สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์ สะท้อนปัญหา ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       แม้จะเกษียณแล้ว แต่ด้วยบทบาทที่ผ่านมาตลอดหลายปี ในฐานะ “ผอ.สำนักประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง กองทัพบก” ก็ทำให้ “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” รุ่นน้องสองปีของท่านนายกฯ ประยุทธ์ เข้าใจกระจ่างแจ้งในหลักเศรษฐกิจพอเพียง และคำตอบของคำถามที่ว่าทำอย่างไร ปรัชญานี้จะสำเร็จงดงาม ก็อยู่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้แล้ว 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2517 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า และจำนวนไม่น้อยที่ได้น้อมนำพระราชดำรัสนั้นมาใช้ในชีวิตจนประสบความสำเร็จ สร้างเนื้อสร้างตัวได้
       
       เพื่อร่วมกันสร้างชาติไทยให้ขับเคลื่อนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพ่อหลวง ร.9 .... Manager Online ได้สนทนากับบุคคลท่านหนึ่งซึ่งนอกจากจะเป็นอดีตทหารรุ่นน้องสองปีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นผู้บัญชาการกองบัญชาการช่วยรบที่ 1 อดีตทหารเสือรุ่นแรกของ รอ.101 ที่ถวายงานอารักขา และสนองงานเบื้องพระยุคลบาทในโครงการพระราชดำริต่างๆ ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งชีวิต
       
       ตลอดการทำงานในบทบาทดังกล่าว “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” ได้เข้าไปสัมผัสสัมพันธ์กับสถานการณ์จริงๆ ของการปฏิบัติตามแนวพระราชดำรัส ทั้งมองเห็นปัญหา และบรรยายปรัชญาดังกล่าวให้หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งได้ลงมือลงแรงปฏิบัติในหลักการ “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง และ ณ ตอนนี้ก็พร้อมแล้วที่จะไล่เรียงว่า ทำอย่างไร จะให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด และเพราะอะไรอย่างไร ปรัชญานี้จึงไม่สัมฤทธิ์ผลสูงสุดอย่างที่ควรจะเป็นในห้วงกาลที่ผ่านมา... 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        • ในมุมมองของท่าน เห็นว่า เพราะอะไร เศรษฐกิจพอเพียงถึงไม่ค่อยเกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงในประเทศไทย
       
       เกิดจากความไม่เข้าใจคำว่า “พอเพียง” ถามว่ารู้และเข้าใจกันแค่ไหน ทุกคนที่รู้จักก็จะบอกว่า โอเค พอพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงก็จะนึกถึงคนใส่เสื้อม่อฮ่อม คนไปปลูกผัก ปลูกหญ้าอยู่ชนบท ซึ่งตรงจุดนี้เป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง เป็นแนวทางส่วนหนึ่งของปรัชญา ‘พอเพียง’ เราจึงมองกันแต่เพียงว่า ถ้ายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้วต้องเป็นเกษตรกร นั้นเป็นเป็นเกษตรทฤษฏีใหม่ แต่จริงๆ แล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านมองลึกซึ้งกว่านั้น คือปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งมวลเกิดเพราะเหตุผลสองประการ หนึ่งคือเรื่องจิตใจ สองคือเรื่องปากท้อง และรากฐานคนไทยเป็นคนที่ไม่ได้ร่ำรวย สิ่งที่จะประคองให้เรามั่นคงได้ จึงต้องเริ่มจากพึ่งพาตัวเองและมัธยัสถ์ อดออม ละความโลภ นี่คือแก่นแท้ของหลักปรัชญาพอเพียง
       
       ไม่ต่างไปจากพระราชดำรัส “...ให้พอเพียงก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ…” พระองค์ท่านจึงทรงแนะนำว่าใครก็สามารถทำได้ เพราะมันเป็นเรื่องของการช่วยเหลือตัวเอง สิ่งที่จำเป็นในชีวิตก็คือเรื่องกิน ต้องช่วยเหลือตัวเองในเรื่องนี้ ไม่ใช่ทุกอย่าง ซื้อๆๆ อย่างเดียว บางคนว่า มีที่ต้องปลูกข้าวด้วยหรือ เราไม่ใช่เกษตร ไม่ได้ทำนา ก็ไม่ต้องปลูก ถ้าไม่ถนัด ก็ปลูกอย่างอื่นตามที่เราคิดว่าเราถนัดเราชอบกิน คือตอบโจทย์ตัวเอง เหลือก็เอาไว้ขาย ไอ้เงินที่เราขายมา เราไม่ถนัดปลูกข้าว ก็มาซื้อข้าวกินก็ได้ แต่ถ้าทำได้หมดทุกอย่าง ก็ไม่ต้องซื้ออะไรเลย อย่างไรก็ตาม พระองค์ท่านทรงบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำอย่างนี้ เพราะมันขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล มีพื้นที่ มีเวลาแค่ไหนก็ทำไป แต่ที่แน่ๆ คือ ทุกวันนี้มันไม่เห็นภาพเลย เอาแต่พอเพียงอยู่ในใจ ผมไปตรวจงานกองทัพบกทั่วประเทศ ไม่เห็นบ้านไหนปลูกผักกินเลย
       
       • เศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงเป็นอย่างไร
       
       คือการเชื่อมโยง ทฤษฏีนี้ก็ไม่ใช่ทฤษฏีใหม่ อยู่ในคำสอนของพระองค์ท่านทั้งหมด เพียงแต่เรานำมาสัมพันธ์กันและขยายให้เห็นภาพก็ได้ หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข สามห่วงก็มีเรื่องของ “ความมีเหตุผล” “ความพอเพียง” และ “ภูมิคุ้มกัน” สองเงื่อนไขคือ “ความรู้” กับ “คุณธรรม” ซึ่งก็ตรงกับต้นตอของปัญหาของคนที่เกิดขึ้นอย่างที่กล่าวไป จิตใจความคิดและเรื่องปากท้อง ทำให้เรามีชีวิตแบบไม่มีความสุขอะไรต่างๆ จิตตัวนี้มันเป็นต้นตอของความโลภ ความอยากมี อยากเป็น อยากได้ จะเกิดความทุกข์ก็ตรงนี้อันดับแรก อันดับสองคือเรื่องปากท้อง มันต้องกิน กินทุกวัน กินทั้งวัน ถ้ามีกินก็จะเบียดเบียนคนอื่นน้อย จิตใจดี แบบเดียวกับหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า จิตมันต้องถูกดับความโลภอะไรต่างๆ ก็จะเป็นคนที่มีคุณธรรม 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        เปรียบเสมือนแม่น้ำสายหนึ่ง ถ้าไหลเชี่ยวกราก มันก็เปรียบได้ดั่งคนที่ไม่เคยถูกอบรมบ่มเพาะในเรื่องของความมีศีลธรรม การละเว้นความชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว แต่คนมีธรรมะจะเปรียบเหมือนน้ำที่นิ่ง พอนิ่ง เราจะพายเรือไปไหนก็ไม่เหนื่อย ไม่ต้องเสี่ยงต้องคว่ำ ชีวิตควรจะเป็นแบบนั้น ถ้าน้ำเชี่ยว คนที่ไม่มีธรรมะในใจ ก็จะมีความอยาก ความหลง จิตใจมันจะเชี่ยวกราก มีแต่ความอยากความทุกข์ทรมาน หลักของเศรษฐกิจพอเพียงก็เช่นเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านก็ทรงนำเอาธรรมะตัวนี้มาถือว่าเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต หลักเศรษฐกิจพอเพียงข้อแรกเลยจึงต้องดับความรู้สึกที่จิตก่อน ทำให้จิตเรานิ่ง และยิ่งมีคุณธรรมด้วย ชีวิตมันจะเดินไปอย่างมีความสุข เรียบๆ ไม่มีคำว่าอดอยาก
       
       ต่อจากนั้นท่านก็ให้อีกห่วง คือ ความพอเพียง ความพอประมาณ และความมีเหตุผล เนื่องจากว่า ถ้าไม่มีตัวนี้เป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิต มันก็จะเหมือนกับว่ามีปีศาจดำอยู่บนบ่าซ้ายตลอดเวลา ตื่นมากับตัว ความโลภ ความอยาก ตัวนี้เป็นตัวส่งเสริมตลอดเวลา เดินไปไหนมาไหน อยากได้ ไม่เคยห้ามปรามเลย ซื้อๆๆ ทำให้เป็นหนี้เป็นสิน รูดเบิกเงินในอนาคตจากบัตรเครดิตมาใช้ แต่ถ้าได้เรียนรู้ธรรมพระเจ้าอยู่หัวฯ ในข้อการมีเหตุผล การพอประมาณ พอเพียง ก็เหมือนมีเทวดาน้อยอยู่บนบ่าขวา มาคอยถ่วง ยกตัวอย่าง กางเกงยีนส์ลดราคา 50 เปอร์เซ็นต์ ปีศาจตัวดำทำงานทันทีเลย นายซื้อเลยครับ นานๆ ทีลด จาก 3,000 กว่าบาทเหลือแค่ 1,500 บาท ทั้งๆ ที่เพิ่งจะซื้อ หรือของเก่ายังใส่ไม่ครบหมดด้วยซ้ำ ส่วนเทวดาขาวก็จะปราม บอกให้นึกชั่งใจก่อน ที่บ้านยังมี ซื้อไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้วยังไม่ได้ใส่เลย แล้วกางเกงยีนส์มันใส่ยิ่งเก่ายิ่งเท่ ขาดยิ่งเท่ อะไรต่างๆ ก็เหมือนธรรมะในใจในการดำเนินชีวิต ชีวิตก็โอเค มีเงินเก็บสำรองเผื่ออนาคตที่ไม่คาดฝัน 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        ทีนี้ ก็มาถึงห่วงที่สาม คือเรื่องของ “ภูมิคุ้มกัน” พระองค์ท่านต้องการให้คนไทยมีกินมีใช้ ไม่อดอยากต่อเนื่อง ตัวนี้ถ้าเป็นวัคซีนก็ฉีดเข้าไปได้ แต่เรื่องภูมิคุ้มกันตรงนี้ วัคซีนฉีดไม่ได้ ต้องทำๆ ท่านก็ให้แนวทางมา ประกอบไปด้วย หนึ่ง การอดออม ข้อแรก หมายความว่าต้องเก็บเงินเพื่ออนาคต รู้จักแบ่งเงินที่ได้รับมา เดือนหนึ่ง 12,000 หักเก็บไว้ 3,000 ก่อน เหลืออีก 9,000 แบ่งใช้ วันละ 300 บาท สองคือเรื่องของบัญชีครัวเรือนเป็นมาตรการควบคุมอีกที หลังจากที่เราแบ่งใช้วันละ 300 บาท แล้วเราจะใช้จ่ายอะไรไปบ้าง รู้ว่าเราใช้เหลือแค่นี้ต่อวันก็ทดต่อไปอีกวันหน้า มันจะทำให้การออมมีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วทำให้เราบีบไอ้ 9,000 บาทให้ใช้ไม่หมดอีก เป็นต้น
       
       อีกเรื่องหนึ่ง คือความรู้และคุณธรรม นอกจากเราอดออมแล้ว เราต้องหาทางลดรายจ่ายแล้วเพิ่มรายได้อีก ในเรื่องลดรายได้มันก็จะแตกตัวออกมาก็คือ หนึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เป็นปัญหาค่าใช้จ่ายมากที่สุดในชีวิตตลอดเวลาก็คือ การกิน อาหาร สองเรื่องของใช้ประจำวันอะไรต่างๆ สองอย่าง แล้วถามว่าเราจะลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร ก็ด้วยการผลิตสร้างแหล่งอาหารเอง ตรงนี้ถึงเข้ามาปลูกผัก ทำสวน ชีวิตแบบเกษตรกร ชนบท ฉะนั้นถามว่าเราจะลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร ก็ด้วยการผลิตสร้างแหล่งอาหารเอง ตรงนี้ถึงเข้ามาคำว่าปลูกผัก นำหลักเกษตรทฤษฏีใหม่มาใช้ ก็จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และควบคู่กับคุณธรรม คุณธรรมก็ต้องมี ดีหมด แต่ขาดตรงนี้ก็ไปโกงกิน ไปเอาเปรียบ ซึ่งก็ไม่ใช่ มันต้องประกอบด้วยกันทั้งหมด ถ้าราทำได้จบเลยประเทศไทย ทั้งหมดนี้คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็มีบทความเขียนอะไรมากมาย แต่ไม่เคยจับมาเชื่อมโยง 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        • นั่นจึงทำให้ตั้งแต่ปี 2517 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควรในความคิดของท่านใช่ไหมครับ
       
       คือเราลืมกรอบ How to do เราไม่มีให้เขา เนื่องจากเป็นปรัชญา ทุกสิ่งที่คนคิดเป็นสิ่งที่ถูก แต่จับต้องได้ยาก ศูนย์การเรียนรู้ต้องทำอย่างไร มีหน้าตาอย่างไร เลยทำให้มีความรู้สึกว่าทุกคนในประเทศก็คงจะเหมือนอย่างนี้กันหมด ก็คือมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนก้อนเมฆ เพราะคำว่าปรัชญานั้นเป็นศิลป์ไม่ใช่ศาสตร์ เมื่อเป็นอย่างนี้ปุ๊บทุกคนก็ต้องไปคิดเอง แม้กระทั่งศูนย์เรียนรู้ที่กองทัพบกไปทำ แต่ละหน่วยก็ต้องไปคิดเองว่าจะทำอะไร ทำตามว่าชอบ ความเข้าใจ ความถนัด
       
       ตลอดระยะเวลาที่ผมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ บชร.1 ทำหน้าที่ตรวจตราโครงการในพระราชดำรัส เฉพาะของกองทัพบกเองที่ทำหน้าที่สนองพระยุคลบาทโครงการพระองค์ท่าน 2-3 ปี ที่ผ่านมาจึงไม่แตกต่างจากภาคประชาชนไป มีแปลงผัก 3-4 แปลง มีกองปุ๋ยอินทรีย์กองหนึ่ง ขึ้นป้ายแล้วว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ ถามว่ามันให้อะไรหรือตอบโจทย์อะไรกับประชาคนคนที่มาดูได้ ไม่ให้อะไรเลย ก็รู้แค่ว่ามีกองปุ๋ย ทำปุ๋ยนะ มีแปลงผักปลูกผักนะ ทุกคนมาดูเสร็จแล้วก็กลับไป ไม่ได้อะไร เพราะชาวบ้านบางคนเขาก็ปลูกผักเก่งกว่าทหารด้วยซ้ำไป สรุปคือคนไม่ข้าใจ ไม่ได้เข้าไปถึงแก่นแท้ลึกซึ้งของเศรษฐกิจพอเพียง
       
       • แล้วเราควรจะต้องริเริ่มปฏิบัติอย่างไรครับ
       
       ต้องรู้ตำแหน่งฐานะของเราก่อน คือการจะปลูกผักกิน ถ้าเป็นคนที่มีอาชีพอะไรทั่วๆ ไป เป็นช่างตัดผม ช่างซ่อมรถ บ้านมีที่ทางแค่ 50 ตารางวา 100 ตารางวา หรือ 200 ตารางวา เล็กๆ ปลูกผักหลังบ้านกิน มันช่วยลดรายจ่ายได้ แต่ถ้าใครที่ทำงานออฟฟิศไม่มีพื้นที่ อยู่คอนโด ไม่มีเวลาทำ ก็มีเกราะภูมิคุ้มกัน เพียงข้ออดออม ก็นับว่าเพียงพอแล้ว แต่ถ้าใครมีพื้นที่ มีเวลาปลูกผักกินมันจะช่วยลดรายได้ลงไปอีก แทนที่วันหนึ่ง 300 บาท ปลูกผักกินเอง ซื้อแค่หมู น้ำพืช น้ำปลา วันหนึ่งจ่ายเหลือแค่วันละ 120 บาท ลดอีกตั้ง 160 บาท และถ้ายิ่งทำก็จะยิ่งลดลงไปอีก ภูมิคุ้มกันอันนี้มันต้องมี
       
       ทีนี้ ถ้ามีบ้านชนบท มีพื้นที่ 15 ไร่ 20 ไร่ขึ้นไป ก็เอาหลักเกษตรทฤษฏีใหม่ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เข้ามาจับ ตรงนี้มันอยู่ในภูมิคุ้มกัน หลายๆ คนสับสนระหว่างเกษตรทฤษฏีใหม่กับทฤษฏีพอเพียง คนละเรื่องกัน ไม่ใช่ มันอยู่ตรงนี้ อยู่ในภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้นคนมีพื้นที่ 15 ไร่ ก็ใช้หลักเกษตรทฤษฏีใหม่ แบ่งพื้นที่ 30-30-30-10 สามสิบแรกขุดบ่อน้ำ สาบสิบที่สองปลูกข้าวสร้างอาหาร สามสิบที่สามปลูกพืชสวนไร่ อีกสิบเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยถนน บ้าน พื้นที่ปลูกต้นไม้ยืนตัว ไม้เลื้อย พืชผักสวนครัวอะไรต่างๆ ทำให้เลี้ยงตัวเองได้อย่างมั่งคงและปลอดภัย 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        ถ้ามองออกเศรษฐกิจพอเพียง เราจะมองว่ามันไม่ใช่เฉพาะคนจน แต่มันหมายถึงคนรวย สำหรับคนจน เราถือว่ามันเป็นหลักประกันความเสี่ยงในอนาคต ถ้าเราปลูกผักมีอะไรกินอยู่บ้าน สมมุติวันนี้เรามีอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับบ้าง วันหนึ่งโชคร้าย ไม่มีผู้โดยสารเลย กลับมาก็ยังมีข้าวกิน วันหนึ่งประสบอุบัติเหตุ ไม่ได้ทำงาน เราก็อยู่ได้ หรือทำงานบริษัท เขาเกิดเวรคนงานทิ้ง เวลาผ่านไปยังหางานใหม่ไม่ได้ ก็เป็นหลักประกันความเสี่ยงในอนาคต แต่สำหรับคนมั่งมี มีอันจะกินอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นหลักประกันความยั่งยืนในอนาคต ก็คือร่ำรวยอยู่แล้ว แล้วไม่ไปฟุ้งเฟ้อ เข้าภัตตาคาร กินไวน์ชั้นดี อาหารดีๆ ตลอดเวลา อยู่บ้านยังปลูกผักกิน แน่นอนว่าร่ายจ่ายมันไม่มี มันก็ถือว่าเป็นหลักประกันความยั่งยืน ไม่มีวันอับจน การปลูกผักกินเอง สร้างแหล่งอาหารเอง มันจะตอบโจทย์ได้ทั้งคนจน คนรวย เป็นภูมิคุ้มกัน พระองค์ท่านจึงไม่เคยรับสั่งว่า คนทำเศรษฐกิจพอเพียงแล้วจะต้องจน
       
       ท่านอยากให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น รวยอย่างค่อยเป็นค่อยไป คนรวยจะลงทุนอะไรต่างๆ ก็ต้องเพลย์เซฟ ไม่ใช่มี 100 แต่กู้มา 1,000 เพื่อทำ ถ้าพัง ก็พังหมด ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปอย่างพอเพียง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน เรื่องปลูกผักกินเอง สร้างแหล่งอาหารกินเองแล้ว มันก็จะมีเรื่องของใช้อีก ท่านก็อยากให้คนเหลือช่วยตัวเอง นอกจากเราลดรายจ่าย ปลูกผัก เราก็มาทำอีกข้อหนึ่งคือลดรายจ่ายเรื่องของใช้ อย่างเช่น สบู่ น้ำยาล้างจาน แชมพู มาเรียนรู้การทำ ถามว่ามันแพงไหม ไม่แพง แต่ถ้าไปซื้อ เราซื้อค่าโฆษณาด้วย ใช้งบไปเท่าไหร่ ก็มาบวกกับเราไปหมดเลย มีกลิ่นมีสีอะไรต่างๆ แต่ถ้าใช้พื้นๆ น้ำยาล้างจานไป ซื้อ A80 ผสมอีกหน่อย ได้ปริมาณเพิ่มหลายเท่า ช่วยลดรายจ่ายขึ้นไปอีก รวมทั้งการทำถนอมอาหาร เช่น ทำไข่เค็ม ทำปลาแดดเดียว มันจะทำให้เรามีกินมีใช้ตลอดเวลา
       
       ถามว่าเราจะทำการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่นว่า บ้านหลังหนึ่งทำไข่เค็มเอง ทำน้ำยาล้างจานเอง แชมพูเอง เก็บไว้ใช้ในบ้าน วันหนึ่ง น้ำยาล้างจานหมด เราหยิบน้ำยาล้างจานขวดนี้มาใช้ ไปซื้อข้างนอก 30 บาทใช่ไหม เราก็เอามาหยอดกระปุกๆ จะซื้ออะไรก็มาหยอด ถึงสิ้นเดือนมาแกะนับเงิน เงินตรงนี้มันกลับเข้ามาหากระเป๋าเราอีก นี่ขนาดยังไม่ได้ทำขาย หลังจากเหลือใช้ 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        หลังบ้านใส่ใจเรื่องปลูกผัก สร้างแหล่งอาหารขึ้นมา มีบ่อเล็กๆ บ่อหนึ่ง ในบ่อเลี้ยงปลา บนน้ำก็เลี้ยงพืชน้ำ ผักยุ้ง กระเฉด หลังบ้านมีไก่ไข่สองสามตัว มีกองปุ๋ย รอบๆ บ้านปลูกผักประกอบ อาทิ กะเพรา พริก โหระพา มะเขือ หลังบ้านไปหน่อยหนึ่งเป็นผักหลักที่มาประกอบอาหารโดยตรง เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ถัดไปขอบๆ บ้าน ปลูกไม้เลื้อย มะรุม บวบ ฝัก ถั่วฝักยาว ถ้าปลูกแบบนี้ ถามว่าต้องไปซื้อจ่ายอย่างไร ยกเว้นน้ำมันพืช น้ำปลา รายจ่ายจะลดลงวูบเลย นี่คือหมายความว่าทำไมพระองค์ท่านถึงอยากให้คนไทยอยู่กับความพอเพียง ช่วยเหลือตัวเอง พึ่งพาตัวเองแล้วจะมีความสุข เพราะมันไม่อดอยาก และฐานะดีขึ้น แล้วทำง่ายๆ อันดับแรก เริ่มที่ความคิดจิตใจก่อน จากนั้นมาสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง อดออม ทำบัญชี แล้วก็ลดรายจ่ายด้วยการปลูกผักกินเอง สร้างแหล่งอาหารกินเอง รวมถึงก้าวไปอีกขึ้นก็คือไปสร้างของใช้ขึ้นมาอีก มันจะลดไปหมด 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        • แล้วในส่วนของภาครัฐต้องทำอย่างไรให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ที่ยั่งยืนขึ้น
       
       ต้องมีภาพให้เห็น มีภาพให้จับต้อง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลต้องสมจริงกว่าตอนนี้ ศูนย์การเรียนรู้ควรมี แบบที่ 1 ศูนย์เรียนรู้แบบเชิงบ้านพักอาศัย แยกให้เห็นชัดเจน ที่อาจจะประมาณแค่ 200-300 ตารางวา สำหรับคนมีบ้านเดี่ยว ก็ปลูกบ้านลึกไปข้างหลังหน่อย มันก็มีบ่อน้ำ แปลงผัก พืชยืนต้น ไม้เลื้อย ผักประกอบ โรงเห็ด บ้านหลังหนึ่งทำตัวอย่าง บ้านในอุดมคติ คนไทยที่มีเศรษฐกิจพอเพียงที่ดี โครงสร้างบ้านควรจะมีหน้าตาแบบนี้ๆ คร่าวๆ ให้เห็น สำหรับคนที่มีอาชีพอะไรก็ได้
       
       แบบที่ 2 เชิงเกษตรกร คือคนที่มีพื้นที่ 15 ไร่ขึ้นไป ตรงนี้ไม่ต้องพูดมากเลย เอาเกษตรทฤษฏีใหม่มาจับเลย แบบที่ 3 ศูนย์เรียนรู้แบบผลิตอาหารของใช้ และพัฒนาเป็นอาชีพ ศูนย์เรียนรู้แบบนี้ ไม่ต้องมีอะไรทั้งสิ้น มีแค่พื้นที่แล้วก็มีจุดเรียนรู้ เช่น บางคนตรงนั้นทำไข่เค็ม เพาะเห็ด บางคนทำน้ำยาล้างจาน ทำแชมพู เป็น Know How ผลิตภัณฑ์ใช้ในครัวเรือน แนะนำทำเองใช้เอง ต้องอย่างไร ถ้าจะขายต่อ ต้องทำอย่างไร ทั้งสิ้นอยู่ตรงนี้หมดเลย และจุดสามที่บอก ยังเป็นเรื่องของส่วนรวมหรือใครจะมาทำก็ได้ ปราชญ์ชาวบ้าน หรือคนที่เข้าอินเตอร์เน็ตไปศึกษาอะไรต่างๆ แล้วมีความรู้ มาแจกจ่าย ลองสูตรแล้วทำอย่างนี้ได้นะ ก็มาตั้งเป็นจุดเรียนรู้ ให้คนมาทำไปใช้ในครัวเรือน ศูนย์เรียนรู้ที่ตั้งมาเพื่อให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ เกิดภาพ ศูนย์เรียนรู้จะต้องทำแบบนี้ 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        นอกจากนี้ต้องลบความคิดเก่าที่วัดผลความสำเร็จจากปริมาณผู้เข้าชม แต่ให้ไปดูว่าเขาเอาไปปรับใช้กับชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน และรวมไปถึงการดูแลต่อยอดหลังจากนั้นด้วย โดยที่ผู้ว่าซึ่งเป็นเหมือน CEO ของแต่ละจังหวัด มีข้าราชการทุกกระทรวงหมดเลย กระทรวงพัฒนา กระทรวงเกษตร กรมประมง กรมที่ดิน ครบ แล้วมีงบประมาณมาอยู่แล้ว ผู้ว่าเป็นผู้อำนวยการจังหวัด รับผิดชอบเอางบตัวนี้ไปช่วยชาวบ้าน แล้วขั้นตอนต่อไปให้ อบต. อบจ. สร้างหมู่บ้านตัวอย่าง และให้ทหารตั้งศูนย์เรียนรู้เข้าไปช่วย ทหารควรเลิกถือปืนเข้าหาประชาชนแล้วเปลี่ยนเป็นถือจอบเสียมไปช่วยชาวบ้าน ไปทำความเข้าใจ เราถือว่าถ้าทำอย่างนี้ได้จัดเป็นยุทธศาสตร์การทฤษฏีใหม่ ต่างจากของเดิมที่บ่งบอกถึงชัยชนะคือการยึดที่หมาย แต่สมัยใหม่ คือการยึดมวลชน ถ้าเราทำแบบนี้ได้ต่อไปไม่ต้องไปหาข่าว ข่าวจะมาหาเอง เพราะเราไปช่วยเรื่องปากท้องเขา ไปดูแลเขา
       
       ถามว่าหน่วยทหารมีแค่นี้ในจังหวัดและบางหน่วยต้องดูแลถึงสองจังหวัด แต่การปลูกหญ้า 100 ตารางเมตร ต้องซื้อหญ้าทั้งหมดเลยไหม ซื้อแค่ 30-50 ตารางเมตรก็เพียงพอแล้ว ฉีกเป็นแว่นๆ รดน้ำเดี๋ยวมันก็เลื้อยของมันไปเอง เศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน จังหวัดนี้ หมู่บ้านนี้ พอทำเป็นตัวอย่าง หมู่บ้านนี้มาดู พร้อม ก็จะเลียนแบบทำกันต่อๆ ไป ก็จะลามไปทั้งประเทศ รัฐบาลต้องจับมาเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ ถ้าเราสามารทำความเข้าใจให้ตรงกันได้ แล้วสร้างให้เป็นอุดมการณ์ เป็นระบบ หน่วยงานเข้าไปช่วยก็จะได้ความเชื่อมโยงกัน และสร้างให้เห็นว่าทำไปเพื่ออะไร ผลสัมฤทธิ์อย่างไร 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        • ถ้าทำได้อย่างที่ท่านว่ามา รูปแบบโมเดลเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
       
       ใช่ ทุกจังหวัด ทุกหน่วยทหารทำแบบนี้ กระทรวงทำ ชาวบ้านมาดูแล้วเข้าใจ เป็นแนวทางเดียวกัน กลับไปทำที่บ้าน ปรัชญาที่เหมือนกับก้อนเมฆที่บางคนมองเป็นเสือ อีกคนมองเป็นช้าง แต่ถ้าทำแบบนี้ ศูนย์เรียนรู้มีบล็อกเดียวกันหมด ใส่ความเข้าใจ อบรมเหมือนกันหมด ทุกคนก็จะมองเมฆเป็นเสืออย่างเดียว แล้วเมื่อเขาเกิดความเข้าใจว่าทำไปแล้วเกิดผลอย่างไร ไปทำที่บ้านทั้งหมดเกิดขึ้นมา ทีนี้ฝรั่งต่างชาติมา ก็เห็น สัมผัสได้แล้ว ไม่ใช่อยู่ในใจ คำบอกกล่าวที่ว่าบ้านเราขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง จิตใจก็สวยเพราะว่าอยู่กับผัก ความสวยงามของต้นไม้ดอกไม้ จิตความโลภ หลง ไม่มี เพราะอยู่กับความจริง ธรรมชาติ หลักธรรมะ ที่พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสอน ทุกอย่างมันจะสโลว์ลง ช้าลง มันไม่รีบเร่งแข่งขันกันเพื่อจะไปเอาไอ้นั่นเอาไอ้นี่ จิตใจมันจะช้าลง ฝรั่งก็ไม่ต้องมาถามว่าคืออะไร หมายความว่าอย่างไร ทำอย่างไร แต่เขาจะเห็นเองจากบ้านเมืองของเรา
       
       ยิ่งในช่วงนี้ที่ทุกคนสำนึกในพระกรุณาธิคุณอันล้นพ้นในพระองค์ท่าน หากเราร่วมมือร่วมใจกัน รัฐบาลสนับสนุนอย่างจริงจัง ปรับเปลี่ยนความโศกเศร้าให้เป็นแรงบันดาลใจ และไม่ไปคนละทิศคนละทางซึ่งทำได้จริง ตัวอย่างจาก กองบัญชาการช่วยเหลือรบที่ 1 (บชร.1) ช่วงก่อนที่จะเกษียณ จังหวะที่เขารับหน้าที่ผู้บัญชาการบ้านพักเล็กแล้วก็ทรุดโทรมมาก หลังบ้านน้ำขัง ลูกน้ำ ยุงลาย เป็นไข่เลือดออก งูเลื้อยเข้าบ้าน ฝนตกน้ำไหลดเข้าบ้าน เราก็เคลียร์ให้หมด เคลียร์แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าเราเคยเรียนรู้เรื่องการใช้สารทำปุ๋ยอินทรีย์ หัวเชื้อจุลินทรีย์เอามาผสม กากน้ำตาล หมักในเศษอาหารประจำวัน เอามาหมัก 21 วัน ในถังจะหลายเป็นปุ๋ย ก็สั่งทุกบ้านทำหนึ่งถัง ไปเชิญวิทยากรมาสอนแล้วหมัก จากนั้นไถที่ข้างหลังบ้านให้หมดแล้วปลูกผัก หลังบ้านเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลึกประมาณ 4 เมตร เราให้ทำเป็นตัว U ตรงเกาะกลางไว้ ข้างหลังปลูกต้นไม้ที่กินน้ำน้อยและค่อนข้างสูง มะนาว มะกรูด ด้านข้างผักประกอบอาหารอย่างพวกโหระพา กะเพรา พริก ตรงกลางสำรับรับปลูกผักหลัก กะหล่ำ คะน้า กวางตุ้ง ทุกบ้านจะมีแพทเทิร์นใกล้เคียงแบบนี้ ปรากฏกว่าสวยงามมาก 3 เดือน มีไส้เดือนเลื้อยในดิน นั่นหมายถึงอุดมสมบูรณ์ 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        ภรรยาท่าน ผบ.ทบ. พลเอก อุดมเดช สีตบุตร ไปเยี่ยมสามครั้ง ก่อนจะพาคนในกองทัพภาคที่ 1 ไปดูงาน ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนให้อยู่ดีขึ้น หน้าบ้านปลูกไม้ดอก หลังบ้านปลูกผัก เลยเกิดโครงการ “หน้าบ้านน่าดู ในบ้านน่าอยู่ หลังบ้านน่ามอง” ตรวจซ่อมให้แนะนำ นั่นคือคุณภาพชีวิตดีมาก แล้วก็มีส่งเสริมสร้างศูนย์อาหารขึ้นมาเอง ทำอาหารมาวางขาย คนนี้ทำขนมนี่นั่น คนนั้นสอนให้ทำน้ำยาล้างจาน ปลูกตะไคร้ ปลูกหอม มากลั่นหัวเชื้อทำสเปรย์กันยุง ทำถึงตรงนี้ ครบ มีภาพ 3 อย่างเลย แต่ก็ยังไม่เข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง จนกระทั่งมาอยู่ บชร. ไปตรวจตามโครงการต่างๆ ถึงได้รู้ ที่ทำกันอยู่มันไม่ใช่ ของเราเกือบจะเป็นครบการเชื่อมโยง ก็ไปอ่านศึกษารู้เชื่อมโยงเรื่องภูมิคุ้มกัน จนเกิดเป็นหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข
       
       ก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นอกจากการดูแลพัฒนาประเทศอันเป็นหน้าที่หลัก หน้าที่แฝงการดูแลกำลังพล รวมไปถึงการได้เป็นทหารเสือ รอ. 101 ปฏิบัติการโครงการพระราชดำริ ออกไปดูแลพัฒนาชาวบ้าน เราก็ได้ไปเห็นภาพส่วนหนึ่ง เราเคยได้ตามเสด็จพระองค์ท่านในฐานะทหารเสือของพระองค์ เราก็ไปทั่วทั้งประทศ ได้เห็นท่านทรงงานตลอดเวลาอะไรต่างๆ แต่ตอนนั้นไม่เห็นภาพ แต่รู้ว่าท่านทำตรงนี้ ท่านลุย เดินไป เราก็เดินไป 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        • ณ จุดนี้ ท่านมีความคิดหวังอย่างไรบ้าง
       
       ที่ผ่านมาๆ มา เราก็มีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ รัฐบาลก็ไม่ใช่ อย่าเอาท่านมาอ้างอิงเพื่อโหนตัวเอง เอาความดีใส่ตัว แต่ต้องทำด้วย แล้วถามว่าประเทศไทยทุกวันนี้ เราเป็นคนไทย เราก็ห่วงชาติ เกิดมาต้องไม่เสียชาติเกิด เราต้องช่วยชาติอะไรสักอย่างหนึ่ง จึงลุกขึ้นมาเพื่อมาเผยแพร่ ให้คนในสังคมได้เข้าใจ และมากกว่านั้นคืออยากให้ไปถึงรัฐบาลนำมาพิจารณาเป็นอีกหลักแนวทางสานต่อโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่าน เนื่องจากประชาชนกำลังเศร้าเสียใจ ถ้าทำได้เราจะมีความรู้สึกว่า พระปณิธานของพระเจ้าอยู่หัวฯ ตั้งแต่ปี 2517 ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปี ได้สำเร็จสมจริง หลักเศรษฐกิจพอเพียงเติบโตในบ้านเมืองเราได้แล้ว คนไทยมีความสุข ไม่มีความโลภ ความหลง อยู่อย่างมีความสุข ท่านคงมีความสุขอยู่บนสวรรค์ ผมมีความคิดอย่างนั้น 

ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 “พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์” สะท้อนปัญหา “ทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสัมฤทธิ์ผลสูงสุด”
        

        เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
       ภาพ : พลภัทร วรรณดี 

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทหารเสือรุ่นแรก รอ. 101 พล.อ.สัมพันธ์ ชนะวรรณ์ สะท้อนปัญหา ทำอย่างไร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สัมฤทธิ์ผลสูงสุด

view