน 7 รุ่น รวม 1,003 คน
พระราชที่ดิน1,350 ไร่ พัฒนาโครงการเกษตรวิชญา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชทานที่ดิน ส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแห หมู่ที่4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการในลักษณะคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เมื่อวันที่3 เมษายน 2549 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้พระราชทานชื่อใหม่ให้โครงการฯ จากชื่อเดิม คือ โครงการพัฒนาพื้นที่สวนบ้านกองแหะ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการเกษตรวิชญา โครงการตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จังหวัดเชียงใหม่
พื้นที่พระราชทานในโครงการฯ มีทั้งสิ้น ประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่หนึ่ง เป็นพื้นที่ส่วนราชการ 139 ไร่ โดยเป็นที่ตั้งของอาคารศูนย์เรียนรู้ฯ อาคารฝึกอบรม และอาคารศูนย์อภิบาลเด็กสายใยรักจากแม่สู่ลูก รวมถึงแปลงสาธิตจุดเรียนรู้การพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจร
ส่วนที่สอง เป็นพื้นที่ทรงงาน 32 ไร่
ส่วนที่สาม เป็นพื้นที่พัฒนาการเกษตร 139 ไร่ โดยขณะนี้มีเกษตรกรใช้ประโยชน์จากที่ดินเดิมจำนวน 60 ราย มีการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ฟื้นฟูปรับปรุงดิน พัฒนาแหล่งน้ำ ส่งเสริมอาชีพ และเป็นศูนย์เรียนรู้
ส่วนที่สี่ เป็นพื้นที่วนเกษตรและธนาคารอาหารชุมชน 123 ไร่ มีการพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม อนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธาร รวมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมพัฒนาพืชสมุนไพร และเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้ชุมชนมีส่วนร่วม
ส่วนที่ห้า เป็นส่วนสุดท้าย คือ พื้นที่ป่าไม้ 918 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมด ที่ได้รวมกับกรมป่าไม้ในการอนุรักษ์ป่าไม้ตามธรรมชาติ และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววนเกษตร ที่จัดให้เป็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
ปัจจุบัน ในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนเป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะชำกล้าไม้โตเร็วจำนวน 50,000 กล้า เพื่อแจกจ่ายให้ราษฎรนำไปปลูกขยายผลใช้ประโยชน์ในชุมชนและครัวเรือนปลูกป่าไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว จำนวน 120 ไร่ เพื่อให้ราษฎร มีพื้นที่ป่าไว้ใช้ประโยชน์เป็นถ่านฟืนหุงต้มอาหาร และดำเนินกิจกรรมส่งเสริมราษฎรผลิตและ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล จำนวน 2 หมู่บ้าน
อีกทั้งการจัดฝึกอบรมหลักสูตร “การผลิตและใช้เชื้อเพลิง อย่างมีประสิทธิภาพ” ทำให้ราษฎรทั้ง 2 หมู่บ้าน ได้เรียนรู้การผลิตและนำเชื้อเพลิงจากวัสดุชีวมวลมาใช้สอยในชีวิตประจำวันและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น มีวัสดุเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ไม้ฟืน ลดปริมาณการใช้ไม้ฟืนจากป่าธรรมชาติราษฎรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ปลูกไม้ฟืน จำนวน 120 ไร่ ส่งผลให้ราษฎรเกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
โครงการเพื่อชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็นบ้านสันติ 2
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสด็จมาทรงงานในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2549 จากบ้านสันติ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา และบ้านสันติ 2 หมู่ที่ 6 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา จำนวน 74 ครอบครัว รวม 134 คน ซึ่งได้อพยพไปอยู่ที่วัดนิโรธสังฆาราม อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ
ในวันที่ 19 มีนาคม 2550 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้โปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพภาคที่ 4, ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมคณะเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางช่วยเหลือราษฎรกลุ่มดังกล่าว
ต่อมาในวันที่ 27 สิงหาคม 2550 ได้โปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพภาคที่ 4 , ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาพร้อมคณะเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อถวายรายงานผลการช่วยเหลือราษฎรดังกล่าว โดยได้พระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการเพื่อชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็นบ้านสันติ 2 ตามพระราชดำริ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณบ้านสันติ 2 หมู่ที่ 6 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
โดยพระราชทานวัตถุประสงค์ของโครงการรวม 4 ประการ คือ 1. ความปลอดภัย และมั่นคงในชีวิต 2. ครอบครัวอบอุ่น คุณภาพชีวิตที่สดใส และสมบูรณ์ 3. ทำมาหากิน และมีที่ทำกินที่ดี มีกิจกรรมเสริมอาชีพที่เหมาะสม 4. ได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย และการศึกษาของเยาวชน และลูกหลานที่เหมาะสม
