สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีเงินกินเปล่าหรือเงินได้อื่นฯ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีเงินกินเปล่าหรือเงินได้อื่นฯ (1)

โดย : 

ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินกินเปล่าเงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม

หรือได้รับกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือน หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกับเงินกินเปล่า จากการให้เช่าทรัพย์สินคำสั่ง ตามกรมสรรพากรที่ ป.151/2558 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งได้นำความตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินที่ได้รับเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม หรือค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มาเป็นปุจฉา - วิสัชนา ดังต่อไปนี้ 

ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินที่ได้รับเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม หรือค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 อย่างไร

วิสัชนา ด้วยปรากฏว่า มีบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนมาก (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี และกองมรดก) ที่มีเงินได้หรือ ได้รับประโยชน์อย่างอื่นเนื่องจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น นอกจากจะเรียกเก็บเงินค่าเช่าแล้ว ยังเรียกเก็บเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม หรือได้รับกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือน หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน โดยยอมให้ผู้เช่าได้เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นระยะเวลานาน เช่น 3 ปี 10 ปี หรือ 30 ปี ซึ่งผู้ให้เช่าจะต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้ แต่เนื่องจากผู้ให้เช่าต้องยอมให้ผู้เช่าได้เช่าอาคารหรือโรงเรือนเป็นระยะเวลานาน ถ้าผู้ให้เช่าจะต้องรับภาระการเสียภาษีเงินได้จากจำนวนเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม หรือค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์นั้นทั้งหมดในปีเดียวกับที่ได้รับเงินหรือประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมจะเป็นภาระหนักแก่ผู้ให้เช่ามิใช่น้อย

เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี และกองมรดก และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีเงินได้ดังกล่าว ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวเสียภาษีโดยถูกต้องตามกฎหมาย กระทรวงการคลังจึงขอเรียนให้ทราบว่า ผู้ให้เช่าซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถเฉลี่ยเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม และค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์นั้น ตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าได้ เช่น ผู้ให้เช่าได้รับเงินกินเปล่าในการให้เช่าอาคารเป็นเงิน 30,000,000 บาท แต่ผู้ให้เช่าต้องผูกพันให้เช่าเป็นเวลา 30 ปี ดังนี้ ให้เฉลี่ยเงินกินเปล่าจำนวน 30,000,000 บาท นั้นออกเป็นรายปีจำนวน 30 ปี โดยผู้มีเงินได้ดังกล่าวจะมี เงินได้ปีละ 1,000,000 บาท และผู้มีเงินได้ในกรณีนี้จะต้องยื่นรายการเงินได้ และชำระภาษีเงินได้จากเงินกินเปล่าที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่าของทุกปีที่เฉลี่ย ให้เสร็จสิ้นไปภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินนั้นทั้งนี้ ความตามประกาศดังกล่าวให้ใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ปีภาษี 2557 ซึ่งต้องยื่นรายการ ในปี 2558 เป็นต้นไป

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีเงินกินเปล่าหรือเงินได้อื่นฯ(2)

โดย : 

ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินกินเปล่าเงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม

หรือได้รับกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือน หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกับเงินกินเปล่า จากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.151/2558 ซึ่งได้นำความตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มาเป็นปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ 

ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเฉลี่ย และการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินกินเปล่าหรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกันอย่างไร

วิสัชนา ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินกินเปล่าตั้งแต่ปีภาษี 2557 เป็นต้นไป โดยยอมให้ผู้เช่าได้เช่าที่ดิน อาคาร หรือโรงเรือนเป็นระยะเวลานาน เช่น 3 ปี 10 ปี หรือ 30 ปี จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้ ดังนี้ (ข้อ 2)

1. นำเงินกินเปล่าที่ได้รับทั้งจำนวนไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) และชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน หรือ

2. นำเงินกินเปล่าไปเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า แล้วยื่นแบบ แสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.93) และชำระภาษีเงินได้จากเงินได้ที่เฉลี่ยเป็นรายปี ตามจำนวนปีของอายุการเช่าเป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินกินเปล่า ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีภาษี ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้อง ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 โดยนำเงินกินเปล่าตามส่วนที่ได้เฉลี่ยไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 ไปรวมคำนวณเพื่อ เสียภาษีเงินได้ แล้วนำจำนวนภาษีที่ได้เสียไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 มาหักจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่คำนวณได้ในแต่ละปีภาษี

กรณีผู้มีเงินได้บางรายยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ตามแนวทางดังกล่าว เมื่อพ้นกำหนดเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินกินเปล่า ผู้มีเงินได้ยังคงสามารถขอเฉลี่ยเงินกินเปล่าตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าและยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ได้ แต่ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยให้คำนวณเงินเพิ่มเป็นรายปีภาษีตั้งแต่เดือนเมษายนของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินกินเปล่าเป็นต้นไปเช่น

ในปี พ.ศ. 2557 นายแดงได้นำที่ดินของตนเองไปให้ บริษัท ดำ จำกัด เช่าเพื่อสร้างห้างสรรพสินค้า สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา 30 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ถึงปี พ.ศ. 2586 โดย นายแดงได้รับเงินกินเปล่าในวันที่ทำสัญญาเช่าเป็นเงินจำนวน 30 ล้านบาท และได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 5 นายแดงมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 โดยนำเงินกินเปล่าจำนวน 30 ล้านบาท ไปเฉลี่ยเป็นเงินได้พึงประเมินของปีภาษี 2557 ถึงปีภาษี 2586 จำนวน 30 ปี คิดเป็นเงินได้พึงประเมินปีละ 1 ล้านบาท แล้วดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 จำนวน 30 ฉบับ และชำระภาษีเงินได้ของแต่ละปีภาษีทั้งหมด 30 ปี เป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปภายในเดือนมีนาคม 2558 และเมื่อถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2557 ถึงปีภาษี 2586 นายแดงมีหน้าที่ต้องนำเงินกินเปล่าดังกล่าวมาคำนวณภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา โดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แล้วนำจำนวนภาษีที่ได้เสียไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 มาหักจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คำนวณได้ในแต่ละปีภาษีนั้น ทั้งนี้ นายแดงมีสิทธินำภาษีเงินได้ที่ บริษัท ดำ จำกัด ได้หักไว้ ณ ที่จ่ายทั้งจำนวน มาหักจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2557 ได้ด้วย

หากนายแดงได้นำเงินกินเปล่ามายื่นแบบ ภ.ง.ด.93 จำนวน 30 ฉบับ ไปชำระล่าช้า นายแดงจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ของภาษีที่ต้องชำระตามแบบ ภ.ง.ด.93 ทั้ง 30 ฉบับ และจะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2557 เพิ่มเติม โดยนำเงินกินเปล่าตามส่วนของปีภาษี 2557 ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ด้วย

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีเงินกินเปล่าหรือเงินได้อื่นฯ(3)

โดย : 

ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินกินเปล่าเงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม

หรือได้รับกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือน หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกับเงินกินเปล่า จากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.151/2558 ซึ่งได้นำความตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มาเป็นปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติ สำหรับกรณีผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินกินเปล่าก่อนปีภาษี 2557 อย่างไร

วิสัชนา ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินกินเปล่าก่อนปีภาษี 2557 โดยยอมให้ผู้เช่าได้เช่าที่ดิน อาคาร หรือโรงเรือนเป็นระยะเวลานาน เช่น 3 ปี 10 ปี หรือ 30 ปี จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้ ดังนี้ (ข้อ 3)

1. ถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผู้มีเงินได้ จากการให้เช่าทรัพย์สินไม่ยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 โดยนำเงินกินเปล่าที่ได้รับทั้งจำนวนไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน หรือนำเงินกินเปล่าไปเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า แล้วยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 และชำระภาษีเงินได้จากเงินได้ที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่าเป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปภายในปีที่ได้รับเงินกินเปล่า ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีภาษี ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 โดยนำเงินกินเปล่าตามส่วนที่ได้เฉลี่ยไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 ไปรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้ แล้วนำจำนวนภาษีที่ได้เสียไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 มาหักจากภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาที่คำนวณได้ในแต่ละปีภาษี

2. กรณีผู้มีเงินได้มิได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 แต่ต่อมาได้นำเงินกินเปล่ามายื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 โดยขอเฉลี่ยเงินกินเปล่าตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า และชำระภาษีเงินได้จาก เงินได้ที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่าเมื่อพ้นวันสิ้นปีที่ได้รับเงินกินเปล่า ผู้มีเงินได้ยังคงสามารถขอเฉลี่ยเงินกินเปล่าตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าและยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ได้ แต่ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยให้คำนวณ เงินเพิ่มเป็นรายปีภาษีตั้งแต่เดือนมกราคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินกินเปล่าเป็นต้นไปอย่างไรก็ดี หากเป็นการยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินกินเปล่า ผู้มีเงินได้สามารถยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการได้เช่น

ในปี พ.ศ. 2556 นายฟ้าได้นำที่ดินของตนเองไปให้ บริษัท เหลือง จำกัด เช่าเพื่อสร้างอาคารโรงงาน สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ถึงปี พ.ศ. 2565 โดยนายฟ้าได้รับเงินกินเปล่าในวันที่ทำสัญญาเช่าเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท นายฟ้ามีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยนำเงินกินเปล่าจำนวน 10 ล้านบาท ไปเฉลี่ยเป็นเงินได้พึงประเมินของปีภาษี 2556 ถึงปีภาษี 2565 จำนวน 10 ปี คิดเป็นเงินได้พึงประเมินปีละ 1 ล้านบาท แล้วดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 จำนวน 10 ฉบับ และชำระภาษีเงินได้ของแต่ละปีภาษีทั้งหมด 10 ปี เป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปภายในเดือนธันวาคม 2556 และเมื่อถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจาปีภาษี 2556 ถึงปีภาษี 2565 นายฟ้ามีหน้าที่ต้องนำเงินกินเปล่าดังกล่าวมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แล้วนำจำนวนภาษีที่ได้เสียไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 มาหักจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คำนวณได้ในแต่ละปีภาษีนั้น

หากนายฟ้าได้นำเงินกินเปล่ามายื่นแบบ ภ.ง.ด.93 จำนวน 10 ฉบับ ในวันที่ 31 มีนาคม 2557 นายฟ้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ต่ออธิบดีกรมสรรพากรได้ และเมื่อได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว จะมีผลทำให้ นายฟ้าต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระตามแบบ ภ.ง.ด.93 ทั้ง 10 ฉบับ เป็นจำนวน 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2557) และจะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2556 เพิ่มเติม โดยนำเงินกินเปล่าตามส่วนของปีภาษี 2556 ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ด้วย

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีเงินกินเปล่าหรือเงินได้อื่นฯ(4)

โดย : 

ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินกินเปล่าเงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม

หรือได้รับกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือน หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกับเงินกินเปล่า จากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.151/2558 ซึ่งได้นำความตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มาเป็นปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ 

ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติ สำหรับกรณีผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินกินเปล่าเป็นจำนวนหลายครั้ง อย่างไร

วิสัชนา กรณีผู้มีเงินได้ให้ผู้เช่าได้เช่าที่ดิน อาคาร หรือโรงเรือนเป็นระยะเวลานาน แล้วได้รับเงินกินเปล่าเป็นจำนวนหลายครั้ง เช่น ให้เช่า 10 ปี แล้วได้รับเงินกินเปล่าในปีที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท ในปีที่ 3 จำนวน 1 ล้านบาท ผู้มีเงินได้จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้ ดังนี้ (ข้อ 4)

        1. นำเงินกินเปล่าที่ได้รับทั้งจำนวนไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน หรือ

        2. นำเงินกินเปล่าไปเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า แล้วยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 และชำระภาษีเงินได้จากเงินได้ที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่าเป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินกินเปล่า ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 โดยให้เฉลี่ยเงินกินเปล่าตามจำนวนปีของอายุการเช่าที่เหลือ กล่าวคือ ได้รับเงินกินเปล่าในปีที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท ให้เฉลี่ยเป็นจำนวน 10 ปี แล้วยื่นแบบ ภ.ง.ด.93จำนวน 10 ฉบับ และชำระภาษีเงินได้ของแต่ละปีภาษีทั้งหมด 10 ปีภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีที่ 2 ส่วนเงินกินเปล่าที่ได้รับในปีที่ 3 จำนวน1 ล้านบาท ให้เฉลี่ยเป็นจำนวน 8 ปี แล้วยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 จำนวน 8 ฉบับ และชำระภาษีเงินได้ของแต่ละปีภาษีทั้งหมด 8 ปีภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีที่ 4 เป็นต้น

ปุจฉา แนวทางปฏิบัติ สำหรับกรณีผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินกินเปล่าโดยยอมให้ผู้เช่าได้เช่าที่ดิน อาคาร หรือโรงเรือน เป็นระยะเวลานาน แต่สัญญาเช่าจะมีผลใช้บังคับเริ่มในปีอื่นที่มิใช่ปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินอย่างไร

วิสัชนา กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินกินเปล่าโดยยอมให้ผู้เช่าได้เช่าที่ดิน อาคาร หรือโรงเรือน เป็นระยะเวลานาน แต่สัญญาเช่าจะมีผลใช้บังคับเริ่มในปีอื่นที่มิใช่ปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้ ดังนี้ (ข้อ 5)

        1. นำเงินกินเปล่าที่ได้รับทั้งจำนวนไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และชำระภาษีภายใน เดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน หรือ

        2. นำเงินกินเปล่าไปเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า และยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 สำหรับปีที่สัญญาเช่าเริ่มมีผลใช้บังคับจนถึงปีที่ครบอายุสัญญาเช่า และชำระภาษีเงินได้จากเงินได้ที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่าเป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินกินเปล่า และเมื่อถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาในแต่ละปีภาษี ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 โดยนำเงินกินเปล่าตามส่วนที่ได้เฉลี่ยไว้ในแต่ละปีไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ แล้วนำจำนวนภาษีที่ได้เสียไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 มาหักจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คำนวณได้ในแต่ละปีภาษี

กรณีผู้มีเงินได้มิได้ดำเนินการตาม 5.1 และ 5.2 แต่ต่อมาได้นำเงินกินเปล่ามายื่นแบบ ภ.ง.ด.93 โดยขอเฉลี่ยเงินกินเปล่าตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า และชำระภาษีเงินได้จาก เงินได้ที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่าเมื่อพ้นกำหนดเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินกินเปล่า ผู้มีเงินได้ยังคงสามารถขอเฉลี่ยเงินกินเปล่าตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าและ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ได้ แต่ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี ที่ต้องชำระ โดยให้คำนวณเงินเพิ่มเป็นรายปีภาษีตั้งแต่เดือนเมษายนของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินกินเปล่าเป็นต้นไป

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีเงินกินเปล่าหรือเงินได้อื่นฯ(5)

โดย : 

ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินกินเปล่าเงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม

หรือได้รับกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือน หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกับเงินกินเปล่า จากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.151/2558 ซึ่งได้นำความตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มาเป็นปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ 

ปุจฉา ในปี พ.ศ. 2558 นายเขียวได้นำที่ดินของตนเองไปให้ บริษัท ขาว จำกัด เช่าโดยทำสัญญาเช่ามีกำหนดเวลา 3 ปี สัญญาเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึงปี พ.ศ. 2562 โดยได้รับเงินกินเปล่าจากการทำสัญญาเช่าในวันที่ทำสัญญาเช่าเป็นเงินจำนวน 3 ล้านบาท นายเขียวมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าวนายเขียวมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้

1. นำเงินกินเปล่าทั้งจำนวน 3 ล้านบาท ไปถือเป็นเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2558 แล้วยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเดือนมีนาคม 2559

2. ขอใช้สิทธิตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 โดยนำเงินกินเปล่าจำนวน 3 ล้านบาท ไปเฉลี่ยเป็นเงินได้พึงประเมินของปีภาษี 2560 ถึงปีภาษี 2562 คิดเป็นเงินได้พึงประเมินปีละ 1 ล้านบาท แล้วดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 จำนวน 3 ฉบับ และชำระภาษีเงินได้ของแต่ละปีภาษีทั้งหมด 3 ปี เป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปภายในเดือนมีนาคม 2559 และเมื่อถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2560 ถึงปีภาษี 2562 นายเขียวมีหน้าที่ต้องนำเงินกินเปล่าดังกล่าวมายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แล้วนำจำนวนภาษีที่ได้เสียไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 มาหักจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คำนวณได้ในแต่ละปีภาษีนั้น

หากนายเขียวได้นำเงินกินเปล่ามายื่นแบบ ภ.ง.ด.93 จำนวน 3 ฉบับ ในวันที่ 31 มีนาคม 2560 นายแดงจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ของภาษีที่ต้องชำระตามแบบ ภ.ง.ด.93 ทั้ง 3 ฉบับ เป็นจำนวน 12 เดือน (เมษายน 2559- มีนาคม 2560) และเมื่อถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2560 ถึงปีภาษี 2562 นายเขียวมีหน้าที่ต้องนำเงินกินเปล่าดังกล่าวมายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แล้วนำจำนวนภาษีที่ได้เสียไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 มาหักจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คำนวณได้ในแต่ละปีภาษีนั้น

ปุจฉา ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินกินเปล่า แต่มิได้ยื่นรายการตามที่กำหนดโดยนำเงินกินเปล่าทั้งจำนวนไปถือเป็นเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษีที่ได้รับ แล้วยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป หรือขอใช้สิทธิตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 โดยเงินกินเปล่าไปเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า และยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 สำหรับปีที่สัญญาเช่าเริ่มมีผลใช้บังคับจนถึงปีที่ครบอายุสัญญาเช่า และชำระภาษีเงินได้จากเงินได้ที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่าเป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินกินเปล่าในข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.151/2558 จะถูกดำเนินการอย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้ก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการเป็นรายปีภาษีตามมาตรา 60 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ต่อไป (ข้อ 6)

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


,ทำบัญชี,สอบบัญชี,#สอบบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สำนักงานบัญชี,#ที่ปรึกษาบัญชี,#วางระบบบัญชี,#วางแผนภาษี,บริษัท สอบบัญชี พี แอนด์ อี จำกัด,บริษัท สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล. จำกัด


Tags : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินกินเปล่า เงินได้อื่นฯ

view