สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกฟื้นผืนป่า...จาก ฟ้า สู่ ดอย

พลิกฟื้นผืนป่า...จาก ‘ฟ้า’สู่ ‘ดอย’

โดย : 

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

บนเทือกดอยสูงเสียดฟ้าพระองค์เปลี่ยนไร่ฝิ่นให้เป็นแผ่นดินทอง

“คิดถึงในหลวง...” พะโหย่ ตาโร ชายชราชาวปกาเกอะญอวัย 75 ปี แห่งบ้านหนองหล่ม อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พูดเสียงเครือ ก่อนจะเล่าความหลังเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯเยือนชุมชนแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2517 ว่าตนเองเป็นคนรับเสด็จฯและได้นำเมล็ดกาแฟที่ปลูกไว้มาถวาย จนกลายเป็นที่มาของแนวพระราชดำริในการปลูกกาแฟทดแทนฝิ่น

ครั้งนั้น พะตี(ลุง) พะโหย่ ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมึกะคี(ชื่อเดิม)บนดอยอินทนนท์ และเป็นหนึ่งในชาวบ้านเพียงไม่กี่คนที่สามารถพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว ไม่เพียงรับหน้าที่ในการตามเสด็จฯและให้ข้อมูลแก่พระองค์ท่าน ยังได้นำทางไปทอดพระเนตรต้นกาแฟถึงที่บ้าน ซึ่งพระองค์ทรงแนะนำให้มีการใส่ปุ๋ย และนำหญ้ามาใส่โคนต้นจนต้นกาแฟของลุงพะโหย่งอกงามดี

“สมัยนั้นแถวนี้จะมีฝิ่นเยอะ ในหลวงทรงบอกว่าให้ปลูกกาแฟทดแทนฝิ่น ป่าก็อยู่ได้ เพราะเมื่อก่อนปลูกฝิ่นก็ต้องถางป่า แล้วพระองค์ท่านก็ทรงบอกว่ากาแฟเขากินกันทั่วโลกด้วย ต่อไปจะไม่ให้มีฝิ่นแล้ว”

หลังจากนั้นไม่นานโครงการหลวงก็ถือกำเนิดขึ้นบนดอยอินทนนท์ นอกจากส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟก็ยังมีพืชเมืองหนาวอีกหลายชนิด รวมถึงธนาคารข้าวตามแนวพระราชดำริที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่นี้ ซึ่งหมายถึงบ้านหนองหล่ม บ้านผาหมอน และบ้านผาหมอนใหม่ สามารถพลิกฟื้นชีวิตและผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้จนถึงทุกวันนี้

-------

เรื่องราวการเสด็จประพาสต้นบนดอยและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อชาวเขาแม้จะได้รับการเล่าขานมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทว่า หากถอดรหัสความสำเร็จของโครงการต่างๆ นั้น คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดายเพียงเพราะพระบารมี แต่ต้องขีดเส้นใต้ให้ชัดเจนว่าส่วนสำคัญมาจากพระวิสัยทัศน์และความเป็นนักวิจัยของพระองค์ท่าน

“พระองค์ท่านทรงเป็นนักวิจัย สิ่งที่ท่านทรงทำกับชาวเขาชัดเจนว่าพระองค์ทรงเป็นนักวิจัยแบบปฏิบัติการ เช่นความทุกข์ของชาวบ้าน พระองค์ท่านจะค้นหาสาเหตุของความทุกข์ก่อน เหมือนที่ชาวบ้านเล่า พระองค์ทรงเดินสำรวจเอง ทรงพูดคุยกับชาวบ้าน ทรงถ่ายภาพและบันทึกตลอดเวลา ถือเป็นการเก็บข้อมูลเบื้องต้น จากข้อมูลเบื้องต้นที่พระองค์ทรงรับรู้จากชาวบ้านนำมาซึ่งการวิเคราะห์ปัญหา พอเห็นปัญหาก็จะรู้ว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร” ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านชุมชนท้องถิ่น กล่าวพร้อมทั้งแสดงความเห็นว่าในกรณีของชาวบ้านบนพื้นที่สูง ปัญหาพื้นฐานที่สุดคือเรื่องปากท้อง

“อะไรจะมาทดแทนสิ่งที่กำลังทำกันอยู่ซึ่งบางอย่างก็ไปทำลายระบบนิเวศ บางแห่งการปลูกฝิ่นขยายตัวสูงมากทำให้ป่าถูกทำลาย พระองค์ท่านทรงตระหนักในเรื่องนี้ สิ่งทดแทนได้ต้องมีมูลค่าที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยทำมาก่อนหรือมากกว่า เพราะฉะนั้นพืชใหม่ๆ แปลกๆ จึงเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงแสวงหามาแนะนำกับชาวบ้าน แต่เนื่องจากพระองค์ท่านทรงเป็นนักวิจัยก็ทรงวิเคราะห์ออกว่าพื้นที่แบบนี้ที่มีภูมิอากาศค่อนข้างหนาว พืชที่มาทดแทนได้ควรเป็นพืชที่มีราคาสูง ซึ่งถ้าเป็นพืชพื้นถิ่นเองไม่น่าจะมีราคาสูง พระองค์ท่านจึงทรงใช้พืชจากต่างประเทศซึ่งกว่าจะมาถึงเราทรงให้นักวิจัยอื่นวิจัยเรียบร้อยแล้วว่ามันปลูกได้จริงไหมบนพื้นที่สูง พระองค์ท่านทรงมีห้องทดลองปฏิบัติการในหลายพื้นที่ ทั้งที่ดอยอ่างขาง ดอยอินทนนท์ และที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา วิจัยจนมองเห็นความเป็นไปได้แล้ว ทดลองจนเห็นจริงแล้วพระองค์ท่านถึงจะมาผลักดันให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาตัวเอง อันนี้คือกระบวนการที่พระองค์ท่านทรงทำมาตลอด”

พะตีพะโหย่ เล่าว่าในการตามเสด็จฯไปยังที่ต่างๆ บางครั้งต้องเดินทั้งวันขึ้นเขาลงห้วยแทบไม่มีอะไรตกถึงท้อง พระองค์จะเสด็จฯพร้อมกับทอดพระเนตรแผนที่ไปด้วย ซึ่งเวลานั้นชาวบ้านต่างสงสัยว่าสิ่งที่พระองค์ทรงทำคืออะไร

“เมื่อก่อนตอนในหลวงเริ่มมาพัฒนาใหม่ๆ ลุงไม่รู้เลยว่าจะเป็นอย่างไร พระองค์ตรัสว่าสักวันก็รู้ ลุงก็ตามไป ปีที่หนึ่งที่สอง พระองค์ก็ตรัสอีกว่าจะสร้างโครงการหลวง แล้วพวกเราไม่ต้องอพยพไปที่ไหนเลย เราจะช่วยให้ทำการเกษตร”

จากชีวิตที่เคยแร้นแค้นชาวบ้านที่นี่เริ่มเห็นดอกผลจากพระมหากรุณาธิคุณ หลังจากนั้นพระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินมาพื้นที่นี้อีกถึง 6 ครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งที่พ่อสุปอย บรรรพตวนา และ พ่อบุญทา พฤกษาฉิมพลี จำได้ดี คือเมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่ทั้งสองได้รับเสด็จที่วัดผาหมอนหลังจากวัดถูกไฟไหม้ พระองค์ไม่เพียงพระราชทานเงินช่วยเหลือยังทรงรับสั่งว่าให้ช่วยกันดูแลหมู่บ้านด้วย

"พ่อเคยได้รับเสด็จเริ่มตั้งแต่อายุ 16 ปี พระองค์ท่านเสด็จมาที่บ้านผาหมอนล่าสุดก็ปี 2534 การที่พระองค์ท่านเสด็จมาบอกได้เลยว่าความเป็นอยู่ของพวกเราดีขึ้นเยอะเลย พระองค์ทรงมาให้ความรู้ด้านการเกษตร พระราชทานอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับนักเรียน ชุดนักเรียน อาหารการกิน ผู้ใหญ่ก็จะให้เสื้อผ้า ผ้าห่ม แล้วจะมีแพทย์พยาบาลมาดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บให้กับคนในชุมชนด้วย ทรงพระราชทานข้าวทุกหย่อมบ้านแล้วก็พระราชทานแนวคิดเรื่องธนาคารข้าว จนถึงปัจจุบันที่นี่เรื่องข้าวไม่มีกินนี่ไม่มีเลย ทุกคนอยู่ได้ ความเป็นอยู่ดีขึ้น ฐานะก็ดีขึ้น ไม่รู้จะตอบแทนให้พระองค์ได้อย่างไร”

พ่อสุปอยบอกว่าชาวบ้านที่นี่ต่างรู้สึกซาบซึ้งในน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรโดยไม่แบ่งแยก "พระองค์ทรงอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากขึ้นเขาลงเขาระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร เป็นเขาสูงชันพระองค์ก็ทรงเดินได้ ไม่ทรงท้อ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่สูงหรือคนอยู่ในป่าในเขาในถิ่นทุรกันดารเท่านั้นแต่ทั่วประเทศไทย พระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดไม่ได้”

เช่นเดียวกับ พ่อบุญทา ผู้หลักผู้ใหญ่อีกคนของหมู่บ้าน ย้อนถึงความรู้สึกในครั้งแรกๆ ที่ได้รับเสด็จว่า “ในหลวงทรงถือแผนที่มาตลอด เราก็ถามกันว่าทำไมในหลวงต้องดูแผนที่ สงสัยคงกลัวหลงทาง เมื่อก่อนเราคิดว่าแผนที่เขาใช้ในการเดินทางเท่านั้น ไม่คิดว่าจะมาวางแผนวางโครงการอะไร เราไม่รู้”

แต่แล้วเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น พื้นที่ที่เคยแห้งแล้งกลายเป็นป่าชื้น ไร่ฝิ่นแทนที่ด้วยกาแฟและไม้เมืองหนาว ชาวบ้านก็ได้เรียนรู้ว่าแผนที่นั้นคือเครื่องมือสำคัญที่พระองค์ใช้ในการวางแผนเพื่อพระราชทานความช่วยเหลือให้กับชาวบ้าน

“เวลาในหลวงเสด็จฯมา จะเอาทุกหน่วยงานเข้ามา อาจจะมีฝ่ายปกครอง ชลประทาน พัฒนาที่ดิน เขาจะมาคุยมาวางแผนกัน มีการตัดถนนควบคู่กับการทำชลประทาน ฝ่ายปกครองก็จะบอกชาวบ้านว่าจะพัฒนาอย่างนี้ๆ โครงการหลวงก็จะเอาพืชเมืองหนาวมาให้ปลูก ตอนนั้นพืชที่แปลกที่สุดก็คือ ซูกินี เราไม่รู้จักก็จะเถียงกันว่ามันคือลูกอะไร แตงหรือว่าฟัก จริงๆ ไม่ใช่แตงไม่ใช่ฟัก มันคือซูกินี แล้วเขาก็จะเอาพืชเมืองหนาวมาหลายตัว ถ้าเป็นไม้ผลเล็กก็กาแฟ สตรอว์เบอร์รี่ มัลเบอร์รี่ เคปกูสเบอร์รี่ ไม้ผลใหญ่ก็ อะโวคาโด พลับ พีช ถ้าเป็นผักก็จะมี พริกเขียว พริกแดง มะเขือเทศ เซเลรี บล็อกโคลี หลายๆ อย่างที่ให้พวกเราปลูก”

พ่อบุญทาว่านอกจากทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริแล้ว ทุกวันนี้บ้านผาหมอนและผาหมอนใหม่ยังจัดการท่องเที่ยวชุมชนด้วย โดยขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการนั้นได้ผ่านการพูดคุย หาข้อมูล และวางแผนอย่างเป็นระบบในรูปแบบงานวิจัยท้องถิ่น

“ทุกวันนี้เราตามรอยพระองค์ท่าน มีการวางแผนเหมือนกัน โดยแบ่งเป็น 7 ฝ่ายคือ ประวัติศาสตร์ชุมชน เกษตร วัฒนธรรม ป่านิเวศน์ สมุนไพร จักสาน ทอผ้า ที่ไหนมีปัญหาเราก็ขีดไว้ ที่ไหนแก้ได้เราก็แก้ ที่ไหนไม่ดีเราก็ทำให้มันดี เวลานักท่องเที่ยวเข้ามากลุ่มไหนต้องการศึกษาอะไรเราก็ส่งเข้าไปดูไปเรียนรู้ ถ้าเราไม่ทำวิจัย เราไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ไหน เราจะแบ่งแยกงานไม่ได้ หรือว่าบริหารจัดการไม่ได้ อย่างการบริหารจัดการรายได้เราจะหักร้อยละ 5 ไปเข้ากองกลาง เช่นคนที่พาไปเที่ยวได้ 500 เราก็หัก 50 บาทเข้ากองกลาง เงินกองกลางนั้นเราไปช่วยผู้ยากไร้ ช่วยทุนการศึกษาของเด็กๆ แล้วก็ช่วยสิ่งแวดล้อม ทำแนวกันไฟ ตั้งเวรยามดูแลไฟ แล้วฝรั่งที่เข้ามาพอเขารู้ว่าเราทำอย่างนี้เขาบริจาคให้ด้วย”

ความภูมิใจของชาวบ้านหนองหล่ม ผาหมอน และผาหมอนใหม่ ณ วันนี้จึงมิใช่แค่การได้ตามรอยเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 หากแต่คือการเดินตามแนวทางการทำงานของพระองค์ท่าน บนหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ซึ่ง ผศ.ดร.บัญชร เห็นว่านี่คือรากฐานที่จะทำให้พื้นที่นี้พัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน

“สิ่่งที่เราพยายามตามรอยพระบาทของพระองค์ท่าน คือการช่วยชาวบ้านให้ชาวบ้านช่วยตนเองได้ โดยคำนึงถึงภูมิสังคมของเขา ในแง่งานวิจัยท้องถิ่นก็คือพยายามผลักดันให้ชาวบ้านค้นหาปัญหาตัวเอง และหาวิธีแก้ไขด้วยตัวเอง เวลาเราสนับสนุนให้ชาวบ้านทำวิจัย เราก็อยากเห็นชาวบ้านรู้จักตัวเอง รู้คุณค่าของตัวเอง เหมือนอย่างที่พระองค์ท่านทรงเคยทำมา”

......................................

กว่า 40 ปี นับแต่รอยพระบาทแรกประทับลงบนดินแดนแห่งนี้ ไม่ต่างจากชาวบ้านคนอื่นๆ พะตีพะโหย่ยังคงเก็บเรื่องราวเหล่านั้นไว้ในความทรงจำ และยังคงดูแลรักษาต้นกาแฟที่พระองค์ท่านเคยเสด็จไปทอดพระเนตรไว้อย่างดีที่สุด

วันนี้ไม่มีพระองค์แล้ว... พะตีบอกว่า “คิดถึง” เพราะทุกครั้งที่เสด็จมาจะตรัสถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง” แล้วก็ถ่ายรูปไว้

แกว่า...แม้จะไม่เคยได้เห็นรูปตัวเองเลยสักครั้งแต่ระลึกได้เสมอถึงพระเมตตาที่มีให้กับคนบนดอยซึ่งครั้งหนึ่งแทบไม่มีใครเหลียวแล

 

 

 

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลิกฟื้นผืนป่า จาก ฟ้า สู่ ดอย

view