จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com
เครือข่ายร้านสะดวกซื้อมีอิทธิพลต่อสังคมวงกว้างมากกว่าที่คิด
"ร้านสะดวกซื้อ "เซเว่นอีเลฟเว่น" ที่จำหน่ายอาหารแช่แข็งและกาแฟมวลชนในเครือซีพีเป็นผู้ให้บริการอาหารบนขบวนรถไฟใหม่ทั้ง 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมาได้เปิดให้บริการสายเชียงใหม่กับอุบลราชธานีไปแล้ว" (ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ --http://www.prachachat.net/ 22 พฤศจิกายน 2559) แม้ว่าเป็นข่าวชิ้นเล็ก ๆ แต่ผู้คนในสังคมวงกว้างให้ความสนใจและให้ความสำคัญมากทีเดียว
เครือซีพี
เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ดำเนินการโดย บริษัทซีพี ออลล์ บริษัทหลักกลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย 1 ใน 13 กลุ่มธุรกิจ ภายใต้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) หากเปรียบเทียบบริษัทซีพี ออลล์กับบริษัทสำคัญ โดยเฉพาะ ซีพีเอฟ และ ทรู คอร์ปอเรชั่น แล้ว ซีพี ออลล์ดูจะมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ในบทบาทเชื่อมโยงซีพีเข้ากับสังคมไทย
เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศด้วยสาขาเกือบ 9,000 แห่ง ถือเป็นเครือข่ายสาขามากที่สุดในประเทศไทย สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงผู้คนในสังคมในฐานะผู้บริโภคได้มากที่สุด (ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร้าน 7-Eleven เฉลี่ยวันละ 10.9 ล้านคน--อ้างจาก http://www.cpall.co.th) ทั้งมีแนวโน้มการขยายเครือข่ายสาขาดำเนินไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง (ตามแผนการธุรกิจปีละไม่น้อยกว่า 600 สาขา)
เครือข่ายสาขาข้างต้นสามารถปรับตัวเข้ากับสินค้าและบริการทั้งดั้งเดิมและใหม่ เชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์หลักของซีพี สัมพันธ์และเกื้อกูลกับธุรกิจสำคัญทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร (ซีพีเอฟ) และโทรคมนาคม (ทรู คอร์ปอเรชั่น) กลายเป็นแกนกลางธุรกิจ รวมทั้งบทบาทในฐานะ Omni Channel อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี 2558 บริษัทซีพี ออลล์ทำรายได้ทะลุ 4 แสนล้านบาท (405,893 ล้านบาท) เมื่อเปรียบเทียบกับทรู คอร์ปอเรชั่น (122,949 ล้านบาท) ทิ้งกันไกลพอสมควร ส่วนซีพีเอฟแม้จะมีรายได้ (439,413 ล้านบาท) มากกว่าซีพี ออลล์เล็กน้อย แต่รายได้ซีพีเอฟเพียง 40% มาจากกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศไทย ขณะที่ซีพี ออลล์นั้นเรียกได้ว่าเป็นกิจการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเฉพาะในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
ถ้าจะสรุปว่าซีพี ออลล์สร้างรายได้ให้กับซีพีมากที่สุดในประเทศไทยก็คงจะได้
ยิ่งเมื่อเปรียบกับธุรกิจซีพีในประเทศจีนจะได้ภาพใหม่อย่างสอดคล้องกัน ใคร ๆ ก็ว่าซีพีเป็นธุรกิจอิทธิพลในจีนแผ่นดินใหญ่ มีเครือข่ายธุรกิจอย่างกว้างขวาง "มียอดขายในปี 2558 ประมาณ 100,000 ล้านหยวน (500,000 ล้านบาท) "(อ้างจาก "บันทึกความทรงจำ" หรือ My Personal History โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ ตีพิมพ์ในเครือข่ายสื่อยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น--Nikkei) แท้จริงแล้วเมื่อพิจารณาจากตัวเลขรายได้รวมในประเทศจีน ซึ่งมี "กิจการมากกว่า 300 บริษัทครอบคลุมธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ธุรกิจอาหาร ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจรายการโทรทัศน์ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจเวชภัณฑ์" เปรียบเทียบกับซีพี ออลล์เพียงกิจการเดียวในประเทศไทยแล้วแทบไม่แตกต่างกันเลย
หากสรุปอีกว่าซีพี ออลล์เจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven เป็นธุรกิจสัญลักษณ์สำคัญมาก ๆ สะท้อนภาพ อิทธิพลซีพีในสังคมไทยก็คงไม่ผิดเช่นกัน
ธุรกิจอิทธิพล
พัฒนาการและความพยายามขยายเครือข่าย 7-Eleven ในช่วงที่ผ่านมานั้น สะท้อนอิทธิพลและสายสัมพันธ์สังคมธุรกิจไทยอย่างแนบแน่น กรณีดีลรถไฟข้างต้นเป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งแห่งวิวัฒนาการ กรณีใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้สมมุติฐานที่ว่า รถไฟกำลังถูกผลักดันอย่างแรงจากผู้มีอำนาจรัฐ ภายใต้กระแสเชี่ยวกรากระดับโลก เชื่อว่าไม่นานรถไฟไทยจะกลายเป็นโมเมนตัมสำคัญหนึ่งในแผนพัฒนา เชื่อมโยงเศรษฐกิจ ธุรกิจและปัจเจก
บทวิคราะห์ว่าด้วยวิวัฒนาการและความพยายาม "ขี่" วิวัฒนาการ ดำเนินมาหลายช่วงในประวัติศาสตร์ซีพี เฉพาะ 7-Eleven นั้นมีมาก่อนแล้ว เรื่องหนึ่งที่สำคัญที่ประสบความสำเร็จ คือกรณี ปตท.กิจการน้ำมันของรัฐในช่วงเวลานั้นคือผู้นำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันอย่างเบ็ดเสร็จ และกำลังเปลี่ยนผ่านเป็นกิจการระดับโลก เติบโตอย่างมาก อย่างรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมธุรกิจไทย
จากข้อมูลของซีพี ออลล์ระบุว่า ในปี 2545 ซึ่ง 7-Eleven ดำเนินกิจการมาเกือบ 15 ปี และเปิดเครือข่ายครบ 2,000 สาขาแล้วนั้น เป็นปีเดียวกันที่ "ร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการเปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท." (http://www.cpall.co.th) ปัจจุบันเครือข่าย 7-Eleven ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ยังคงมีความสำคัญ คงสัดส่วนประมาณ 14% ของเครือข่ายสาขาทั้งหมด หรือมากกว่า 1,200 แห่ง (อ้างจาก CP ALL Public Company Limited 3 Q 16 : Presentation Results, November 2016)
ที่จริงแล้วมีอีกบางกรณีที่สำคัญ สะท้อนโอกาสและความเป็นไปได้ทางธุรกิจอย่างน่าทึ่ง
ในเครือข่ายธุรกิจซีพี ออลล์ มีกิจการหนึ่งที่น่าสนใจดำรงอยู่ คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด
กิจการดังกล่าวก่อตั้งเมื่อปี 2537 และเข้ามาในเครือซีพีในปี 2539 "ธุรกิจของเคาน์เตอร์เซอร์วิสในช่วงเริ่มต้น เป็นธุรกิจการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ตลอดจนการจำหน่ายบัตรผ่านเข้าชมการแสดงต่าง ๆ" จุดเริ่มต้นที่ดูไม่ซับซ้อน (อ้างจาก http://www.counterservice.co.th/) เมื่อมาอยู่มือซีพีได้ก้าวสู่ทิศทางใหม่ที่สำคัญมาก ๆ อย่างเงียบ ๆ
โดยเฉพาะกรณีจากความสัมพันธ์กับกรมสรรพากรสู่ธนาคารแห่งประเทศไทย
"กรมสรรพากรยอมรับและมั่นใจ โดยออกกฎกระทรวงการคลัง และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อให้เคาน์เตอร์เซอร์วิส สามารถเป็นตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีสิทธิในการออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อ และแม้แต่ใบกำกับภาษีเต็มรูป เพื่อใช้สำหรับการขอคืนหรือเครดิตภาษีของผู้ใช้บริการแทนหน่วยงาน หรือองค์กรที่มอบหมายให้เคาน์เตอร์เซอร์วิสรับชำระแทน" (อ้างแล้ว) นั่นคือ บทบาทใหม่ของเคาน์เตอร์เซอร์วิสในเรื่องพื้นฐานที่สำคัญมาก ๆ ก่อนมาสู่ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ
"ในปี 2552 บริษัทได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนรับชำระตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มิใช่สถาบันการเงิน รายแรกที่ได้ร้บใบอนุญาต"
ทิศทางใหม่
บทบาทร้านสะดวกซื้อยังคงเดินหน้าต่อไปอีก
มุมมองเรื่องนี้ควรอ้างอิงกรณีญี่ปุ่น ในฐานะระบบเศรษฐกิจสำคัญ สร้างร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store หรือ Konbini) ให้มีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนสมัยใหม่
Mitsubishi Corp เครือข่ายการค้า (Trading House) ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นกำลังเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นใน Lawson เครือข่ายร้านสะดวกซื้ออันดับ 2 ของญี่ปุ่น จากสัดส่วน 33% เป็น 51% มองกันว่าเป็นการปรับตัวทางธุรกิจหันเหออกจากธุรกิจโภคภัณฑ์ (Commodities) หลังจาก Mitsubishi Corp ประสบการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 60 ปี สู่ทิศทางใหม่ (อ้างจาก Mitsubishi considers majority stake in Lawson in shift away from commodities-BLOOMBERG-SEP 15, 2016)
Lawson ประกาศแผนเข้าสู่ธุรกิจธนาคารภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ด้วยการร่วมมือกับ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางธุรกิจรายที่ 3 ต่อจาก Seven & I Holdings (เจ้าของเครือข่าย 7-Eleven ในญี่ปุ่น) และAeon (อ้างจาก Lawson to enter banking sector in 2018, KYODO-OCT 5, 2016)
เครือข่ายร้านสะดวกซื้อในสังคมไทย ควรเพ่งมองเชื่อมโยงกับเครือซีพี ซึ่งปรากฏอิทธิพลและสะท้อนแนวโน้มความเป็นไป ที่น่าติดตามยิ่งนัก
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน