สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แกล้งดิน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

'แกล้งดิน'  อัจฉริยภาพด้านดิน
        
'แกล้งดิน'  อัจฉริยภาพด้านดิน
        สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานและทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคใต้อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2516 เรื่อยมา ทำให้ทรงทราบว่าราษฎรในพื้นที่แถบจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียงประสบปัญหาอยู่นานัปการ ราษฎรขาดแคลนที่ทำกิน อันเป็นสาเหตุสำคัญในการดำรงชีพพื้นที่ดินพรุที่มีการระบายน้ำออกจะแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากสารไพไรท์ที่มีอยู่ในดินทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศแล้วปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมามากจนถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูกหรือทำให้ผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด
       
       จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง "โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ขึ้น ณ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2524 เพื่อศึกษาและปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นที่พรุให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและด้านอื่นๆได้
       ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2527 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่อง "แกล้งดิน" ความว่า
       
       "...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแกล้งดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาสโดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด2 ปี และพืชที่ทำการทดลองควรเป็นข้าว..." 

'แกล้งดิน'  อัจฉริยภาพด้านดิน
        

'แกล้งดิน'  อัจฉริยภาพด้านดิน
        ๐ แกล้งดินอย่างไร
       
       ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำการศึกษาวิจัยและปรับปรุงดินโดยวิธีการ "แกล้งดิน" คือทำให้ดินเปรี้ยวเป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกโดยนำน้ำเข้าแปลงทดลองระยะหนึ่งและระบายน้ำออกให้ดินแห้งระยะหนึ่งสลับกัน จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดกรดมากยิ่งขึ้น
       
       ด้วยหลักการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้เลียนแบบสภาพธรรมชาติ ซึ่งมีฤดูแล้งและฤดูฝนเป็นปกติในแต่ละปี แต่ให้ใช้วิธีการร่นระยะเวลาช่วงแล้งและช่วงฝนในรอบปีให้สั้นลง โดยปล่อยให้ดินแห้ง 1 เดือน และขังน้ำให้ดินเปียกนาน 2 เดือน สลับกันไป เกิดภาวะดินแห้งและดินเปียก 4 รอบ ต่อ 1 ปี เสมือนกับมีฤดูแล้งและฤดูฝน 4 ครั้ง ใน 1 ปี หลังจากนั้นจึงให้หาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้
       
       ๐ แกล้งดินแล้วปรับปรุงดิน
       
       เมื่อดำเนินการตามกรรมวิธี "แกล้งดิน" แล้วก็ใช้วิธีการปรับปรุงดิน ซึ่งเปรี้ยวจัดให้สามารถใช้เพาะปลูกได้ โดยมีหลายวิธีการด้วยกันดังนี้
       
       - ใช้ปูน เช่น ปูนขาว หินปูนฝุ่นใส่ลงไปในดิน แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปูนจะทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถันในดิน เกิดสารสะเทิน ปริมาณกรดในดินจะลดลง ซึ่งหากใส่ในปริมาณที่มากพอจะช่วยให้ดินมีสภาพเป็นกลาง
       
       - ใช้น้ำจืดล้างกรดและสารพิษออกจากดินโดยตรง วิธีการนี้ใช้เวลานานกว่าวิธีใช้ปูน เนื่องจากกรดจะชะล้างออกไปอย่างช้าๆ แต่ได้ผลเช่นกัน
       
       - ยกร่อง เพื่อปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น โดยมีคูน้ำอยู่ด้านข้าง ให้นำหน้าดินจากดินในบริเวณที่เป็นคูมา เสริมหน้าดินเดิมที่เป็นคันร่อง ก็จะได้หน้าดินที่หนาขึ้น ส่วนดินที่มีสารไพไรท์จะใช้เสริมด้านข้าง เมื่อใช้น้ำชะล้างกรดบนสันร่อง กรดจะถูกน้ำชะล้างไปยังคูด้านข้างแล้วระบายออกไป
       
       - ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน ให้อยู่เหนือชั้นดินเลนตะกอนทะเล ป้องกันไม่ให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน กรดกำมะถันจึงไม่ถูกปลดปล่อยเพิ่มขึ้น
       
       - ใช้พืชพันธุ์ทนทานต่อความเป็นกรดมาปลูกในดินเปรี้ยว ใช้วิธีการต่างๆ ข้างต้นร่วมกัน การดำเนินงานศึกษาทดลองในโครงการแกล้งดินได้มีการดำเนินการในช่วงต่างๆ ตามแนวพระราชดำริดังนี้
       

       ช่วงที่ 1 (มกราคม 2529-กันยายน 2530) เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดินเปรียบเทียบระหว่างดินที่ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติกับดินที่ทำให้แห้งและเปียกสลับกัน โดยวิธีการสูบน้ำเข้า-ออก การทำดินให้แห้งและเปียกสลับกัน ดินจะเป็นกรดจัดรุนแรง และมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช พบว่าข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ แต่ให้ผลผลิตต่ำ
       
       ช่วงที่ 2 (ตุลาคม 2530-ธันวาคม 2532) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดินโดยเปรียบเทียบระหว่างระยะเวลา ที่ทำให้ดินแห้งและเปียกแตกต่างกัน การปล่อยให้ดินแห้งนานมากขึ้น ความเป็นกรดจะรุนแรงมากกว่าการใช้น้ำแช่ขังดินนานๆ และการให้น้ำหมุนเวียนโดยไม่มีการระบายออก ทำให้ความเป็นกรดและสารพิษสะสมในดินมากขึ้น ในการปลูกข้าวทดสอบความรุนแรงของกรด พบว่าข้าวตายหลังจากปักดำได้ 1 เดือน
       
       ช่วงที่ 3 (มกราคม 2533-ปัจจุบัน) ศึกษาถึงวิธีการปรับปรุงดิน โดยใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ใช้น้ำชะล้างควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่น ใช้หินปูนฝุ่นอัตราต่ำ เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของดิน หลังจากที่ปรับปรุงแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่มีการใช้ประโยชน์และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของดินเปรี้ยวจัด เมื่ออยู่ในสภาพธรรมชาติในปริมาณเล็กน้อย พบว่าวิธีการใช้น้ำชะล้างดิน โดยขังน้ำไว้นาน 4 สัปดาห์ แล้วระบายออก ควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่นในปริมาณเล็กน้อยจะสามารถปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดได้เป็นอย่างดี
       
       ส่วนวิธีการใช้น้ำชะล้างก็ให้ผลดีเช่นเดียวกัน แต่ต้องใช้เวลานานกว่าหลังจากมีการปรับปรุงดินแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจะทำให้ดินกลับเป็นกรดจัดรุนแรงขึ้นอีก สำหรับพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดตามธรรมชาติที่ไม่มีการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรดน้อยมาก
       
       เมื่อปี 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินตรวจแปลงศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกำมะถันว่า
       
       "...นี่เป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่พูดมาสามปีแล้วหรือสี่ปีว่าต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธอันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี้แล้วมันได้ผล... อันนี้ผลงานของเราที่ทำที่นี่ เป็นงานที่สำคัญที่สุดเชื่อว่าชาวต่างประเทศ เขามาดูเราทำอย่างนี้แล้ว เขาก็พอใจ เขามีปัญหานี่แล้วเขาก็ไม่ได้ แก้หาตำราไม่ได้ ..."
       
       ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้จัดทำคู่มือการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตรขึ้นเมื่อปี 2536
       
       ๐ แกล้งดินสำเร็จราษฎรได้ประโยชน์
       
       เมื่อผลของการศึกษาทดลองสำเร็จผลชั้นหนึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำผลการศึกษาทดลองขยายผลสู่พื้น
       ที่ทำการเกษตรของราษฎร ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัด ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีพระราชดำริว่า
       
       "...พื้นที่บริเวณบ้านโคกอิฐและโคกในเป็นดินเปรี้ยว เกษตรกรมีความต้องการจะปลูกข้าว ทางชลประทานได้จัดส่งน้ำชลประทานให้ ก็ให้พัฒนาดินเปรี้ยวเหล่านี้ให้ใช้ประโยชน์ได้ โดยให้ประสานงานกับชลประทาน..."
       
       จากการพัฒนาบ้านโคกอิฐและบ้านโคกใน ปรากฏว่าราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว สามารถปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยถึงกับมีรับสั่งว่า
       
       "...เราเคยมาโคกอิฐ โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้นๆ เขาทำ แต่ว่าเขาได้เพียง 5 ถึง 10 ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง 40-50 ถัง ก็ใช้ได้แล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไรๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น... อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมาก ที่ใช้งานได้แล้ว ชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น ...แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้"
       
       อย่างไรก็ตาม "โครงการแกล้งดิน " มิได้หยุดลงเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง แต่จะต้องดำเนินการต่อไป
       
       "...งานปรับปรุงดินเปรี้ยวควรดำเนินการต่อไป ทั้งในแง่การศึกษาทดลองและการขยายผล..."
       
       ปัจจุบันมีการนำผลการศึกษาทดลองไปขยายผลแก่ราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการนำผลของการ "แกล้งดิน" นำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดนครนายกและจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย ดังนั้น"โครงการแกล้งดิน" จึงเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับราษฎรทั่วทั้งประเทศ 

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แกล้งดิน อัจฉริยภาพด้านดิน

view