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทำให้โครงการเพื่อชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็นบ้านสันติ 2 สำเร็จลุล่วงตามพระราชประสงค์ ราษฎรในพื้นที่มีความรัก ความสามัคคี มีความสุขและร่มเย็น ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ราษฎรหมู่บ้านสันติ 2 จำนวน 128 คน ได้กล่าวปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ ในพิธีนำราษฎรเข้าอยู่อาศัย และส่งมอบบ้าน ณ หมู่บ้านโครงการฯ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต ว่า “จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และจะประพฤติตนเป็นพลเมืองที่ดี และเสริมสร้างความสมานฉันท์” เพื่อให้หมู่บ้านสันติ 2 เป็นต้นแบบ “หมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็น” ตลอดไป
โครงการพระราชดำริ 'พัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีรา '
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และทรงเยี่ยมราษฎรบ้านกูแบสีรา หมู่ที่ 4 ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้ทรงทราบถึงปัญหาของราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว ว่าพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
ตลอดจนขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภค - บริโภค ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริกับ นายสหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ นายวิศาล ไมตรียืนยง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านควบคุมงานก่อสร้าง กรมชลประทาน นายเกียรติศักดิ์ สุขวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจกรรมพิเศษ กรมชลประทาน และนายลลิต ถนอมสิงห์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการฯ 4 สำนักงาน กปร. ให้หน่วย
งานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเรื่องเร่งด่วนก่อน พร้อมทั้งศึกษาในภาพรวม เมื่อศึกษาในภาพรวมทั้งระบบแล้ว ให้ดูว่าส่วนใดแก้ไขอย่างไร และให้แก้ไขไปทีละส่วน เป็นขั้นตอน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบและทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ซึ่งโครงการพระราชดำริพัฒนาบ้านกูแบสีรา ได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีการก่อสร้างถนนที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรไป-มา ทำให้ชาวชุมชนและประชาชนทั่วไป ได้ใช้เป็นเส้นทางขนส่งพืชผลทางการเกษตรออกสู่ตลาดได้สะดวกและรวดเร็ว จึงช่วยลดความเสียหายระหว่างการขนส่งและทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ราคาสู่ขึ้น และมีการแผนงานด้านการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งในเรื่องของเด็กก่อนวัยเรียนและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพเสริมของพ่อและแม่เด็ก จัดให้เยาวชนในหมู่บ้านได้มีสถานที่ออกกำลังกายและเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่เยาวชนได้อย่างดี ส่งผลให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับรองจากอำเภอประกาศให้เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด
โครงการพระราชดำริของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ยังช่วยให้ชุมชนบ้านกูแบสีรามีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เพราะสามารถปรับเปลี่ยนอาชีพให้หลากหลายไม่ใช่การทำนาเพียงอย่างเดียวเช่นในอดีต รวมไปถึงยังช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งพื้นที่ 3,006 ไร่
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร บ้านคำน้ำสร้าง ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2543 ทรงรับทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนที่ชาวบ้านได้ถวายรายงาน จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยราชการ ให้การช่วยเหลือดูแลราษฎรให้อยู่ดีกินดี
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ ด้วยการขุดลอกหนองอึ่งที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ พร้อมการพัฒนาปรับปรุงดินและพื้นที่แห้งแล้ง ด้วยการปลูกป่าและหญ้าแฝก รวมถึงการฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบหนองอึ่ง ในพื้นที่กว่า 3,006 ไร่ โดยราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมและร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่โดยรอบหนองอึ่ง
พื้นที่หนองอึ่ง มีแม่น้ำสองสายมาบรรจบหรือสบกัน คือแม่น้ำชีและลำน้ำยัง พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ลุ่มต่ำและเป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน ทำให้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ราษฎรจำนวน 7 หมู่บ้าน ประสบกับปัญหาน้ำท่วมมาอย่างยาวนาน เส้นทางสัญจรถูกตัดขาดติดต่อไม่ได้ พื้นที่การเกษตรเพาะปลูกข้าวนาปีมีความเสียหาย ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นซ้ำซากทุกๆ ปี ขณะเดียวกันเมื่อถึงช่วงฤดูแล้งน้ำแห้งไม่มีน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภค บริโภค ทำการเกษตรไม่ได้ผล
อดีตก่อนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพัฒนาหนองอึ่ง ประสบ ปัญหาน้ำทวีความรุนแรงขึ้นต่อการดำรงชีพ ในเวลาเดียวกันประชากรในพื้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อความอยู่รอด ชาวบ้านจึงทำทุกอย่างแม้แต่การบุกรุกถากถางป่า ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกแผ้วถางเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อเพิ่มพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอย นำไม้มาทำฟืน และใช้สอย ทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรม ชาวบ้านโดยรวมจึงมีชีวิตยากลำบากยิ่งขึ้น ในระยะหลังแม้แต่จะอาศัยเก็บหาของป่าเพื่อบริโภคและจำหน่วยไม่ได้เหมือนเดิม ราษฎรส่วนหนึ่งต้องพากันอพยพออกไปรับจ้างย้ายถิ่นฐานไปอยู่หัวเมืองใหญ่ เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
ต่อมาได้จัดตั้งเป็น “ป่าชุมชนดงมัน” ในปี 2546 เพื่อสนองพระราชดำริ “ฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล” โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยราชการต่างๆ อาทิ จังหวัดยโสธร กรมป่าไม้ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นต้น
ความสำเร็จของโครงการ ส่งผลให้ป่าชุมชนดงมันเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ จำนวน 3,006 ไร่ ซึ่งเป็นป่าบกผืนเดียวที่น้ำท่วมไม่ถึง มีสภาพเป็นป่าดิบแล้งผสมเต็งรัง เป็นแหล่งพึ่งพิงที่สำคัญยิ่งของ 7 หมู่บ้านเป้าหมายโครงการ ในการเป็นแหล่งเก็บหาของป่าไม้ใช้สอย ไม้ฟืน รวมถึงการปลูกพืชไร่ และทำเลเลี้ยงสัตว์ ทรัพยากรป่าไม้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม คงเหลือสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ประมาณ 800 ไร่ ป่าเสื่อมโทรม 1,200 ไร่ และพื้นที่ไร่ร้างประมาณ 800 ไร่
กรมป่าไม้โดยโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งได้น้อมนำแนวพระราชดำริ หลักภูมิสังคม โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ราษฎร ผู้นำหมู่บ้าน 7 หมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดการทรัพยากรป่าไม้ ดงมันสาธารณประโยชน์ 3,006 ไร่ ในหลักการของป่าชุมชน โดยการส่งเสริมการบริหารการจัดการป่าในรูปแบบ ฟาร์มเศรษฐกิจพอเพียง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และใช้ประโยชน์ป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน
พระมหากรุณาธิคุณจากทั้งสองพระองค์ทำให้ราษฎรมีรายได้ที่ยั่งยืน
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ลงพื้นที่ติดตาม ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการและเยี่ยมชมราษฎรบริเวณพื้นที่หนองอึ่งซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการ นายบัวผัน เศษสุวรรณ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด (ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2554) เล่าความรู้สึกของตนให้ฟังอย่างปลาบปลื้มว่า อานิสงค์จากโครงการหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำรินำไปสู่การสร้าง ป่าชุมชนด้วยความสามัคคีของชาวบ้านสนองพระมหากรุณาธิคุณทำให้ชาวบ้านโดยรอบจำนวน 7 หมู่บ้าน มีรายได้ จากการเก็บหา ของป่าขายมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท
ในแต่ละปี ซึ่งรายได้หลักที่เกิดขึ้นจากป่าชุมชนดงมัน ณ เวลานี้มีมากมาย ที่สำคัญได้แก่ เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดก่อ จินูน จิ้งโก่ง ไข่มดแดง มันป่า แต่ที่โดดเด่น คือ เห็ดโคน ซึ่งดอกมีขนาดใหญ่และยาวที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า ‘เห็ดโคนหยวก‘ ในแต่ละปีสามารถเก็บได้จากป่าดงมันได้ประมาณ 5-6 ตัน
นอกจากเห็ดโคนแล้ว ปัจจุบัน เห็ดต่างๆ ที่อยู่ในป่าชุมชนดงมัน นับวันจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐในการฟื้นฟูสภาพป่า รวมถึงการป้องกันรักษาป่าโดยองค์กรป่าชุมชนแล้วก็ความชุ่มชื้นจากแหล่งน้ำทำให้ราษฎรมีอาชีพ มีงานทำมีรายได้จากป่าดงมันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากทั้งสองพระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือ จึงทำให้ราษฎรมีรายได้ที่ยั่งยืน
นายบัวผัน เศษสุวรรณ์ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาอาศัยป่าและได้ผลประโยชน์จากป่า สามารถสร้างอาชีพด้วยการเก็บของป่า และเกิดการแปรรูปอาหารจากป่าชุมชนดงมัน ภายใต้สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในนาม “วนาทิพย์ โอท็อปชุมชนคนรักษ์ป่า” และยังได้รับการคัดสรรเป็นโอท็อประดับ 5 ดาวของจังหวัดยโสธรในปี 2552 ถึงปัจจุบัน
โครงการพัฒนาพื้นที่หนองอึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานในเบื้องต้นจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ทำให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพได้มั่นคงยิ่งขึ้น
“ผลสำเร็จของการฟื้นฟูป่าไม้บริเวณพื้นที่หนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริจนกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณแห่งล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระ องค์เป็นที่ประจักษ์และซาบซึ้งของชาวจังหวัดยโสธร โดยเฉพาะราษฎรตำบลค้อเหนืออย่างหาที่สุดมิได้แท้จริง” นายบัวผัน เศษสุวรรณ์ บอกเล่า ( ที่มาข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) )
หน่วยม้าทรงประจำพระองค์ฯ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ จัดตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 พร้อมพระราชทานโครงสร้างการจัดหน่วยในลักษณะบัญชีบรรจุกำลังตามขีดความสามารถ เพื่อถวายงานด้านการทรงม้า แด่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทั้งการจัดระบบถวายความปลอดภัย จัดครูผู้ถวายการสอน และบำรุงม้าทรงประจำพระองค์ ปัจจุบัน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน