ศาสตร์พระราชา ศาสตร์แห่งอนาคตและความยั่งยืน
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
“คุณชายขาลุยแห่งดอยตุง” ผู้ที่ชาวบ้านเคยระแวงกลายเป็นที่รักด้วย "ศาสตร์พระราชา" และ "ตำราแม่ฟ้าหลวง"
“คุณชายขาลุยแห่งดอยตุง” ผู้เคยถูกชาวบ้านระแวงระวังเมื่อครั้งที่ลงพื้นที่ใหม่ๆ เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว มาบัดนี้ คุณชายเป็นที่รักของชาวบ้านในพื้นที่ เพราะทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากหลังมือเป็นหน้ามือ ด้วย “ศาตร์พระราชา” และ “ตำราแม่ฟ้าหลวง” ซึ่ง ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุลประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรองประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา เป็นกำลังหลักในการนำศาสตร์เหล่านั้นมาใช้พลิกฟื้นภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป่ากว่า 250,000 ไร่ พร้อมกับคืนชีวิตที่ดีให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
แปล “ศาสตร์พระราชา” มาแก้ความยากจน
ไม่เพียงแต่เป็นคุณชายขาลุยที่ต่อสู้กับความยากจนแล้ว ยังเป็น ‘เจ้า’ ที่ทำงานกับ ‘คอมมิวนิสต์’ เมื่อคุณชายลงพื้นที่ไปยังจังหวัดน่าน
“น่านเป็นแหล่งคอมมิวนิสต์แหล่งสุดท้ายในประเทศ ผมทำงานกับคอมมิวนิสต์ แล้วรักกันมากเลย เพราะเขามีวินัย เขาพูดเองเลยว่า ‘ถือปืนพากันไปตายได้ แล้วทำไมเราจะถือจอบไปแก้ไขความยากจนไม่ได้’ นี่แหละ คนจริงๆ คนที่ไม่มีโอกาส เขาได้พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่าศาสตร์พระราชานั้นเป็นอย่างไร”
น่านคืออีกพื้นที่หนึ่งที่คุณชายและมูลนิธิฯ ได้ฟื้นคืนพื้นที่ป่ากลับมาพร้อมๆ กับทำลายความยากจน ในเมื่อคนส่วนใหญ่ของไทยคือเกษตรกร ฉะนั้น ศาสตร์พระราชาจึงมุ่งที่การแก้ปัญหาให้เกษตรกร โดยดูตั้งแต่รากของปัญหา คือความยากจนของชาวบ้าน นำไปสู่การค้าประเวณีของบุตรหลาน ยาเสพติด และการบุกรุกป่า ยกตัวอย่าง ปัญหาเรื่องภูเขาหัวโล้น ทุกครั้งที่ชี้นิ้วว่าเกษตรกรคือผู้ทำลายป่า ก็ต้องหวนกลับมาดูว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น
“ผมเล่าให้ฟังนะ ชาวบ้านครอบครัวหนึ่งถัวเฉลี่ยมีสมาชิก 5 คน เขากินข้าวเยอะมาก เพราะไม่มีกับกิน ไม่มีโปรตีน ไม่มีตังค์ ก็กินข้าวกับผัก ฉะนั้น ถัวเฉลี่ยคนนึงกินข้าว 1 กก.ต่อวัน 5 คน 5 กก. ปีหนึ่ง 365 วัน คิดยาก คิดเป็น 400 ฉะนั้น เฉลี่ยปีหนึ่งครอบครัวหนึ่งกินข้าว 2,000 กิโล นี่คือจำนวนข้าวสาร แต่ข้าวเปลือกที่จะมาเป็นข้าวสาร ต้องคูณด้วย 1.7 เพราะสีเปลือกรำออกไป ก็เท่ากับต้องใช้ข้าวเปลือก 3,400 กก. ที่ต้องมีกินตลอดทั้งปี นาบนดอยปลูกข้าวได้แค่ 170 กก. ต่อไร่ น้อยมาก เพราะหน้าดินไม่ดีและฝนตกทิ้งช่วง ข้าวก็ลีบ ได้แค่นั้น 170 หารด้วย 3,400 ก็ได้ 20 ฉะนั้น ครอบครัวหนึ่งต้องมีที่ดิน 20 ไร่ เพื่อที่จะกินเองทั้งปี แล้วถ้าคุณปลูกในที่ดินเดิมซ้ำกัน 2 ปี คุณจะไม่ได้ข้าว 170 กก. ต่อไร่แล้ว ถ้า 3 ปีไม่มีรวงเลย ฉะนั้น คุณก็ต้องมีแปลงสำรอง เฉลี่ยครอบครัวละ 3 – 7 แปลง เพราะหน้าดินมันหายไป ต้องรอหน้าดินกลับมาค่าเฉลี่ยของ 3 – 7 ก็คือ 5 แปลง 5 x 20 ก็เป็น 100 ไร่ต่อครอบครัว ที่ต้องมีพื้นที่ทำกิน เพื่อจะมีข้าวกินหมุนเวียน นี่ยังไม่รวมข้าวที่จะขายเลยนะ”
คุณชายดิศต้องแปลศาสตร์นี้ให้ข้าราชการและคนทำงานได้เห็นภาพ ฉะนั้น การแก้ปัญหาเรื่องป่า ต้องเริ่มที่ปากท้องของชาวบ้านก่อน ทุกคนจะต้องได้ประโยชน์ถ้วนหน้าในทุกการแก้ปัญหา “ไม่ใช่ว่าเราได้ แต่เขาเสีย อย่างนี้เขาก็ไม่ร่วมด้วย” เมื่อทำเกษตรได้ผลดีแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากความยากจนก็หมดไป
แต่การช่วยเหลือชาวบ้านสำหรับคุณชายไม่เท่ากับการประกันราคาสินค้าเกษตร
“ผมไม่ทำเรื่องประกันราคาเลยนะ ให้ราคาไปตามกลไกตลาด ไม่อย่างนั้น พออะไรตกต่ำรัฐต้องไปค้ำประกัน จะเป็นไปได้อย่างไร แล้วเวลาจะปลูกอะไร เคยถามรัฐบาลไหม แล้วทำไมต้องไปค้ำให้เขา เพราะต้องการได้ฐานเสียงเขาใช่ไหม นี่คือการขัดขวางการพัฒนา เพราะเขาไม่ได้ช่วยเหลือตัวเอง”
เมื่อไม่ช่วยเรื่องประกันราคา แล้วสิ่งที่จะสนับสนุนเพื่อให้เขาพัฒนาไปได้นั้นคืออะไร?
“ก็ต้องเอาตลาดเป็นตัวตั้งว่าตลาดต้องการอะไร แล้วปลูกทุกอย่างบนกระดาษ หมายถึงคุณมาใคร่ครวญก่อนว่าคุณจะลงทุนเท่าไหร่ ระยะเวลาเท่าไหร่ แต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลง หรือจะหลบหลีกด้วยธรรมชาติได้ไหม ควบคุมต้นทุนได้อย่างไร วางแผนก่อนแล้วจะเห็นเลยว่าคุณจะกำไรหรือไม่ เมื่อวางแผนแล้ว ก็ต้องรู้ว่าตลาดเขาซื้อขายเท่าไหร่ ไม่ใช่อยากทำอะไรก็ทำ ทำมาแล้วขายไม่ได้ เพราะราคาตกต่ำ ต้องเปลี่ยนวิธีการ ไม่อย่างนั้นก็จนเหมือนเดิม”
เศรษฐกิจพอเพียงคืออนาคตของโลก
คุณชายดิศกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นนักปฏิบัติ ฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่ใช่ “ปรัชญา” แต่เป็นระบบเศรษฐกิจที่ “ปฏิบัติ” ได้จริง เหมาะสมกับโลกปัจจุบันและอนาคต อาจมีคนเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงทำให้คนอยากจน แต่แท้จริง พอเพียงคือพอประมาณ
“พอประมาณคือทำอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่เดือดร้อนใครทั้งสิ้นทั้งปวง ทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มวลมนุษย์ และโลก เพราะตอนนี้โลกถูกกระทำโดยคนที่เห็นแก่เงิน จนสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มาจากคนที่ไม่พอประมาณทั้งนั้น”
การแก้ปัญหาตามศาสตร์พระราชาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจึงเดินคู่กับความยั่งยืน กลายเป็นโมเดลที่ต่างประเทศต้องมาเรียนรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้สร้างโมเดลต่างๆ ขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัด และ “ดอยตุงโมเดล” คือโมเดลสำคัญที่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดในระดับราก เปลี่ยนพืชยาเสพติดให้เป็นพืชในโครงการหลวงที่สร้างรายได้งดงาม ทำให้ชาวบ้านและชาวเขาไม่ย้อนกลับไปปลูกพืชยาเสพติดอีก ประเทศไทยเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่แก้ปัญหานี้ได้ ประเทศต่างๆ เช่น โคลัมเบีย จึงได้เดินทางมาเรียนรู้ถึงเชียงราย และทางโคลัมเบียบอกว่าการเรียนรู้นั้นถือเป็น “ประสบการณ์แห่งชีวิต” เลยทีเดียว
“Care & Share นิยม” ระบบใหม่ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ไม่ว่าลัทธิทุนนิยมหรือลัทธิคอมมิวนิสม์ ซึ่งเป็นความสุดโต่ง 2 สาย มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ซึ่งสร้างผลกระทบเชิงลบมากมายอย่างที่เห็นกันมาแล้วทั่วโลก คุณชายดิศจึงคิดว่าโลกจะต้องมีลัทธิ หรือ “...นิยม” แนวใหม่ขึ้นมาเพื่อสร้างสมดุลให้แก่สังคม จากแนวโน้มของโลกที่มุ่งไปทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน คุณชายดิศมั่นใจว่าระบบนิยมใหม่นี้จะเกิดขึ้นมาเพื่อโลกในอนาคต สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงทำมาอย่างยาวนานหลายสิบปีแล้ว คุณชายบอกว่าควรมีนักคิดที่มาสังเคราะห์ “ลัทธิ” นี้ขึ้นมาอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้คุณชายขอเรียกรวมเป็นแนวคิดที่ว่า “Care & Share ความห่วงใยและแบ่งปัน”
“ผมมั่นใจว่า Care & Share จะเป็น –ism แนวใหม่ของอนาคต Capitalism ก็ไม่พอประมาณ กระทำกับโลกมากเกินไป Communism ทุกอย่างเสมอภาค แต่คนขี้เกียจกับคนขยันได้เท่ากัน ก็ไม่ยุติธรรม แต่ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำส่วนดีของทั้ง 2 อย่างนี้มาใช้ อันนี้คือ –ism ใหม่ ผมพิสูจน์ไม่ได้ก็จริง แต่ผมมั่นใจ 10,000 เปอร์เซ็นต์ว่าจะต้องเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้ ซึ่งจะโยงกับเศรษฐกิจใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียงที่โลกกำลังสนใจอยู่ในตอนนี้”
ทางสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และตกลงร่วมกับประเทศสมาชิกว่าจะผลักดันเป้านี้ไปอีก 15 ปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 จะต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ ไม่ต่างจากสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงบุกเบิกไว้ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล แม้เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์แล้ว แต่ “ศาสตร์พระราชา” ก็ยังคงอยู่และเติบโตควบคู่ไปกับแนวคิดของการพัฒนาของโลก ฉะนั้น หากเราทุกคนสืบสานพระประสงค์ของพระองค์ต่อไป ก็ไม่ต้องกังวลใดๆ ถึงอนาคตเลย
ภาพข่าว
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน