จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ Market-Think โดย สรกล อดุลยานนท์
เพียงแค่เวลาไม่ถึงเดือน การแข่งขันของทีวีดิจิทัลก็เปลี่ยนไป
เมื่อ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" ซื้อหุ้นกลุ่มอมรินทร์
และ "หมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ" ซึ่งเป็นเจ้าของพีพีทีวีอยู่แล้ว ทุ่มเงินซื้อหุ้นของ "แกรมมี่" ในช่องวัน
คู่แข่งในสนามทีวีดิจิทัลยังเหมือนเดิม
ช่องเท่าเดิม
ชื่อเหมือนเดิม
แต่ "สายป่าน" และ "คนหนุนหลัง" เปลี่ยนไป
อย่าลืมว่าเกมทีวีดิจิทัล คือ เกมเผาเงินแข่งกัน
เพราะใช้เงินจำนวนมหาศาล ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
การแข่งขันในเกมทีวีดิจิทัลจึงอยู่ที่ใครจะเผาเงินได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน
"อมรินทร์ทีวี" ในวันที่มีกลุ่มคุณเจริญถือหุ้นใหญ่จึงไม่เหมือนเดิม
เช่นเดียวกับช่องวัน ที่มี "หมอเสริฐ" เข้ามาแบ็กอัพ
แค่มีชื่อ 2 คนนี้เข้ามาถือหุ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ของ "อมรินทร์" และ "ช่องวัน" ก็ลดลงมหาศาลแล้ว
เพราะทั้ง "เจริญ-หมอเสริฐ" เครดิตดีมาก
เผลอ ๆ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะลดเหลือไม่ถึง 3%
"เจริญ" ใช้เงินไป 850 ล้านบาท เข้ามาถือหุ้น 47.62% ใน "อมรินทร์"
ได้ทั้งโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ นิตยสาร ร้านหนังสือนายอินทร์ และช่องอมรินทร์ทีวี
ในส่วนของสื่อกระดาษซึ่งอยู่ในช่วงตะวันตกดินนั้น สิ่งที่น่าเป็นประโยชน์กับคุณเจริญ คือ โรงพิมพ์ และร้านนายอินทร์
ซึ่งมีสาขาอยู่ตามห้างต่าง ๆ
โรงพิมพ์ สามารถรับงานพิมพ์จากไทยเบฟฯ โออิชิ และเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ธุรกิจของคุณเจริญได้
ส่วนพื้นที่ในห้างของร้านนายอินทร์ก็สามารถปรับได้
แต่ที่น่าสนใจคือ "อมรินทร์ทีวี" ที่เงินไหลออกทุกวัน
คุณเจริญคงเข้ามาลุยด้านนี้มากขึ้น
อย่าลืมว่า "ทศภาค" ของคุณเจริญ เคยซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาฉายให้ดูฟรี ๆ
และฉายาของเขาก็คือ "ผู้ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า"
"ทีวีดิจิทัล" น่าจะเปลี่ยนจาก "เกม" เป็น "สงคราม" อย่างเต็มตัว
ส่วนคุณหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถนั้นมี "พีพีทีวี" อยู่แล้ว
แต่เขาตัดสินใจซื้อ "วัน" อีกช่องหนึ่ง
จริง ๆ แล้ว ก่อนที่หมอปราเสริฐจะตัดสินใจเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในช่องวัน
เคยมีการดีลระหว่าง "เจริญ" กับ "ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม" มาแล้วครั้งหนึ่ง
แต่ตกลงราคากันไม่ได้
ราคาที่หมอปราเสริฐซื้อในครั้งนี้ก็สูงทีเดียว
คือ 1,900 ล้านบาท
สูงกว่าคุณเจริญซื้อ "อมรินทร์ทีวี"
ซึ่งเป็นช่อง "HD" เหมือนกันกว่าเท่าตัว
ทั้งที่ได้หุ้น 50% ใกล้เคียงกัน
สินทรัพย์ของ "วัน" ก็น้อยกว่า
แต่ที่เหนือกว่ามี 2 เรื่อง
เรื่องแรก คือ เรตติ้ง
ช่องวัน เรตติ้งประมาณ 0.770
อมรินทร์ทีวี เรตติ้ง 0.251
เท่ากับว่าจ่ายเพิ่มอีก 1,050 ล้านบาท แลกกับเรตติ้ง 0.5
หลักคิดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเอาเงิน 1,050 ล้านบาท ใส่เข้าไปใน "อมรินทร์ทีวี"
จะสามารถทำเรตติ้งเท่ากับช่องวันหรือไม่
ถ้า "ไม่ได้" การซื้อครั้งนี้ก็ถือว่า "คุ้ม"
แต่ถ้า "ได้" ก็ "ไม่คุ้ม"
เรื่องที่สอง คือ "คนทำงาน"
ต้องยอมรับว่า ช่องวัน เหนือกว่า "อมรินทร์ทีวี" มากในเรื่องนี้
"บอย" ถกลเกียรติ วีรวรรณ คือ ทรัพย์สินที่มีค่ามากของช่องวัน
ทั้งละคร ทั้งเดอะสตาร์ และประสบการณ์ในวงการนี้
ปรมาจารย์คนหนึ่งในวงการทีวีบอกผมว่า
"คนทำงาน" คือ ปัจจัยสำคัญที่สุด
สำคัญกว่า "เรตติ้ง" ของช่องเสียอีก
ถ้าเรตติ้งดี แต่ "คนทำงาน" ไม่เก่ง ผลิตหรือหารายการดี ๆ มาลงช่องไม่ได้
เรตติ้งก็ตก
เหมือนโมเดิร์นไนน์ หรือช่อง 5
แต่ถ้าเรตติ้งไม่ดี ได้ "คนทำงาน" เก่ง เรตติ้งก็จะขึ้น
ทั้งนี้ ในความหมายว่า "ต้องมีเงิน"
นับจากวันนี้ สงครามธุรกิจทีวีดิจิทัลคงจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
และเมื่อขึ้นชื่อว่า "สงคราม" แล้ว
เราจึงสรุปอะไรตอนนี้ไม่ได้
ต้องถือหลักที่ว่า "สงคราม" ยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร
เพราะตอนนี้สงครามครั้งใหม่เพิ่งเริ่มต้นครับ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน